นิสิตเกษตรเสรี แต่ ม.เกษตรไม่เสรี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2559 นิสิตเกษตรห้าคนในนาม “เสรีเกษตรศาสตร์” และร่วมกับนักศึกษารามคำแหงหนึ่งคนและนักกิจกรรมอีกหนึ่งคน นัดหมายไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ( อนุสาวรีย์ปราบกบฎ ที่แยกหลักสี่)  แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรมใดๆ ก็ถูกขัดขวางจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งหิ้วฉุดกระชากลากถูไปตั้งข้อหาขัดคำสั่งคสช.3/2558 ว่าด้วย การมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน  5คน ในตอนค่ำวันเดียวกัน ศาลทหารให้ปล่อยตัวนิสิตกลุ่มดังกล่าว โดยไม่ถูกคุมขังระหว่างไต่สวนคดี เพราะศาลเห็นว่าเป็นนักศึกษาและอัตราโทษไม่รุนแรง

แต่เรื่องที่สังคมในวงกว้างยังไม่ทราบก็คือ ท่าทีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แทนที่จะช่วยปกป้องนิสิตของมหาวิทยาลัยตัวเอง แต่กลับกดดันข่มขู่นิสิต ตั้งแต่อยู่ที่สถานีตำรวจ กระทั่งปัจจุบันที่แม้แต่ศาลให้ปล่อยตัว การกดดันนิสิตก็ยังมีอยู่

จากการเก็บข้อมูลด้วยสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเริ่มตั้งแต่วันก่อนทำกิจกรรม มีการกดดันจากผู้บริหารผ่านอาจารย์ที่เป็นผู้สอนนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์เพื่อห้ามการจัดกิจกรรม และให้อาจารย์ประสานกับนิสิตว่าห้ามใส่ชุดนิสิตในการทำกิจกรรมดังกล่าว เมื่อนิสิตยืนยันจะทำกิจกรรมในเช้าวันที่ 24 และถูกตำรวจใช้กำลังเข้าขัดขวางหิ้วไปสถานีตำรวจ ทั้งๆ ที่นิสิตแค่เตรียมตัวไปทำความสะอาดบริเวณอนุสาวรีย์  วิญญูชนผู้มีเหตุผล ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า การตั้งข้อหาว่านิสิตกระทำการมั่วสุมทางการเมือง เป็นการตั้งข้อหาที่ไม่มีมูลเหตุอันควร

แต่ในขณะที่อยู่ที่สถานีตำรวจ แทนที่อาจารย์ที่เป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามท่านที่มาถึงสถานีตำรวจทันทีหลังเกิดเหตุด้วยรถตู้ของมหาวิทยาลัยจะช่วยปกป้องนิสิต กลับเห็นคล้อยไปกับทางตำรวจและทหาร มีการยื่นข้อเสนอให้นิสิตเข้าปรับทัศนคติกับทางฝ่ายทหาร แต่นิสิตไม่ยินยอมเพราะไม่ต้องการยอมรับอำนาจของ คสช. ทางตัวแทนมหาวิทยาลัยจึงกดดันต่อว่า หากนิสิตมีคดีอาญาติดตัวจะพ้นจากสถานภาพนิสิต จากนั้นตัวแทนมหาวิทยาลัยก็เดินทางกลับโดยปล่อยให้นิสิตเผชิญกับหน้ากับกระบวนการของตำรวจและทหารแต่เพียงลำพัง

มากกว่านั้น ครั้นเมื่อศาลทหารให้ปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีกระแสจากกองกิจการนิสิตว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนนิสิต แม้ฝ่ายกิจการนิสิตบอกว่า ไม่มีบทลงโทษที่ร้ายแรงต่อนิสิต อาจมีเพียงการตักเตือน ท่าทีดังกล่าวก็สมควรที่จะถูกตั้งคำถามว่า สมควรแล้วหรือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยกับนิสิตที่ถูกตำรวจล้อมกรอบฉุดกระชากและอุ้มอย่างไม่มีเหตุสมควร

ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเคยทำกิจกรรมเป็นรองนายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2536 มาก่อน เสนอว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรยุติกระบวนการลงโทษวินัยกับนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ รวมทั้งควรยุติการกดดันในลักษณะอื่นๆ เช่น การเรียกนิสิตเข้าพบเพื่ออบรมสั่งสอน หรือการบอกนิสิตว่าเหตุการณ์นี้อาจมีผลต่อการขอทุนการศึกษาของนิสิตในครั้งต่อไป ด้วยเหตุผล 4 ประการ ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ควรเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดและทำกิจกรรมของนิสิต ตราบเท่าที่นิสิตไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ได้ละเมิดกฎหมายอาญาของบ้านเมืองแบบปกติ แต่ในปัจจุบันนิสิตถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมจากระบอบในปัจจุบันที่เราต่างก็รู้ดีว่า มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรงอยู่เนืองๆ  ในกรณีเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงแต่ต้องเคารพสิทธิของพวกเขาเท่านั้น หากแต่ควรจะช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกรังแกอีกด้วย

2. ตรงกันข้ามกับที่อาจารย์ ม.เกษตร บางท่านที่คิดว่า เป็นเรื่องไม่สมควรที่นิสิตสวมชุดนิสิตแสดงกิจกรรรมทางการเมือง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรจะภูมิใจว่า นิสิตเหล่านี้ได้แสดงออกถึงความตื่นตัวต่อบ้านเมืองและสังคม และมีจิตสำนึกที่จะตอบแทนภาษีของประชาชน สมดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ว่า “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน” หากผู้บริหารยังปิดกั้นสิทธิของนิสิต ก็อาจจะถูกเข้าใจได้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการมอมเมานิสิตให้ถอยห่างจากความตื่นตัวทางสังคมการเมือง และกลับไปทำกิจกรรมยุคสายลมแสงแดดในช่วงก่อน 14 ตุลาคม ที่นิสิตทำกิจกรรมประเภทร้องรำ ทำเพลง ดังที่มีลานเต้นรำ หลังหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยเป็นอนุสรณ์อันไม่น่าภาคภูมิใจ

3. ในอดีตที่ผ่านมา นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีส่วนร่วมกับประเด็นทางสังคมการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ภาพของ “ไอ้ก้านยาว” นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นิสิตคณะวนศาสตร์ ยืนถือไม้หน้าสามเผชิญหน้ากับแถวทหารที่ถือปืนเล็งมาที่เขา ยังเป็นภาพที่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่างภาคภูมิใจ นิสิตเกษตรศาสตร์ยังเป็นกำลังสำคัญขี่จักรยานรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2531 รวมถึงเหตุการณ์ต่อต้าน รสช. ปี 2534 ถึง เหตุการณ์ พฤษภา 35 ที่นิสิตเกษตรศาสตร์ก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน มีตัวแทนนิสิตเกษตรศาสตร์ร่วมอดข้าวประท้วงร่างรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของ รสช. เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2534 ด้วย การแสดงออกซึ่งความตื่นตัวทางสังคมการเมืองของนิสิตเกษตรศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยถูกปิดกั้นเหมือนดังยุคนี้

4. จากบทเรียนที่ผ่านมาจะพบว่า เป็นเรื่องดีที่นิสิตเยาวชนคนหนุ่มสาวได้แสดงความตื่นตัวมีจิตสำนึกทางการเมือง รักประชาธิปไตย การแสดงออกของพวกเขา อาจจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ผู้บริหาร หรือ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนิสิตเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวย่อมมีท่าทีและการแสดงออกตามวัย และทัศนะของพวกเขา  ที่ยังไม่ต้องห่วงใยกับผลประโยชน์ ลาภยศตำแหน่ง เหมือนคนที่เป็น “ผู้ใหญ่”

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะสยบยอมกับอำนาจล้นฟ้าของ คสช. ไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่นิสิตนักศึกษากลุ่มเล็กๆ รวมถึงนิสิตกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ที่กล้ายืนยันหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม พวกเขาสมควรที่จะได้รับการยกย่องและปกป้อง

หากคนที่คิดว่าตัวเอง เป็น “ผู้ใหญ่” แต่ไม่กล้าปกป้องเยาวชนเหล่านี้ ก็อย่าซ้ำเติมพวกเขา และทำให้ตัวเองต้องขายหน้าไปมากกว่านี้เลย โปรดยุติการคุกคามกดดันนิสิตเสรีเกษตรศาสตร์.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท