5 เรื่องว่าด้วยราคายางและชาวสวนยางผู้เป็นพ่อของ ‪#‎ไอ้พวกนักกิจกรรม‬

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1.

หลายวันก่อนพ่อผมโพสต์รูปน้ำหลากท่วมสวนยางพารา ที่แกพยายามปลุกปั้นไว้เป็นสมบัติให้ไอ้ลูกชาย แม้ว่าในสภาพที่ราคายางตกต่ำ ชายวัยห้าสิบกว่ายังคงวาดหวังให้สวนยางพาราขนาด 6 ไร่ เป็นความมั่นคงในยามแก่เฒ่าของผม แม้ว่าน้ำมันจะหลากมาท่วมแค่วันสองวัน แต่ก็มากพอที่จะทำให้ยางต้นเล็ก 10-15 ต้น จมน้ำตาย

และมันทำให้พ่อผมต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น

หลังจากพ่อมีเฟซบุ้คเป็นของตัวเอง ผมก็พบว่าแกเริ่มมีอาการติดเฟซบุ๊กมากพอๆกับลูกชาย โดยเฉพาะการโพสต์เรื่องสวนยางและราคายาง

"มาถางสวนยาง ให้ไอ้พวกนักกิจกรรม"

พ่อผมมักโพสต์เฟสบุ๊กเช่นนั้น

เมื่อวานซืน พ่อไลน์มาบอกแบบผ่านๆว่า "ถ้ามีตังค์ช่วยโอนมาให้หน่อย จะเอาไปซื้อปุ๋ยใส่ยางพารา"

ผมรีบตอบกลับว่า "เอาเมื่อไหร่"

"ถ้าได้เลยก็ดี เพราะพ่อถางหญ้าไว้รอแล้ว ถ้าหลายวันเด๋วหญ้ารกอีก"

2.

ในระหว่างที่ผมกับพ่อคบหาเป็นพ่อลูกกันมากว่า 26 ปี

ฝ่ายพ่อมักเป็นโอนตังค์ให้ผมมากกว่า และแน่นอนว่าแกไม่เคยปริปากขอให้ผมโอนตังค์ให้ นอกเหนือจากการโอนค่างวดรถบวกกับข้อตกลงกับแม่ที่ผมต้องส่งเงินกลับบ้านทุกเดือน

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่ามันวิกฤติ

ในวันที่พ่อขี่มอเตอร์ไซต์ออกไปกดตังค์ค่าปุ๋ยที่ผมโอนไปให้

มอเตอร์ไซต์เจ้ากรรมของพ่อดันยางแตกพอดี มันช่างเหมือนมรสุมที่พักเข้ามาในภาวะที่ชาวสวนยางอีกหลายแสนคนในประเทศนี้กำลังประสบภาวะถังแตก

3.

เช้าวันนี้ แม่โทรมาบอกว่าพ่อขายยางได้ 400 บาท ในขณะที่ราคาน้ำยางหน้าสวนกิโลกรัมละ 30 บาท นั่นแสดงว่าวันนี้ สวนยางบ้านเราให้ผลผลิต ประมาณ 13 กิโลกรัมกว่าๆ ผมไม่รู้ว่าพ่อกับแม่พอใจกับการดำรงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้หรือไม่ แต่ผมรู้ดีว่าทั้งคู่ย่อมคิดถึงคืนวันที่ยางพาราขายได้กิโลละ 120 บาท เพราะนั่นย่อมหมายความว่าในกระเป๋าของพ่อจะมีรายได้ราว 1500 บาทต่อวัน

4.

แม้นไม่ได้ออกไปชุมนุมปิดถนนในสมัยที่ชาวสวนยางภาคใต้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องราคายางในวันวานก่อนการปฏิรูป  แต่พ่อและแม่ของผมคือหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงผู้บริจาคสมทบทุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ ในห้วงยามนั้นผมเองก็ยังรู้สึกว่าใอ้ราคา 80 บาท ณ ตอนนั้น เราก็พอจะอยู่ได้ ส่วนที่อยากจะได้กัน 120 บาทนั้น ออกจะเป็นเรื่องการเมืองที่คนภาคใต้อยากหาประเด็นมาไล่รัฐบาลชุดที่แล้วมากกว่า

สามสี่เดือนก่อนผมลงไปพัทลุงพูดคุยกับชาวสวนยางกลุ่มหนึ่ง เขาบอกว่า

"ที่ไม่กล้าออกไปชุมนุมตอนนี้ก็เพราะว่ากลัวมาตรา 44 บวกกับพวกเขายอมรับว่าเข็ดที่ถูกคนของพรรคการเมืองบางพรรคหลอกให้ไปชุมนุมเมื่อคราวก่อน"

5.

ราคายางเป็นเรื่องของกลไกตลาด เรื่องนี้พ่อผมแกรู้มาตั้งแต่ยุคที่แกยังจับเบาะให้ผมหัดปั่นจักรยาน ราคายางกิโลกรัมละ 10 บาทเป็นราคาต่ำสุดเท่าที่ผมจำความได้ แต่ตอนนั้น ข้าวสารอาหารแห้งหมูเห็ดเป็ดไก่ มันก็ถูกกว่าราคาตอนนี้อยู่มากโข สมัยนั้นรัฐบาลชวน หลีกภัยก็ยังมีความพยายามที่จะช่วยชาวสวนยางด้วยการตั้งศูนย์รับซื้อยางในราคาที่แพงกว่าตลาด 1 บาท เพื่อช่วยชาวสวนยาง

โอเค การแทรกแซงตลาด อาจเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะมีรัฐบาลไว้ทำอะไร

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางในรัฐบาลชุดนี้

ก็เป็นนายอำนวยเดียวกันกับเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร) ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแหละครับ

อีกเรื่องที่ประชาชนคนธรรมดาสามัญชน อย่างเราไม่เคยรู้ก็คือ

ประชาชนอาจถูกแบ่งแยกให้เป็นฝักเป็นฝ่าย แต่พวกเขาไม่เคยแบ่งแยกตัวเองออกจากอำนาจและผลประโยชน์เลย

เรื่องนี้ผมคุยกับพ่อแล้วครับ

จำเริญๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท