'พลเมืองสงขลา' ชี้ทหารล้ำเส้น เหตุเตือนนักวิชาการ ม.อ.ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เครือข่ายพลเมืองสงขลาชี้กรณีทหารส่งหนังสือความร่วมมือปมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาถึงนักวิชาการ ถือเป็นการทำเกินหน้าที่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิในการแสดงความเห็น และเสรีภาพเชิงวิชาการ ‘สมพร’ ย้ำทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการไม่ใช้ชี้ทางให้โรงไฟฟ้า

24 พ.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 พ.ค.59) เวลา 22.20 น. สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Somporn Chuai-Aree' ว่า

“ผมเพิ่งได้รับหนังสือสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จากเพื่อนร่วมงานดังภาพแนบครับ... ในฐานะที่ถ้าท่านเป็นนักวิชาการเช่นผม ท่านควรจะทำเช่นไรครับ? เหตุผลที่ว่าทำไมผมออกมาตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมตั้งคำถามเพื่ออะไร? ผมได้ตอบตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่นไปแล้วส่วนหนึ่ง ม.อ.น่าจะเปิดเวทีดีเบตเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกันสักยกก็คงจะดีนะครับ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมครับ”

ทหารส่งหนังสือขอความร่วมมือนักวิชาการ ม.อ. ‘อย่าค้านโรงไฟฟ้าเทพา’

สำหรับหนังสือที่สมพรได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก นั้นเป็น สำเนาหนังสือของทางราชที่ กห. 0484.63/113 จากมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ลงวันที่ 21 เม.ย. 2559 เรื่อง ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียน อธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ ลงนามโดย พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42

มีเนื้อหาว่า ตามที่มีกลุ่มมวลชนมีการเคลื่อนไหวและต่อต้าน กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในพื้นที่ จ.สงขลา โดยมีกลุ่มแกนนำในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มประชาสังคม หรืออาจมีบุคลากรในหน่วยงานของท่านบางคนไม่เข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจหันไปให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือ 

“มณฑลทหารบกที่ 42 จึงขอความร่วมมือจากท่านทำความเข้าใจกับบุคลากร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดำเนินงานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ข้อความในหนังสือระบุ 

ในตอนท้ายของสำเนาหนังสือ  เขียนลายมือระบุสำเนาแจ้งไปยังคณะบดีคณะวิศวะฯ และคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีการระบุชื่อ ‘ดร.สมพร’ นอกจากนี้ยังมีการนัดประชุมหารือกับอาจารย์และบุคลากรที่เดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในวันที่ 25 พ.ค. 2559 นี้ด้วย

‘สมพร’ ย้ำทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการไม่ใช้ชี้ทางให้โรงไฟฟ้า

วันนี้(24 พ.ค.2559)  เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ความเห็น สมพร กล่าวว่า พอทราบมาก่อนหน้านี้ว่ามีการรวบรายชื่อกลุ่มคนที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีทั้งภาคประชาชน ข้าราชการ นักวิชาการ ซึ่งก็คาดว่าอาจจะต้องมีรายชื่อตนเป็นหนึ่งในนั้นด้วยและอาจมีการติดต่อจากทางทหาร ในการส่งหนังสือในครั้งนี้ยังไม่แน่ใจเจตนาที่ชัดเจน อาจจะถือโอกาสนี้เป็นเรื่องดีที่เป็นทหารจะเป็นตัวกลางร่วมกันกับทางมหาลัยวิทยาลัย ม.อ. เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและถกเถียงร่วมกันระหว่างฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่าง

ส่วนเรื่องการนัดประชุมหารือกับอาจารย์และบุคลากรที่เดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในวันที่ 25 พ.ค. 2559 สมพร กล่าวว่า ไม่สามารถไปได้เนื่องจากติดงานประชุมวิชาการที่กรุงเทพมหานคร  แต่ได้แจ้งทางเจ้าหน้าที่ให้ชี้แจงให้แก่ อธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ เรียบร้อยแล้ว

สมพร กล่าวต่อว่า ในฐานะนักวิชาการ อยากสร้างความรู้ความเข้าจากการค้นคว้าวิจัยมาหาคำตอบร่วมกัน เป้าหมายของเราคือต้องสร้างกรอบเชิงวิชาการ แต่เราไม่ได้สร้างคำตอบให้แก่การสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราไม่ได้คัดค้านอย่างไร้สาระแต่เป็นการตั้งคำถามและสร้างข้อกังวลต่อผลกระทบนั้น การแลกเปลี่ยนพูดคุยถามมาตอบไปเป็นเสน่ห์ บางประเทศที่เขาจะทำโครงการที่จะสร้างผลกระทบในพื้นที่ต้องใช้เวลาถกเถียงกัน 3-5 ปี เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ และสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ตอนนี้ก็รองรับในพื้นที่เพียงพอ จึงไม่จำเป็นเร่งด่วนในการรีบดำเนินการ

เครือข่ายฯสงขลาวอนทหารยุติการสนับสนุนโรงไฟฟ้าเทพา

วันเดียวกันนี้(24 พ.ค.59) เครือข่ายพลเมืองสงขลา ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 24 พ.ค. 2559 แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือราชการถึงอธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ “ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เป็นการกระทำเกินหน้าที่ ละเมิดสิทธิ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเสรีภาพเชิงวิชาการ โดยเสนอแนะให้ทหารยุติบทบาทการสนับสนุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาและเป็นคนกลางสร้างความเข้าใจ

เนื้อหาจดหมายยกประเด็นเรื่องปัญหามลพิษที่มากับโรงไฟฟ้าถ่านหิน กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมีข้อเสนอในการจัดการพลังงานใหม่ทั้งระบบ ที่ต้องการหารือร่วมกันทั้งประชาชนและนักวิชาการในการตั้งข้อสังเกต ในการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

จดหมายระบุข้อคิดเห็นต่อหนังสือว่า “หนังสือฉบับดังกล่าวแสดงนัยยะแฝงถึงการสกัดกั้นการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ซึ่งบทบาทเหล่านี้ ไม่ควรเป็นบทบาทของทหารในยุคปฏิรูป ซึ่งแนวทางการปฏิรูปพลังงานไทยไม่ใช่แนวทางการใช้พลังงานถ่านหินอย่างแน่นอน”

โดยตอนท้ายของจดหมายระบุว่า ขอให้ทหารยุติบทบาทการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอคืนหนังสือฉบับดังกล่าว เปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนกลางจัดเวทีนำข้อมูลของทั้งสองสามฝ่ายที่มีความคิด และข้อมูลต่างกันมาเปิดให้ประชาชน สาธารณะชนเพื่อเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท