สุสานผู้สูงส่ง (Cemetery of Splendor): เมื่อทหารยังฝันค้างกับภาพปฏิมา ในเวลาที่ประชาลุกตื่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทนำ

ทหารในราชอาณาจักรแห่งหนึ่งกำลังป่วยหนัก ร่างกายของพวกเขาที่เคยแข็งแรงกลับอ่อนปวกเปียกหมดเรี่ยวหมดแรง ในขณะเดียวกันสมองของพวกเขาก็หมกมุ่นอยู่กับความฝันใฝ่ในการเป็น “ทหารของพระราชา” ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นชาวบ้านตาสีตาสาในราชอาณาจักรแห่งนี้เสียอีกที่ต้องคอยดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำให้ทหารเหล่านี้ที่เอาแต่ “นอนกินบ้านกินเมือง” ไปวันๆ อาการป่วยไข้ของทหารดังที่กล่าวมานี้ อาจทำให้ผู้อ่านเผลอคิดไปได้ว่า ผู้เขียนกำลังพูดถึงปัญหาของกองทัพในราชอาณาจักรไทยเป็นแน่แท้ หรือกำลังอ้างถึงบทวิเคราะห์ของนักรัฐศาสตร์ชื่อดังของไทยที่มีต่อปัญหาดังกล่าว มิใช่เลย แท้ที่จริงแล้ว อาการป่วยของทหารแบบประหลาดๆที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้นี้ คือสิ่งที่ผู้ชมจะสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดจากโลกในจินตนาการของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยฝีมือเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของวงการ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ว่าด้วย ทหาร,พระราชา, และชาวบ้าน ในราชอาณาจักรแห่งหนึ่ง ออกมาได้อย่างเลิศล้ำเหนือจินตนาการ ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาที่กวาดคำชมมาแล้วจากนักวิจารณ์ทุกสถาบัน แน่นอนว่าผู้เขียนกำลังพูดถึง ภาพยนตร์เรื่อง Cemetery of Splendor ที่มีชื่อในภาษาไทยสุดเรียบง่ายว่า “รักที่ขอนแก่น”

แม้ว่า “รักที่ขอนแก่น” จะเป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับเกียรติให้เข้าฉายในเทศการภาพยนตร์ชั้นนำระดับโลกในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 ไม่ว่าจะเป็น เทศการหนังเมืองคานส์, เทศการหนังเมืองลอนดอน, หรือ เทศการหนังเมืองนิวยอร์ก อีกทั้งนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทุกสำนักต่างลงมติว่า “รักที่ขอนแก่น” คือภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ที่ “ดูง่ายที่สุด” “สนุกและมีอารมณ์ขันมากที่สุด” และ “แฝงนัยยะทางการเมืองไทยมากที่สุด”[1] ในหมู่ “หนังของอภิชาติพงศ์” ที่ขึ้นชื่อลือชาว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” หรือ “ดูแล้วง่วง” เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินว่า ภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ในต่างประเทศเรื่องนี้ กลับไม่มีโอกาสได้เข้าฉายให้ประชาชนคนไทยได้ชมกันเนื่องจากตัวผู้กำกับเองที่ดูจะ “เหนื่อยหน่าย” กับระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้มงวดในไทย และยิ่งการที่อภิชาติพงศ์ประกาศกร้าวออกมาแล้วว่า “รักที่ขอนแก่น” คือภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายของเขา[2] นั่นก็ยิ่งทำให้การที่คนไทยในประเทศไม่ได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนอย่างที่คนในต่างแดนได้ทำกัน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากยิ่งขึ้น

ในวาระที่การรัฐประหารครั้งล่าสุดของราชอาณาจักรไทย 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หมุนเวียนมาบรรจบครบรอบสองปี ผู้เขียนอยากจะพาผู้อ่านทุกๆท่านไปร่วมกันถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารในเรื่องการบ้านการเมือง อย่างไรก็ดี ด้วยเพราะรัฐบาลทหารในปัจจุบันได้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนในทุกๆด้าน ผู้เขียนจึงขอนำผู้อ่านทุกๆท่านหลบหนีโลกแห่งความเป็นจริงที่แสนจะขมขื่นนี้ เข้าสู่โลกแห่งจินตนาการผ่านเรื่องราวบนแผ่นฟิล์ม ด้วยการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกลุ่มทหารหนุ่มกับอาการป่วยไข้อันน่าพิศวงของพวกเขาในภาพยนตร์เรื่อง “รักที่ขอนแก่น” โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทหารที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านมุมมองหลักๆอยู่สามประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ ทหารกับความเป็นชาย ประเด็นที่สองคือ กองทัพกับราชวัง และประเด็นสุดท้ายคือ ทหารกับชาวบ้านในราชอาณาจักร ในส่วนของบทสรุป ผู้เขียนจะทิ้งท้ายว่า การ “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” น่าจะถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไร
 


อาการป่วยไข้อย่างแปลกประหลาดของเหล่าทหารหนุ่มที่หลับไหลหมดเรี่ยวหมดแรง ในฉากเปิดเรื่องของ “รักที่ขอนแก่น” ที่มา: Strand Releasing, “Cemetery of Splendor,” http://strandreleasing.com/films/cemetery-of-splendor/ (accessed May 17, 2015).

1. เมื่อนักรบไม่ใช่นักรัก

“รักที่ขอนแก่น” เล่าเรื่องราวสุดแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีบรรยากาศคล้ายคลึงกับหมู่บ้านเล็กๆที่เรามักจะพบเห็นได้ในภาคอีสานของราชอาณาจักรไทย ที่ว่าแปลกประหลาดก็คือ อยู่ดีๆทหารหนุ่มหลายสิบคนที่เข้ามาลาดตระเวนในหมู่บ้านกลับหมดเรี่ยวหมดแรงล้มพับขยับกายไม่ได้ขึ้นมาดื้อๆ ด้วยเหตุนี้ แพทย์ประจำหมู่บ้านจึงได้นำร่างของเหล่าทหารหนุ่มที่หลับไหลเป็น “เจ้าชายนิทรา” เหล่านี้มารักษาที่สถานพยาบาลชั่วคราวที่ปรับปรุงมากจากโรงเรียนเก่าๆ ปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดที่ว่านี้เองที่ทำให้ ป้าเจน (นำแสดงโดย เจนจิรา พงพัศ วิดเนอร์) นางพยาบาลอาสาวัยเกษียณผู้มีความพิกลพิการทางร่างกายเนื่องจากขาสองข้างที่ไม่เท่ากัน ได้เข้ามาช่วยดูแลทหารหนุ่มรุ่นลูกที่ชื่ออิฐ (นำแสดงโดย บัลลพ ล้อมน้อย) โดยทุกๆวัน แม้ป้าเจนจะแข้งขาไม่ดี เธอจะใช้ไม้ค้ำพยุงร่างของเธอมายังสถานพยาบาลแห่งนี้เพื่อคอยล้างเนื้อล้างตัวให้นายทหารหนุ่มผู้นี้และคอยปฐมพยาบาลข้างเตียงของเขาอยู่ไม่ห่าง

อาการหมดเรี่ยวหมดแรงจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อของเหล่าทหารหนุ่มที่ “รักที่ขอนแก่น” เปิดเรื่องนำเสนอนี้ ดูจะเป็นการท้าทายภาพลักษณ์หรือค่านิยมที่คนในสังคมโดยทั่วไปมีต่อทหาร กล่าวคือ โดยปกติแล้วเรามักจะมองว่า ทหารคือ “ชาตินักรบ” ผู้มีร่างกายที่บึกบึนกำยำและมีความเข้มแข็งคอยช่วยเหลือปกป้องเหล่าพลเรือนผู้อ่อนแอและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ดังนั้น ภาพที่เรามักเห็นจนชินตาก็คือ การที่ทหารมักจะถูกฝึกให้ยืนตัวตรงไม่กลัวแดดกลัวฝนอยู่ในค่ายทหารและตื่นตัวพร้อมที่จะรับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไปปฏิบัติ นอกจากนั้น ทหารในฐานะ “นักรบ” ก็มักจะถูกให้ค่าจากคนในสังคมว่าเป็น “นักรัก” เพราะไม่ว่าจะเป็นในวรรณกรรม, ละคร, เพลง หรือ ภาพยนตร์ ทหารมักจะถูกเอาไปยึดโยงกับค่านิยมความเป็นชาย, มีกล้ามเนื้อเป็นมัดล่ำสัน, และพร้อมที่จะเอาชนะ หรือ “เผด็จศึก” ฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นในสนามรบ หรือ ใน“สนามรัก” ด้วยเพราะการผูกติดกันอย่างแยกไม่ออกระหว่าง ทหารกับการมีสมรรถภาพทางเพศของผู้ชายนี้เอง ทำให้คำว่า “ชายชาติทหาร” กลายเป็นคำที่เราใช้กันบ่อยๆจนติดหู ในขณะที่คำว่า “หญิงชาติทหาร” หรือ “เกย์ชาติทหาร” กลายเป็นการประสมคำที่ดูผิดฝาผิดตัวและฟังดูแปลกๆไป

ในทางตรงกันข้าม “รักที่ขอนแก่น” ได้กลับหัวกลับหางค่านิยมดังกล่าวที่มีต่อทหารอย่างสิ้นเชิงด้วยการนำเสนอภาพของทหารที่ร่างกายอ่อนเปลี้ยไร้กำลังวังชา, วันๆเอาแต่นอนคุดคู้อยู่บนเตียง, และไม่สามารถลุกขึ้นมายืนตรงหรือทำให้กระดูกสันหลังของตนตั้งเป็นมุมฉากกับพื้นดินได้ นอกจากนั้น แทนที่จะมีพลังของความเป็นชายในการปกป้องพลเรือน ทหารที่ป่วยไข้เหล่านี้กลับเป็นกลุ่มคนที่รอคอยให้ผู้หญิงสูงอายุทั้งหลายมาคอยป้อนน้ำป้อนท่าหรือเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้  อาการสูญสิ้นพลังของความเป็นชายนี้ถูกขับเน้นออกมาอย่างเด่นชัดในสองฉากสำคัญตอนต้นเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” ในฉากแรก หลังจากที่หนุ่มอิฐผู้หลับไหลได้รับการเช็ดเนื้อเช็ดตัวโดยป้าเจนทั้งใน “อวัยวะที่แจ้ง” และ “อวัยวะที่ลับ” อยู่ดีๆ เขาก็ลุกตื่นขึ้นมาจากการถูกสัมผัสสตรีกระตุ้นเข้าที่ร่างกาย หลังจากอิฐตื่นขึ้นมาไม่นานก็ปรากฏว่า ทหารหนุ่มคนอื่นๆก็ตื่นขึ้นมาขยับเนื้อขยับตัวกันอย่างแข็งขัน เมื่อลุกตื่นกันแล้ว ในเวลาต่อมาทหารเหล่านี้ก็พากันมา “ยืนตรง” เข้าคิวรับประทานอาหารกลางวันในโรงอาหารที่มีรูปของนายพลท่านหนึ่งติดอยู่บนผนัง (ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญเหลือเกินว่า นายพลในจินตนาการท่านนี้ดูจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เปรียบเป็นดังสัญลักษณ์ของความเป็นชายของทหารไทย) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ป้าเจนเห็นอิฐและเหล่าทหารหนุ่ม “ยืนตรง” รับอาหารมาทานได้ไม่นาน เธอก็ต้องผิดหวังอย่างแรงที่ต้องเห็นทหารเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ “คอตก” ล้มพับหลับลงบนจานอาหารที่ยังทานไม่หมด หากแต่ยัง “ปลุกไม่ขึ้น” และต้องพาลากกลับไปที่เตียงพยาบาลอีกครั้ง

อาการ “ล่มปากอ่าว” หรือ “นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ” ของเหล่าทหารหนุ่ม ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งในฉากที่สอง โดยอีกไม่กี่วันต่อมา หนุ่มอิฐก็ฟื้นจากการหลับไหลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในคราวนี้ป้าเจนพยายามกระตุ้นให้เขาตื่นตัวและอยู่เป็นเพื่อนกับเธอให้นานมากขึ้นด้วยการคะยั้นคะยอให้เขาทานของเผ็ดๆหรือดื่มกาแฟเพื่อชูกำลัง “เธออย่าหลับไปอีกนะ” ป้าเจนย้ำหนุ่มอิฐเป็นระยะๆเพื่อกระตุ้นให้เขากระชุ่มกระชวยตลอดทั้งคืนที่ทั้งสองออกมาเที่ยวด้วยกันในตลาดใกล้ๆสถานพยาบาล ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้สวยในคราวนี้ เพราะนอกจากอิฐจะไม่ฟุบหลับไปอย่างรวดเร็วบนโต๊ะอาหารแล้ว เขายังไปดูหนังกับป้าเจนที่โรงภาพยนตร์ใกล้ๆตลาดอีกด้วย ณ โรงภาพยนตร์ในจินตนาการแห่งนี้เองที่เราจะได้เห็นอิฐ “ยืนตรง” ขึ้นอีกครั้ง เพื่อแสดงความเคารพสถาบันหรือบุคคลสำคัญคนหนึ่งของราชอาณาจักรแห่งนี้ก่อนที่หนังจะเริ่มฉาย อย่างไรก็ตาม ร่างกายที่ “ตั้งโด่” ของทหารหนุ่มเมื่อได้ยืนเคารพบางสิ่งบางอย่างที่คนในราชอาณาจักรแห่งนี้บูชา กลับล้มพับไม่เป็นท่าในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา และก็เป็นป้าเจนคนเดิม ที่แม้จะแข้งขาไม่ดี แต่กลับต้องหามร่างกายที่อ่อนปวกเปียกของ “ชายชาติทหาร” กลับไปที่สถานพยาบาลอีกครั้ง


ป้าเจนมองด้วยสายตาที่เป็นกังวลไปยัง อิฐ ทหารหนุ่มผู้ไร้สมรรถภาพในการ “ยืนตรง” เพราะมัวแต่นอนพับหลับไหลไปกับโลกแห่งความฝัน ในขณะที่ชาวบ้านล้วนมีความสามารถในการ “ลุกยืน”
ที่มา: Strand Releasing, “Cemetery of Splendor,” http://strandreleasing.com/films/cemetery-of-splendor/ (accessed May 17, 2015).

2. ทหารของพระราชา กับ “สุสานผู้สูงส่ง”

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะเริ่มสงสัยกันบ้างแล้วว่า ทำไมเหล่าทหารหนุ่มทั้งหลายถึงได้หลับไหลหมดกำลังวังชาและสูญสิ้นสมรรถภาพพลังเพศชาย “รักที่ขอนแก่น” ได้แอบบอกใบ้ให้กับผู้ชมในตอนต้นเรื่องด้วยการนำเสนอฉากที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนทั้งโรง ในฉากนี้ป้าเจนและพยาบาลอาสาอีกสองคนได้มาเฝ้าไข้ให้กับทหารหนุ่มคนหนึ่ง แต่ขณะที่ทั้งสามสาวกำลังคุยกันอย่างออกรสออกชาตินั้น ปรากฏว่า อยู่ดีๆ อวัยวะเพศของทหารหนุ่มบนเตียงกลับแข็งตัวขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แม้ทั้งสามสาวจะหัวเราะกันสนุกสนาน, ล้อเลียน, ไปจนถึงหยิบจับอวัยวะเพศชายที่ตั้งโด่ของนายทหารผู้หลับไหลคนนี้ พวกเธอและผู้ชมในโรงก็อดจะตั้งคำถามไปไม่ได้ว่า ทหารหนุ่มกำลังฝันถึงเรื่องอะไร?  หรือจะเป็นเรื่องราวที่เขากำลังฝันนี่เองที่ทำให้พลังความเป็นชายของทหารถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง?

ปริศนาที่ว่านี้ได้รับการเฉลยในเวลาต่อมา เมื่อเรื่องราวของ “รักที่ขอนแก่น” เดินทางมาถึงครึ่งทาง กล่าวคือ หลังจากที่ป้าเจนได้ไปบนบานกับศาลเจ้าแม่ประจำหมู่บ้านเพื่อขอให้อิฐกลับมาหายดี  เธอก็ได้พบกับปรากฏการณ์ประหลาด เมื่ออยู่ดีๆผีเจ้าแม่ที่ว่าก็โผล่มาให้เห็นตัวเป็นๆในตอนกลางวันแสกๆ พร้อมกับบอกกับเธอว่า เหล่าทหารหนุ่มที่ป้าเจนคอยเฝ้าพยาบาลเช้าเย็นจะไม่ลุกตื่นฟื้นขึ้นมาเป็นปกติไปอีกนาน เพราะสถานพยาบาลที่พวกเขานอนพักหลับไหลกันอยู่นี้ หาได้เพียงแค่ตั้งอยู่บนโรงเรียนเก่า หากแต่ยังตั้งอยู่บนสุสานของเหล่าพระราชาที่สวรรคตไปนานหลายร้อยปีที่แล้ว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เหล่าภูติผีศักดินาทั้งหลายที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิดนี้ ได้ดูดพลังของเหล่าทหารหนุ่มในช่วงที่หลับไหลเพื่อเอาไปสู้รบปรบมือกันในการแย่งชิงราชบัลลังก์ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล และเนื่องจากสงครามครั้งนี้ดูจะยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุด ผีเจ้าแม่ได้บอกกับป้าเจนให้ทำใจกับการที่อิฐจะหลับไหลไปตลอดกาลจากการต้องไปปฏิบัติภารกิจ “ทหารของพระราชา” ในโลกแห่งความฝัน

อาการป่วยของทหารใน “รักที่ขอนแก่น” ที่ใช้เวลาไปกับการสู้รบในโลกแห่งความฝันแทนที่จะรบในโลกแห่งความเป็นจริง ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกับค่านิยมอีกชุดหนึ่งที่สังคมโดยทั่วไปมักจะเอาไปผูกติดกับทหาร เพราะโดยปกติแล้ว ทหารมักจะได้ชื่อว่าเป็นพวกที่ยึดถือแนวคิดสัจจนิม (realism), เน้นการปฏิบัติจริง, และเล็งเห็นผลรูปธรรมในโลกแห่งความเป็นจริง มากกว่าจะคล้อยตามพวก “นักฝัน (dreamer)” หรือพวกที่ยึดมั่นถือกับแนวคิดแบบอุดมคติ (idealism) แต่ใน “รักที่ขอนแก่น” เราจะเห็นได้ว่าค่านิยมดังกล่าวได้ถูกท้าทายอย่างถึงราก เพราะมันกลับกลายเป็นว่า นายทหารกลับเป็นพวกที่วันๆเอาแต่หลับฝัน, เพ้อเจ้อ, ฝันค้าง, และเอาแต่จินตนาการหลุดลอยไปจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ชาวบ้านในราชอาณาจักรล้วนเผชิญอยู่

อาการฝันค้างถึงภาพปฏิมาของเหล่าทหารหนุ่ม ได้รับการขับเน้นออกมาในฉากสุดพิสดารในตอนกลางเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” โดยในฉากนี้ อิฐผู้ซึ่งไร้กำลังวังชาในการลุกตื่น ได้อาศัยวิธีการ “เข้าทรง” ในร่างของสตรีผู้หนึ่ง เพื่อจะได้พาป้าเจนไปเยี่ยมชม “พระราชวัง” ของมหาราชาที่เขารับใช้ในช่วงที่หลับไหล อิฐดูจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการที่เขาในฐานะนายทหารชาตินักรบ ได้ปกป้องพระราชาและ “วัง” ของพระองค์ท่าน เพราะตัวเขาได้ใช้ “ร่างทรง” พาป้าเจนเดินไปสำรวจว่า ตรงไหนคือประตูทางเข้าวัง, ตรงไหนคือห้องหับรโหฐานของเหล่าราชาผู้สูงส่ง, หรือตรงไหนคือหน้าต่างและผ้าม่านที่พวกเจ้าใช้ประดับตกแต่งวัง แม้ป้าเจนจะทำเป็นเออออห่อหมกพยักหน้าทำเป็นรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ “พระราชวัง” ที่อิฐพูดถึง สิ่งที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าเธอในความเป็นจริงก็คือ บริเวณป่าโปร่งและผืนดินที่รกร้างไร้ผู้คน หาใช่วังที่หรูหราของกษัตริย์แต่อย่างใด แม้ป้าเจนจะพยายามปลุกให้อิฐกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการอธิบายถึงประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของผืนป่าแห่งนี้จากมุมมองของชาวบ้าน อิฐกลับเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าความจริงที่ว่าและปฏิเสธประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยการกลับไปพร่ำเพ้อถึงภาพปฏิมาของ “วัง” “พระราชา” และ “เจ้าผู้สูงส่ง” ที่เข้าถวายชีวิตให้
 


ป้าเจนพยายามเบิ่งตาให้กว้าง เพื่อรับแสงสว่าง “จ้า” และไม่ให้หลับไหลไปกับความมืดมิด
ในฉากจบของเรื่องของ “รักที่ขอนแก่น”
ที่มา: Strand Releasing, “Cemetery of Splendor,” http://strandreleasing.com/films/
cemetery-of-splendor/ (accessed May 17, 2015).

3. ทหารยังหลับไหล แต่ใครที่ลุกตื่น?

