Skip to main content
sharethis

นักข่าวพลเมือง TPBS สัมภาษณ์ นักข่าวพลเมืองนักเรียน ม.4 หลังถูกเหมืองทองคำ จังหวัดเลย ฟ้องหมิ่นประมาท ฐานรายงานผลกระทบในพื้นที่ เจ้าตัวเผย “อยากให้เขารู้ว่าบ้านเราเป็นอย่างไร และอยากให้เขามาช่วยเหลือบ้านเรา”


รายการที่นี่ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2558

"รู้สึกว่าฟ้องเด็กทำไม เด็กทำอะไรผิด แค่พูดไปตามความจริงที่เห็น ถ้าลูกคุณโดนฟ้องเป็นคดีจะรู้สึกอย่างไร พ่อแม่เราก็ทุกข์ใจเหมือนกัน"

2 วัน หลังได้รับหนังสือจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลย เชิญไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติ นี่คือความรู้สึกแรกที่ เยาวชนนักข่าวพลเมือง ชั้น ม.4 เปิดเผยกับสาธารณะ

เธอบอกด้วยว่า ลำน้ำฮวยแต่ก่อนมีคนมาเล่นน้ำ และหาอยู่หากินกับลำน้ำ จนกระทั้งสาธารณะสุขจังหวัดเข้ามาประกาศว่าลำน้ำฮวยที่ใสนั้นกินไม่ได้ เพราะมีสารปนเปื้อน

“อยากให้เขารู้ว่าบ้านเราเป็นอย่างไร และอยากให้เขามาช่วยเหลือบ้านเรา” นักข่าวพลเมืองเยาวชนกล่าวถึงเหตุผลที่เธอสื่อสารเรื่องราวของบ้านเกิดของเธอ ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

จากการรายงานข่าวพลเมืองถึงการจัดค่ายเยาวชน เพื่อเรียนรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต่อเยาวชนนักข่าวพลเมือง ชั้น ม.4 และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในฐานะผู้เผยแพร่ข่าว

สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลอย่างมากต่อทางครอบครัวของเธอ เพราะการถูกฟ้องสร้างความกังวลใจในการต้องขึ้นศาลเพื่อสู้คดี และเป็นห่วงว่าคดีอาจส่งผลต่ออนาคตของเธอ รวมทั้งทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลที่จะส่งลูกหลานร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียนรู้ข้อมูลของพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กำหนดการที่ครอบครัวและตัวเยาวชนจะไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติ ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จ.เลย เพื่อดูว่ามีมูลเหตุในการอนุญาตให้ฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลยยังคงให้บริษัทเหมืองเข้า ข้อมูลในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร

ด้านชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังจากทราบข่าว ก็ได้รวมตัวกันเดินทางไปให้กำลังใจ เยาวชนผู้ถูกฟ้องคดีและครอบครัว และได้ยืนยันจุดยืนว่าจะอยู่เคียงข้างในการต่อสู้คดี โดยจะไม่ทอดทิ้งกัน 

นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ ยังคงจับตาดูว่าอีกฝั่งหนึ่งจะมีการเดินหน้าอย่างไรต่อไป แต่การเดินหน้าในความคิดของเธอเองนั้นมีเป้าหมายในการให้ “ปิดเหมืองถาวร” ส่วนจะเดินกันต่ออย่างไรคนต้องมีการวิเคราะห์ร่วมกัน     

ก่อนหน้านี้ ในกรณีเดียวกัน บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ดำเนินการฟ้องนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงนักข่าวพลเมือง พร้อมด้วยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะฝ่ายบริหารไทยพีบีเอส ประกอบด้วย นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการฯ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และนายโยธิน สิทธิบดีกุล รวมเป็นจำเลย 5 คน ในข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท คดีนี้ ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 21 มี.ค.ปีหน้า 

ด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน มองว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในสื่อสาธารณะควรได้รับความคุ้มครอง ขณะที่ในหลายๆ ประเทศ คดีหมิ่นประมาทไม่ถึงขั้นเป็นคดีอาญาที่ต้องถูกจำคุก และยิ่งเมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็กก็ยิ่งจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมาก ขึ้น 

ทั้งนี้ นอกจากการฟ้องร้องกรณีล่าสุดแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังคงมีอยู่ (หลังจากเมื่อปลายปี 2557 มีการประนีประนอมยอมความกัน โดยบริษัทฯ ยินยอมถอนฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา 9 คดี ส่วนชาวบ้านยินยอมให้ทางบริษัท ขนแร่จำนวน 1,655 ตันออกจากเหมืองทองคำได้ โดยไม่มีการต่อต้าน) 

เนื่องจาก บริษัทฯ ได้มีการฟ้องร้องชาวบ้านอีกหลายๆ คดี เช่น 1.ฟ้องหมิ่นประมาท นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ที่ศาลจังหวัดแม่สอด โดยอ้างว่า นายสุรพันธุ์ได้นำเข้าข้อความในเฟซบุ๊กเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ 

2.ฟ้องแพ่ง ต่อชาวบ้านสิบกว่าคน ที่ศาลจังหวัดเลย เรียกค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท โดบริษัทฯ อ้างว่า การที่ชาวบ้านไปติดป้ายถ้อยคำ “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ในหมู่บ้าน และการทำซุ้มประตูแล้วเขียนถ้อยคำ ในทองนองไม่เอาเหมือง นั้น ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย 

3.ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวงว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากไม่ได้นำเอาคำขออนุญาตการต่ออายุใช้พื้นที่ป่าไม้ เข้าประชุมเพื่อพิจารณาในสภา ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับอนุญาตต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น
นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของบริษัททุ่งคำว่าต้องการอะไรจากการฟ้องคดีนี้ นอกจากการเข้ามาใช้สิทธิทางศาล แต่การฟ้องชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านมีภาระที่ต้องไปขึ้นศาล และห่วงกังวลกับเรื่องที่ตนต้องถูกฟ้องคดี และอาจจะเพิ่มความรู้สึกไม่ดีระหว่างชาวบ้านและบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น 

ส่วนกรณีที่ บริษัททุ่งคำฯ ฟ้องไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะในการรายงานและเผยแพร่รายการนักข่าว พลเมือง เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และทั้ง 2 ฝ่ายควรใช้พื้นที่สื่อสาธารณะในการนำข้อมูลของตน และถกเถียงกัน ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการฟ้องร้องคดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net