Skip to main content
sharethis

กฤตยาชี้วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้สะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ด้านอาทิตยามองเป็นการควบคุมพฤติกรรมโดยใช้อวัยวะเพศชาย ส่วนทิพย์อัปสรเผยความรุนแรงทางเพศต่อทอมดี้พบในทุกจังหวัด สาเหตุหนึ่งเกิดจากครอบครัวไม่เข้าใจ คิดว่าจะทำให้กลับมาชอบผู้ชายได้ ด้านคาณัสนันท์ชี้สังคมต้องสร้างความเข้าใจว่าเพศไม่ใช่เรื่องตายตัว

29 มิ.ย. 2559 วานนี้ (28 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. สมาคมเพศวิถี ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย 53 องค์กร ได้จัดงานเสวนาสาธารณะ “แก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นความรุนแรง #เลิกเหอะ” ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง เพื่อสิทธิการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย, อาทิตยา อาษา นักศึกษาปริญญาโท สาขาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา มธ. ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง วาทกรรมแก้ทอมซ่อมดี้ในสื่อออนไลน์, คาณัสนันท์ ดอกพุฒ นักกิจกรรมทรานส์แมนจากกลุ่ม FTM BANGKOK และทิพย์อัปสร ศศิตระกูล จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ


จากซ้ายไปขวา กฤตยา อาชวนิจกุล, สุพีชา เบาทิพย์, อาทิตยา อาษา, คาณัสนันท์ ดอกพุฒ, ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล และ วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ดำเนินรายการ

กฤตยา อาชวนิจกุล กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงมี 3 ชุด ได้แก่ ความรุนแรงต่อผู้หญิงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงต่อผู้หญิงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงต่อผู้หญิงทางตรง โดยวาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ ถือเป็นความรุนแรงผ่านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่คอยกำกับว่าผู้หญิงควรทำหรือไม่ทำอะไร และหากผู้หญิงไม่เป็นไปตามแบบแผนนั้น ก็จะถูกหมั่นไส้และจะต้องโดนแก้ไขโดยอวัยวะเพศชาย อย่างที่คนมักจะพูดกันว่า “ต้องโดนของจริงถึงจะหาย” หรือ การเรียกอวัยวะเพศชายว่า “เจ้าโลก” ก็เป็นความเชื่อเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาทางภาษา

กฤตยา ยังกล่าวว่าสาเหตุของการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อทอม เกิดขึ้นจากอคติและความเกลียดชัง ซึ่งแตกต่างจากสาเหตุความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับผู้หญิง โดยอ้างอิงสถิติจากสหรัฐอเมริกาว่ากลุ่ม LGBT มีโอกาสที่จะถูกทำร้ายมากกว่าคนกลุ่มอื่นถึงสองเท่า โดยในเกือบทุกรัฐของอเมริกาก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับ Hate Crime เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังอีกด้วย

ด้านอาทิตยา อาษา กล่าวว่าจากงานวิทยานิพนธ์ของตนพบว่าวาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นวาทกรรมที่มองว่าทอมหรือดี้เป็นของเสียต้องได้รับการแก้ไข อีกทั้งยังไว้ใช้กำกับบุคคลที่มีเพศสรีระเป็นผู้หญิง ไม่ให้มีพฤติกรรมที่เกินกว่าผู้หญิง หรือไม่เหมาะสมกับความเป็นหญิง เช่น ทอมหรือดี้ ที่มีเพศสภาวะและเพศวิถีที่ออกนอกลู่นอกทางจากความเป็นหญิง โดยวิธีการควบคุมก็คือการสร้างความหวาดกลัวในเรื่องเพศด้วยการใช้อวัยวะเพศชายมาเป็นแกนหลักในการควบคุม

“แก้ทอมซ่อมดี้มันแปลว่า ทอมกับดี้เป็นของเสีย ที่สามารถซ่อมหรือว่าแก้ไขให้เป็นปกติได้ โดยการแก้ไขนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องชี้ให้เห็นถึงรสชาติของความเป็นชาย เพราะที่มีคนบอกว่าทอมเป็นคนซิง ซิงในที่นี้หมายถึงอาจจะยังไม่เคยมีเพศวิถีแบบชายหญิง คนเลยคิดว่าต้องลองก่อน ต้องรู้รสของความเป็นชายก่อน แล้วก็อยากจะกลับเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม” อาทิตยากล่าว  

อาทิตยายกตัวอย่างคอลัมน์จากนิตยสารฉบับหนึ่งที่นำเสนอเรื่องทอมกลับใจ โดยการกลับใจนั้นเกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ชายตอนเมา จนสุดท้ายทอมก็แต่งงานกับผู้ชายคนนั้น  ซึ่งคอลัมน์นี้ชี้ให้เห็นว่าในสังคมเอง ก็ยังมีวิธีคิดที่ยอมรับในความรุนแรงทางเพศโดยการนำเสนอผ่านสื่อ

ด้านทิพย์อัปสร ศศิตระกูล กล่าวว่าจากประสบการณ์ที่เคยลงไปทำกิจกรรมของสมาคมฟ้าสีรุ้งจะเจอปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับทอมและดี้ในทุกจังหวัด โดยยกตัวอย่างกรณีของดี้ชาวภูเก็ตที่ถูกอาล่วงละเมิดทางเพศตลอดหลายปี เพราะคิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศจะทำให้กลับมาชอบผู้ชายได้ หรือ กรณีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทอม 3 คน ถูกรุมโทรมและทอมหนึ่งในนั้นถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเหตุผลว่าไม่พอใจที่ไปยุ่งกับผู้หญิงของเขา หรือในกรณีที่คู่รักทอมดี้สองคู่ถูกเรียกไปโดยบุคคลที่อ้างว่ามาจากสาธารณสุขให้ไปเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และเมื่อไปตามที่เรียกก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

ด้านวราภรณ์ แช่มสนิท กล่าวว่าสังคมอาจจะเห็นว่า “แก้ทอม ซ่อมดี้” เป็นเพียงคำพูดที่พูดกันโดยไม่คิดอะไร แต่ความจริงแล้วมันเป็นวาทกรรมที่มีผลในเชิงพฤติกรรมและมีผลกับชีวิตของคน ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงและความทุกข์แก่ผู้ประสบเหตุ

ส่วน คาณัสนันท์ ดอกพุฒ กล่าวว่า ประเด็นความรุนแรงทางเพศเกิดจากสังคมไม่มีความเข้าใจ และไม่เคยมีการสอนเรื่องเพศให้ชัดเจน คนในสังคมจึงเข้าใจไปว่าชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้น หรือหากเป็นทรานส์แมนแล้วจะชอบผู้ชายไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเพศเป็นเรื่องที่ลื่นไหล ไม่ตายตัว ดังนั้นสังคมต้องสอนเรื่องเพศให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้อง

สุพีชา เบาทิพย์ ยืนยันว่าความเป็นทอมไม่สามารถซ่อมได้ โดยยกประสบการณ์จากตนเองที่เคยมีแฟนเป็นผู้ชายมาก่อน แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นทอม และยังกล่าวอีกว่าความเป็นผู้หญิงผู้ชายสมัยนี้ไม่สามารถกำหนดได้ คนสามารถเปลี่ยนเป็นเพศอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ เพราะฉะนั้นเพศจึงเป็นเรื่องของการนิยามตนเอง ดังนั้นจึงอย่าตีกรอบกดทับว่าทอมคือผู้หญิง และต้องมีความเป็นแม่

ก่อนจบงานเสวนา กฤตยา กล่าวว่าสังคมต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศให้มากขึ้น และต้องสร้างกระบวนการทางกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนที่กระทำความรุนแรงทางเพศได้รับการลงโทษ ต้องมีสถิติที่ชัดเจนเพื่อการศึกษา และสุดท้ายคือต้องตระหนักว่าเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่บุคคลอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปซ่อม หรือแทรกแซง

“ไม่ว่าใครก็ตามไม่มีสิทธิจะไปซ่อมใคร วัฒนธรรมที่ซ่อมมันคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่แน่นอน เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมที่คิดว่าจะซ่อม จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงคนอื่น มันเป็นวัฒนธรรมที่เราต้องไม่ยอมรับ คนทุกคนไม่ว่ามีเพศสภาวะแบบไหน ไม่ว่าจะตั้งแต่เกิดหรือมาเลือกเพศทีหลังเองเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราต้องเคารพ ไม่มีสิทธิไปแทรกแซงเขา” กฤตยากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net