Skip to main content
sharethis
6 ก.พ. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดงาน "ราชดำเนินเสวนา" หัวข้อ“กฤษฎีกาตีความทำลายระบบหลักประกัน ? ผลกระทบและทางออก” โดยนายศุมล ศรีสุขวัฒนา ที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของ ปสช. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ามีการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผิดพลาด ผิดกฎหมาย ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการตีความหลายประการ เช่น ประเด็นสามารถจ่ายเงินช่วยหลือชดเชยผู้ให้บริการได้หรือไม่ การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ให้ไปแต่ละโรงพยาบาลใช้เรื่องอื่นๆ ได้หรือไม่ สามารถนำงบประมาณไปให้มูลนิธิหรือองค์กร เช่น ยาบางประเภทที่มีราคาสูงได้หรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาจริงๆ อาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะเกิดความไม่ยั่งยืน ตนคิดว่าทางออกที่ดีคือการวางระบบ วิกฤตินี้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจบริบท ทั้งคณะกรรมการสปสช.ต้องทบทวนกระบวนการปัญหาที่ผ่านมา และในส่วนของผู้ตรวจสอบนั้น อยากให้ตระหนักในภารกิจที่จะให้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลการใช้งบประมาณของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุด
 
ด้านน.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม กฎหมายถูกร่างขึ้นมาโดยเจตนารมย์ ให้ทุกคนเข้าถึงการบริการสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเอาเงินกองทุนไปจ่ายให้กับบุคลากรที่ติดวัณโรคหรืออุบัติเหตุ เพราะกฎหมายหลักประกันสุขภาพไม่ชัดเจน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่าเพิ่งใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะไม่มีประโยชน์ จึงอยากให้เปิดโอกาสคณะกรรมการสปสช.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะดีกว่า“
 
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาวนอยู่กับความเข้าใจการตีความกฎหมาย การบริหารงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และหลักพื้นฐานเบื้องต้นต้องใช้อำนาจอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะทางออกอยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการสปสช. เหตุที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตีความมา เนื่องจาก คณะกรรมการสปสช.ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน ตนเห็นว่าการตีความนั้นเป็นการวางแนวทางว่าสปสช.จะใช้จ่ายเงินต้องคำนึงถึงกฎหมาย ไม่รั่วไหล และต้องชี้แจงให้ได้ว่าจำเป็นต่อการบริการสาธารณสุขอย่างไร ถ้าอยากให้เรื่องนี้จบ ต้องบริหารงานบนหลักพื้นฐานของกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความไม่ได้ปิดประตูตาย ไม่มุ่งไปทำให้ระบบหลักประกันถูกทำลาย แต่อยากให้ระบบนั้นตรวจสอบตัวเอง วางวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นบอร์ด สปสช.และฝ่ายบริหารหันหน้าข้าหากัน ก็สามารถหาทางออกได้
 
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นตัวใหญ่สุด แต่การบริหารจัดการบกพร่อง ตนไม่เชื่อว่าสปสช.มีการทุจริต แต่รั่วไหลบ้างเป็นธรรมดา แต่การตีความนี้จะเป็นการเชื่อมโยงทางความคิดในผู้บริหารและสายปฏิบัติชัดเจน และควบคุมในระบบได้ดียิ่งขึ้น เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นการใช้มาตรา 44 จะทำให้เสียโอกาสเรียนรู้จากข้อเท็จจริง รวมถึงเสียโอกาสการจัดการหลักบัญชีต้นทุน หลักการแพทย์ หลักการตีความกฎหมายด้านการแพทย์ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net