Skip to main content
sharethis

รายงานร้อนจากงานThailand Update 2016 ที่ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นักวิชาการไทยและต่างประเทศ รายงานผลการศึกษาด้าน สื่อ โซเชียลมีเดีย กฎหมาย เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่พลาดไม่ได้ก็คือการทำประชามติรัฐธรรมนูญของไทยในช่วงเหตุการณ์หลังรัฐประหาร คสช.

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Thailand Update 2016 ซึ่งในงานนี้ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศไทยในปัจจุบันให้กับผู้ฟังที่มีทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปในนครนิวยอร์คและมลรัฐใกล้เคียงที่สนใจเรื่องประเทศไทยและเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า เนื้อหาการอภิปรายในงานนี้มีความเกี่ยวข้องเชี่อมโยงและเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยในในมิติต่างๆเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงทำการสรุปใจความสำคัญของการนำเสนอในแต่ละหัวข้อและเผยแพร่ให้กับผู้อ่านหลายๆท่านที่อยู่ในประเทศไทยได้รับรู้ถึงทรรศนะของนักวิชาการต่างประเทศต่อทิศทางการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยการนำเสนอในงานนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามหัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรกคือ สื่อและการเมืองไทย หัวข้อที่สองคือ กฎหมายและสังคม ส่วนหัวข้อสุดท้ายคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ


1. สื่อและการเมืองไทย

เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขานิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยยูท่าห์ ได้เปิดงานด้วยการนำเสนอบทวิเคราะห์ “ชีวิตภายใต้ระบอบทหาร: ภาพสะท้อนพลเมืองผู้ไม่จำนนและการกดทับ” เพ็ญจันทร์ได้ทำการสำรวจกิจกรรมการเคลื่อนไหว (activism) ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 โดยมองว่ามีลักษณะสำคัญอยู่สี่ประการ 1) ปราศจากถ้อยแถลงทางการ 2) ประกอบขึ้นผ่านการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ 3) ระดมพลังผ่านโซเซียลมีเดีย 4) การประท้วงแบบแตกหน่อ (rhizomatic protests)[1] ลักษณะเหล่านี้สะท้อนผ่านตัวอย่างกิจกรรมทางการเมืองสำคัญไม่ว่าจะเป็น การประท้วงต่อต้านที่เกิดขึ้นทันทีหลังการรัฐประหาร  การชุมนุมของนักศึกษาเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร และการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ เธอได้อธิบายว่า การประท้วงดังกล่าวมีลักษณะลื่นไหลและปรับตัวเพื่อล้อไปกับอำนาจที่พยายามสกัดกั้นและกดทับ


เนื่องจากสื่อโซเซียลมีเดียได้แปรสภาพเป็นเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่สำคัญและเอื้อต่อการเคลื่อนไหวแนวระนาบ รัฐบาลจึงตอบโต้ด้วยความพยายามรวมศูนย์การเผยแพร่ข้อมูลและสถาปนาการสื่อสารแบบทางเดียวจากบนสู่ล่าง (analog mode) ดังจะเห็นได้จากนโยบาย “ซิงเกิ้ลเกทเวย์”  อย่างไรก็ดี ความพยายามดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ เพราะคนไทยมีความคุ้นเคยกับการแบ่งปันข้อมูลทางเฟสบุ้คและยูทูป พวกเขากลายเป็นทั้งผู้ผลิตสื่อและรับส่งข่าวสารแบบหลายทาง นโยบาย “ซิงเกิ้ลเกทเวย์” จึงเผชิญกับแรงต้านนานารูปแบบ เช่น การรวบรวมรายชื่อคัดค้านกว่าแสนห้าหมื่นรายชื่อผ่าน change.org หรือเมื่อเหล่า “แฮคเกอร์” ร่วมกันกด F5 เพื่อโจมตีเว็ปไซด์รัฐบาลในเวลาเดียวกัน เพ็ญจันทร์ยังชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของ อาณาจักรแห่งสัญญะ (meme-topia) ในโลกโซเซียลมีเดียของไทย โดยภาพมีมบุคคลหรือสิ่งของได้ถูกหยิบฉวยไปใช้ในลักษณะที่สะท้อนการเสียดสีและต่อต้านรัฐบาลทหาร ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างล่าสุด เมื่อ “ขัน” กลายเป็น “มีม” การเมือง



นอกจากปริมณฑลใหม่ในการต่อต้าน เรายังเห็นกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวมากขึ้น นอกจากนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้วยังมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาเช่น ณัฐนันท์ วรินทรเวช และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นต้น กระนั้น ทางรัฐบาลทหารกลับตอบโต้ด้วยการกล่าวหาว่ากลุ่มประชากรหน้าใหม่เหล่านี้ว่า มีองค์กรทางการเมืองหรือกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสะท้อนการมองข้ามสภาวะความสัมพันธ์และการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม อีกทั้งยังละเลยต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการ “แตกหน่อ” แพร่กระจายข้อมูลข่าวสารในลักษณะไร้หัวไร้ราก เพ็ญจันทร์ปิดท้ายด้วยคำพูดของ แกรห์ม ฮาร์แมน (Graham Harman) ที่ว่า “แม้พวกเราจะเปราะบาง แต่ผู้มีอำนาจก็เช่นกัน (We may be fragile, but so are the powerful).”

หลังจากปัญหาในประเด็นเรื่องสื่อได้รับการนำเสนอ ดันแคน แมคคาโก (Duncan McCargo) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้ซึ่งเป็นคนขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดงาน Thailand Update ทุกๆปีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ทางการเมือง “ทางออกหรือทางตัน? ความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญไทย” เขาได้เริ่มการนำเสนอด้วยการเกริ่นนำถึงประเด็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญไทยในสามทศวรรษที่ผ่านมาว่า ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกร่างขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมุ่งเน้นไปที่การกีดกันอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ออกจากการเมืองไทย ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ที่ถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มนักกฎหมายนิยมเจ้า แม้มีเนื้อหากำกวมในการที่จะให้เพิ่มอำนาจกับ “ประชาชน” ที่มี “ศีลธรรม” แต่ก็ดูจะมีอุดมคติเสรีนิยมแฝงอยู่บ้าง เมื่อเทียบกับร่างฯฉบับปี 2559 ที่กำลังจะมีการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ด้วยเพราะร่างฯฉบับล่าสุดนี้กลับมีแรงผลักดันที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะยืดเวลาการครองอำนาจทางการเมืองของกองทัพออกไปให้นานที่สุด และพาประเทศไทยย้อนกลับไปในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ผลที่ตามมาก็คือ  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดูจะไม่เป็นที่ต้องการของทุกฝ่าย ยกเว้นตัวคณะรัฐประหารเองที่ดูเหมือนจะอยากครองอำนาจผ่านกระบวนการ “ปฏิรูปการเมือง” ออกไปอย่างน้อยอีกยี่สิบปี ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่รับร่างฯ ฝ่ายที่เคยสนับสนุนกองทัพให้ออกมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ก็ดูเหมือนจะเริ่มหมดความอดทนกับรัฐบาลทหารที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะภัยแล้ง และโครงการเมกะโปรเจ็ค ส่วนโครงการ “คืนความสุขและความสงบ” ให้คนไทยนับวันก็ถูกมองว่าเป็นแค่ลมปากของผู้นำคณะรัฐประหาร และล่าสุด กระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังออกวิพากษ์วิจารณ์ร่างฯฉบับนี้

ด้วยเหตุนี้เอง แมคคาโก จึงมองว่า เป็นการยากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 จะเดินตามรอยร่างฯฉบับปี 2550 ซึ่งผ่านการประชามติด้วยคะแนนเฉียดฉิว เพราะในคราวนี้แนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่จะลงคะแนนไม่รับร่างฯในการทำประชามติที่กำลังจะมาถึง

แมคคาโก ปิดท้ายการวิเคราะห์ ด้วยการคาดการณ์ว่า หากผลของการลงประชามติในเดือนสิงหาคมนี้คือ การที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาโดยคณะรัฐประหาร การเมืองไทยจะเผชิญจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง เพราะความชอบธรรมของกองทัพในการครองอำนาจทางการเมืองจะถูกสั่นคลอน โดยเขาได้ยกตัวอย่างการทำประชามติครั้งสำคัญในโลก ไม่ว่าจะเป็น กรณีการแยกตัวเป็นอิสระของสก๊อตแลนด์จากสหราชอาณาจักรในปี 2557, การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของนอร์เวย์ ในปี 2515, การแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นควิเบคจากแคนาดาในปี 2538, หรือกระทั่งล่าสุด การแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปที่จะมีการทำประชามติในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งในทุกกรณีที่กล่าวมา ผลประชามติได้ทำให้ผู้นำของฝ่ายที่แพ้ในการรณรงค์ประชามติต้องลาออกจากตำแหน่ง และแน่นอนว่า เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็จะทำเช่นเดียวกันหากฝ่ายของเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แม้ว่า แมคคาโก จะยอมรับว่าการเมืองไทยนั้นยังห่างไกลกับการเมืองในสหราชอาณาจักร กระนั้นเขาก็มั่นใจว่าผลของการไม่รับร่างฯของประชาชนคนไทยจะทำให้คณะรัฐประหารได้รู้เสียทีว่า ตัวเองนั้นไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล หากแต่เป็นผู้ปกครองที่แสนจะงุ่มง่ามและมัวแต่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อกระแสความขุ่นข้องหมองใจของคนในประเทศที่มีต่อระบอบการปกครองของตน


2. กฎหมายและสังคม

ในหัวข้อนี้ แฟรงค์ มังเกอร์ (Frank Munger) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมายแห่งนิวยอร์ค ได้เปิดประเด็นด้วยการนำเสนอบทวิเคราะห์ “นิติรัฐภายใต้ คสช., ผู้ใช้กฎหมายเพื่อหลักสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญนิยมที่มาจากเบื้องล่าง” โดยมังเกอร์ได้กล่าวว่า ในประเทศไทยยังมีนักกฎหมายหลายๆคนที่เป็นคนธรรมดาสามัญที่ได้ใช้กฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ในด้านสิทธิมนุษยชนแก่คนที่ด้อยโอกาสและถูกกีดกันทางการเมือง แม้ว่านักฏหมายเหล่านี้จะมีความพยายามผลักดันให้ระบบกฎหมายไทยเปลี่ยนแปลงเป็นระบบนิติรัฐเหมือนดังหลายๆประเทศในโลก ปัญหาที่พวกเขาประสบก็คือการขาดแคลนความตั้งใจของภาคการเมืองที่จะสถาปนาระบบนิติรัฐในไทย ซ้ำร้ายการรัฐประหารในปี 2549 และล่าสุดในปี 2557 ได้ทำร้ายการพัฒนาระบบนิติรัฐในไทยเป็นอย่างมาก มังเกอร์ยังได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รัฐประหารทั้งสองครั้งยังก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ในหมู่นักกฎหมายด้วยกัน กล่าวคือ ในขณะที่นักกฎหมายรุ่นเก่าที่เป็น “คนเดือนตุลา” มีแนวโน้มจะสนับสนุนรัฐประหาร นักกฎหมายรุ่นใหม่หลายๆคนกลับต่อต้านอำนาจนอกระบบที่ว่า และเป็นคนกลุ่มหลังนี่เองที่เขานับถือในอุดมการณ์ทางการเมืองและสนใจศึกษา

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์นักกฎหมายกลุ่มนี้ มังเกอร์พบว่า แม้ว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนสักบาทเลยก็ตาม พวกเขากลับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับคนยากอย่างไม่ย่อท้อแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย ปัญหาใหญ่ก็คือคณะรัฐประหารกลับทำให้งานของพวกเขายากลำบากขึ้น บ้างก็โดนสอดส่องและนำไป “ปรับทัศนคติ” บ้างก็โดนยึดเอกสารหรือหลักฐานคดีที่ทหารคุกคามประชาชน มังเกอร์มองว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลไทยควรหันมาให้ความสนใจและสนับสนุนนักกฎหมายเหล่านี้  เพราะนอกจากพวกเขาจะช่วยเหลือด้านมนุษยชนแก่คนด้อยโอกาสแล้ว พวกเขายังผลักดันให้เกิดการประสานงานกับองค์กรกฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็ล้วนแต่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีระบบนิติรัฐทั้งสิ้น ปัญหาสำคัญก็คือ รัฐบาลไทยยังละเลยเรื่องพวกนี้ และกระบวนการสร้างระบบนิติรัฐจากภาคประชาสังคมเบื้องล่างจะพบอุปสรรคต่อไป ตราบใดที่ตัวรัฐบาลทหารเองนั้นยังไม่คิดด้วยซ้ำว่าอยากจะแบ่งปันอำนาจให้กับใคร

ผู้นำเสนอในหัวข้อเดียวกันนี้อีกท่านก็คือ ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) นักวิจัยประจำภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย โดยเธอได้นำเสนองาน “การหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร กับระบบยุติธรรมที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล”  เธอเปิดประเด็นด้วยการพาผู้ฟังในงานไปรู้จักกับกรณีอันอื้อฉาวของระบบยุติธรรมไทย นั่นก็คือ กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้หายตัวไปอย่างลึกลับในปี 2547 แม้ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินในสองปีต่อมาให้ตำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปในกรณีดังกล่าวต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินดังกล่าวในปี 2554 โดยอ้างถึงการที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิดกับจำเลย ล่าสุดคำตัดสินของศาลฎีกาในปลายปี 2558 เป็นผลให้ไม่มีตำรวจคนใดได้รับการลงโทษกับการหายตัวไปของทนายสมชาย แม้ฮาเบอร์คอร์นจะยอมรับว่า ในด้านหนึ่ง คดีของทนายสมชายเป็นหมุดหมายสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขึ้นศาลในกรณีของการที่บุคคลสูญหาย กระนั้นก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งคดีนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆของระบบยุติธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น การไม่ประสานงานกันของหน่วยงานภาครัฐ การข่มขู่พยาน การห้ามไม่ให้ญาติของผู้สูญหายเป็นโจทก์ร่วมในคดี การขาดการจัดการหลักฐานทางนิติเวชที่เป็นระบบ และที่สำคัญที่สุด คือความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่สุดท้ายปล่อยให้คนผิดลอยนวล

ฮาเบอร์คอร์นยังได้ชี้ให้เห็นว่า กรณีของทนายสมชายยังได้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของระบบยุติธรรมไทยที่ปล่อยให้คนผิดไม่ต้องรับโทษ นี่เป็นปัญหาที่สำคัญมากของรัฐไทย ด้วยเพราะมันนำไปสู่การกำหนดบทบาทของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง กล่าวคือ ฝ่ายปกครองทั้งหลายรู้ดีว่า ตัวเองสามารถใช้ความรุนแรงกระทำกับประชาชนได้ทุกเมื่อ เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจสอบ ส่วนประชาชนผู้ถูกปกครองก็รู้ดีเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถ ทำร้าย ทรมาน อุ้มหาย หรือ ฆ่า พวกตนโดยไม่ต้องได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ เธอมองว่านี่คือประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมความเป็นรัฐไทยที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตรวจสอบและนำเอาเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับฮาเบอร์คอร์นแล้ว ตราบใดที่การทำให้ประชาชนหายตัวไปโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม กรณีของทนายสมชายย่อมไม่ใช่กรณีสุดท้ายอย่างแน่นอนของระบบยุติธรรมไทยที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล

ฮาเบอร์คอร์นได้ทิ้งท้ายการนำเสนอด้วยบทวิเคราะห์ถึงปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเธอมองว่า คณะรัฐประหารชุดนี้ไม่เพียงแต่จะละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนและยกเลิกกฏหมายที่รับรองสิทธิดังกล่าวเพราะต้องการปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง หากแต่ทหารมักจะ “อุ้ม” คนที่เห็นต่างหลายๆคนไปสอบสวนที่ค่ายทหาร นอกจากนั้นยังมีหลักฐานปรากฏอีกว่า ผู้ต้องหาในหลายๆคดีกลับถูกทรมานและทำร้ายร่างกายทั้งๆที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารแท้ๆ

ฮาเบอร์คอร์น เชื่อว่า ในอนาคตประเทศไทยจำต้องมีกฎหมายที่ระบุให้การทรมานและการทำให้คนหายตัวไปเป็นอาชญากรรมที่ต้องมีการนำผู้กระทำผิดมาลงทัณฑ์ แต่กฎหมายประเภทนี้คงยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำรัฐบาลทหารชุดนี้ เนื่องจากมันจะกลับมาทำร้ายพวกเขาเอง ดังนั้นคงต้องรอให้ระบบเผด็จการทหารนี้ล่มสลายไปและให้การเมืองไทยเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งกว่า ปัญหาการ “อุ้มหาย-อุ้มฆ่า” จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง


3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ประจำสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการสาธารณะ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้นำเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยภายใต้การชี้นำของรัฐบาลทหาร โดยมองว่าไทยกำลังเผชิญกับสภาวะ “ถูกลดทอนภาพลักษณ์และบทบาท” ในเวทีระหว่างประเทศ

ในช่วงสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในการริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการเล่นบทบาทเป็นตัวกลางเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทั้งระหว่างและภายในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ไทยยังเป็นพันมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงและบทบาทของไทยข้างต้นได้เสื่อมถอยลงเรื่อยๆนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้งนี้ก็เพราะประชาธิปไตยได้กลายเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองสากล คณะรัฐประหารจึงเผชิญกับกระแสกดดันจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและยุโรป พงศ์พิสุทธิ์มองว่ารัฐบาลทหารจำเป็นต้องดิ้นรนหาแหล่งความชอบธรรมและการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศใหม่ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงกลายเป็นที่พึ่งแหล่งใหม่และทางออกวิกฤตความชอบธรรมในสายตารัฐบาลทหารอย่างไม่ต้องสงสัย

 แนวทางนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญสะท้อนผ่านการเปรียบเทียบถ้อยแถลงของผู้นำทหารไทยต่อสองมหาอำนาจ ด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบโต้สหรัฐด้วยการประกาศกร้าวว่าอย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลก มันทำไม่ได้” อีกด้านหนึ่ง (อดีต) รัฐมนตรีระหว่างประเทศ ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรได้กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ว่า “เป็นคนน่ารักและสุภาพ” หากตนเป็นผู้หญิงจะต้องตกหลุมรักเจ้าหน้าที่จีนระดับสูงผู้นี้เป็นแน่ ถ้อยแถลงดังกล่าวถือว่าผิดธรรมเนียมการทูตพิ้นฐานว่าด้วยวิถีปฏิบัติระหว่างรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

พงศ์พิสุทธิ์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากทิศทางนโยบายต่างประเทศข้างต้นดังต่อไปนี้

1. จีนกลายเป็นรัฐอุปถัมภ์ใหม่ที่ให้ความชอบธรรมแก่ไทย ในขณะที่แนวนโยบายไทยต้องยอมผ่อนปรนและถูกชี้นำโดยผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน ความสัมพันธ์ข้างต้นมีลักษณะไม่เท่าเทียมกัน

2. ไทยได้สูญเสียความดึงดูดทางยุทธศาสตร์จากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯได้หันไปกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนามแทน จริงอยู่สหรัฐฯไม่ใช่ที่พึ่งอันขาดไม่ได้ของไทย แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ ไทยจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งการมีคู่เจรจาที่หลากหลาย

3. ไทยสูญเสียบทบาทผู้นำภูมิภาคอาเซียนให้แก่จีน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โครงการกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างซึ่งริเริ่มและผลักดันโดยจีน โครงการดังกล่าวมีลักษณะทับซ้อนกับบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่มีอยู่เดิม อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจให้จีนสามารถต่อรองและกำหนดแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำมากขึ้น

4. ตำแหน่งแห่งที่โดยรวมของไทยในสายตาประเทศอาเซียนเป็นที่กังขามากขึ้น แต่เดิมไทยมีจุดแข็งในแง่ของความยืดหยุ่นและการรักษาสมดุลย์ทางการทูต การโอนอ่อนต่อจีนกระทบภาพลักษณ์ดังกล่าว และจะทำลายเอกภาพของประเทศอาเซียนในระยะยาว กล่าวคือ กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มจะแตกออกเป็นสองกลุ่ม อันได้แก่ รัฐในภาคพื้นทวีปที่เป็นบริวารจีน และรัฐหมู่เกาะบริวารสหรัฐ

5. ไทยมิใช่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยในสายตาชาวโลกอีกต่อไป  ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหารยังมีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่เอื้อต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีน อาทิ การส่งตัวผู้อพยพอุยกูร์และผู้ลี้ภัยการเมืองกลับจีน ผลที่ตามมาก็คือ ไทยถูกประณามจากองค์กรระหว่างประเทศ และเผชิญกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในหลายประเทศ เช่น การโจมตีสถานทูตไทยที่ตุรกี เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว การที่รัฐบาลทหารไทยได้ปรับนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่กระชับความสัมพันธ์และอ่อนโอนต่อผลประโยชน์ของจีนนำไปสู่การเสื่อมถอยของภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกโดยรวม ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงของไทยเพื่อแลกกับการยอมรับและให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลทหารของจีน

พงศ์พิสุทธิ์ได้เสนอปิดท้ายว่า การกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเปิดทางให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่ตรวจสอบได้และมีความสมดุลย์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ปิดท้ายงานวันนี้ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากโรงเรียนนโยบายสากลและการวางแผน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ยังได้นำเสนอข้อมูลที่ช่วยสะท้อนและคาดการณ์ความเป็นไปทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย: ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคต” โดยกฤษฎ์เลิศ ได้เกริ่นไว้ว่า ความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมักถูกอธิบายว่า เป็นผลมาจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมุมมองเช่นนี้ละเลยปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ แนวโน้มทางเศรษฐกิจในบริบทระดับมหภาคของไทยเองได้เผชิญกับความท้าทายของการลดลงของอัตราการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุควิกฤติการต้มยำกุ้งในปี 2540 กฤษฏ์เลิศวิเคราะห์ว่า เราสามารถคาดการสภาพเศรษฐกิจล่วงหน้าในระยะกลางได้ด้วยองค์ประกอบหลักๆ สี่ด้านด้วยกัน

ในส่วนแรก ภาพรวมของการบริโภคภายในประเทศ ที่อ่อนแอลงเพราะปัจจัยสำคัญสามอย่าง ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น, รายได้เฉลี่ยที่ต่ำ, และภัยแล้ง โดยปัจจัยที่มีแนวโน้มที่น่ากังวลต่อการบริโภคภายในประเทศ ของไทยก็คือ การที่หนี้ครัวเรือนขึ้นสูงถึงระดับเกินขีด 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่สเปนเข้าสู่วิกฤตทางการเงินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

องค์ประกอบที่สอง การลงทุนภายในประเทศที่ก็อ่อนตัวลงเพราะ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การอ่อนตัวของความต้องการในตลาดทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ และการที่นักลงทุนหันเหไปลงทุนนอกประเทศ โดยข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนนี้คือการเปรียบเทียบเงินลงทุนจากนอกประเทศกับที่ครั้งหนึ่งเคยร่วงต่ำอย่างรวดเร็วตอนช่วงปี 2555-2556 หลังการเกิดภัยน้ำท่วม แต่กลับสามารถพลิกฟื้นตัวกลับขึ้นมาสู่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน แนวโน้มการร่วงตัวหลังปัญหาทางการเมืองและรัฐประหารครั้งล่าสุด ยังไม่เห็นภาพของการฟื้นตัวและดำเนินอยู่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า

องค์ประกอบที่สาม การลงทุนในโครงการของรัฐบาล ที่มีปัจจัยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยงบชดเชยและมอบเงินกู้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการให้เช่าสัมปทานคลื่นความถี่ในระบบ 4G ในกรณีของค่าสัมปทานนี้ กฤษฎ์เลิศใช้คำว่าลมหนุน (windfalls) ซึ่งเข้ามาช่วยพยุงให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมดี แม้ว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะตกลงมากในช่วงปีที่ผ่านมากลับยังสามารถพอทรงตัวอยู่ได้ เพราะตัวเลขการลงทุนจากภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ แต่แรงลมจากเงินสัมปทานระบบ 4G ก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งรายได้ของรัฐบาลจากยอดการเก็บภาษีนั้นอ่อนแอลงมาก บวกกับปัญหาที่ภาครัฐยังต้องเผชิญก็คือการลงทุนในระบบโครงสร้างที่ช้า และการล้นของเงินทุนเข้าสู่ภาคเอกชนที่อ่อนแอ

องค์ประกอบด้านที่สี่ ภาคการส่งออกส่งออกไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ที่อ่อนแอลงในภาพรวม แต่รายได้การส่งออกของไทยกลับสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการก้าวกระโดดอย่างเหลือเชื่อในทางตัวเลขนี้ เกิดจากการส่งออกเพชรพลอย, เครื่องบิน, และหัวรถจักรรถไฟ ที่ต่างก็ไม่ใช่สินค้าที่ผลิตได้ในไทยแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นรายการส่งออกเหล่านี้จึงไม่ใช่สินค้าที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ในขณะที่ด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแรงขึ้น และดูจะเป็นที่พึ่งพาที่ยั่งยืนได้ของเศรษฐกิจไทย ก็เกิดจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น

แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่านักท่องเที่ยวจาก ยุโรปและอเมริกาเข้ามาลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเกิดจากปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องความยุติธรรมในอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยว การวางระเบิด และการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกต่อบรรยากาศสภาวะการเมืองไทย

กฤษฎ์เลิศปิดท้ายการนำเสนอว่า ในระยะยาว ความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไทยจำเป็นต้องร่วมกันหาคำตอบ คือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติทางด้านสังคมและการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างที่จะเห็นได้จากกราฟด้านบนที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าสัดส่วนของแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมคือ 39% แต่ภาคเกษตรกรรมกลับทำรายได้เพียง 14% ซึ่งแทบเป็นภาพกลับสมบูรณ์เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม ที่แม้จะมีอัตราการจ้างงานเพียง 14% แต่กลับทำรายได้ถึง 35%

ดังนั้น ในระยะยาวประเทศไทยจะต้องวางนโยบายด้านการศึกษาที่พัฒนาบุคคลากรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตอบรับกับโจทย์ที่เปลี่ยนไปนี้ และนโยบายระยะกลางที่จะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในทิศทางใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น

 

เชิงอรรถ

 

[1] Rhizome เป็นแนวคิดของเดอเลซและกัตตารี คำแปลภาษาไทยนี้ผู้แปลใช้คำนิยามของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ซึ่งมีความหมายว่า “หน่อหรือแง่ง คือการก่อตัวของพืชหัวใต้ดิน” เมื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะการประท้วง เป็นการเปรียบเปรยถึงรูปแบบการต่อต้านที่มี “การผลิตซ้ำผ่านการต่อรองอย่างต่อเนื่องกับบริบทที่ดำรงอยู่ ปรับตัวอย่างไม่หยุดหย่อนผ่านการลองผิดลองถูก” ดูปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, Becoming Red/ กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:  เชียงใหม่, 2556), 39.


ที่มาภาพ: 1-4 ภาพสไลด์ประกอบการนำเสนอของเพ็ญจันทร์ 5. จากกล้องถ่ายรูปส่วนตัว 6. New York Southeast Asia Network Facebook 7.จากกล้องถ่ายรูปส่วนตัว 8. ภาพสไลด์ประกอบการนำเสนอของกฤษฎ์เลิศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net