ในตอนท้ายเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” ดูจะทำร้ายจิตใจคนดูอยู่พอสมควร เพราะแทนที่หนังจะพาผู้ชมไปพบกับบทสรุปที่แสนสุข ผู้ชมกลับต้องพบว่า สุดท้ายแล้วป้าเจนจำต้องยอมรับกับความเป็นจริงที่เจ็บปวดเนื่องจากอิฐและเหล่าทหารหนุ่มดูจะไร้วี่แววที่จะตื่นฟื้นขึ้นมาเป็นปรกติและคงต้องกลายเป็น “เจ้าชายนิทรา”ไปตลอดกาล ด้วยความสิ้นหวัง ป้าเจนได้แต่นั่งมองไปรอบๆบริเวณสถานพยาบาลและได้เห็นถึงสภาพของหมู่บ้านที่ยังค้างเติ่งอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ไม่ว่าจะเป็น สนามฟุตบอลที่ขุดซ่อมแซมไม่เสร็จ, เด็กๆที่เล่นฟุตบอลด้วยเท้าเปล่าในสนามที่มีแต่หลุมบ่อ, รถขุดเจาะข้างสนามที่ไร้คนขับ, โรงพยาบาลใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ, และตัวสถานพยาบาลชั่วคราวเองที่เข้ามาเบียดเบียนพื้นที่โรงเรียนของเด็กๆ นี่ดูจะเป็นบทสรุปที่น่าเศร้า เพราะแทนที่นายทหารหนุ่มๆจะเป็นกำลังสำคัญในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่หมู่บ้านกำลังปรับตัวเข้ากับความเจริญและการพัฒนาตามกระแสทุนนิยมที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลทั่วราชอาณาจักรในจินตนาการแห่งนี้ กลับกลายเป็นว่า ทหารมัวแต่หลับไหลไม่ยอมตื่น, เอาแต่นอน “กินบ้านกินเมือง” ไปวันๆ, และหมกมุ่นไปกับวาระการ “เปลี่ยนผ่าน” ของราชบัลลังก์ในโลกแห่งความฝัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์, หรือ แรงงานในการดูแลทหารที่ป่วยไข้เหล่านี้ ล้วนมากจากการเสียสละของชาวบ้านตาสีตาสาทั้งสิ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับป้าเจนและอิฐนั้นดูจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าขึ้นไปอีก หากเราให้ความสนใจไปที่บทสนทนาครั้งสุดท้ายในโลกแห่งความเป็นจริงของตัวละครทั้งสอง โดยก่อนที่อิฐจะไป “เข้าเฝ้าพระราชา” และ พาป้าเจนไปเยี่ยมชม “พระราชวัง” ในความฝันนั้น เขาได้สารภาพความจริงบางอย่างกับเธอถึงมุมมองของเขาที่มีต่ออาชีพทหาร “ผมมองไม่เห็นอนาคตเลยป้าในการเป็นทหาร...วันๆได้แต่ล้างรถนายพล” เขากล่าวกับเธอด้วยน้ำเสียงจริงจัง เมื่อถูกป้าเจนซักถามว่าถ้าไม่เป็นทหารแล้วจะไปทำอะไรกิน อิฐดูจะสร้างความประหลาดใจให้กับเธอไม่น้อย เพราะเขาได้ตอบว่า เขาเองอยากเลิกเป็นทหารแล้วไปทำอาชีพเปิดร้านขายขนมปัง “สูตรไต้หวัน” ส่งตามปั๊มน้ำมันทั่วภูมิภาค ความใฝ่ฝันของอิฐในการลาออกจากกรมกองแล้วหันมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยตามระบอบทุนนิยม ดูจะไปกันได้ดีกับป้าเจนที่มักจะไปด้อมๆมองๆดูการทำ “เวิร์คช๊อป” ของพนักงานขายผลิตภัณฑ์ครีม “หน้าขาวหน้าเด้ง” ที่กำลังเจาะเข้ามาในตลาดหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่สุดท้ายแล้วความใฝ่ฝันของอิฐตามระบอบทุนนิยมไม่มีวันที่จะได้รับการนำมาปฏิบัติให้เป็นจริง เพราะเขาได้ถูกภูติผีจากยุคศักดินาดูดพลังและกักขังจิตวิญญาณเอาไว้รับใช้ไปตลอดกาล

แม้จะมีจุดจบที่แสนเศร้า กระนั้นก็ตาม “รักที่ขอนแก่น” ก็ไม่ได้ทิ้งให้คนดูออกจากโรงภาพยนตร์ไปอย่างไร้ซึ่งความหวัง เพราะในฉากเดียวกันที่ป้าเจนกำลังนั่งมองไปรอบๆบริเวณสถานพยาบาล ผู้ชมจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เธอกำลังพยายามเบิ่งตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูเหมือนว่าประสบการณ์อันแสนพิสดารที่อิฐพาเธอไปเข้าเยี่ยมชม “วังของพระราชา” จะทำให้เธอ “ตาค้าง” หรือ “ตาสว่างจ้า” ขึ้นมา และจะไม่ยอมให้ตัวเธอเองเผลอหลับไหลหรือฝันไปกับภาพปฏิมาอย่างที่อิฐและทหารหนุ่มคนอื่นเป็นกัน ในขณะเดียวกัน “รักที่ขอนแก่น” ก็ได้บอกเป็นนัยในฉากจบกับผู้ชมว่า ป้าเจนหาได้เป็นชาวบ้านเพียงคนเดียว ณ หมู่บ้านในจินตนาการแห่งนี้ ที่รู้ตื่นรู้แจ้งแล้วว่าอะไรคือความจริงและอะไรคือความฝัน เพราะในฉากจบนี้เองที่เราจะได้เห็น ชาวบ้านในบริเวณใกล้ๆสถานพยาบาล ได้ลุกขึ้นมาเต้นออกกำลังกายประกอบเพลงที่มีจังหวะคึกคักกันอย่างกระฉับกระเฉง หลังจากที่ใช้เวลาพาผู้ชมไปดูเรื่องราวของทหารที่ล้มป่วยหมดเรี่ยวหมดแรงมาตลอดทั้งเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” กลับทำให้ผู้ชมแปลกใจจากการปิดท้ายด้วยการนำเสนอภาพของชาวบ้านคนธรรมดาสามัญทั่วไปที่ดูจะมีพลังและความหวังในการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง

บทสรุป

แม้ว่านักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่า “รักที่ขอนแก่น” แฝงนัยยะทางการเมืองอย่างชัดเจนและมุ่งหวังที่จะสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติการเมืองไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์เหล่านี้กลับมองว่าการลดทอนภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นเพียงแค่ “หนังการเมือง” ดูจะเป็นการ “เสียของ” เนื่องจาก “รักที่ขอนแก่น” เป็นภาพยนตร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณลักษณะหลายประการที่ตอบโจทย์การบริโภคภาพยนตร์ที่มีสุนทรียะทางศิลปะได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพออกมาได้เป็นธรรมชาติ, จังหวะจะโคนในการตัดต่อที่ไม่ติดขัด, การ “แช่กล้อง” ทิ้งไว้เป็นเวลานานในฉากเดียวโดนไม่ขยับเขยื้อน, การใช้แสงและสีที่ฉูดฉาดแปลกตา, หรือกระทั่งการใช้ภาษาท้องถิ่นที่ผู้ชมทั้งคนไทยและคนต่างชาติฟังดูแปลกหู[3] อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับมองว่า การรับชมภาพยนตร์เรื่อง “รักที่ขอนแก่น” โดนเน้นไปที่สุนทรียะในทางศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว ก็ดูจะเป็นการ “เสียของ” อย่างมากเช่นกัน เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสื่อกับผู้ชมอย่างโจ่งครึ่มว่า นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เน้นการตอบสนองความคลั่งไคล้ใน “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ตามค่านิยมในสังคมกระฎุมพี หากแต่เป็นภาพยนตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์ปนเย้ยหยันถึงประเด็นทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคม ของราชอาณาจักรไทยได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายๆปี

ในวาระบรรจบครบรอบของการที่ทหารไทยได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและสถาปนาตนเป็นผู้ปกครองประเทศมาเป็นเวลาสองปี “รักที่ขอนแก่น” คือภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่น่าจะปลุกเร้าให้พวกเราทุกคนได้ “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” ได้เป็นอย่างดี คำถามที่ผู้เขียนอยากจะทิ้งท้ายไว้ ณ ที่นี้ เพื่อนำไปสู่ข้อถกเถียงในวงกว้างก็คือ อาการป่วยไข้ทั้งสามประการของทหารในโลกบนแผ่นฟิล์มสามารถนำมาเชื่อมโยงหรือสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอะไรของกองทัพในราชอาณาจักรไทย? โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าผู้นำทหารของไทยดูจะย้ำคิดย้ำทำและเฝ้าแต่แสดงออกถึงพลังแห่งความเป็นชายในที่สาธารณะ กระนั้นก็ตาม เราอาจต้องตั้งคำถามว่า อะไรคือปมซ่อนเร้นในใจของเหล่าทหารไทยที่ขับเคลื่อนให้พวกเขาต้องเน้นย้ำถึงความเป็นชายต่อหน้าพลเรือนอยู่ตลอดเวลา? ทำไมทหารไทยที่ได้ชื่อว่าเป็น “ชาตินักรบ” ถึงหันมาใช้กำลังกับพลเรือนในชาติ แทนที่จะทำหน้าที่ปกป้องพวกเขา? อุดมกาณ์ชุดไหนกันที่ปลุกให้พลังความเป็นชายของทหารไทย “ตื่น” และ “ตั้งตรง” ขึ้นมาแทรกแซงกิจการบ้านเมืองของพลเรือน? นอกจากนั้น หากเรามองไปที่ การพร่ำโฆษณามาโดยตลอดถึง “ค่านิยม 12 ประการ” และการอ้างถึงความชอบธรรมในการเข้ามา “ปฏิรูป” ประเทศในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” เราก็อาจตั้งคำถามได้เช่นกันว่า ทหารไทยยังยึดโยงอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง หรือแท้จริงแล้วกำลัง “ฝันค้าง” กับภาพปฏิมาชุดไหนอยู่? หากทหารในโลกจินตนาการจำต้องรับใช้เหล่าภูติผีจากยุคศักดินา ทหารไทยในปัจจุบันกำลังทำหน้าที่ตอบสนองหรือรับใช้ตัวแสดงทางการเมืองใด? และท้ายที่สุด หากเราให้ความสนใจไปที่งบประมาณที่ทหารใช้ในการทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการ “คืนความสุข” ให้กับคนไทย หรือ นโยบาย “ประชารัฐ” มันก็สมควรเป็นอย่างยิ่งที่เราจะตั้งคำถามว่า งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนโครงการในฝันของกองทัพเหล่านี้ มาจากน้ำพักน้ำแรงของใคร? ระหว่างชาวบ้านตาสีตาสาที่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเสียภาษีให้รัฐ กับกองทัพไทยที่ฝันใฝ่ว่า “จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ใครกันที่ยังหลับไหล และใครกันที่กำลังตื่นรู้?

 

เชิงอรรถ

[1] Gabriel Winslow-Yost, “Thailand’s Genial Nightmare,” The New York Review of Books, 13 March 2016; Wesley Morris, “Cannes Diary, Day 6,” Grant Land, 19 May 2015; Glenn Kenny, “Review: In Cemetery of Splendor, A Nod to Dream Logic,” The New York Times, 4 March 2016; Christopher Borne, “New York 2015 Review: Cemetery of Splendor, A Beautiful and Beguiling Waking Dream,” Twitch Film, 29 September 2015.

[2] BBC Thai, “สัมภาษณ์พิเศษอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์รักที่ขอนแก่น,” YouTube, 15 October 2015, https://www.youtube.com/watch?v=Szw5x7qOFfQ (accessed May 17, 2015).

[3] แม้นักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญไปที่ด้านสุนทรียะทางศิลปะของ “รักที่ขอนแก่น” นักวิจารณ์บางท่านกลับไม่อ้อมค้อมในการโยงนัยยะทางการเมืองในภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ากับปัญหาการเมืองไทย ดูตัวอย่างของนักวิจารณ์กลุ่มแรกใน Justin Chang, “Cannes Film Review: Cemetery of Splendor,” Variety,  18 May 2015; Richard Brody, “Cemetery of Splendor,” The New Yorker; Robbie Collin, “Cemetery of Splendor, Cannes Review: A Wondrous Journey” The Telegraph, 20 May 2015; ในส่วนของนักวิจารณ์กลุ่มหลัง โปรดดู Kong Rithdee, “Cemetery of Splendor,” Cinema Scope, Issue 63; เอสรี ไทยตระกูลพาณิช, “การเมืองไทยในภาวะโคม่าใน รักที่ขอนแก่น,” ประชาไท, 13 พฤษภาคม 2016.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท