ก่อตั้งกองทัพไตแดง SNA - เคลื่อนไหวใกล้ชายแดนพม่า-อินเดีย

ประกาศก่อตั้งกองทัพชาติพันธุ์ไตแดง SNA เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคสะกาย-รัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า ล่าสุดเกิดเหตุปะทะกับกองทัพพม่าที่เมืองชายแดนพม่า-อินเดีย โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นขณะที่มีข้อเสนอตั้งเขตปกครองตนเองของชาติพันธุ์กลุ่มเล็กในเวทีการเมืองชาติพันธุ์พม่า ทั้งตั้งรัฐไตแดง แยกจากภาคสะกาย-รัฐคะฉิ่น รวมทั้งตั้งรัฐปะโอ และรัฐว้า แยกจากพื้นที่รัฐฉาน

กองทัพไตแดง SNA (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/เพจ Shanni Nationalities Army)

กองทัพไตแดง SNA (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/เพจ Shanni Nationalities Army)

แผนที่แสดงที่ตั้งอำเภอโหมะลิง ภาคสะกาย ติดกับชายแดนพม่า-อินเดีย ใกล้เคียงกับรัฐมณีปุระ และรัฐนาคาแลนด์ (ที่มา: Google Maps)

 

31 ม.ค. 2559 ในเว็บไซต์ Taifreedom ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ระบุว่า การสู้รบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ระหว่างเวลา 12.00 น. ถึง 13.21 น. โดยกองทัพรัฐบาลจากกองพันทหารราบเบา (LIB) ที่ 369 สังกัดกองพันทหารราบเบา (LIB) ที่ 10 ที่อำเภอโหมะลิง (Homalin) ภาคสะกาย ได้โจมตีทหารไตแดง SNA ที่ชายแดนพม่า-อินเดีย เป็นครั้งแรก

Taifreedom อ้างว่า ทหารไตแดง SNA ส.อ.จายผ่อซาน เสียชีวิต 1 นาย อีก 3 นายถูกทหารรัฐบาลพม่าจับ ทหารรัฐบาลเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บหนัก 10 นาย

โดย สำนักข่าวฉาน (S.H.A.M.) รายงานในเว็บไซต์ปางโหลง ภาคภาษาอังกฤษเมื่อ 25 ม.ค. ระบุว่า มีการประกาศก่อตั้งกองทัพชนชาติไตแดง (Shanni Nationalities Army - SNA) โดยมีการประกาศในเพจ SNA ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์กองทัพไตแดง SNA ระบุว่าเป็นกลุ่มอิสระ "ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มใด" โดยอ้างว่ากองทัพไตแดงเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ไตในพื้นที่ตอนเหนือของพม่า ซึ่งมีประมาณ 300,000 คน ทั้งนี้ชาวไตแดง หรือไตแหลง หรือในภาษาพม่าคือ ชานนี (Shan-ni) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐคะฉิ่นตอนใต้ ใกล้กับเมืองโมญิง บามอ รวมทั้งในภาคสะกาย ทางตอนเหนือของพม่าด้วย

ในเว็บไซต์ปางโหลงอ้างคำให้สัมภาษณ์ของอดีตทหารไตแดงคนหนึ่งจากรัฐคะฉิ่น ซึ่งกล่าวว่า "ถ้าเสือไม่มีเขี้ยว สัตว์ก็ไม่กลัว ถ้าคนไม่มีปืน พวกเราก็ไม่ปลอดภัย เราไม่สามารถปกป้องพื้นที่ของเรา"

เขาเชื่อว่าการก่อตั้งกองทัพไตแดง SNA ดังกล่าว จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไตแดงมีบทบาทมากขึ้นในการการเมืองการเจรจาของพม่า

ขณะเดียวกัน พรรคชนชาติไตแดงเพื่อการพัฒนา (Tai-Leng Nationalities Development Party - TNDP) ซึ่งชนะการเลือกตั้งในระดับสภาประจำภาคสะกาย 1 ที่นั่ง ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ากำหนดเขตของรัฐชานนี (ไตแดง) ซึ่งกินพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย ทั้งนี้เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ และว้า ที่เรียกร้องในระหว่างการประชุมเพื่อสันติภาพแห่งสหภาพเมื่อเดือนมกราคมนี้ โดยเรียกร้องให้กำหนดเขตปกครองตนเองสำหรับชาติพันธุ์ปะโอ และว้า กินพื้นที่อยู่ภายในรัฐฉาน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ขุนทุนอู หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าหากมอบดินแดนให้กลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะทำให้ประเทศเผชิญปัญหาเหมือนยูโกสลาเวีย ในยุคหลังสงครามกลางเมืองช่วงทศวรรษที่ 1990 และสหภาพพม่าก็จะสาบสูญ

ทั้งนี้สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับจำนวนของทหารไตแดง SNA จุดยืนทางการเมือง ปฏิบัติการทางทหาร รวมทั้งข้อมูลที่ว่าใครคือผู้นำของ SNA

จากข้อมูลของสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ยังพบว่า ย้อนกลับไปจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2532 กองทัพไตแดง SNA ไม่ได้อยู่ในลิสต์กลุ่มติดอาวุธที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ แต่หลายฝ่ายระบุถึงปี 2532 เนื่องจากในปีดังกล่าวน่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ไตแดง โดยเป็นกองกำลังที่ประจำการอยู่ในกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ

ทั้งนี้ภายหลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2531 หรือ 8888 ในขณะนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ไตแดงจำนวนมากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิไตยทั้งมวล (ABSDF) ซึ่งมักมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนของพม่า และในเวลาต่อมาทหารไตแดงดังกล่าวได้มาเข้าร่วมกับ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ในช่วงทศวรรษที่ 2540

โดยกองทัพรัฐฉานก่อตั้ง "กองพลน้อยไตแดง" ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ มีผู้บัญชาการคืออดียผู้นำ ABSDF ถั่นฉ่อง หรือเป็นที่รู้จักกันในนามถั่นจ่อง หรือ ขุนจ่อ หรือ มินซอ ซึ่งปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2549 ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่ที่เรือนจำธาราวดี ทั้งนี้จากรายงานข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPPB)

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ของกองทัพไตแดง SNA ระบุว่า "จะปกป้องประชาชนท้องถิ่นจากการข่มเหงของกองกำลังอื่นๆ" เนื่องจากนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไตแดงซึ่งอยู่ระหว่างกองกำลังใหญ่คือกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพพม่า ทำให้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ไตแหลง หรือ ไตแดง มักถูกกองทัพรัฐบาลพม่า รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่เกณฑ์ไปเป็นทหาร หรือลูกหาบ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2557 องค์กรเพื่อกิจการไทใหญ่ (SEAO) เคยร้องเรียนว่า กองทัพพม่าเกณฑ์สามเณรชาวไตแดงที่เมืองตะลอจี ในรัฐคะฉิ่นไปฝึกยิงปืน โดยทางการพม่าอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารคะฉิ่น KIA เข้ามาเกณฑ์ชาวบ้าน (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท