ประธานพูโลยอมรับการพูดคุยสันติสุขอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ - หลังฝ่ายไทยยังไม่รับ TOR

กัสตูรี มะโกตา ประธานพูโล ออกแถลงการณ์เปิดเผยว่าการพูดคุยล่าสุดกับรัฐบาลไทยเมื่อ 27 เม.ย. ไม่มีความคืบหน้า หลังฝ่ายไทยไม่ให้คำตอบเรื่อง TOR หรือกรอบกติกาการพูดคุย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่อนุมัติ โดยเขาระบุว่าหากผ่านเรื่อง TOR แล้ว จึงจะเริ่มพูดคุยในประเด็นหัวข้ออื่นเพื่อหาทางออกทางการเมือง

30 เม.ย. 2559 กรณีที่อาบูฮาฟิส อัล ฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี เปิดเผยเมื่อ28 เม.ย. ถึงผลการประชุมร่วมกับทีมพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อ 27 เม.ย. ว่า การพบปะกันหนนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ตกลงเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่มีการร่วมลงนามในเอกสาร Term of reference (TOR) หรือกติกาการพูดคุยอย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายไทยยังไม่พร้อมที่จะลงนาม โดยทีมไทยแจ้งกับที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวซึ่งผ่านการร่วมร่างระหว่างตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานี กับคณะพูดคุยฝ่ายไทย และฝ่ายมารา ปาตานี ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อเรื่องนี้ กัสตูรี มะโกตา ประธานองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี หรือ กลุ่มพูโล (PULO) หนึ่งในคณะเจรจาของมารา ปาตานี ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษามลายูภายหลังการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและมารา ปาตานีเมื่อ 27 เมษายน โดยประชาไทแปลเป็นภาษาไทยจากฉบับแปลภาษาอังกฤษของนักวิชาการชาวญี่ปุ่น ฮารา ชินทาโร

โดยในแถลงการณ์ กัสตูรี มะโกตา ระบุว่า "การพูดคุยเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เป็นการเจรจารอบที่ 4 ระหว่างรัฐบาลไทย และมารา ปาตานี ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมคราวก่อน แต่ไม่ประสบผลอันใด

การพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย และมารา ปาตานี ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ประเด็นที่มีความสำคัญยังไม่มีการพูดถึง มันเหมือนกับเรากำลังพูดถึงเงื่อนไขของการละหมาด และเรายังไม่เข้าสู่แท่นเพื่อละหมาดด้วยซ้ำ สิ่งที่พูดคุยกันในการเจรจายังเป็นเรื่องพื้นฐาน

การพูดคุยก่อนหน้านี้ คณะเจรจาของรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง และคณะของมารา ปาตานี นำโดยสุกรี ฮารี มีการเจรจาเรื่องของขอบเขตการเจรจา หรือ TOR โดยเป็นการพูดคุยในระดับคณะทำงาน และทางออกหลังการพูดคุยควรจะนำไปสู่การหารือในระดับที่สูงกว่าคือการเจรจาในวันที่ 27 เมษายน แต่สิ่งที่ถูกหารือในการพูดคุยก่อนหน้านี้ ไม่ได้รับการรับรองในการพูดคุยครั้งล่าสุดนี้

สิ่งที่พวกเขาหารือกันในการประชุมคือสิ่งที่เรียกว่า 'TOR' ซึ่งมีบางหัวข้อที่ได้รับความเห็นชอบ และนอกนั้นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ สิ่งที่เห็นชอบเช่น การให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับกระบวนการเจรจา มาเลเซียเป็นสถานที่เจรจา มาเลเซียควรบันทึกเอกสารในสิ่งที่ได้รับความเห็นชอบ และมาเลเซียควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการประชุม และจำนวนผู้แทนของคู่เจรจาแต่ละฝ่าย

แต่มีหัวข้ออื่นที่ฝ่ายสยามไม่เห็นชอบ เช่น เรื่องแรก การรับรอง มารา ปาตานี ซึ่งสิ่งนี้มีความจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลไทยจะไม่เจรจากับกลุ่มอื่นนอกจากมารา ปาตานี ทั้งนี้ มารา ปาตานี กังวลว่ารัฐบาลไทยจะหารือกับคนอื่นมากกว่ามารา ปาตานี เรื่องที่สองก็คือคณะเจรจาของมารา ปาตานี ควรได้รับความคุ้มครอง (immunity) สิ่งนี้มีความจำเป็นเพราะมีเพื่อนเราจำนวนมากถูกจับในขณะที่พวกเขากำลังหารือกับรัฐบาลไทย เช่น ฮัจจี อิสมาอิล ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในการพูดคุยเมื่อ 27 เมษายน ฝ่ายไทยได้ขอเลื่อนการให้คำตอบ เนื่องจากพวกเขายังไม่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่จุดยืนของมารา ปาตานี ชัดเจนว่า ตราบที่ข้อเรียกร้องของมารา ปาตานี 3 ข้อ ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย (หมายถึง 1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล  2.ยอมรับองค์กร มารา ปาตานี ว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นองค์กรที่อยู่บนโต๊ะเจรจา 3.ให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของ มารา ปาตานี จำนวน 15 คน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม) จะไม่มีการเจรจาในเรื่องอื่น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ เรายังไม่ได้ไปสู่ขั้นตอนที่จะตัดสินใจว่าเราจะเจรจาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ นั่นก็เป็นกฎหนึ่ง แต่เรายังไม่ไปถึงขั้นนั้น เรามีความจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องกฎพื้นฐานอย่าง TOR หลังจากนั้นเราถึงจะตัดสินใจในกฎสำหรับการพูดคุยในอนาคต อย่างเช่น สิ่งใดบ้างที่เราจะพูดถึง และสิ่งใดบ้างที่จะขยายความ แต่เรายังอยู่ห่างไกลจากสิ่งนี้มาก ดังนั้น หลังจากขอบเขตการเจรจาหรือ TOR ได้รับความเห็นชอบ หลังจากนั้นเราจึงจะพูดคุยถึงทางออกทางการเมืองต่อความขัดแย้งนี้

ผมขอเรียกร้องต่อพวกท่านว่าอย่าเพิ่งอยู่ในความรีบเร่ง และให้ความไว้วางใจของพวกท่านมายังเพื่อนของเราในมารา ปาตานี หากเราสามารถดำเนินการเจรจาต่อไปได้ พวกเราก็จะไม่ทำให้พวกท่านผิดหวัง" แถลงการณ์ของกัสตูรี ระบุ

อนึ่ง มีคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ด้วย โดย พล.ท.อักษรา กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินการต่อไป และยังคงอยู่ในกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระยะของการสร้างความไว้วางใจที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ได้หยุดชะงักแบบที่สื่อมวลชนบางสำนักและนักวิเคราะห์บางคนเข้าใจ

ส่วน พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุย ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น และปรับย้ายตามวาระ ทั้งนี้หัวหน้าคณะพูดคุยก็ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับผู้แทนส่วนราชการอื่น ๆ ที่ส่งมาร่วมเป็นคณะพูดคุยรวม 8 หน่วยงาน และในห้วงนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนตามวาระกันหลายคน ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามปกติ และเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาคณะได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B แล้ว โดยตนได้ฝากความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี และขอบคุณที่ทุกฝ่ายยังคงร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ต่อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท