Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้หญิงชายแดนใต้ขอทุกฝ่ายที่ใช้อาวุธหยุดใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ย้ำเป็นข้อเรียกร้องเพื่อทุกคนเพราะผู้หญิงต้องใช้พื้นที่สาธารณะเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว ขอให้คู่ขัดแย้งหาทางออกในทางการเมืองขอให้คุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยบนโต๊ะเจรจา เปิดสถิติเหตุรุนแรงทำร้ายผู้หญิงในที่สาธารณะและตัวอย่างเหตุการณ์สลดใจต่อผู้หญิง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้หรือ Women’s agenda for Peace หรือ PAW รวม 23 องค์กรร่วมอ่านแถลงการณ์ “ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาโดยนางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอ๊ะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ We Peace นางพันยวดี อาแว เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women) นางนิเดาะห์ อิแตแล สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา นางตัสนีม เจ๊ะตู ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า นางสาวลม้าย มานะการ เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์

เด็ก/ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นเหยื่อในที่สาธารณะ

แถลงการณ์นี้เป็นฉบับที่ 2ของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ระบุว่าในช่วง 11 ปีความรุนแรงในชายแดนใต้ทำให้พื้นที่ปลอดภัยน้อยลงสำหรับเด็ก ผู้หญิงและประชาชนกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2557 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ 81 คน บาดเจ็บ 445 คน ผู้หญิงเสียชีวิต 431 คน บาดเจ็บ 1,651 คน ส่วนใหญ่ถูกยิงและระเบิดในพื้นที่สาธารณะหรือใกล้เคียง เช่น ถนน ตลาดสด ตลาดนัด ร้านค้าในชุมชน ร้านสะดวกซื้อ สถานศึกษาวัด มัสยิด เส้นทางและสถานีรถไฟ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สวนยาง ทุ่งนา ฯลฯ

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ 23 องค์กร ห่วงใยต่อประเด็นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพราะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ จึงจัดเวทีสานเสวนาแบบประชาหารือมาอย่างต่อเนื่องเพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรง

ขอความปลอดภัยให้ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด ฯลฯ

“ผลสรุปจากเวทีประชาหารือสานเสวนา พบว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากมีผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งการเดินทางสัญจร ทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อนใจ ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของผู้หญิง รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย” แถลงการณ์ระบุ

ขอผู้ใช้อาวุธหยุดใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ

ดังนั้น คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อหน่วยงานรัฐและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในสังคม ดังนี้

1.ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว

2.ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายหาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ

3.ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ร่วมกัน

เป็นข้อเรียกร้องเพื่อทุกคน

ส่วนในวงเสวนา“เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย”นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพหรือ We Peaceกล่าวว่า ทั้ง 3 ข้อเสนอในแถลงการณ์นั้นมาจากการระดมความเห็นของผู้หญิง พบว่า ผู้หญิงทุกศาสนาต้องใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่ปลอดภัย และเป็นการเรียกร้องเพื่อทุกคน

“ผู้หญิงไม่ใช่คู่ขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย (รัฐและขบวนการ) ผู้หญิงเริ่มลุกขึ้นมาแสดงพลังและบอกว่าเราอยากทำอะไร อยากพัฒนาอะไร ต้องการทำอะไร จึงเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิง อยากให้คู่เจรจาสันติภาพนำประเด็นนี้ไปพูดคุยด้วย แม้ไม่รู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยของทั้งสองฝ่ายคืออะไร แต่สำหรับผู้หญิงคือพื้นที่ที่ประชาชนทั่วไปใช้ เช่น ตลาดหรือถนน อยากให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด” นางสาวปาตีเมาะ กล่าว

ทั้งในวงเสวนายังมีนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ นางกลิ่น โหดนวล และนางสาวซาวียะห์ มูซา ตัวแทนชาวบ้านใน ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา นางสาวโรสนานี เจะเลาะและนางสาวพวงทิพย์ ศรีทอง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ

23 องค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้

สำหรับรายชื่อทั้ง 23 องค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ ประกอบด้วย 1.กลุ่มเซากูน่า 2.กลุ่มด้วยใจ 3. กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้ 4.กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี 5.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women) 6.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7.เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ 8.เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้ 9.เครือข่ายชุมชนศรัทธา

10.เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี 11.เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก12.เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ 13.เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้ 14.ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส 15.ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 16.มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 17.สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 18.สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา19.สภาประชาสังคมชายแดนใต้20.สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 21.ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา 22.ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า และ 23.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ร่วมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรง/ขอพื้นที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ก่อนการอ่านแถลงการณ์ คณะทำงานสาระผู้หญิงชายแดนใต้ได้นำกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 500 คน ร่วมเดินขบวนจากศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลาไปยังถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา โดยถือป้ายข้อความเรียกร้องและรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

เมื่อเดินขบวนมาถึงบริเวณถนนรวมมิตร กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงได้ยืนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อแสดงความเคารพ ไว้อาลัยและระลึกถึงผู้ที่สูญเสียไปกับเหตุไม่สงบในพื้นที่ตลอดระยะ 12 ปีที่ผ่านมาจากนั้นได้ร่วมกันปล่อยลูกโป่งสีขาวพร้อมกันเพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ ก่อนที่จะเดินขบวนไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยราภัฏยะลาเพื่อร่วมเสวนา

เปิดสถิติเหตุรุนแรงทำร้ายผู้หญิงในที่สาธารณะ

สำหรับสถิติและกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญในช่วง 11 ปีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปได้ดังนี้

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา มีเหตุลอบวางระเบิด 3,121 ครั้ง สถิติสูงสุด คือ ปี 2550 มีถึง 471 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นเหตุลอบวางระเบิดที่รุนแรง คือ “คาร์บอมบ์” ทั้งในย่านชุมชนและร้านค้า 44 ครั้ง การลอบวางระเบิดรางรถไฟ ใช้อาวุธปืนยิงขบวนรถไฟ รวมทั้งเหตุร้ายทุกรูปที่เกิดกับรถไฟตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 100 ครั้ง

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา เหตุรุนแรงทำให้ผู้หญิงเสียชีวิต 431 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1,651 ราย โดยในช่วงระยะเวลาเพียง7 เดือนแรกของปี 2557 มีผู้หญิงถูกสังหารไป 32 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน บางคนเป็นนักศึกษา บางคนกำลังตั้งครรภ์ บางคนกำลังทำบุญใส่บาตร บางคนกลายเป็นคนพิการ บางศพถูกทำลาย เช่น ราดน้ำมันเผา ตัดคอ เป็นต้น

ในจำนวน 32 รายนี้ เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี 14 ราย จ.ยะลา 13 ราย และจ.นราธิวาส 5 ราย ในจำนวนนี้มีอายุน้อยที่สุดคือ 2 ขวบ มากสุด 62 ปี และแยกเป็นคนพุทธ 25 คน มุสลิม 7 คน ส่วนอาชีพมีความหลากหลาย อาทิ เกษตรกร ลูกจ้าง เจ้าของร้านค้าย่อย แม่ค้าขายของในตลาด พนักงานธนาคาร ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน นักศึกษา ภรรยาตำรวจ และยังมีผู้หญิงพิการถูกยิงเสียชีวิตด้วย

ตัวอย่างเหตุการณ์สลดใจต่อผู้หญิง

ตัวอย่างเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง เช่น วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ในพื้นที่ จ.ปัตตานีมีเหตุระเบิดมากกว่า 20 จุด บริเวณตลาดและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งย่านร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ใกล้สถานศึกษา เสาไฟฟ้า มีประชาชนเสียชีวิต 3 ราย เป็นเด็ก 2 คนและผู้หญิง 1 คน แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 63 คน

ถัดมาอีก 7 เดือน คือในเดือนมีนาคม 2558 มีการวางระเบิด 7ครั้งในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมถึงเหตุรุนแรงรูปแบบอื่นๆ รวมประมาณ 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและผู้หญิง 9 คน บาดเจ็บรวม 20 คน

วันที่ 12 เมษายน 2558 เกิดเหตุฆ่ายกครัวและเผาบ้านซ้ำที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เสียชีวิต 4 ราย เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ทั้งหมดเป็นแม่ลูกคู่หนึ่งและสามีภรรยาอีกคู่หนึ่ง โดยถูกจับมัดมือไพล่หลังแล้วจ่อยิงที่ศีรษะ จากนั้นได้จุดไฟเผาบ้านซ้ำ


แถลงการณ์ ฉบับที่ 2
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เนื่องในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
“เรื่อง ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง”

วันพุธ ที่ 25 พฤศจิกายน 2558
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา

ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวันหลงเหลือน้อยลงสำหรับเด็ก ผู้หญิงและประชาชนกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในปี 2547 ถึงปี 2557 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 81 คน บาดเจ็บเล็กน้อย ถึงสาหัส 445 คน ผู้หญิงเสียชีวิต 431 คน บาดเจ็บ 1,651 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงและการวางระเบิดในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน ตลาดสด ตลาดนัด ร้านค้าในชุมชน ร้านสะดวกซื้อ สถานศึกษา (โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมและมัธยม) วัด มัสยิด เส้นทางและสถานีรถไฟ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สวนยาง ทุ่งนา ฯลฯ

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ทำงานสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ 23 องค์กร มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อประเด็นความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เหล่านี้ นอกจากจะมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกคน ทุกเพศวัย ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและค้ำประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอีกนานับปการ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงทุกศาสนาจำเป็นต้องใช้งานเพื่อตอบสนองต่อภารกิจของแม่ ภรรยา ลูกสาว น้องสาว ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงได้จัดเวทีสานเสวนาแบบประชาหารือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้หญิงในกลุ่มองค์กรประชาสังคมผู้หญิงในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธและความรุนแรง โดยมีผลสรุปดังนี้ “จากเวทีประชาหารือสานเสวนา พบว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจาก สถานที่ดังกล่าว มีผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในการเดินทางสัญจรไปมา เป็นแหล่งทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และให้คุณค่าต่อจิตวิญญาณของผู้หญิง รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย”

ดังนั้น คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงขอเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในชุมชนสังคม ว่า

1.  ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบ ที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัย ในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว

2. ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย หาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ และ

3. ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน เข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ ร่วมกัน

ลงนามโดย 23 องค์กรสมาชิก คณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้

1.  กลุ่มเซากูน่า

2.  กลุ่มด้วยใจ

3.  กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้

4.  กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี

5.  เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)

6.  เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

7.  เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

8.  เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้

9.  เครือข่ายชุมชนศรัทธา

10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี

11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก

12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้

14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส

15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส

16. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า

17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)

18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา

19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้

20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา

22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า

23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net