สุรพศ ทวีศักดิ์: ‘รูปปฏิมาคนดี’ ในสังคมพุทธไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

คำถามพื้นฐานอย่างหนึ่งในปรัชญาศีลธรรมคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนมีศีลธรรม? นักปรัชญากรีกยุครุ่งเรืองอย่างโสเครตีส เพลโต อริสโตเติลตอบว่า คุณธรรมที่เรามีทำให้เรากระทำการต่างๆอย่างมีศีลธรรม แต่คุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่ต้องฝึกฝนจนเป็นนิสัยประจำตัว คุณที่มีคุณธรรมด้านปัญญา ความกล้าหาญ ความยุติธรรม ก็คือคนที่มีนิสัยกระทำการต่างๆอย่างใช้ปัญญา มีความกล้าหาญและความยุติธรรมเป็นปกติ

ดูเหมือนศาสนาก็เชื่อคล้ายกันว่า ความรัก ความเมตตา ปัญญา ความไม่เห็นแก่ตัว ความสุจริตทางกาย วาจา ความสะอาด สงบทางใจ เป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติที่ต้องบ่มเพาะฝึกฝนให้งอกงามขึ้นในตัวคน และคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวคนนั่นเองที่เป็นเหตุให้เขากระทำสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆในสังคม

ฉะนั้น การพัฒนาคนให้เป็น “คนดี” หรือเป็น “คนมีคุณธรรม” จึงเป็นหลักประกันการมีศีลธรรมของสังคม เพราะถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดีหรือคนมีคุณธรรม เขาก็จะกระทำการต่างๆอย่างมีศีลธรรม

เมื่อศึกษาปรัชญาศาสนาจะเห็นว่า ศาสนาเทวนิยมเช่นศาสนาคริสต์ถือว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้เท่าเทียมกันและมีเจตจำนงอิสระ(free will)ที่จะเชื่อฟังหรือปฏิเสธพระองค์ก็ได้ เพราะมีเจตจำนงอิสระในการเลือกทำสิ่งที่ถูกหรือผิดได้ มนุษย์จึงสามารถมีศีลธรรมและรับผิดชอบทางศีลธรรมได้ และเพราะมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เราจึงควรรักเพื่อนบ้านเหมือนตัวเราเองและปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเคารพความเป็นคนของเขาเสมอกับเคารพความเป็นคนของตัวเราเอง

พุทธศาสนานิกายมหายานมองว่า ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เนื่องจากทุกคนมีธรรมชาติแห่ง “พุทธภาวะ” ในตัวเองเหมือนกัน บางคนอาจทำชั่วเพราะตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส แต่นั่นเป็นเพียงการหลงผิด เมื่อพุทธภาวะอันเป็นธรรมชาติที่แท้ของเขาได้ถูกปลุกให้ตื่นรู้ด้วยวิถีการฝึกฝนที่เหมาะสมเขาก็อาจตรัสรู้เป็นพุทธะได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้หน้าที่ทางศีลธรรมของเราทุกคนก็คือการช่วยเหลือกันและกันให้เกิดการเรียนรู้เพื่อแปรศักยภาพแห่งพุทธะภาวะของกันและกันให้งอกงามเป็นจริง คุณธรรมที่เราต้องบ่มเพาะขึ้นภายในตัวเองเพื่อให้การทำหน้าที่ทางศีลธรรมดังกล่าวเป็นไปได้ก็คือปัญญาและกรุณา

แต่พุทธนิกายเถรวาทดูเหมือนจะไม่มีมโนทัศน์ (concept) “ความเสมอภาค” ชัดเจน มีการตีความว่าคำสอนเรื่อง “กรรม” สะท้อนความคิดเรื่องความเสมอภาค เนื่องจากเป็นคำสอนที่ปฏิเสธการตัดสินคุณค่าของมนุษย์จากชาติกำเนิดตามระบบวรรณะสี่ และเสนอว่าคนเราไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแบบไหนเมื่อกระทำถูกหรือผิดศีลธรรมในกรณีเดียวกันก็มีค่าเป็นถูกหรือผิดเสมอกัน และเมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์แปดได้สมบูรณ์ก็มีอิสรภาพจากความทุกข์ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งตัวคำสอนเรื่องกรรมในพระไตรปิฎก อรรถกถา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเผยแผ่คำสอนดังกล่าวก็มีความซับซ้อนมาก เช่น ขณะที่คำสอนเรื่องกรรมสามารถถอดความหมายของความเสมอภาคทางศีลธรรมออกมาได้ดังกล่าวแล้ว แต่คำสอนเรื่องกรรมนั้นเองก็ดูเหมือนจะสนับสนุนความไม่เสมอภาคทางสังคมด้วย ดังมีคำสอนในพาล-บัณฑิตสูตรว่า คนที่เป็นพาลเมื่อตายไปจะไปเกิดในตระกูลชั้นต่ำเช่นศูทร จัณฑาล ขณะที่คนเป็นบัณฑิตเมื่อตายไปก็จะเกิดในตระกูลคนชั้นสูงเช่นเป็นกษัตริย์มหาศาล(รวย) พราหมณ์มหาศาล(รวย)เป็นต้น

จากคำสอนในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาก็นำมาสู่การแต่งคัมภีร์พุทธศาสนาอื่นๆ ที่มีอิทธิพลทางความเชื่อในสังคมสยามไทยมายาวนานเช่น ไตรภูมิพระร่วง ที่เน้นการนำเสนอความเชื่อที่ว่าคนเกิดมาเป็นผู้ปกครอง เป็นเจ้าขุนมูลนาย เพราะมีบุญญาธิการมากเนื่องจากชาติปางก่อนทำบุญมามากจึงสมควรที่พสกนิกร ไพร่ ทาสที่ทำบุญมาน้อยต้องเคารพเชื่อฟังหรือหวังพึ่งบุญบารมี

ยิ่งกว่านั้นเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก (เช่นจักกวัตติสูตรเป็นต้น) ได้จินตนาการสังคมการเมืองแบบพุทธที่ขึ้นต่อการพึ่งพา “รูปปฏิมาคนดี” ว่า มีธรรมราชา 2 ประเภท ที่เกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน คือ “พุทธธรรมราชา” ทำหน้าที่สอนธรรมเพื่อเป็นแนวทางพัฒนากาย วาจา ใจของแต่ละบุคคลให้สะอาด และ “จักรพรรดิธรรมราชา” ทำหน้าที่ปกครองโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของผู้ใต้ปกครอง

จินตนาการดังกล่าวได้กลายมาเป็นรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา โดยรัฐต้องทำหน้าที่ปกครองตามอุดมคติธรรมราชาและต้องอุปถัมภ์คณะสงฆ์และส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนา ส่วนคณะสงฆ์ก็ทำหน้าที่สอนประชาชนตามรอยพุทธธรรมราชา

แต่เมื่อมองในรายละเอียดจะพบว่า จักรพรรดิธรรมราชาตามอุดมคติก็คือผู้ปกครองที่ฝึกฝนตัวเองให้มีคุณธรรมหรือเป็น “คนดี” ตามคำสอนพุทธศาสนา เดิมทีผู้ปกครองเช่นนี้หมายถึงผู้ปกครองในระบบราชาธิปไตย ต่อมาในยุคสมัยใหม่มีการอธิบายว่า ผู้ปกครองที่เป็นคนดีตามคำสอนของพุทธศาสนาไม่ได้ผูกติดกับระบบการปกครองแบบโดโดยเฉพาะ จะเป็นผู้ปกครองในระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ได้ เมื่อผู้ปกครองที่เป็นคนดีแบบพุทธอยู่ในระบบการปกครองแบบไหนก็ตาม เขาจะสามารถทำหน้าที่ผู้ปกครองที่ก่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้เสมอ

ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็มีหน้าที่สอนผู้ใต้ปกครองให้เป็น “คนดี” และผู้ใต้ปกครองที่เป็นคนดีไม่ว่าเขาจะอยู่ในระบบการปกครองแบบไหน เขาก็สามารถใช้ความเป็นคนดีให้เกิดประโยชน์ภายใต้ระบบการปกครองนั้นๆได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาสมัยใหม่อ่างค้านท์ (Immanuel Kant) วิจารณ์ว่า อุปนิสัยที่ดีของคนไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนมีศีลธรรม ถ้านายเอเป็นคนมีอุปนิสัยเมตตาเห็นอกเห็นใจคนอื่นอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขาจะเข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังนอนบาดเจ็บอยู่ข้างถนน แต่สำหรับนายบีที่มีอุปนิสัยตรงกันข้ามมันก็ง่ายที่เขาเย็นชาต่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ถ้าศีลธรรมขึ้นอยู่กับอุปนิสัยศีลธรรมก็เป็นเรื่องของโชคชะตา เป็นโชคดีของคนบาดเจ็บที่บังเอิญได้รับความช่วยเหลือจากคนที่มีใจเมตตาอย่างนายเอ แต่เป็นโชคร้ายหากจะมีคนแบบนายบีผ่านมาเจอ ทว่าถ้าศีลธรรมเป็น “หน้าที่” ไม่ว่าคนจะมีอุปนิสัยแบบไหนผ่านมาพบคนที่กำลังนอนเจ็บอยู่ข้างถนน ถ้าเขาถือว่าการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษย์เป็นความถูกต้องและเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ต่อให้เขาเป็นคนมีนิสัยเห็นแก่ตัวขนาดไหนเขาก็ต้องให้ความช่วยเหลือ

ค้านท์ถือว่าสิ่งที่ทำให้คนมีศีลธรรมคือ “เหตุผล” แต่เหตุผลในความหมายของค้านท์ไม่ใช่การหาข้ออ้างต่างๆมาสนับสนุนความต้องการของตัวเอง เช่นเราต้องการ X จึงหาข้ออ้างต่างๆมาสนับสนุนว่า X เป็นสิ่งที่ดี เหตุผลในความหมายของค้านท์คือ การใช้ความคิดสร้างหลักการทางศีลธรรมขึ้นบนพื้นฐานการเคารพความมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกัน นั่นคือการเคารพสิทธิในความเป็นอิสระที่จะปกครองตัวเอง (autonomy) ของปัจเจกบุคคล ถือว่าปัจเจกบุคคลสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีสำหรับตัวเองได้ ไม่ใช่สักแต่ว่าเดินตามคำสอนศาสนา จารีตประเพณี หรือิทธิพลครอบงำใดๆ การเคารพให้เกียรติปัจเจกบุคคลอย่างสูงสุดดังกล่าวคือแกนหลักของสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่

ศีลธรรมในความหมายสมัยใหม่จึงไม่ใช่ความดีที่สะท้อนออกมาจากตัวคนที่เป็นคนดีหรือคนมีคุณธรรม แต่สะท้อนออกมาจากตัวหลักการที่ยุติธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นคนมีอุปนิสัยเช่นไร แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล เมื่อแต่ละคนคิดอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานการเคารพความเป็นคนของตนเองและคนอื่นเท่ากัน ทุกคนก็สามารถสร้างหลักการทางศีลธรรมขึ้นมาด้วยตนเองได้ และหลักการทางศีลธรรมนั้นก็คือหลักการที่กำหนดว่าเราแต่ละคนมีหน้าที่ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนอื่นอย่างเสมอภาค

เมื่อทัศนะ “รูปปฏิมาคนดี” (ทั้งคนดีแบบผู้ปกครองและคนดีแบบผู้ใต้ปกครอง) ถูกนำมาใช้ในบริบทสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ถือว่าความดีหรือความถูกต้องอยู่ที่ “ถูกหลักการ” ไม่ได้อยู่ที่คุณธรรมในตัวคน ปัญหาที่ตามมาคือรูปปฏิมาคนดีกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าหรือศักดิ์สิทธิ์กว่าหลักการ เช่น เราอาจมีผู้ปกครองหรือนักการเมืองที่เป็น “คนดี” แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ปกครองที่ดี” หรือ “นักการเมืองที่ดี” ในระบบประชาธิปไตย

เพราะผู้ปกครองที่ดีหรือนักการเมืองที่ดีในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ คือผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและยืดถือปฏิบัติตามหลักการ กติกาประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา แต่ผู้ปกครองและนักการเมืองที่เป็นคนดีไม่จำต้องเป็นเช่นนั้น เขาอาจจะเคร่งศาสนา กินมังสวิรัติ กตัญญูต่อแผ่นดิน มีภาพลักษณ์เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์ ฯลฯ แต่ยิ่งมีรูปปฏิมาคนดีเช่นนั้นยิ่งทำให้เขามีความชอบธรรมหรือมี”อภิสิทธิ์” ที่จะใช้วิถีเผด็จการในการแก้ปัญหาทางการเมือง และสนับสนุนการใช้วิถีเผด็จการในการขจัดนักการเมือง พรรคการเมืองฟากตรงกันข้าม

สำหรับผู้ใต้ปกครองที่เป็นคนดีแบบศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องเป็น “พลเมืองดี” ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และวิถีทางประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา พวกเขาพร้อมที่จะใช้ความเป็นคนดีของตัวเองในการเรียกร้องและสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาใช้คุณธรรมในการปกครองบ้านเมืองในยามที่พวกเขาเห็นว่าวิกฤตได้เสมอ

และสำหรับคนดีนั้น นอกจากพวกเขาจะไม่รู้สึกสะเทือนใจกับฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมืองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพแล้ว พวกเขายังพร้อมที่จะทำหน้าที่ “ล่าแม่มด” หรือกวาดขยะคนเห็นต่างทางการเมืองออกไปเพื่อให้ประเทศสะอาดสะอ้านและแผ่นดินสูงขึ้น

จะเห็นได้ว่า ขณะที่ความชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่เรียกร้องการยึดถือความถูกต้องบนการเคารพหลักการ กติกาประชาธิปไตย แต่ความชอบธรรมดังกล่าวได้ถูกบดบังด้วยรูปปฏิมาคนดีที่สร้างความชอบธรรมจากการครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อผ่านวาทกรรมทางศีลธรรมและอำนาจปืน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท