Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ้านลีซู สันลมจอยอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับจากปากซอยอุโมงค์หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียง 2-3 กิโล เป็นหมู่บ้านที่ยังคงสภาพบ้านแบบชาวลีซูที่อยู่บนดอย บ้านไม้ไผ่ หลังคามุงจาก รอบ ๆ บ้านยังมีการเลี้ยงหมูดำและไก่บ้าน ใช้ไม้ฟืน ดื่มชากลางลานดิน เป็นต้น เรียกได้ว่าบ้านลีซู สันลมจอยเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองเชียงใหม่ และอยู่ร่วมกับคนเมืองอย่างมีมิติน่าสนใจ ชาวลีซูสันลมจอยสามารถเปลี่ยนความเข้าใจของคนทั่วไปว่าลีซูต้องเป็น “ชาวเขา ชาวดอย” ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะลีซูสันลมจอย ได้เปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “ชาวเราและเป็นชาวเมือง” ไม่ต่างจากชาวบ้านสันลมจอยที่บางส่วนก็อพยพโยกย้ายมาจากชนบทรอบนอกของเมืองเชียงใหม่ เช่น สันกำแพง สันป่าตอง หรือบางส่วนก็อพยพมาไกลจากจังหวัดอื่น ๆ เช่น แม่ฮ่องสอน ลำปาง สอด เป็นต้น ด้วยเหตุผลคล้ายเคียงกันคือในเมืองทำมาหากินง่าย ถ้าอยู่ที่บ้านเดิมปลูกข้าวไม่พอกิน มีแต่จะอดตาย และคงส่งลูกเรียนหนังสือสูง ๆ ไม่ได้

ฉันและน้อง ๆ นักศึกษาที่มาฝึกงานได้เข้าไปหมู่บ้านลีซู สันลมจอยหลังงานปีใหม่ของชาวลีซูเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนกลางวันมีชาวบ้านอยู่เพียงไม่กี่หลังที่ยังอยู่บ้าน เพราะส่วนใหญ่ออกไปทำงาน แต่มีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่ยังคงมีคนอยู่ในบ้าน เพราะบ้านนี้มีอาชีพขายของตอนกลางคืนหลังตลาดโลตัส ใกล้เทศบาลตำบลสุเทพ สมาชิกครอบครัวนี้น่ารักมาก  พอเราไปถึงก็ชวนเราเข้าไปในบ้าน พร้อมเอาน้ำมาเสิร์ฟ และเชิญชวนให้เรากินข้าวปุ๊กทอด (แป้งคลุกงาทอด) ซึ่งเราอาจจะไม่ได้เจอการต้อนรับคนแปลกหน้าแบบนี้ในเมืองใหญ่เท่าไรนัก นี่เป็นความประทับใจแรก ๆ สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาที่มาจากต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม พอเราบอกว่าอยากรู้จักหมู่บ้านนี้มากขึ้น สมาชิกในครอบครัวก็แนะนำให้เราไปคุยกับคนลีซูที่มาอยู่เป็นคนแรกของหมู่บ้านนี้ ลุงอนันต์ สีวลี ที่ย้ายมาจากอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอนแทน

จากการคุยกับลุงอนันต์ ทำให้เราเห็นภาพของบ้านลีซูสันลมจอยชัดเจนขึ้น และไม่แปลกใจว่าทำไมชาวลีซูที่บ้านนี้ถึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสันลมจอย กลายเป็นที่ยอมรับของคนเมืองในปัจจุบัน

ลุงอนันต์เล่าว่าเป็นคนแรก ๆ ที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านสันลมจอย ประมาณปี 2532 ย้ายมาจากอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมาหางานทำในเมืองเชียงใหม่ โดยตอนแรกเข้ามาได้มาซื้อที่ดินจากคนเมือง ตอนนั้นบ้านสันลมจอยยังไม่ได้แยกจากบ้านโป่งน้อย  เพราะความจริงตนเองมาทำงานในเมืองหลายปีก่อนจะซื้อบ้าน และเมื่อมาทำงานจริงจังก็เริ่มซื้อบ้าน และที่ดินราคาไม่แพงเกินไปพอซื้อได้ในขณะนั้นก็เป็นแถวสันลมจอย ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลสุเทพในปัจจุบัน หลังจากตนย้ายมาอยู่แล้วก็เริ่มมีชาวลีซู ทั้งที่เป็นญาติพี่น้อง และไม่ได้เป็นบ้างเริ่มย้ายมาอยู่ตาม อพยพมาจากหลายจังหวัด มีทั้งแม่ฮ่องสอน เชียงราย แม่แตง  แม่สอด และก็เริ่มมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น อาข่า และเย้าบ้าง โดยกลุ่มลีซูจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีทั้งสิ้น 36 หลังคาเรือน อาข่า 10 หลังคาเรือน เย้า 2-3 ครัวเรือนแต่ไม่ได้อาศัยรวมกัน

ตอนเริ่มแรกที่เข้ามาอยู่นั้น สภาพแถวนี้ยังเป็นป่า ไม่มีน้ำและไฟฟ้า จนกระทั่งเมืองเริ่มขยายตัวเพราะอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้การพัฒนาในซอยอุโมงค์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และลามมาถึงหมู่บ้านร่ำเปิง โป่งน้อย เมื่อคนเริ่มมาอยู่มากขึ้น มีการแยกหมู่บ้านสันลมจอยออกจากโป่งน้อยในปี 2536 และต่อมาก็เริ่มมีเลขที่บ้าน และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเริ่มตามมา และเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่างจากชาวสันลมจอยที่เป็นคนเมืองเช่นกัน

ลุงอนันต์เล่าว่าช่วงแรกที่เข้ามาอยู่บ้านสันลมจอย ความจริงความสัมพันธ์ระหว่างคนลีซู อาข่าและเย้ากับคนเมืองยังไม่ดีเท่าไร่นักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ มีการปรับตัวกันหลายครั้งกว่าจะมาถึงจุดที่คนเมืองยอมรับก็ขัดแย้งกันมาหลายครั้ง

เคยมีปัญหาทะเลาะกันด้วยเรื่องที่มาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เนื่องจากคนลีซูเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนขยายจากไม่กี่ครัวเรือน พอมาอยู่รวมกันหลายครอบครัวก็ทำให้เริ่มมีการจัดงานปีใหม่ของชาวลีซู และจุดประทัดเสียงดังมาก คนเมืองก็โวยวาย แล้วพอถึงงานฉลองลอยกระทงของคนเมือง คนเมืองก็จุดประทัดเสียงดังมาก ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอนเหมือนกัน ก็เลยมาถึงข้อตกลงว่าจะต้องมีการคุยกัน

“เขาก็คน เราก็คน เรามาอยู่ตรงนี้ เราก็เหมือนเป็นพี่น้องกัน เราไม่ได้ว่าเขาเป็นใคร เป็นเผ่าอะไร เราแค่แตกต่างทางวัฒนธรรมประเพณีเฉย ๆ ” ลุงอนันต์ บอกถึงเหตุผลที่ทำให้ทั้งคนเมือง และลีซูเปิดใจเข้าหากัน  ต่อมาการยอมรับของคนเมืองที่มีต่อคนลีซู รวมถึงชาวอาข่าที่เข้ามาอยู่ทีหลังที่มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 2555 เป็นต้นมา หมู่บ้านสันลมจอยถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 14 ชุมชน เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเริ่มมีพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ที่เป็นคนรุ่นใหม่ และมีการตั้งให้คนลีซูเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย คนลีซูที่ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ พล หรือสิทธิชัย วัชระคุณกร ถือเป็นการยอมรับบทบาทของชาวลีซูอย่างเป็นทางการมากขึ้น  

สายทอง แก้วน้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสันลมจอยที่เป็นคนเมืองเล่าว่า คนลีซูที่เข้ามาอยู่ที่สันลมจอยประกอบอาชีพหลายอย่าง ช่วงแรก ๆ ก็รับจ้างคนเมืองปลูกข้าวโพด ต่อมาก็ค้าขาย บางคนมีฐานะดีกว่าคนท้องถิ่นเสียอีก พอมีฐานะก็เริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดิน และบ้าน จนเป็นที่ยอมรับของคนเมือง โดยเฉพาะในสมัยของผู้ใหญ่บ้านคนรุ่นใหม่อย่างพ่อหลวงเอ หรือสุรเชษฐ ตาคำมา เริ่มเปิดใจกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยดึงกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว

“เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ต่างคนต่างอยู่ ช่วงปีใหม่ของชาวลีซู มีการจุดประทัดทั้งวันทั้งคืน จนหมาแมวตกใจเตลิดหาย เกิดความบาดหมางแคลงใจต่อกัน แต่ในปัจจุบันเราพูดคุยกันมากขึ้น” สายทองเล่าว่าทั้งชาวลีซู อาข่าก็เห็นความสำคัญที่ต้องทำงานเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เรื่องที่เคยบาดหมางก็หายไป และคนเมืองก็เริ่มมีความคิดที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่นคิดว่าปีใหม่ก็แค่ครั้งเดียว พออนุโลมได้ แต่จะมีการตกลงกันเช่นว่าให้จุดประทัดจนถึงเที่ยงคืนเท่านั้น เป็นต้น

เมื่อความสัมพันธ์ของชาวลีซู และคนเมืองที่อยู่มาก่อนเริ่มดีขึ้นก็ทำให้การพัฒนาชุมชนสันลมจอยนั้นโดดเด่นกว่าชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่นร่ำเปิง หรืออุโมงค์ สายทองยอมรับว่าการมีชาวลีซู อาข่า และเย้าอยู่ในชุมชนนั้น ช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้ชุมชนสันลมจอยอย่างมาก ทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น และยังเห็นว่านี่คือจุดแข็งของสันลมจอย และจะไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันไปตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ชาวลีซู หรือคนเมืองเคยใช้ชีวิตอย่างไรก็ใช้ไปตามนั้น ถ้านักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยว เมื่อเข้าบ้านลีซูก็ต้องได้กลิ่นขี้หมู ขี้ไก่เป็นปกติ

โล้ชิงช้า พิธีกรรมของชาวอาข่า ที่ถูกสร้างขึ้นเดื่อการท่องเที่ยว

วงน้ำชาบ้านลีซู

เสื้อผ้าชาวลีซูแขวนไว้รอแต่งตอนมีงาน



อุปกรณ์ทำมาหากิน​  

การอยู่ร่วมกัน ปรับความคิดเข้าหากัน ของคนเมือง และชาวลีซูสันลมจอยน่าจะเป็นจุดที่ผลประโยชน์ลงตัวกันด้วย ด้านหนึ่งชุมชนเองก็มีจุดขายที่ไม่เหมือนใคร ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวแบบฮิป ฮิป มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย มากไปกว่าความร่วมมือยังนำไปสู่การทำความรู้จักความแตกต่างระหว่างกัน การยอมรับและเคารพกันและกัน และนำไปสู่สิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย.  

 

ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net