นักสังเกตการณ์ประชามติแนะ กกต.-กสม. ปรับทัศนคติ คสช. ย้ำหัวใจต้องแฟร์-ฟรี

ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch ระบุหัวใจของการเลือกตั้งและประชามติคือเสรีภาพในการแสดงความคิดและการสื่อสารต่อสาธารณะ แนะเทียบมาตรฐานอังกฤษดีกว่าเทียบกับพม่า ชี้แม้จะสายไปกับการสร้างความชอบธรรม แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร

<--break- />

พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch 

จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 มีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักกิจกรรม รามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ (อ่านข่าวที่นี่)  ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยื่นประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) รวมทั้งก่อนหน้านั้นมีการควบคุมและดำเนินคดีกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดจากความพยายามเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ นั้น

ประชาไท ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch และผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย ของมูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง(ANFREL) ซึ่งมีประสบการณ์เป็นผู้สังเกตการณ์นานาชาติ (International Observer) 15 ปี ในการสังเกตการณ์เลือกตั้งและประชามติทั้งในทวีปเอเชียและต่างทวีปกว่า 20 ประเทศ ถึงกรณีดังกล่าว

เสรีภาพในการแสดงความคิดและการสื่อสารต่อสาธารณะคือหัวใจ

โดย พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับประชามติว่า ดูแล้วก็คือมันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้  ถ้าพูดถึงหลักการที่เป็นหัวใจของการลงประชามติหรือการเลือกตั้งตนชอบใช้คำว่าเสรีภาพทางความคิดและจิตวิญญาณ จริงๆ มันคือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการสื่อสารต่อสาธารณะ ดูอย่างที่อังกฤษ ใครเขาจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเลือกตั้งและการลงประชามติ เพราะฉะนั้นที่รัฐบาลไทยไปบอกกับทั่วโลกว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ว่ากระบวนการที่จะพาเดินไปมันผิด มันแสดงให้เห็นถึงการขัดแย้งในสิ่งที่พูด การปิดศูนย์ปราบโกงมันจะทำให้ภาพการลงประชามติไม่เป็นธรรม มีการตั้งคำถามจากสังคมมากมายเลย พอมันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ มันตอกย้ำถึงปัญหาแล้วก็ความไม่จริงใจ การไปปิดพื้นที่ไม่ให้เขาแสดงนี่มีปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

ต่อกรณีมาตรการควบคุมเมื่อเทียบกับประเทศพม่าที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch กล่าวว่า เขาก็มีการควบคุม ตนถึงไม่อยากให้ไปมองพม่า จะเอาตัวอย่างพม่าซึ่งตอนนั้นเป็นเผด็จการทหารที่ไม่ยอมให้ใครพูดว่าประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ใครพูดคำว่าการเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน คุณจะไปคิดแบบนั้นใช่ไหม 

“มันไม่มีหรอกเผด็จการอะไรที่มันสร้างกระบวนการประชาธิปไตย อย่างเช่นบอกว่าห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ประชามติมันเป็นการเมืองด้วยตัวเองมันเอง คือทุกเรื่องมันเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด แล้วจะห้ามโน้นห้ามนี่อะไร คุณห้ามความคิดและจิตวิญญาณคนมันไม่ได้หรอก” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

เสนอเทียบกับอังกฤษ ดีกว่าเทียบกับพม่า

พงษ์ศักดิ์ เสนอว่า ควรเทียบกับอังกฤษ ประเทศที่พัฒนาดีกว่า หรือเทียบกับใกล้ๆ เรา ฟิลิปปินส์เขามีการเปลี่ยนแปลง คือมี เสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้มข้นกว่าเรา เอาแค่เปรียบเทียบที่เราเคยมีประชามติกันครั้งที่แล้วนี่มันก็แย่กว่าเดิมอีก นี่มันจะถอยหลังไปทุกที บางคนอาจคิดว่าการมีศูนย์ปราบโกงประชามติอาจทำให้เกิดความวุ่นวายจะบานปลายจะขัดแย้งเกิดความรุนแรง แต่ถามหน่อยว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สันติ พื้นที่ขัดแย้ง พื้นที่สีแดง สีอะไรก็แล้วแต่ที่เขากังวล ที่ใครเขามีอิทธิพลอะไรก็แล้วแต่เขาส่งทหารไปคุมทุกที่แล้วใช่ไหม

