Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หฤษฎ์ มหาทน (ปอน) เป็นนักอ่านมาตั้งแต่เด็กด้วยการปลูกฝังของคุณแม่ แม้ว่าคุณแม่จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปอนมีอายุได้ 9 ขวบ แต่นิสัยรักการอ่านของหฤษฎ์ก็เติบโตมาโดยไม่ลดน้อยถอยลง เขาไปร้านเช่าหนังสือในมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกวัน วันละหลายร้าน แต่ร้านที่มีนิยายให้เขาเช่ามาอ่านมากที่สุดคือร้านปากกาทอง ย่านหลังมหาวิทยาลัย เขาอ่านนิยายแทบทุกประเภทตั้งแต่แฟนตาซี สยองขวัญ จนถึงนิยายรักโรแมนติก เมื่ออ่านมากเข้า หฤษฎ์ก็เริ่มรู้สึกเบื่อนิยายที่คนอื่นเขียน จนกระทั่งเมื่อเว็บไซต์เด็กดี.คอมเป็นที่นิยม เขาจึงคิดจะเขียนนิยายของตัวเองขึ้นมาเผื่อเผยแพร่ให้คนอื่นอ่าน 

นามปากกาที่หฤษฎ์ ใช้เป็นนามปากกาแรก ซึ่งใช้เป็นชื่อไอดีในเว็บไซต์เด็กดี.คอม คือ “หยงเล่อ” ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนที่อาจารย์มวยจีนแปลตั้งให้จากชื่อ “หฤษฎ์” ของเขาเอง นามปากกานี้ยังพ้องกับชื่อของฮ่องเต้องค์ที่สามแห่งราชวงศ์หมิง คือจักรพรรดิหยงเล่อผู้สร้างกองเรือมหาสมบัติเป่าฉวน และมหาสารานุกรมหยงเล่อต้าเตี่ยน 

งานเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกที่ออกเผยแพร่ในเว็บไซต์เด็กดี.คอม คือนิยายเรื่อง “หยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ” 

เรื่องราวแสนเศร้า ความรักของเด็กหนุ่มที่มีต่อเด็กสาว ซึ่งมียมทูตคอยเป็นที่ปรึกษาให้เด็กหนุ่มคนนั้น ชะตากรรมที่ผกผันกับชีวิตที่หม่นหมองเป็นเหมือนการถอดชีวิตของตัวหฤษฎ์เองออกมาผ่านนิยาย หฤษฎ์เขียนถึงนิยายเรื่องนี้ว่า 

“เราเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ตอนอายุ 15 เขียนจบตอนอายุ 18 สามปีหลังจากนั้นเอามันมาแก้ไขอีกครั้ง แต่ไม่อาจทำใจลบของเดิมทิ้งได้ ในเรื่องที่เขียนทั้งหมด หยดน้ำตาฯ เป็นเรื่องที่พิเศษที่สุด ไม่อาจบอกได้ว่าหยดน้ำตาสมบูรณ์หรือดีกว่าเรื่องอื่น ภาษาหยาบ ติดขัด ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อเรื่องเคลื่อนไปข้างหน้าเหมือนไร้การวางแผน หนัก เจ็บปวด และรุนแรง กระนั้นหยดน้ำตาฯ เป็นภาพตัวตนในวัยมัธยมปลายของเรา”  

ความหม่นเศร้าในชีวิตวัยเด็กและมัธยมของหฤษฎ์ กลั่นผสมกับไลท์โนเวลแนวโศกนาฏกรรมของสนพ. เจบุ๊คส์ ในเครือบลิสที่เขาชื่นชอบ เช่น ยมทูตสีขาว (しにがみのバラッド Shinigami no Ballad) ใต้ฟ้าจันทร์ครึ่งดวง (半分の月がのぼる空) ออกมาเป็นเรื่องหยดน้ำตากลางฟ้าสีดำ เรื่องหยดน้ำตาฯนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์จากสนพ. มีเพียงแต่การพิมพ์ทำมือเย็บกาวเพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนไม่กี่คนได้อ่าน และเผยแพร่ลงบนเว็บเด็กดีเท่านั้น ซึ่งตัวละครบางตัวในเรื่องนี้ นำไปสู่การเปิดตัวละครสำคัญในผลงานเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา “เรื่องของผมกับผี”

ระหว่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หฤษฎ์ได้สมัครเขียนนิยายไลท์โนเวลเข้าประกวดกับ สนพ.รักพิมพ์ โดยส่งพล็อตเรื่องและบทนำบางส่วนเข้าประกวด ผลออกมาปรากฏว่าเขาไม่ได้รับรางวัล แต่บรรณาธิการสนใจจะให้ตีพิมพ์เป็นเล่มหากสามารถเขียนจนจบเรื่องได้ และผลงาน “เรื่องของผมกับผี” ก็ได้รับการตีพิมพ์ก่อนที่หฤษฎ์จะเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

นามปากกา “ฟ้าไร้ดาว” ถูกใช้เป็นครั้งแรกกับ “เรื่องของผมกับผี” เรื่องราวของเด็กหนุ่มอีกคนที่อยู่มาวันหนึ่งก็สามารถมองเห็นผีได้ เมื่อพ่อกับแม่ของเขาเสียชีวิตลงกะทันหันในอุบัติเหตุ และเมื่อเรื่องราวดำเนินไป เขาก็ได้พบกับยมทูตไร้นามตนหนึ่งที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสภาพการเห็นผีของตัวเอง และพบกับทางเลือกว่าจะเดินต่อไปอย่างไรกับชีวิต

จะเห็นได้ว่า นิยายในยุคต้นของหฤษฎ์ ค่อนข้างจะเป็นนิยายแนว Coming of Age ที่ตัวเอกต้องไปพัวพันกับ “ความตาย” และมีโทนที่ค่อนข้างหม่นเศร้าสมกับนามปากกา “ฟ้าไร้ดาว” ซึ่งแรงบันดาลใจนอกจากจะมาจากชีวิตของหฤษฎ์เองที่ค่อนข้างลำบากในวัยเด็ก ยังมาจากยามค่ำคืนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เขามักจะเดินท่ามกลางแสงไฟสีส้มอ่อนใต้ฟ้าสีดำที่ไร้ดวงดาวกับเพื่อน หรือบางครั้งก็เดินคนเดียวเพื่อกลับบ้านที่ไม่มีใครรออยู่ ประกอบกับอิทธิพลของไลท์โนเวล และนิยายแนวสยองขวัญ โดยเฉพาะผลงานของโอตสึอิจิ เช่น ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ กับร่างไร้วิญญาณของผม และ GOTH คดีฆ่าตัดข้อมือ ทำให้วิธีการเล่าเรื่องตัดสั้นฉับไวและใช้ประโยคสนทนาสั้นๆ กับวลีที่ทิ้งความรู้สึกไว้มากกว่าจะใช้พรรณนาโวหารยาวๆ  

“ผมปล่อยน้ำตาให้ไหลออกมาตรงนั้นเงียบๆ
เมื่อมันหยุดไหล ผมจะเชิดหน้าขึ้นแล้วใช้ชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง
ก็พ่อกับแม่ไว้ใจผมขนาดนั้นเลยนี่นา” 

เรื่องของผมกับผี ตอนที่ 1 

เมื่อหฤษฎ์เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข้าร่วมชุมนุมวรรณศิลป์ แนวทางการเขียนของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนเชิงทฤษฎีและแนวคิดรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องวาทกรรมของ มิเชล ฟูโกต์ และแนวคิดทางการเมืองระหว่างประเทศ หฤษฎ์ได้เรียนรู้วิธีคิดหลักจากอาจารย์สามท่าน คือ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในวิชาวรรณกรรมกับการเมืองซึ่งเขาได้เขียนวิเคราะห์นิยายหลากหลายเรื่อง อันจะเป็นรากฐานการเขียนวิจารณ์ของเขาต่อไปในอนาคต อ.เดชา ตั้งสีฟ้า ในเรื่องของบาดแผลจากสงครามและการลงพื้นที่จริงที่ชายแดนพม่า และ ศ.เกษียร เตชะพีระ ในเรื่องพื้นฐานแนวคิดการตีความในหนังสือรวมถึงการใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นจากความปวดร้าวในอดีต 

“ผมยังจดจำคำพูดหนึ่งของ อ.เกษียร ตลอดเวลาว่า “เรื่องโลกไม่เป็นดั่งใจ”
ทำให้มันเป็นเรื่องตลกแล้วเราจะอยู่กับมันได้”  

จากสเตตัสเฟซบุ๊กของหฤษฎ์

ระหว่างการเรียนรัฐศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้หฤษฎ์เขียนผลงานชิ้นเยี่ยมของเขาขึ้นมา เพื่อเข้าร่วมประกวดในงาน”นักเขียนหน้าใส” ของสนพ.แจ่มใสครั้งที่ 2 คือ “ทูตแห่งเซนทาเรีย กับมงกุฎสายรุ้ง” 

เรื่องราวของเลโอ เดอ ดานาโร ทูตแห่งเซนทาเรีย กับ เรย์ หัวขโมยแสนกล ที่โชคชะตาพลิกผันได้พบกับเหล่าผู้ปกครองแผ่นดินแห่งฟรานซ์ โจรสลัด แม่มดแห่งป่าดำ มวลแมวผู้ไม่ทุกข์ร้อน และพญามังกรเลเวียธาน ซึ่งแต่ละฝ่ายมีปรัชญาการดำเนินชีวิตและความคิดเกี่ยวกับอำนาจและเวทมนตร์แตกต่างกันไป หฤษฎ์ได้สร้างบุคลาธิษฐานของวาทกรรมและความเชื่อให้กลายเป็นเวทมนตร์และอัญมณีเวทมนตร์ ใช้สำนวนภาษาและคำที่แตกต่างกันออกไปเพื่อเน้นสารที่ต้องการจะสื่อ เช่น ใช้คำว่า “จ้าวหญิง” (Female Lord) แทน ”เจ้าหญิง” (Princess) หรือให้เผ่าแมวใช้ภาษาอีสานเพื่อแปลกแยกแนวคิดที่แตกต่าง “ทูตแห่งเซนทาเรีย กับมงกุฎสายรุ้ง”ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวด และได้รับตีพิมพ์ ยอดขายและเสียงตอบรับดีในระดับหนึ่งถือเป็นอีกงานที่สร้างชื่อให้กับหฤษฎ์ ซึ่งครั้งนี้ใช้นามปากกาว่า Starless Night 
ใน “ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง” เรื่องราวยังไม่จบลงด้วยดีและหฤษฎ์ยังเขียนภาคต่อในชื่อ “ทูตแห่งเซนทาเรียกับศิลาแห่งคำสัญญา” ซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์เนื่องจากไม่สามารถหาหัวสำนักพิมพ์ที่เหมาะสมลงได้ และยังวางแผนจะเขียนภาค 3 ซึ่งจะเป็นภาคจบ ในตอน “ทูตแห่งเซนทาเรีย กับวงแหวนของมิตรภาพ” แต่ยังไม่ได้เขียนออกมา นอกจากซีรีส์ “ทูตแห่งเซนทาเรีย” ระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย หฤษฎ์ดำรงตำแหน่งประธานชุมนุมวรรณศิลป์ถึงสองสมัย ผลิตงานเรื่องสั้นและวิจารณ์หนังสือออกมาเพื่อลงในจุลสารของชุมนุมมากมาย และยังคงลงนิยายแบบทดลองหลากหลายแนวในเว็บไซต์เด็กดี.คอม 

เมื่อเรียนจบ หฤษฎ์คิดว่าตนเองล้มเหลวในผลงานยุคหลังจาก”ทูตแห่งเซนทาเรีย” เนื่องจากไม่ได้รับการตีพิมพ์ และเมื่อส่งประกวดก็ไม่ได้รับรางวัลต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้เขาเริ่มคิดหาวิธีเขียนแบบอื่นที่จะช่วยให้คนอ่านสนุกสนานและติดตามไปได้ โดยดูภาพยนตร์และอนิเมชันติดต่อกัน จนกระทั่งเขาได้เสนอแนวคิดการเขียนนิยายร่วมกันกับคุณไผ่ รุ่นพี่ที่สนิทกันมายาวนานผู้หนึ่งที่ขอนแก่น แล้วใช้วิธีร่วมกันคิดพล็อตและนำมาขยายให้เป็นบทนิยาย ออกมาเป็นนิยายเรื่อง “รีอาลิสออนไลน์ ดับวิกฤตโลกปริศนา” โดยผ่านการพิจารณาตีพิมพ์กับ สนพ.มีดีส์ ในเครือสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย 

รีอาลิส ออนไลน์ เป็นเรื่องของตัวละครมากมายในโลกของเกมออนไลน์ ที่มีปมซับซ้อนและผูกพันกันอยู่ในระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ ตัวละครแต่ละตัวมีเรื่องราวของตนเองให้เล่าขานและเปลี่ยนมุมมองนำเสนอเพื่อให้เห็นความจริง(รีอาลิส)ในแต่ละแง่จนครบ ไม่ใช่เพียงนิยายเกมออนไลน์แต่แท้จริงแล้วเป็นนิยายทริลเลอร์ไซไฟที่เข้มข้น 

นามปากกา Synchronise มาจากวิธีการร่วมเขียนนิยายแบบใหม่นี้ หฤษฎ์คิดว่าเป็นวิธีที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ โดยการแบ่งส่วนที่แต่ละฝ่ายเขียนได้ดี แล้วเอามาประกอบกัน ซึ่งจะทำให้เขียนงานได้หลายเรื่องพร้อมกันเป็นรูปแบบคล้ายสตูดิโออนิเมชั่นหรือกองถ่ายภาพยนตร์ “รีอาลิสออนไลน์” สามารถเขียนได้ต่อเนื่องยาวถึง 6 เล่ม และมีแผนจะจบในเล่มที่ 7 แต่ประสบข้อขัดข้องจึงยังไม่อาจพิมพ์เล่มจบได้ 

และเมื่อแนวคิดวิธีการเขียนนิยายแบบใหม่นี้ลงตัว หฤษฎ์ก็ได้ร่วมมือกับ มร.อเมริกัน (นามปากกา) เพื่อสร้างผลงานต่อเนื่องหลายเรื่อง โดยเปลี่ยนจากการเสนอไปยังสำนักพิมพ์ซึ่งประสบภาวะยอดขายลดลง เป็นการพิมพ์เองในนามของสำนักพิมพ์ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับนักเขียนหลายคนในยุคนี้ และใช้วิธีการจ้างนักวาดปกที่มีชื่อเสียงในวงการนักวาดมาดึงดูดความสนใจลูกค้า รับพรีออเดอร์และทำการตลาดด้วยตนเอง ซึ่งนิยายของหฤษฎ์ยุคหลังจะได้รับอิทธิพลจากอนิเมชันและภาพยนตร์สูงมาก ทั้งการตัดฉาก เล่าเรื่อง วางพล็อตให้ติดตามต่อในแต่ละตอน และเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างตัวละครเด่นเพื่อให้ผู้อ่านผูกพันมากขึ้นกว่างานเขียนรุ่นก่อน งานยุคล่าสุดของหฤษฎ์ที่เขียนร่วมกับผู้อื่น เช่น “ผมอยากเป็นคนธรรมดาแต่แฟนในจินตนาการที่ได้แบบมาจากเพื่อนสมัยเด็กดันออกมาจากหนังสือและต้องเข้าร่วมสงครามเทพไปซะได้”

อย่างไรก็ตาม งานรุ่นหลังของหฤษฎ์ ขาดเสน่ห์ในอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้งที่เคยมีในงานยุคแรก และเนื้อหาไม่ลึกเท่าทูตแห่งเซนทาเรีย ไม่แปลกที่กระแสตอบรับเป็นไปในระดับกลางๆ และคนส่วนใหญ่จะรู้จักตัวตนของเขาผ่านสเตตัสเฟซบุ๊คที่เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ อนิเมชัน หรือการเดินทางมากกว่า 

นิยายเรื่องล่าสุดของหฤษฎ์ ที่เขียนขึ้นเสร็จก่อนจะถูกจับกุมและตั้งข้อหาจนถูกคุมขังไม่กี่วัน คือ Tales: ปริศนาเรื่องเล่าเขย่าขวัญ เป็นผลงานที่เขาเขียนขึ้นด้วยคนเดียว ผิดจากงานยุคหลังอื่น ๆ ด้วยความตั้งใจ และมีบรรยากาศต่อเนื่องคล้ายคลึงกับ “เรื่องของผมกับผี”  Tales: ปริศนาเรื่องเล่าเขย่าขวัญ เป็นเรื่องราวของ เอิร์ธ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่กลัวผีอย่างรุนแรง แต่ต้องเข้าไปเผชิญกับเหตุการณ์สยองขวัญในรั้วโรงเรียน โดยมีสาวน้อยมัธยมต้นปริศนาคอยเข้ามาแนะนำ ยั่วหยอก เตือนภัย และช่วยเหลือเพื่อไขปริศนาเรื่องเล่าเขย่าขวัญที่เขาได้พบว่า แท้จริงแล้วเกิดจากสิ่งใด  ถือว่าเป็นงานที่ดีที่สุในช่วงหลังของตัวหฤษฎ์เองก็ว่าได้

ผลงานของหฤษฎ์พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามวุฒิภาวะและสิ่งที่ได้เรียนรู้เสมอตั้งแต่ “หยงเล่อ” จนถึง ”Synchronise” เราหวังว่าจะได้อ่านผลงานของเขาต่อเนื่อง และมีเรื่องใหม่ ๆ ให้เราได้เพลิดเพลินสนุกสนานและเรียนรู้ไปพร้อมกับตัวหฤษฎ์เอง ในโลกที่ฟ้าสดใสกระจ่างดาว

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:  เฟซบุ๊ก THEERAPAT CHAROENSUK

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net