Skip to main content
sharethis
วันแรงงานแห่งชาติ 'คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย-สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์' เรียกร้องรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 'สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ' เรียกร้อง คสช. คืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว ส่วน 'สภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ' เสนอ 15 ข้อ ด้านนายกย้ำ ก.แรงงาน รับข้อเรียกร้องต้องพิจารณาศึกษาก่อนนำไปดำเนินการ
 
1 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ TNN รายงานว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ รวมตัวกันบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 360 บาท เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ
 
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยว่าข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ยังเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล เพราะมองว่าที่ผ่านมาร่างกฎหมายต่างๆของผู้ใช้แรงงานถูกมองข้ามจนไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวและประกาศเจตนารมณ์เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน 6 ข้อ คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง เรียกร้องให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เรียกร้องการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ360บาทเท่ากันทั้งประเทศ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และวางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงานปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และ ให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้เป็นของผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เนื่องจากจะเป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิและสามารถป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และการกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและปรับโครงสร้างค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ ให้อยู่วันละ 360 บาท เพื่อเป็นของขวัญให้กับแรงงานแนวทางการเคลื่อนไหวในวันนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เคลื่อนขบวนออกจากหน้ารัฐสภา มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ข้อเรียกร้องดังกล่าว หากยังไม่ได้รับการแก้ไข จะยื่นข้อเรียกร้องเหล่านี้ในทุกปีและเปิดเผยต่อสาธารณะชนให้ได้รับทราบปัญหาของผู้ใช้แรงงานด้วย
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานชาติปี 2559 ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติต่อนายกฯจำนวน 15 ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 2.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเท่ากันทั่วประเทศและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 3.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนเงินทดแทนโดยแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล ประกาศให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตนเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่ สปส.กำหนด และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉินตามความเป็นจริง รวมถึงเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุการทำงานจากเดิมร้อยละ 60 เพิ่มเป็นร้อยละ 100 ของค่าจ้าง 
 
4.ให้รัฐบาลเร่งนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ… และร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่สภานิติบัญญัติ (สนช.) 5.ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย 6.ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 7.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนเงินสงเคราะห์ในหมวด 13 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 8.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน 9.ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 
 
10.ให้รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 11.ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 กรณีแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรกต์) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับลูกจ้างประจำโดยเคร่งครัด 12.ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ รวมทั้งจัดตั้งกรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ 13.ให้กระทรวงแรงงานจัดงบสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยที่ดูแลลูกหลานของผู้ใช้แรงงานที่จัดตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง 14.รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมประชากรทุกคนและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย และ 15.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานชาติปี 2559 
 
 
 
ขบวนของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ที่มาภาพ: Podjana Walai)
 
ส่วนการเดินขบวนของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ต้องคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว และให้ปล่อยนักโทษการเมือง รวมทั้งข้อเสนออื่น ๆ (อ่านเพิ่มเติม: 'สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ' ขอค่าจ้าง 421 คสช.คืนประชาธิปไตย สังคมไทยเป็นรัฐสวัสดิการ)
 

นายกย้ำ ก.แรงงาน รับ 15 ข้อเรียกร้องต้องพิจารณาศึกษานำไปดำเนินการทั้งหมด

 
 
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2559 ณ ปะรำพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ 1 พฤษภาคม 2559 (ที่มาภาพ: thaigov.go.th)
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2559 ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน ทั้งนี้ในช่วงเช้าที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เป็นประธานในการประกอบพิธีสงฆ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นได้เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติฯ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงแรงงาน และผู้ใช้แรงงานไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวง สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้มี 15 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 เร่งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่ สนช. ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างฯ ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนฯ ตราพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ สนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นหน่วยงานระดับกรม สนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย บังคับให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด จัดตั้งกรมคุ้มครองฯ แรงงานนอกระบบ จัดสรรงบประมาณดูผล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของแรงงาน จัดระบบบำนาญพื้นฐาน และแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2559 เป็นต้น
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัยในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติว่า พร้อมรับหนังสือ ข้อเรียกร้องจากสภาองค์การลูกจ้าง รวม 17 องค์กร ที่ยื่นข้อเสนอ รวม 15 ข้อ เพื่อการพัฒนาแรงงานไทยสู่อาเซียนและสากล โดยยอมรับว่าต้องเร่งปรับสถานการณ์แรงงานให้สอดคล้องสถานการณ์บ้านเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงสอดคล้องนโยบายรัฐบาล ยืนยัน รัฐบาลเร่งดำเนินงานให้เร็วโดยวางระยะ 5 ปี เพื่อเข้าสู่แผนพัฒนาของสภาพัฒน์ฯ ในระยะ 12 ปี และ 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน และเตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะการมองตลาดแรงงานว่าต้องการแรงด้านใด เพราะประเทศรอบบ้านมีการพัฒนาต่อเนื่อง จึงต้องเร่งเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน แต่ต้องอยู่บนหลักพอเพียง ขณะเดียวกัน ต้องหยุดทะเลาะ ประเทศถึงจะเดินหน้าไปได้
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวก่อนเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติฯ ว่า “รูปแบบการจัดงานวันแรงงาน ปี 2559 มีการพัฒนามากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งมีสภาองค์การลูกจ้างเป็นประธานการจัดงาน โดยมีการจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เช่น การบริจาคโลหิต และกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี เป็นต้น ซึ่งพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้ร่วมมือกันในการจัดงานครั้งนี้ให้มีความยิ่งใหญ่ ทางรัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในวันแรงงานแห่งชาติเพราะผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาเป็นเวลานาน และผมได้รับหนังสือ ข้อเรียกร้องจากสภาองค์การลูกจ้าง รวม 17 องค์กร ที่ยื่นข้อเสนอ รวม 15 ข้อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานรับไว้พิจารณาเพื่อที่จะนำไปศึกษาและดำเนินการให้ได้ทั้งหมด โดยข้อเรียกร้องในปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการลุล่วงไปแล้วในหลายเรื่อง ข้อเรียกร้องบางข้อมีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนราชการอื่นด้วย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเราก็ต้องใช้ดุลพินิจ ความละเอียดรอบคอบ”
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2559 ว่า “จากนโยบายของรัฐบาลที่ห่วงใยและให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานหรือคนทำงาน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ในห้วงระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้บริหารและจัดการภารกิจด้านแรงงานที่สำคัญ 4 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ ได้พัฒนาศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ให้ไปสู่การเป็น “Smart Job Smart Worker” โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการจัดหางาน ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและศักยภาพร่างกาย ตลอดนดำเนินการเพื่อให้ปลอดจากการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมายและการหลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศ 2) ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ให้มีศักยภาพและทักษะฝีมือที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาทักษะทางด้านภาษา เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม รวมทั้งจัดมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้คนทำงานได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามศักยภาพ 3) ด้านการคุ้มครองแรงงาน ได้ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ส่งเสริมให้มีระบบสวัสดิการและระบบแรงงานสัมพันธ์ ในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการขับเคลื่อนมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงาน 4) ด้านการสร้างหลักประกันทางสังคม ได้ขยายความคุ้มครองไปยังแรงงานนอกระบบและลูกจ้างชั่วคราวของทางส่วนราชการ ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีคลอดบุตร กรณีว่างงาน กรณีเสียชีวิต และกรณีเงินสมทบบุตร รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาล และสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายล่วงหน้าในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามข้อเรียกร้องของพี่น้องแรงงานในปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งปัจจุบันได้มีการรับฟังความคิดเห็นถึงผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย และจะนำเข้าที่ประชุม เพื่อพิจารณาสาระสำคัญ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคม ได้จัดทำแผนปฏิรูปและพัฒนาประสิทธิภาพงานประกันสังคม โดยมีการกำหนด Road Map ขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน เรื่องการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการ ได้ดำเนินการศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ได้ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานโดยจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ได้แจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ทราบถึงความคืบหน้าแล้ว”
 
ภายหลังปราศัยบนเวทีเสร็จแล้วนายกรัฐมนตรี ได้เดินเยี่ยมชมกิจกรรมภายในงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 ที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดกิจกรรมมากมาย ทั้งการให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ การให้คำปรึกษาแรงงานสาขาอาชีพต่าง ๆ สาธิตประกอบอาชีพอิสระ นัดพบแรงงาน การบริจาคโลหิต ตอบปัญหาชิงรางวัล บริการทันตกรรม บริการตัดผมฟรี รวมถึงให้ความรู้ด้านประกันสังคมอีกด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net