รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้: สมชาย-บารมี-อภิชาต-เดชรัต-เกษียร ชำแหละรัฐธรรมนูญ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล-ถามจะลงประชามติเพื่อไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อกลับสู่เสรีประชาธิปไตย บารมี ชัยรัตน์-ให้ระวังยุทธศาสตร์ลิดรอนสิทธิคนจนจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ อภิชาต สถิตนิรมัย-ร่าง รธน. ทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม "แก่ก่อนรวย" เดชรัต สุขกำเนิด-ถามเอ็นจีโอจะทำงานเพื่อสิทธิประชาชน หรือเป็นนายหน้าความเมตตาปราณีจอมปลอม เกษียร เตชะพีระ-ตัดเกรดมีชัยร่าง รธน. ได้ D รวมบทเฉพาะกาลได้ F - ชี้ลงประชามติ รธน. พ่วงระเบียบอำนาจ คสช.

21 พ.ค. 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการบรรยายทางวิชาการหัวข้อ รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ วิทยากรโดย 1. ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน 4. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อภิปราย "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้" เตือนให้ระวังเผด็จการเครือข่าย

อภิชาติ สถิตนิรามัย รัฐธรรมนูญฉบับทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง "กับดักรายได้ปานกลาง" และภาวะ "สังคมแก่ก่อนรวย"

บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เตือนให้ระวังการรอนสิทธิคนจน จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะที่เนื้อหารัฐธรรมนูญนอกจากจำกัดสิทธิชาวบ้านแล้วยังเพิ่มอำนาจภาคราชการ ชี้รัฐราชการจะกลับมาใหม่

เดชรัต สุขกำเนิด ประเมินร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับ "ผ้าป่าสามัคคีของเผด็จการ" ชี้สิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป ขณะที่อำนาจของท้องถิ่นเองก็ถูกดึงกลับ ถามเอ็นจีโอจะหันไปร่วมแจกจ่ายความเมตตาปราณีจากภาครัฐ หรือจะสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

เกษียร เตชะพีระ อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยทั้งฉบับ 16 หมวด 279 มาตรา ให้เกรด D และถ้ารวมบทเฉพาะกาล แล้วคงให้ติด F ชี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่ระบอบ "ไม่ประชาธิปไตย" พ่วงแพกเกจสร้างระเบียบอำนาจ คสช. 4 ประการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ประชามติเพื่อไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อกลับไปสู่เสรีประชาธิปไตย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อภิปราย 3 เรื่อง 1.ประชามติในรัฐธรรมนูญและสังคมการเมืองไทย 2.ตำแหน่งแห่งที่ของประชามติ 3.อนาคตของสังคมการเมืองไทย 

ประเด็นแรก ในรัฐธรรมนูญไทย เคยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับประชามติมาหลายครั้ง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2492, 2511, 2517, 2540 แต่ประชามติปรากฏจริงในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 สมัย คมช. และเป็นครั้งแรก ถ้าจะมีประชามติอีกครั้งก็คือการลงประชามติปีนี้  คำถามเบื้องต้น ทำไมต้องกำหนดประชามติ เพราะเราได้ยินทุกเมื่อเชื่อวันว่า “ผมเป็นผู้มีอำนาจ ในสถานการณ์ไม่ปกติ” ถ้ามีอำนาจทำไมจึงต้องกำหนดประชามติ เรื่องนี้สำคัญ เราต้องคิดสองเรื่อง หนึ่ง อำนาจ สอง ความชอบธรรม

อำนาจมันอาจทำงานได้ในระยะสั้นๆ ในช่วงยึดอำนาจแรกๆ แต่เมื่อจะอยู่ระยะยาวต้องมีความชอบธรรมจำกัด การประกาศให้มีประชามติสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในทางการเมืองตอนนี้ มีอำนาจ แต่ความชอบธรรมมีหรือไม่ ไม่รู้ ในทางการเมืองคุณจะอยู่ได้ต้องมีทั้งสองอย่าง

ประเด็นที่สอง เวลาเราคิดถึงประชามติ ที่มีการวิจารณ์มากมาย ประชามติในโลกนี้มีการใช้มาเยอะแล้ว จำแนกได้ใน 3 รูปแบบ

กลุ่มแรก ใช้ประชามติภายใต้สังคมเสรีประชาธิปไตย เช่น ประเทศในยุโรปจะเข้าร่วมสหภาพยุโรปหรือไม่ มันเป็นเครื่องมือในการระดมความเห็นหรือตัดสินปัญหาบางอย่าง มีการดีเบทกันได้โดยปกติ เราวิจารณ์กันทุกวันนี้บนฐานนี้

กลุ่มสอง ประชามติในสถานการณ์ที่เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคมจากประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการหรืออำนาจนิยม ในโลกนี้ก็เคยใช้ โดยเฉพาะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ในเยอรมนี มีการใช้ประชามติในช่วงที่ฮิตเลอร์เป็นผู้นำอย่างน้อย 4 ครั้งแต่ละครั้งได้คะแนนไม่น้อยกว่า 90% และใช้การลงประชามติเพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐบาล ทำลายหลักการในกฎหมาย เป็นต้น

กลุ่มสาม เป็นการใช้ประชามติเพื่อเปลี่ยนสังคมจากเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่น ในชิลีปี 1988 ในชิลีมีปิโนเชต์จอมเผด็จการอยู่มานาน 15 ปีแล้วทำประชามติว่าจะขยายอำนาจตัวเองหรือเปล่า พลเมืองออกไปลงประชามติ เกินครึ่งหนึ่งปฏิเสธการขยายอายุ เริ่มเปลี่ยนทิศทางของสังคม อีก 2-3 ปีเขาก็พ้นจากตำแหน่งไป

ผมจำแนกทั้งสามแบบนี้เพื่อให้เข้าใจว่า เวลาเราคิดถึงข้อถกเถียงในปัจจุบัน เราอยู่ในมุมมองที่ต่างกัน ผู้มีอำนาจกับประชาชนเห็นไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่สาม แล้วประชามติในอนาคตของสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างไร โดยสมชายกล่าวว่า เราไม่ได้อยู่ในกระบวนการทำประชามติแบบเสรีประชาธิปไตยแน่ๆ เพราะการอภิปรายกันอย่างมีเหตุผล อย่างเสรี ทำไมได้ และในขณะเดียวกันมันจะเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ

ประชามติครั้งนี้คือระหว่างทางของการสร้างระบอบอำนาจนิยมกับความพยายามที่จะหันเหทิศทางของสังคมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มันเป็นทางสองแยก ไปสู่อำนาจนิยม ซึ่งต่างจากที่เคยมีมา ผมอยากเรียกมันโดยใช้คำของปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า "อภิสิทธิ์ชนกับลูกสมุน" แต่คำว่าลูกสมุนมันดูไม่เป็นวิชาการ ผมจึงเสนอคำใหม่ว่า "เผด็จการเชิงเครือข่าย" เครือข่ายในที่นี้ไม่ใช่แค่กองทัพ แต่รวมถึงนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ อยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย

ถ้าเราโหวต YES เรากำลังเดินไปสู่ทางนี้ แต่ทั้งนี้ต้องหมายความว่าประชามติครั้งนี้จะไม่มีการโกง หรือยัดไส้กันโดยชัดเจน

ถ้าเราโหวต NO ผลจะเป็นอย่างไร ชนชั้นนำของสังคมไทยจะตระหนักถึงความล้าหลังของระบอบนี้เพียงไร ถ้ารับรู้และยอมรับ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น แต่หากไม่ตระหนักถึงความเห็นเหล่านี้ สังคมไทยกำลังอยู่บนเส้นทางของความสุ่มเสี่ยงอย่างสำคัญ

“มันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่า เราจะเดินไปสู่อำนาจนิยมหรือเหนี่ยวรั้งเพื่อจะเดินกลับไปสู่เสรีประชาธิปไตย”

 

บารมี ชัยรัตน์: ระวังยุทธศาสตร์ลิดรอนสิทธิคนจนจะกลายเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี

บารมี ชัยรัตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่พออยู่มาเรื่อยๆ ได้ทำงานกับชาวบ้าน จึงรู้สึกว่าสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มันแปลกๆ สงสัยว่าทำไมมันต้องมีอำนาจมากมายมหาศาล ทำไมต้องให้รัฐมีอำนาจจัดการกับเราได้ สั่งสร้างเขื่อน ให้คนออกจากป่าได้ อพยพคนได้ ทำร้ายคนจนได้ตลอดเวลา จนเมื่อปี 2540 เป็นปีแรกที่คนจนได้มีโอกาสร่วมร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจที่จะเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

โดยบารมีเปรียบเทียบมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ 2540 กับมาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกล่าวถึงการใช้อำนาจของรัฐว่า ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 รับรองสิทธิประชาชน โดยบอกว่าถ้าหน่วยงานรัฐจะใช้อำนาจต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขียนว่า ถ้าจะใช้สิทธิ อย่ากระเทือนรัฐ

อ่านแล้วจะเห็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ ที่จะหาช่อง โอกาส วิธีจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมวดสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของรัฐ จนตีความยากว่าใครจะจัดการ

ต่อมาเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจนเข้าถึงยากที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญนี้ พยายามบอกว่าจะช่วยเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลเฉพาะคนยากไร้

"การศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่ใช่เรื่องสงเคราะห์ เป็นสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ รัฐต้องจัดให้เราไม่ใช่มากีดกัน"

"คนจนเป็นคนที่ประหลาดประเภทหนึ่ง นโยบายที่ออกให้คนจน คนจนไม่ค่อยจะได้ เช่น สปก. 4-01 แต่ถ้าบอกว่า ออกเพื่อทุกคน คนจนจะได้ แต่กว่าจะได้ก็ยาก"

นอกจากนี้ บารมีกล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากเลือกโดยตรงกับบัญชีรายชื่อ เป็นแบบเลือกทางโกงให้คนแพ้ โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแข่งวอลเลย์บอลว่า แทนที่จะนับจำนวนเซ็ตแพ้-ชนะ เป็นการนับคะแนนรวม ซึ่งนั่นอาจทำให้ชนะกลายเป็นแพ้ได้ รวมถึงยังเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ว. เป็นการแต่งตั้งด้วย

"นี่เป็นการปล้นการเลือก ส.ว.ไปจากมือ"

อีกอย่างที่ลิดรอนสิทธิคนจนคือ ยุทธศาสตร์ประเทศ ถ้ามียุทธศาสตร์ 20 ปี พรรคการเมืองไม่ต้องหาเสียงแข่งกันเรื่องนโยบายอีก ก่อน 2540 นั้น รัฐบาลเอานโยบายสภาพัฒน์ฯ มาใช้ หลัง 2540 พรรคไทยรักไทยถึงได้เอานโยบายออกมาใช้ ตอนนี้จะกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ถามว่า 50 ปีที่ผ่านมาสร้างความฉิบหายให้ประเทศไม่พอหรือ การเกิดคนจน เกิดคนไร้ที่ดิน สลัม คือความล้มเหลวของสภาพัฒน์ และต่อไปก็จะเป็นแบบนั้น

บารมี ชี้ว่า นอกจากรัฐธรรมนูญจะจำกัดสิทธิชาวบ้านแล้ว แล้วยังเพิ่มอำนาจราชการด้วย ก่อนหน้านั้น การต่อสู้ของสมัชชาคนจน ชัยชนะหนึ่งคือ ทำให้เกิดความเสมอหน้าระหว่างคนจนกับราชการ แต่คราวนี้ ข้าราชการจะกลับมาใหญ่

ประชาชนจะมีอำนาจได้ต้องมีการกระจายอำนาจ พูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างคลุมเครือ เพื่อที่พอจะร่างกฎหมายลูกแล้วจะได้สับสนขึ้น ไม่ได้พูดเรื่องกระจายอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจน

ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจ สิทธิที่จะบอกว่าน่าจะได้ ไม่มีทางเกิด มันจะเกิดได้เมื่อเราสามารถควบคุมอำนาจในท้องถิ่นได้ ยกตัวอย่างกรณีเหมืองทอง ถ้าเหมือนสมัยก่อน สภาตำบล มีครู แพทย์ตำบล เกษตรตำบลเป็นกรรมการ เราไม่มีทางกำกับ-ปกป้องพื้นดินของเราได้เลย

โดยสรุป ถ้าเลือกได้ ก็คงเลือกที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ บารมีกล่าว

 

อภิชาต สถิตนิรมัย:  ร่างรัฐธรรมนูญทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม "แก่ก่อนรวย"

ด้านอภิชาต สถิตนิรมัย กล่าวถึงแนวโน้มการมีรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพกับดักรายได้ปานกลางว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้เกิดการทำคลอดรัฐบาลเป็ดง่อย เป็นรัฐบาลรักษาการถาวร

ทุกวันนี้ เราต้องการรัฐที่เข้มแข็งกว่ายุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยซ้ำ เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจยากกว่า เราต้องการระบบราชการที่แข็งและมีประสิทธิภาพมากกว่ายุคสฤษฎ์ด้วยซ้ำ ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า ปัญหาเร่งด่วนคือ ภายในปี 2564 คนอายุ 60 ขึ้นไปจะมี 14% และจะเป็น 20% ในปี 2570 เราจะกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรอย ระบบสวัสดิการจะล่ม เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วทันหรือไม่ เราจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ จะทันเวลาที่เราก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์หรือไม่

หากลองดู รอบปี 2543-2553 ผลิตภาพในด้านแรงงาน เพิ่ม 2% กว่าเท่านั้น เราจะกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรวยอย่างรวดเร็ว เราจะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างสังคมไม่ได้ รายงานแบบวงเวียนชีวิตอาจต้องเพิ่มมากขึ้น

เราจึงต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพเพื่อขับเคลือนนโยบาย และระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ระบบราชการไทยล้าหลังและตามโลกไม่ทัน ต้องการปฏิรูปขนานใหญ่ ซึ่งก็ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง

ทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่เราเห็น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรัฐบาลอ่อนแอ อายุสั้น ไม่สามารถแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เพราะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมโดยตัวเองก็ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย เอื้อต่อพรรคขนาดกลาง การเลือกตั้งจะไม่เกิดการชนะแบบเบ็ดเสร็จ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก่อนปี 2540 โอกาสที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยาก แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการยกระดับผลิตภาพ ความสามารถในการผลิตต้องอดทน วางแผนและปฏิบัติการยาว และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นไปอีก เช่น ความคลุมเครือในการพิจารณางบประมาณประจำปีที่นำไปสู่การถอดถอนได้ มาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดโดยองค์กรต่างๆ รวมถึงศาล มันอาจนำไปสู่การส่งให้ศาลตัดสิน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตัดสินได้ว่ารัฐมนตรีไม่มีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ซึ่งเป็นการตีความเชิงอัตวิสัยมาก

มันจะกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย รัฐบาลรักษาการถาวร ไม่สามารถล้มนโยบายเก่าหรือสร้างนโยบายใหม่ได้ และยิ่งไม่มีทางปฏิรูประบบราชการได้

ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการฟื้นคืนชีพของระบบรัฐราชการ ทั้งที่พวกเราก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าปัจจุบันราชการไล่ตามเอกชนไม่ทัน และการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคตแทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้ ส.ส. เกือบทั้งสภาเห็นชอบก็ยังทำไม่ได้เพราะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.แต่งตั้งจำนวนมาก และรัฐธรรมนูญที่แก้ได้ยากแบบนี้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือที่รอมชอมกันได้ในทางการเมือง อาจนำสู่ความขัดแย้งสูงมากในทางการเมืองปะทุขึ้นมาอีก เหมือนเราต้มน้ำปิดฝาแล้วเอาหินทับไว้อีกก้อนอะไรจะเกิดขึ้น

"ภายใต้ภาวะเช่นนี้ ที่จะได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ จะไม่มีกระทั่งสมาธิที่มองเห็นปัญหาโครงสร้างระยะยาว เช่น ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง มองแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในทัศนะของผม จึงไม่ได้เป็นตัวให้ความหวังว่าจะผลิตรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลพอที่จะผลักดันสังคมให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ พูดในความหมายนี้เราคงต้องเผชิญกับสภาพสังคมแก่ก่อนรวยไปก่อนแล้วกัน”

 

เดชรัต สุขกำเนิด: ถามเอ็นจีโอจะทำงานเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือเป็นนายหน้าสำหรับความเมตตาปราณีจอมปลอม

เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า เผด็จการเชิงเครือข่ายในร่างรัฐธรรมนูญนี้มาชุดใหญ่ มาทุกจุด มาแบบ “ผ้าป่าสามัคคี” และจะอธิบายว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เดชรัตกล่าวว่า เขาอยากพูดกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ระหว่างที่เราคุยกันเรื่องนี้เขาก็มีการจัดกระบวนการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญและประชารัฐ โดยเอาภาคประชาสังคมเป็นแกนหลัก เช่น ครู ก. รวมถึงเอ็นจีโอเพื่อช่วยอธิบายข้อดีรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพูดคุยกับเอ็นจีโอ เพราะผมไปแอบส่องเฟซบุ๊กใครหลายคนเหมือนแต่งตั้งผมให้เป็น “นักวิชาการสายเอ็นจีโอ”

ประเด็นแรก สิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป น้องเพนกวินได้หยิบยกเรื่องสิทธิการเรียนฟรีที่หายไป สิ่งที่ผมอยากพูดคือ มันไม่ได้หายแค่สิทธิการได้เรียนฟรี เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 บอกว่าประชาชนมีสิทธิในการจัดการศึกษาด้วย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของสังคม ร่างมีชัยเขียนถึงบทบาทภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เมื่อทวงถามว่า ประชาชนหายไปไหน เขาก็บอกว่า ประชาชนคือเอกชน นอกจากนี้ยังเกิดเรื่องตลกขึ้นหลังเพนกวินจัดแคมเปญ ทั้งนายกฯและ รมว.ศึกษาธิการบอกว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปเถอะ รับไปแล้วรัฐบาลก็จะจัดการศึกษาฟรีให้ 15 ปีเหมือนเดิม

“นี่เขากำลังเล่นอะไร รับไปก่อนเดี๋ยวผมแถมให้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอะไร กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทก็สอบถามผม เรื่องนี้ผมขออนุญาตอ่านงานของเปาโล เฟรเร เรื่องการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ที่ว่า “เพื่อที่จะรักษาโอกาสในการแสดงความเมมตตาปราณีของผู้กดขี่ พวกเขาจำเปนต้องคงไว้ซึ่งโครงสร้างอันอยุติธรรม......” นี่คือความเมตตาปราณีที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้ และเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้แจกจ่ายควาเมมตาปราณีจอมปลอมถึงต้องสู้ตายแม้แหล่งกำเนิดความเมตตาปราณีจอมแปลอมถูกคุมคามเพียงน้อยนิด เขาอยากให้เราสำนึกในบุญคุณของเขา มากกว่าสำนึกว่ามันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพวกเราเอง”  

รัฐธรรมนูญปี 2550 ยังกำหนดว่า “ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพลภาพ และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับการเรียนฟรี 12 ปีและต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาทัดเทียมกับบุคคลอื่น” ตรงนี้ไม่เข้าใจว่าร่างใหม่ตัดออกไปทำไม ตัดแล้วมันปราบโกงได้ดีขึ้นหรือ

“ตอนนี้ผมทำงานกับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กจะมองซ้ายกับขวาสลับกัน แทนที่เราจะดูว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ในแต่ละประเทศจะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 10% แต่กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมการทำในปีการศึกษาที่จะถึงคือ สอบตก ซ้ำชั้น”

ย้อนกลับมาดูในรัฐธรรมนูญ ประเด็นเล็กประเด็นน้อยหายไปหมด ผมอยากถามภาคประชาสังคมช่วยภาครัฐประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญอย่างขมีขมัน อยากถามว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีความสำคัญกับคุณอยู่หรือไม่

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการระบุว่า ประชาชนเข้าชื่อ 20,000 คนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้ ไม่เฉพาะนักการเมือง แต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการ กกต. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ร่างฉบับมีชัยตัดออก กลัวประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปราบโกง ให้เป็นหน้าที่ของ ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ประเด็นสุดท้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. เดิมทีสิทธิของประชาชนในการเข้าไปกำกับ อปท. มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ หนึ่ง เราได้เลือกสมาชิกสภาฯ เราได้เลือกผู้บริหาร สาม เรามีสิทธิถอดถอน สี่ เรามีสิทธิร้องขอให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น มีสิทธิร้องขอให้จัดรับทำความคิดเห็นประชาชน และประชามติเพื่อตัดสินใจในสิ่งที่กระทบชุมชน หายหมด เหลือแค่ ถอดถอนสมาชิกกับผู้บริหาร อปท.

“เราไม่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับ อปท.อย่างที่เราเคยมี และเราถอดถอนได้แค่นายก อบต.ของเรา แต่ไม่รวมถึง ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ อันนั้นเราได้แต่กระพริบตา”

“อำนาจของอปท.ก็หายไปด้วย เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมบำรุงรักษาธรรมชาตินอกเขตพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบกับระชาชนในพื้นที่ พูดง่ายๆ ถ้าอบต.บ้านคุณบารมีทำเหมืองทอง แต่ผมอยู่ปลายน้ำ อบต.ผมมีอำนาจเข้าไปดูแล แม้ว่าเหมืองอยู่ในเขตอบต.คุณบารมี ตรงนี้หายไหมด”

นอกจากนี้ยังตัดของเดิมแล้วเขียนใหม่ว่า "ผู้บริหารท้องถิ่นได้มาจากการเลือกตั้งหรือวิธีอื่น” แปลว่าต่อไปจะมีอปท.แบบพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มาจาการเลือกตั้งและไม่จำเป็นต้องมีสภาท้องถิ่น สามารถแต่งตั้งมาโดยตรง

“ถามว่าดีไซน์ไว้สำหรับอะไร ผมเดาว่า เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.ปี 2548 คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นี่ใช่ไหมที่ภาคประชาสังคมห่วงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่สุดท้ายพอร่างออกมา ผมอยากถามองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งที่ร่วมกับรัฐประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญไหม ได้เข้าใจไหมว่าสิทธิเสรีภาพประชาชนหายไป หรือท่านอย่ากมีส่วนร่วมในการแจกจ่ายความเมตตาปราณีของภาครัฐ ผมอยากเรียกร้องให้ท่านกลับมา เราเคยต่อสู้ร่วมกนในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่สมัยสมัชชาคนจน....เรายังจำวันนั้นได้ไหม เรายังจะยืนเคียงข้างเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไหม หรือวันนี้บางท่านพร้อมแล้วที่จะเป็นนายหน้าสำหรับความเมตตาปราณีอย่างจอมปลอม”

 

เกษียร เตชะพีระ: ตัดเกรดมีชัยร่างรัฐธรรมนูญได้ D รวมบทเฉพาะกาลได้ F -ชี้เป็นการลงมติรัฐธรรมนูญพ่วงระเบียบอำนาจ คสช.

เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า หลังอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ทั้งฉบับ 16 หมวด 279 มาตรา 105 หน้าแล้ว คงให้เกรด D และถ้ารวมบทเฉพาะกาล แล้วคงให้  F

ต่อให้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว น่าตกใจว่าไม่พอที่จะเข้าใจมันทั้งหมด จะเข้าได้ ต้องเอาตัวบททั้งฉบับไปเชื่อมโยงกับอย่างอื่น เช่น ที่ อ.เดชรัต หรือคุณบารมี ไปเชื่อมโยงกับฉบับอื่น ผมจะโยงกับประวัติศาสตร์ ระบบความคิด ระเบียบอำนาจโดยรวมที่ล้อมรัฐธรรมนูญอยู่

โดยเกษียรนำเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง มองยาว โยงกับสิบปีของวิกฤตการเมืองไทย เป็นสิบปีของความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบไม่ประชาธิปไตย
สอง มองลึก เชื่อมโยงกับแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ
สาม มองเป็นระบบ เชื่อมโยงกับระเบียบอำนาจที่ คสช. พยายามสร้างขึ้นในสองปีที่ผ่านมา อยู่ในคำว่า ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรฐานทางจริยธรรม
สี่ มองไปข้างหน้า

หนึ่ง มองยาว สิบปีที่ผ่านมา 2549-2559 หลายรัฐบาล หลายร่างรัฐธรรมนูญ หลายประท้วงใหญ่ มีรัฐประหารสองครั้ง มีความพยายามของผู้นำเปลี่ยนผ่านประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนผ่านมากมายแต่ทำไมไปไม่ถึง

มันจะเมคเซ้นส์มาก ถ้าเข้าใจว่าพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบ "ไม่ประชาธิปไตย"

แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐบาลสมัยทักษิณ ยิ่งลักษณ์ มีปัญหา เพราะเสียงข้างมากได้อำนาจแล้วบิดเบือนฉวยใช้โดยมิชอบ สมัยยิ่งลักษณ์ มีการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สมัยทักษิณ มีประเด็นภาคใต้ และสงครามยาเสพติด  

แต่แนวโน้มที่ผ่านมา แก้โดยสร้างอำนาจนิยมของระบบราชการ อำนาจนิยมของเสียงข้างน้อยไปแก้ แต่ยิ่งเพิ่มปัญหาเท่าตัว เป็นการแก้ปัญหาความบกพร่องประชาธิปไตยโดยทำให้ประชาธิปไตยน้อยลง เอาอำนาจไปให้กับระบบราชการ ทำให้ยิ่งแตกแยกกว่าเก่า

ยกตัวอย่าง ข้อเสนอสภาเลือกตั้ง 30% แต่งตั้ง 70% ของสนธิ ลิ้มทองกุล และ พันธมิตรฯ สภาเลือกตั้ง 0% แต่งตั้ง 100% ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ กับ กปปส.

ที่เขาพยายามจะทำ พูดอย่างเป็นรูปธรรม เขาอยากสร้างระบบที่มีการเลือกตั้ง แต่สถาบันที่มาจากเสียงข้างมากจากเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. พรรคใหญ่ ต้องอยู่ใต้การกำกับควบคุมของสถาบันเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น ตุลาการ องค์กรอิระ กองทัพ ข้าราชการประจำ วุฒิสภาแต่งตั้งและคณะกรรมการสรรหา

ความต่างระหว่างร่างบวรศักดิ์กับฉบับมีชัย อยู่ที่ว่าจะเอาอำนาจจากสถาบันเลือกตั้งเสียงข้างมาก ไปแปะที่ไหนให้ใคร จะให้ใครได้ไป

ร่างบวรศักดิ์ ให้คนดีและเอ็นจีโอ ส่วนร่างมีชัย เอาไปให้ตุลาการภิวัตน์และวุฒิสภาจากการสรรหา ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติมของ คสช. จะเอาอำนาจแปะให้กองทัพและวุฒิสภาจากการแต่งตั้งในห้าปีแรก แต่ทั้งหมดเทรนด์เดียวกัน คือลดประชาธิปไตยแทนการเพิ่ม

สอง คิดอย่างไร ปมอยู่ที่ความคิด "ประชาธิปไตยแบบไทย"

มีชัยให้สัมภาษณ์นักข่าวญี่ปุ่น หลังเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่า แนวคิดประชาธิปไตยของเขายึดตามหลักการของพุทธทาสภิกขุ คือ อำนาจจะต้องเป็นสำหรับประชาชน แต่อำนาจต้องรับใช้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประชาชน กล่าวคือความคิดประชาธิปไตย มีอำนาจเพื่อประชาชน แต่ไม่ใช่โดยพวกมึง เพราะพวกมึงยังโง่อยู่

ถ้ามองลึก ความคิดชี้นำเบื้องหลังคือ แนวคิดประชาชนบ้าบอ เห็นแก่ตัว ไม่รู้ได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อประชาชน แต่โดยประชาชนไม่ได้  

สาม มองอย่างเป็นระบบ เมื่ออ่านร่างจบแล้ว รู้สึกว่า นี่มันรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็น "รัฐพันลึก" โดยพื้นผิว รัฐธรรมนูญพูดเรื่องสิทธิชุมชน ประชาชนเสนอร่างกฎหมาย ป้องกันคอร์รัปชัน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อถึงจังหวะคับขัน โครงสร้างอำนาจส่วนลึกของรัฐราชการไทย จะโผล่ขึ้นบนผิวน้ำทันที อำนาจตรวจสอบแต่งตั้งจะโผล่ขึ้นมา ให้สังเกตคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป วุฒิสภา สรรหา คณะกรรมการองค์กรอิสระ คำเหล่านี้ส่งซิกว่ามีอำนาจดุลพินิจ วินิจฉัย ตัดสินการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสัดส่วนของคนที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้งเสมอ

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีถึงสี่ด่าน ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ขั้นตอนแก้น้อยกว่านี้ยังแก้ไม่ได้ ทั้งหมดแปลว่ายากที่จะสร้างการนำระดับชาติที่เข้มแข็งที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากของประชาชน เพราะถูกรัฐพันลึกยิงตอร์ปิโดใส่

ร่างรัฐธรรมนูญนี้กับระเบียบอำนาจ คสช. เป็นแพ็คเกจเดียวกัน ตอนไปโหวตไม่ใช่การรับ-ไม่รับเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ระเบียบอำนาจ คสช. ด้วย ถ้ายังนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงรายการหกโมงเย็น และรายการพิเศษวันศุกร์

ถ้าเราโชคดี รายการเหล่านี้จะอยู่กับเราไป 20 ปี อาจมีปัญหากับดักรายได้ปานกลาง แต่เราจะประหยัดไฟ

ร่างรัฐธรรมนูญนี้พ่วงเอาระเบียบอำนาจเป็นแพคกัน แก้ยากมาก นอกจากนี้ยังประกันความต่อเนื่องของระเบียบ คสช. ให้อยู่ต่อจนมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ทั้งวุฒิสภาเฉพาะกาล คณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติ  

สำหรับ "ยุทธศาสตร์ชาติ" นั้น มีการอธิบายสาระสำคัญของร่างว่า มุ่งให้ดำเนินการ 20 ปี สี่รัฐบาล เป็นแม่บทหลักที่เป็นกรอบนโยบาย เบ็ดเสร็จ ครอบทั้งหมด ทั้งนโยบายรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ยังมีผลผูกพันรัฐสภา แม้รัฐสภาไม่ได้ให้ความเห็นชอบ ก็ถือว่าเห็นชอบ นี่ยิ่งกว่าแผนสภาพัฒน์ที่ครอบคลุมแค่เศรษฐกิจ สังคม แต่นี่ทุกด้านและมีบทลงโทษด้วย และในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ สัดส่วนฝ่ายแต่งตั้งมากกว่าฝ่ายเลือกตั้ง

ระเบียบอำนาจ คสช. ซึ่งเป็นแพคเกจเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีสี่ประการ คือ

1) สถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้น ต้องใช้อำนาจพิเศษ ภาวะยกเว้นที่ปลอดความขัดแย้งทางการเมือง ใต้อำนาจอาญาสิทธิ์

2) ประชาธิปไตยย้อนยุคใต้การกำกับของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

3) เพิ่มอำนาจบังคับและบทบาทการเมืองของกองทัพ

4) เศรษฐกิจประชารัฐ ใต้อำนาจนำของรัฐราชการและทุนใหญ่

สี่ เมื่อมองไปข้างหน้า  

เรามาถึงจุดที่รัฐเข้มแข็งไม่ได้ถ้าสังคมไม่เข้มแข็ง

รัฐที่ระแวงมองสังคมเสียงข้างมากเป็นศัตรูไม่อาจเข้มแข็งได้และไม่อาจปฏิรูปได้

ระบอบเดียวที่จะทำให้รัฐและสังคมไทยสนธิพลังร่วมเข้มแข็งไปด้วยกัน ปฏิรูปได้ คือระบอบประชาธิปไตย

และร่างรัฐธรรมนูญนี้อาจไม่ตอบโจทย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท