Skip to main content
sharethis

สั่งปิด GrabBike-UberMoto เหตุกลุ่มผลประโยชน์เดิมมองเป็นภัยคุกคาม ด้านนายกสมาคมสตาร์ทอัพแนะรัฐยกเครื่องกฎระเบียบให้สตาร์ทอัพไปต่อได้ ด้านนักวิจัย TDRI มองอุปสรรคเกิดทั้งจากกฎหมายและวิน จยย. เจ้าเก่า แนะเร่งปรับโครงสร้างรับสตาร์ทอัพ เพราะในโลกสตาร์ทอัพ ปลาเร็วกินปลาช้า

(คำบรรยายภาพประกอบ) นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ ทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ประชุมชี้แจงกับผู้แทนบริษัท GrabBike เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 และในการประชุมเมื่อ 17พฤษภาคม ได้ให้ทั้ง GrabBike และ UberMoto ยุติการให้บริการทันที (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)

หน้าเว็บของ Grab ที่เคยแสดงรายละเอียดการให้บริการ GrabBike ก่อนที่จะยุติการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร เหลือเพียงรับส่งพัสดุเท่านั้น (ที่มา: Grab.com)

เหตุการณ์วินจักรยานยนต์รับจ้างเจ้าถิ่นยึดกุญแจคนขับจักรยานยนต์ในระบบ GrabBike ก่อนเป็นคลิปในโลกโซเชียล ต่อมาผู้ขับจักรยานยนต์ในระบบ GrabBike ถูกเปรียบเทียบปรับ 4,000 บาท ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างและไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง (ที่มา: YouTube/ข่าวชาวบ้าน และ MThai)

หลังจาก Grab เปิดตัวแอปพลิเคชัน GrabBike เพื่อใช้เรียกบริการจักรยานยนต์รับจ้างรับส่งผู้โดยสารและพัสดุ โดยเปิดตัวที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากฮานอย โฮจิมินห์ซิตี และจาการ์ตา เมื่อสิงหาคม 2558 ตามมาติดๆ ด้วยค่าย Uber ที่เปิดตัว UberMOTO ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนกระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกและกองพลที่ 1 รอ. ได้เรียกผู้บริหาร GrabBike มาหารือ และมีข้อสรุปเมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาแจ้งให้ทั้ง GrabBike และ UberMOTO ยุติการให้บริการ

เลี่ยงไม่ได้ที่ภาพบรรดาทหารหาญจากกองพลที่ 1 รอ. นั่งเรียงแผงในการประชุมกับ GrabBike เพื่อยุติการดำเนินการจะชวนให้ขบคิดไปไกลว่า เรื่องนี้กระทบความมั่นคงมากเพียงไหน หรือการเกิดขึ้นของ GrabBike และ UberMOTO กำลังทำให้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือส่วนต่างที่ใครบางกลุ่มได้รับกำลังถูกกระทบกระเทือน

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก ระบุว่าบริการดังกล่าวผิดพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้แก่ ความผิดตามมาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท มาตรา 5(15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท มาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ขณะที่เมื่อ 2 มิถุนายนนี้ Coconuts Bangkok ระบุว่าทดลองใช้แอปพลิเคชัน GrabBike (Delivery) แล้วยังคงเรียกให้บริการผู้โดยสารได้

ต่อมามีการถกเถียงกันถึงท่าทีของส่วนราชการที่มีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) อย่าง GrabBike และ UberMoto โดยกล่าวถึงว่า แนวทางที่ส่วนราชการปฏิบัติต่อ GrabBike และ UberMoto จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะทั้ง 2 บริการดังกล่าว ไม่ใช่ธุรกิจสตาร์ทอัพเดียวที่มีลักษณะการให้บริการอย่างนี้ โดยลักษณะทั่วไปในการให้บริการ GrabBike คือการเปลี่ยนคนกลาง จากคนคุมวินเป็น GrabBike ทำให้ค่าบริการถูกลง เช่นเดียวกับการนำเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงิน (FinTech) หรือธุรกิจค้าขายออนไลน์อื่นๆ การที่ส่วนราชการพุ่งเป้าไปที่ GrabBike โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จะเป็นการลดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการหลายอื่นๆ หรือไม่ และโครงสร้างทางกฎหมายไทยไม่เอื้อประโยชน์หรืออาจจะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจสตาร์ทอัพหรือไม่

 

ชี้ปิด GrabBike – UberMoto เพราะมีเจ้าเก่า แนะรัฐต้องไม่ปิดถาวร เพื่อให้สตาร์ทอัพได้แก้ไข

กรณีการสั่งปิด GrabBike และ UberMoto วัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association และผู้ก่อตั้งบริษัท คอมพิวเตอร์โลจี จำกัด กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในสังคม ธุรกิจหลายอย่างมีโครงสร้างพื้นฐานมาอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ที่จะกำกับดูแลและควบคุม เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่วัชระก็มองว่ารัฐบาลไม่สมควรจะรีบปิดถาวร แต่ควรเป็นการปิดชั่วคราว เพื่อให้โอกาสธุรกิจได้พิสูจน์ว่าธุรกิจนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

“การปิดทันที ปิดถาวร อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง หากเป็นการแจ้งเตือนหรือการปิดชั่วคราว และเราลองมาเปิดใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด”

ในความเห็นของ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association เขายืนยันว่าการถูกปิดตัวของ GrabBike และ UberMoto ไม่ได้ส่งผลกระทบในภาพรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะสตาร์ทอัพมีหลากหลายประเภท ไม่ได้มีแค่การขนส่งอย่างเดียว แต่อาจส่งผลต่อผู้ที่จะเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่จำต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อนทำธุรกิจ ว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายและส่งผลเสียแก่ผู้บริโภคหรือไม่

 

นักวิจัย TDRI มองกฎหมายยังไม่เอื้อ GrabBike–รวมทั้งระบอบเสื้อวิน จยย.

ด้านฉัตร คำแสง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การร่างและบังคับใช้กฎหมายตามวิถีการมองแบบเศรษฐศาสตร์ การใช้นโยบายต้องมองไปที่ผลลัพท์ที่ผู้บังคับใช้ต้องการให้เกิด ส่วนราชการต้องการให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นและพัฒนาต่อไป แต่โครงสร้างทางกฎหมายของไทยยังไม่เอื้อประโยชน์และไม่คุ้มครองธุรกิจสตาร์ทอัพเท่าที่ควร

ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลที่มีเพื่อการสนับสนุนสตาร์ทอัพคือ กองทุนสตาร์ทอัพของรัฐบาลกับนโยบายลดภาษีต่างๆ คือสิ่งที่รัฐมอบให้เพื่อช่วยเหลือ

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับ GrabBike นั้น ฉัตรมองว่ากฎหมายยังไม่สนับสนุน GrabBike เท่าที่ควร เนื่องจาก Grab Bike เป็นผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีค่าหัวคิวสูง ค่าหัวคิวที่มีอยู่ในวงการวินจักรยานยนต์รับจ้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง เป็นผลพลอยได้จากรัฐ เนื่องจากการที่รัฐจัดสรรปันส่วนเขตการให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน ทำให้เสื้อวินจักรยานยนต์รับจ้างที่อยู่ในเขตที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากมีราคาสูงตามผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการซื้อขายเสื้อวินมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้น ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากจุดนี้อาจจะเป็นเจ้าของเสื้อวินเดิมที่ต้องการขายเนื่องจากเล็งเห็นผลกำไรหรือผู้มีอิทธิพลที่คุมอำนาจในการจัดการวินมอเตอร์ไซค์ในส่วนนั้นด้วย

 

มาตรการจากรัฐลักลั่น–ส่งผลในทางปฏิบัติต่อสตาร์ทอัพไม่เท่าเทียม

ฉัตรกล่าวต่อว่า จุดยืนของส่วนราชการที่ใช้ข้ออ้างทางกฎหมายในการจัดการ GrabBike เริ่มมีปัญหา เนื่องจากผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างบางรายก็ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมายหรือมีการบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การที่มีผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมายเช่นนี้ยังมีอยู่ จึงเกิดมีข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการใช้อำนาจของส่วนราชการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ส่วนราชการปฏิบัติต่อธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่นธุรกิจขายของออนไลน์ไม่มีส่วนราชการเข้าไปยกเลิกการขาย ต่างจากการสั่งเลิก GrabBike

ฉัตรกล่าวว่า เนื่องมาจากธุรกิจเกี่ยวกับค้าขายออนไลน์ต่างๆ หรือเทคโนโลยีการให้บริการทางการเงินอย่าง FinTech ไม่ได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรง แต่ธุรกิจคมนาคมอย่าง GrabBike เมื่อเกิดเหตุอาจจะส่งผลต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้โดยตรง แต่เมื่อมองไปยังมาตรฐานการให้บริการของจักรยานยนต์รับจ้างให้บริการอยู่ในปัจจุบัน บางรายก็ไม่ได้มีความปลอดภัยในการใช้งาน มาตรฐานของ GrabBike ยังอาจจะสูงกว่า นอกจากนี้ยังสามารถมองได้ว่า กลุ่มธุรกิจจักรยานยนต์รับจ้างของผู้มีอิทธิพลสามารถกดดันส่วนราชการให้จัดการกับธุรกิจที่เป็นภัยคุกคามได้

 

เสียงจากผู้บริโภคและผู้ให้บริการสตาร์ทอัพ

อรพรรณ รุ่งโรจนนาลักษณ์ ผู้ใช้บริการ UberMoto และ GrabBike เป็นประจำมานานกว่า 2 ปี กล่าวว่า เลือกใช้บริการ เพราะสะดวก ยิ่งเมื่อต้องเดินทางไปที่ที่ไม่เคยไปหรือเส้นทางที่ไม่มีสายรถเมล์ผ่าน คนขับรถสามารถรับส่งถึงจุดหมายมากกว่าวินจักรยายนต์หรือแท็กซี่ทั่วไปที่มักรับส่งลูกค้าตามจุดที่ตนเองสะดวก

เมื่อถามถึงผลกระทบว่าหาก UberMoto และ GrabBike ถูกยกเลิก อรพรรณ บอกว่า ตัวเลือกในการเดินทางคงลดลงและใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น เพราะวินจักรยานยนต์มีการโกงราคา ต้องใช้เวลานานในการรอรถเมล์ ค่าบริการแท็กซี่แพงรวมถึงเหมือนถูกบีบให้ต้องใช้บริการรถโดยสารที่มีในระบบขนส่งของรัฐบาลเท่านั้น

หน่อ วรพจน์ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งหารายได้เสริมจากการเป็นผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์บนแอปพลิเคชัน Grab พูดถึงผลกระทบที่ได้รับเมื่อต้องเปลี่ยนจากให้บริการ Grab bike กลายเป็นบริการรับส่งของหรือ GrabBike (Delivery) ว่า รายได้ลดลงทั้งที่รายจ่ายมากขึ้น และยังต้องแบกภาระครอบครัวโดยมีลูกที่ต้องดูแลมากขึ้น จากเดิมเคยมีรายได้จาก GrabBike สูงถึงร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้เหลือเพียงร้อยละ 5 เพราะ GrabBike ไม่สามารถให้บริการต่อไปได้ แต่ยังคงมีคำแนะนำว่าแบบบอกต่อว่าสามารถเรียกใช้บริการ GrabBike (Delivery) แทนแล้วตกลงกับคนขับเองได้จนเกิดการบอกต่อ

จิดาภา คูณภักดี นักจัดสัมมนาอิสระ กล่าวว่า หลังทำเวิร์คช็อปการทำธุรกิจบน Airbnb พบว่า ความต้องการเปิดและจองที่พักบนเว็บไซต์มีจำนวนมากขึ้น จึงมองว่า Startup สามารถเติบโตได้อีกไกล แม้การทำธุรกิจบน Airbnb จะส่งผลกระทบให้รายได้ของโรงแรมทั่วไปลดลงเพราะมีคู่แข่งมากขึ้นเช่นเดียวกันในหลายประเทศ แต่บางประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น มีความพยายามให้ Airbnb ถูกกฎหมาย เช่น ต้องเปิดบริการให้คนเช่าพักอย่างน้อย 7 วัน ทั้งหาวิธีไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรงแรมทั่วไป

สำหรับประเทศไทย จิดาภา มองว่า ยังเป็นไปได้ยากทั้งคนเปิดให้เช่าที่พักต้องแบกแรงกดดันไว้เอง ถึงต้องการเปิดห้องบนคอนโดมิเนียมให้คนเช่าพักบน Airbnb แต่นิติบุคคลไม่ยอมรับ ข้างห้องไม่พอใจก็จะอ้างว่าผิดกฎหมายทำให้พวกเขาทำต่อไปไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงมีที่พักจำนวนมากไม่ถูกกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว เพราะการทำให้ถูกกฎหมายต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงแรม รวมถึง Airbnb ยังเป็นช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ด้วยระบบการเมืองไทยที่มีผู้มีอิทธิพลได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจเดิมอยู่ก่อนจึงทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

นายกสมาคมสตาร์ทอัพแนะพบกันครึ่งทาง-ยกเครื่องกฎระเบียบ ให้สตาร์ทอัพเดินต่อได้

ต่อกรณีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิสตาร์ทอัพ วัชระมองว่ากฎหมายอาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจบางประเภท เพราะ ด้วยรูปแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องการจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้เวลานานให้เกิดขึ้นรวดเร็วและง่ายมากขึ้น มันจึงก่อให้เกิดผลกระทบได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก

“อย่างอเมริกาหรือยุโรปก็ไม่ได้พอใจ Uber เพราะเขามีโครงสร้างธุรกิจของเขามานาน ฉะนั้น เราคงต้องเคารพกฎหมายในระดับหนึ่ง เพราะถ้ากฎหมายมันเป็นแบบนี้แล้วเราเข้าไปเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเลย มันอาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคได้ จึงควรจะต้องระวัง”

วัชระกล่าวว่าทางสมาคมสนับสนุนให้รัฐบาล Reregulate หรือจัดระเบียบใหม่ ก็อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้รัฐบาลปลดล็อกข้อกำหนดต่างๆ แต่ตนมองว่าหากมีการเจอกันครึ่งทาง ประนีประนอมกฎหมาย ก็คงจะดีต่อธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น

“ถ้าเกิดการประนีประนอมกฎหมายได้จะดีมากครับ วิธีการที่ดีที่สุดผมว่าควรเจอคนละครึ่งทาง ผมเชื่อว่าถ้ากฎหมายเข้มงวดมากเกินไป เราจะไม่เกิดอะไรใหม่”

วัชระยังกล่าวถึงกลุ่มสมาคมเก่าที่เสียผลประโยชน์ เช่น สมาคมวินมอเตอร์ไซค์ หรือ สมาคมแท็กซี่ ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการทักท้วง เพราะธุรกิจใหม่อย่างสตาร์ทอัพอาจทำให้ธุรกิจเก่าเสียผลประโยชน์

“การมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น มันมีผู้ที่เสียผลประโยชน์และผู้ที่ได้ประโยชน์ ฝั่งที่เสียผลประโยชน์ก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ผมว่าสิ่งที่ถูกต้องรัฐควรมองในมุมกว้าง ก็คือดูว่าผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือผู้บริโภค”

สุดท้ายวัชระกล่าวว่าอยากให้ทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ด้านไหนก็ได้ เพื่อให้ธุรกิจ สตาร์ทอัพนั้นเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและระยะยาว

 

นักวิจัย TDRI เสนอพัฒนาบุคลากร กม.เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับสตาร์ทอัพ-ย้ำความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญ

ส่วนฉัตรมีข้อเสนอว่า มีปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อสตาร์ทอัพนอกเหนือไปจากกฎหมาย เช่น เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้ขับรถจักรยานยนต์ให้บริการ GrabBike ในขณะที่อุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพคือโครงสร้างทางสังคมยังไม่พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อรองรับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ระบบการศึกษาในไทยที่ยังไม่มีความพร้อมมากเพียงพอที่จะสามารถผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพทีมีจุดเด่นทางเทคโนโลยี โดยขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ

การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรจึงสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ แนวทางในการพัฒนาในช่วงเริ่มต้นนี้ ฉัตรเสนอว่า อาจจะมีการนำเข้าแรงงานที่มีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนา แต่ในไทยมีปัญหาการกีดกันแรงงานต่างชาติ นอกจากการพัฒนาบุคลากรแล้ว การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพยังทำได้โดยร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลที่เอื้อประโยชน์และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน การสนับสนุนผ่านเงินทุนและเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ส่วนราชการต้องทำโดยมีปัจจัยเรื่องเวลามากำหนด

“ในโลกของสตาร์ทอัพ ปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องมีความรวดเร็วในการพัฒนาธุรกิจ” ฉัตรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net