“ถ้าคิดว่าจะมีการปลุกระดมหรือสร้างความปั่นป่วนอะไร เชื่อว่าทหารเขาจ้องไว้แล้วล่ะ ถ้ามันจะเกิดผมว่ามันจะเกิดแล้วล่ะ ไม่มีใครกล้าที่จะเอาตัวเองไปแลกกับกระสุนปืนของทหารหรืออะไรที่แบบว่ามันไม่คุ้ม แล้วผมคิดว่าเขาคุมอยู่นะ” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

เสนอ กกต.-กสม. ปรับทัศนคติ คสช.

“เสนอว่า กกต. กับ กสม. ไปปรับทัศนคติ คสช. เพื่อขอให้เปิดพื้นที่เพราะเชื่อว่า 2 องค์กรนี้มีมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน หากปล่อยไว้มันจะขัดแย้งและจะทำให้การลงประชามติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม มันจะเป็นที่ครหากับชาวโลก ...อย่างน้อยที่สุดเขาควรต้องไปคุย ไปสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ได้กลายเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนน่วม” พงษ์ศักดิ์ กล่าว พร้อมตั้งคำถามด้วยว่า ถ้าไม่แคร์จะไปพูดกับยูเอ็นทำไม เพราะจริงๆ เราไปลงนามอะไรกับเขาไว้เยอะ โลกนี้เราอยู่ด้วยกัน เราอยู่ในสังคมโลกและเป็นส่วนหนึ่ง

กรณีผลกระทบต่อการยอมรับและความชอบธรรมจากสังคมและสากล พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า คนที่ทำงานเรื่องการเลือกตั้ง ประชาธิปไตย เคยเห็นการเลือกตั้งมาหลายที่ เห็นว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกมันเป็นหัวใจ วันก่อนไปร่วมงานประชุมกับ กกต. ที่เขาแถลงข่าวและให้ข้อมูลกับชาวต่างประเทศไม่ว่าจะสถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่จัดที่ศูนย์ราชการตนเข้าร่วมฟัง ซึ่ง กกต. ที่ระบุชัดเจนว่าผู้ใส่เสื้อรับ ไม่รับ ไม่ผิด โพสต์ในเฟซบุ๊กไม่ผิด รณรงค์แบบของตนเองไม่ผิดก็คือทำได้ แต่ว่าถ้า คสช. บอกว่าผิดเขาก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องของคสช เขาคงไม่มีอำนาจไปแย้ง คสช. 

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ใน กกต. มีศักดิ์ศรี ไม่อยากที่จะเป็นเครื่องมือใคร อยู่ข้างสิ่งที่เสรีและเป็นธรรม อยากจะเป็นกลางในความคิดจิตสำนึกของเขา แต่ว่าภาพที่มันออกมาหรือสื่อมันออกมามันเกิดคำถามจากสังคมหลายเรื่องใช่ไหม ตนคิดว่าในฐานะที่ กกต. เป็นคนรับผิดชอบ จัดการการลงประชามติให้เป็นไปโดย เสรีและเที่ยงธรรม ตนเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดกกต. ก็มีจิตสำนึกเรื่องนี้ อยากเสนอที่จะให้ กกต. ที่เป็นองค์กรจัดการซึ่งมีความสำคัญมาก หรือองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลองคุยกัน ทำงานร่วมกัน และขอเสนอให้ กกต. กับ กสม. ไปคุยกับ คสช. ได้ไหม ไปทำให้เขาเข้าใจว่าถ้าคุณไม่มีตรงนี้ซึ่งเป็นหัวใจหลักมันไม่ชอบธรรม มันจะเป็นปัญหา มันจะเป็นการตอกย้ำว่ามันไม่เป็นจริง มิเช่นนั้นคนทำงานหรือองค์กรสิทธิจะกลายเป็นตัวตลก กลายเป็นเหยื่อ อันนี้มองเชิงบวก แล้วตนเชื่อว่าเขาก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ทำไมให้ 2 องค์กรนี้เป็นหลักเพราะมันเกี่ยวกับกับสิทธิเสรีภาพโดยตรง กกต. เขาเป็นคนจัดแล้วก็เห็นด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch กล่าวต่อว่า การจะจัดการเลือกตั้งหรืออะไรก็ตาม กกต. ที่เป็นคนจัดต้องร่วมสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ต้อง free and fair (เสรีและเป็นธรรม), participatory (การมีส่วนร่วม) , freedom of expression (สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก) ที่เป็นหัวใจหลักอันนี้สำคัญที่สุดเลย จากที่ไปมาเกือบ 20 ประเทศ ตนรู้สึกว่าแม้การเมืองไทยมันซับซ้อน แต่ก็เข้าใจว่าอย่างน้อยที่สุด ที่คุณจริงใจที่จะทำให้มันถูกต้อง มันต้องเป็นไปทั้งกระบวนการแล้วมันถึงจะเป็นประชาธิปไตยจริง ถ้าคุณจำกัดอย่างโน้น อย่างนี้แล้วมันไม่เป็นธรรม มันไม่เป็นจริง มันขัดแย้งกับที่คูนออกมาพูดว่า ตอนแรกที่คุณบอกว่าอนุญาตให้ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติได้ พอทีนี้คุณบอกว่าไม่ได้ ปิดเลย มันขัดแย้งกับสิ่งที่คุณออกมาพูดคนมันตอกย้ำ ไม่จริงใจอะไรอย่างนี้แล้วเราก็ไปบอกกับชาวโลกเขาใช่ไหมว่าประชาธิปไตย 99 % มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เรื่องโจ๊ก และจะไปเห็นว่าเป็นเรื่องโจ๊กได้ยังไงมันต้องแสดงความจริงใจมันต้องมีศักดิ์ศรี ตนพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีด้วยคุณจะเล่นตลกอะไรกับชาวโลกด้วยมันไม่ได้

ยกอังกฤษจัดการเป็นรายกรณี ไม่ใช่กวาดทั้งหมด

ต่อกรณีที่ คสช. อาจจะกังวลเรื่องความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ดูที่อังกฤษเป็นตัวอย่าง เขาก็มีเหตุการณ์ มีการทำร้ายร่างกาย มีการฆ่ากันเกิดขึ้น แต่เขาดูเป็นกรณีๆ ไง และเข้าไปจัดการ โดยไม่ได้ไปกวาดทั้งหมดหรือไปเหมารวมทั้งหมด มันไม่ใช่ ในกรณีของเราก็เหมือนกัน การที่คุณจะไปจำกัดอะไรที่จะทำให้สถานการณ์มันแย่ไปกว่าเดิมไม่มีใครเขาทำกัน ยกเว้นแต่ไม่คิดจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่พูด

ที่ปรึกษาเครือข่าย We Watch กล่าวว่า ในประเทศที่มีสงครามมีความขัดแย้งมีอะไรเขายังจัดการเลือกตั้งได้ อย่างอัฟกานิสถานที่ไปสังเกตุการณ์มาหลายครั้งแล้ว วิธีจัดการมันมีเขาจัดการกันได้ ตอนนี้ทางรัฐบาลไทยได้จับตาและวางกระบวนการเพื่อที่จะเฝ้าระวังการปลุกปั่นปลุกระดมที่จะออกมาก่อความไม่สงบ ตนเชื่อว่าเขาพร้อมหมดแล้ว จึงเรียกร้องว่าควรที่จะเปิดเถอะเพื่อที่จะให้การลงประชามติครั้งนี้มันชอบธรรมกับตัวเอง ผู้คนของเราเอง กับการพัฒนาประชาธิปไตยที่บอกว่าเป็น 99.99% เพื่อศักดิ์ศรีของเราเอง ศักดิ์ศรีของความเป็นคน ความเป็นคนไทยทุกคน

ชี้แม้จะสายไปกับการสร้างความชอบธรรม แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร

ต่อคำถามว่าเหลือเวลาอีกเดือนกว่าก่อนถึง 7 ส.ค.59 ขณะที่ยังมีปรากฏการณ์จับกุมละเมิดสิทธิฯ และยังมี ม.61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ อยู่นั้น ยังถือว่ามีโอกาสหรือเวลาเพียงพอที่จะทำให้ประชามติครั้งนี้มันมีความชอบธรรมหรือไม่ พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับตนมองว่า จริง เรื่องช้าไป แต่มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่ทำอะไร เมื่อเราเห็นว่ามันเป็นปัญหาแล้ว เราก็ต้องปรับต้องทำในสิ่งที่มันถูกต้อง คือมันต้องทำต่อไป ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้เป็นการต่อสู้ที่ต้องทำต่อไป แม้ว่าจะผ่านไม่ผ่านอย่างไร เชื่อว่ามีกระบวนการต่อไป ภาคประชาชนก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบต้องมีการรณรงค์ สมมุติรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็เรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมา เพราะมันไม่ได้เป็นปัญหา ปัญหามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ ปัญหาอยู่ที่คนใช้และกลไก สมมุติคุณบอกว่ากลไกมีปัญหาคุณก็แก้ที่กลไก ปรับปรุง ปรับอะไรอย่างไร

พงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างที่จะปิดประเทศหรือจะปฏิรูป หรือ รัฐประหารอะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุผล 3 ประการ 1. คอร์รัปชั่น 2. ซื้อสิทธิขายเสียง 3. เรื่องประชานิยม ข้ออ้างเหล่านี้ก็ยังมีการทำอยู่ มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายหลายอย่างก็เป็นประชานิยม จึงมองได้ว่าข้ออ้างเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้ไขหรือว่าทำอะไร แต่ยอมให้มันมีขึ้นอีก เช่นข้ออ้างเรื่องซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็ไม่ได้ทำอะไร แก้ไขอะไร แล้วก็เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีปัญหาที่ตัวมันเองแล้ว

แนะนำเครือข่าย We Watch

สำหรับกิจกรรมของ เครือข่าย We Watch นั้น พงษ์ศักดิ์ แนะนำว่า เป็นเครือข่ายเยาวชน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยมีกิจกรรมสังเกตการณ์เลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.  2557  โดยครั้งนี้ตั้งใจจะสังเกตการณ์ลงประชามติ โดยพยายามติดต่อ กกต. เพื่อขอบัตรผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไปพบมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเขายังไม่ให้คำตอบว่าจะได้หรือไม่ได้

ส่วนมากสมาชิกในเครือข่าย We Watch จะเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม จากทั้งมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราชภัฏ กลุ่มเยาวชนตามจังหวัดและชุมชน ซึ่งครั้งนี้ เครือข่าย We Watch ไม่มีงบประมาณ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่จะทำด้วยใจ เพราะถือเป็นการเรียนรู้ฝึกฝน โดยจากนี้จะมีการทำอบรมออนไลน์ แต่ทุกคนที่ร่วมอบรมต้องเซ็นใน code of conduct เพื่อหวังสร้างกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการมีส่วนร่วม

“การมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตย มีงานวิจัยที่ทำวิจัยกับครูทั่วประเทศที่บอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ซึ่งผิด ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่เป็นการมีส่วนร่วม ตรวจสอบ เพราะว่าประชาธิปไตยโดยตัวมันเอง มันไม่เชื่อว่าใครดีใครเลวไง ใครดีใครชั่วไม่สนใจ เพราะมันวัดยาก แต่ถ้าคุณมาอยู่ในระบบ ต้องมีการตรวจสอบ และตรวจสอบทุกคนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นี่คือหัวใจ ซึ่ง เครือข่าย We Watch ถือตรงนี้ มาเป็นหลักการ” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท