รัฐเวชกรรมไทย (4)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

รัฐเวชกรรมไทยเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นภายใต้การนำโดยรัฐบาลชาตินิยมของ จอมพล ป. เมื่อปี 1938 โดยจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างรัฐที่เข้มแข็ง สุขภาพของประชากรที่ดีย่อมส่งผลให้อำนาจของรัฐมากขึ้นจาก ผลผลิตของประเทศที่มากขึ้น และจำนวนกำลังทหารที่มากขึ้น จุดบ่งชี้ที่สำคัญคือ การยกฐานะจากแผนกกระทรวงสาธารณสุขให้กลายมาเป็นระดับกระทรวง นับว่าเป็นสถาบันระดับชาติแห่งแรกที่ออกนโยบายสุขภาพในระดับชาติ นอกจากนี้มีการสร้างมาตรฐานการรักษาให้เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศโดยการออกกฎหมายควบคุมการประกอบโรคศิลป์ในปี 1936  ซึ่งควรส่งผลกระทบต่อหมอและผู้ให้บริการการแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาต โดยเฉพาะแพทย์แผนไทยควรจะสูญหายไปในสารบบทันที

แต่ในภาคปฏิบัติเนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรแพทย์สมัยใหม่โดยเฉพาะในเขตทุรกันดาร ทำให้แพทย์แผนไทยและผู้ให้บริการอื่นๆที่ไม่มีใบอนุญาตยังสามารถพบเห็นอยู่ นอกจากนี้มีการริเริ่มการค้นคว้าและวิจัยอุตสาหกรรมยาด้วยการตั้งโรงงานเภสัชกรรมของรัฐแห่งแรก และมีการสืบทอดเจตนารมณ์ของรัฐบาลคณะราษฎร์ในการสร้างสถานพยาบาลให้ครอบคลุมทุกๆอำเภอ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการขาดแคลนงบประมาณจากส่วนกลางทำให้การขยายจำนวนโรงพยาบาลไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลพยายามเรี่ยไรขอเงินบริจาคจากประชาชนเพื่อรวมกันสร้างโรงพยาบาลประชานุเคราะห์ แต่ก็สามารถสร้างได้เพียงแค่ 2 โรงเท่านั้น  และสถานการณ์ด้านงบประมาณยิ่งแย่ลงเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

อำนาจของรัฐเวชกรรมจะมีได้ต้องอาศัย ประการแรกคือ การสะสมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของรัฐบาลกลาง ประการสอง ข้อมูลสารสนเทศน์ด้านสุขภาพในระดับชาติ ประการสาม บุคลากรการแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจด้านสุขภาพของรัฐตรวจตราพฤติกรรมของประชาชนและโรคร้ายสิ่งโสโครกในทุกๆพื้นที่ และประการสุดท้าย อำนาจการบังคับทางกฎหมายที่เข้มแข็ง

เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐเวชกรรมในยุโรป กับรัฐเวชกรรมของไทยแล้ว ปัจจัยหลายอย่างทำให้รัฐเวชกรรมไทยเป็นรัฐที่อ่อนแอไม่สามารถแผ่ขยายอำนาจเข้าไปควบคุมประชาชนได้ทุกระหนระแหง เนื่องจาก

ประการแรก การสะสมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มิได้เข้มแข็งพอ การเข้าถึงการศึกษาแพทย์สมัยใหม่จำกัดในวงแค่เชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้แม้มีการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถาบันกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ก็ยังคงมีอิทธิพลในด้านสุขภาพและความรู้การแพทย์ และส่งผลต่อการเกิดข้อขัดแย้งกับรัฐบาลพิบูลสงครามในประเด็นเรื่อง การผลิตแพทย์ชั้นสองเพื่อรองรับความต้องการของรัฐ อนึ่งแพทย์ชั้นสองคือแพทย์ที่มีการปรับเปลี่ยนให้จบหลักสูตรเร่งรัดภายใน 4 ปี จากเดิม 6 ปี โดยมุ่งเน้นด้านการสาธารณสุขและป้องกันโรคมากกว่าการศึกษาเพื่อรักษาโรคที่ซับซ้อนเพื่อส่งไปทำงานในพื้นที่เขตทุรกันดารและขาดแคลนแพทย์ ซึ่งข้อเสนอของรัฐบาลนี้ได้รับการต่อต้านจากข้าราชการขั้นสูงในกระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์ที่มีความสัมพันธ์กับมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ที่มุ่งเน้นด้านการวิจัยเป็นหลัก นอกจากนี้การสะสมความรู้แพทย์สมัยใหม่ไม่เข้มแข็งพอแล้ว รัฐบาลยังต้องเผชิญกับความรู้แพทย์แผนไทยและความเชื่อท้องถิ่นที่ยังคงหลงเหลือไว้ในสังคม  ซึ่งต่างจากประสบการณ์ในยุโรปที่ความรู้สมัยใหม่เข้ามาถอนรากความรู้แบบเก่า และการแพทย์จึงกลายเป็นการแพทย์วิทยาศาสตร์และเหตุผลมากกว่าความเชื่อ

ประการสอง เนื่องจากการผลิตแพทย์ไม่เพียงพอทำให้รัฐเวชกรรมไทยขาดแคลน ตำรวจสุขภาพในการควบคุมพฤติกรรมคน และ รวบรวมข้อมูลต่างๆให้รัฐบาลวางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งส่งผลต่อมาประการที่สามคือ การขาดแคลนข้อมูลสถิติสุขภาพระดับประเทศ ซึ่งสถาบันสถิติระดับชาติเพิ่งเริ่มสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา

ประการสุดท้าย การขาดแคลนอำนาจบังคับทางกฎหมาย ดังที่ทราบแล้วว่าภายใต้รัฐบาลจอมพล ป มีการออกประกาศรัฐนิยมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมสุขอนามัย การออกกำลังกาย ของประชาชนไทย การห้ามบ้วนน้ำหมากในที่สาธารณะ การห้ามอาบน้ำในที่สาธารณะ การควบคุมโรคติดต่อ และการสนับสนุนการแต่งงานและเจริญพันธุ์ เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับรัฐเวชกรรมของนาซีเยอรมันแล้วที่สามารถบังคับคนมาทำหมันหรือบังคับให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างถูกกฎหมายแล้ว อำนาจของรัฐเวชกรรมไทยจึงดูอ่อนด้อยในทันที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท