Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 ภายหลังจากที่กองทัพบกได้แถลงข่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบการดำเนินการจากสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบัน และปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวไม่ได้เป็นการตรวจสอบในประเด็นการทุจริต  แต่เป็นการตรวจสอบความเรียบร้อย เนื่องจากต้องเข้าไปดำเนินงานต่อจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. แต่จากการตรวจสอบบัญชียืนยันว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบขั้นตอน ไม่มีการทุจริตและโปร่งใส    นั่นคือ ถ้อยแถลงของกองทัพต่อผลการดำเนินงานของกองทัพบก ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม จึงไม่อาจจะปฏิเสธถึงความสัมพันธ์ของระบบที่ย่อมจะถูกมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  รวมถึงรัฐบาลทหารที่เข้ามาใช้อำนาจบริหารปกครองประเทศด้วย ผลการสอบสวนที่ออกมานั้น  ย่อมสะท้อนถึงกลไกและกระบวนการตรวจสอบของกองทัพ  และความโปร่งใส ตลอดจนจริยธรรมที่ผู้นำทางทหารเน้นย้ำเสมอมาว่าต้องไม่โกงหรือไม่ทุจริต   ดังจะเห็นได้จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่นำมาเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ คสช.เข้ามาทำการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีทีแล้ว แต่แล้วการตรวจสอบนี้จะทำประชาชนมองทหารระดับสูงเป็นผู้ที่จะมาพิทักษ์ปกป้องให้พ้นจากการทุจริต ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นคงไม่มีอีกต่อไป  แม้จะออกมาบอกว่าไม่พบการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการนี้  ประชาชนคงไม่ลืมอภิมหาโปรเจกต์การจัดซื้อยุทธภัณฑ์ทางทหารต่างๆ ว่าคงได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน  ไม่ต้องถามถึงการตรวจสอบจากองค์กรตรวจสอบการทุจริตให้เสียเวลา

อย่างไรก็ตามอีกด้านที่ทหารหรือกองทัพจะวางรากฐานต่อไปได้นั้น คสช.ก็พยายามแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะทำให้เห็นว่า  การทำรัฐประหารของกองทัพเป็นไปอย่างจำใจที่จะกระทำ  หรือแสดงออกว่าที่จะต้องเข้ามาทำรัฐประหารเพราะประเทศชาติมีปัญหาต่างๆนานา ทหารจึงต้องมามีบทบาทอยู่หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีประชาชน ข้าราชการ และผู้ได้รับผลประโยชน์ ให้การต้อนรับอย่างออกหน้าออกตา ให้เห็นกันอยู่เนืองๆ  จนกระทั่งการแสดงออกถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญตามโรดแม็พ เมื่อมีการเปิดเผยและเป็นข่าวทั่วไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. 2558  เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีทั้งหมด 10 ประการ ตามที่ประชาชนได้เห็นอยู่แล้วนั้น แต่สิ่งที่เป็นข้อสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีคำถามไปยัง คสช.ว่า  เหตุใดจึงอยากให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในเมื่อมีประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นความผิดยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ทหารหรือกองทัพกลับมีความชอบธรรมที่จะทำรัฐประหารได้อีก? ก่อนที่จะหาคำตอบกันว่า กระบวนการหรือกลไกใดอีกนอกจากรัฐธรรมนูญจะป้องกันการทำรัฐประหารได้อีกในอนาคตนับจากนี้ไป เมื่อพิจารณาข้อที่ 3  ที่ว่า

"ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร”

 จะว่าไปแล้ว คสช. ไม่ต้องแสดงออกให้ประชาชนเห็นว่า คสช. หรือคณะบุคคลใดในกองทัพ ไม่ต้องการทำรัฐประหารอีกแล้ว  เพราะเชื่อว่า ประชาชนที่หวงแหนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ย่อมจะมองออกว่าสาเหตุไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ป้องกันไว้แต่เป็นเพราะความล้มเหลวของระบบนิติรัฐ การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมเป็นของผู้ปกครองอย่างผูกขาด มิได้คำนึงถึงประชาชนและอ้างว่าประชาชนเห็นด้วย ทั้งที่ๆมีความต่างทางความคิดและไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยสูงมาก     ปัจจุบันรัฐบาลทหาร ที่มาใช้อำนาจบริหารควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน  กระทำการออกกฎหมาย คำสั่ง และประกาศ  ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม มีหลายกรณีที่อาจทำให้หลายคนมองว่าให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไร้การตอบโต้หรือการอุทธรณ์ใดๆ

ในอดีตเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7  พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่พระองค์ทรงสนับสนุนที่จะให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด พระองค์ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ต่อมา พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้น ปรากฏข้อความที่ใช้อ้างอิงกันเสมอในเวลาต่อมาว่า

  "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”

การที่ คสช.ก็มาควบคุมบริหารประเทศ ตามที่ระบบเปิดช่องให้กระทำ และ ระบบนิติรัฐที่อ่อนแอเช่นนี้ก็ทำให้ คสช.(ทหารที่ยึดอำนาจ) ไม่มีความผิด เพราะเห็นว่า  “การยึดอำนาจการปกครองได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย  แม้พระมหากัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม “   (ความตอนหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505)  มันจึงเป็นการสร้างระบบหรือบางคน เรียกว่า “เป็นวงจรอุบาทว์”  ในสายตาประชาคมที่เป็นประชาธิปไตย และไม่ยอมรับอำนาจการยึดอำนาจและใช้อำนาจอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย

หากจะให้เห็นคำตอบที่ชัดขึ้นอีก  ว่าจะมีรัฐธรรมนูญบัญญัติ เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหารหรือไม่  จึงไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดหรือจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่นำมาเป็นเกราะป้องกันได้ หากระบบที่จะสามารถปฏิเสธการทำรัฐประหารได้ และไม่ยอมรับการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย  และประชาชน นักการเมือง ข้าราชการ  ปฏิวัติความคิดทางประชาธิปไตยที่ถูกแท้จริง  ไม่เห็นดีเห็นงาม หรือร่วมมือเปิดช่อง ให้ทหารหรือกองทัพเข้ามาทำการรัฐประหารได้อีก   ประเทศไทยย่อมมีแสงสว่างที่พัฒนาประชาธิปไตยและสร้างความเจริญมั่นคงเหมือนอารยประเทศได้ยิ่งขึ้น   ในการนี้ จึงขอยกคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาท่านหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขดำที่ อม. 2/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552  ความตอนหนึ่งว่า

ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่  เห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  หากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน

นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธะกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย  การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่  เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

หากศาลรับรองอำนาจของบุคคล หรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติ หรือรัฐประหารว่าเป็นรัฐาธิปัตย์แล้ว  เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น  ทั้งเป็นการละเลยหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่า บุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่  รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดีงกล่าวที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ นานาอารยประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร  ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอยด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทสโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์

ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย จึงวินิจฉัยว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง  ”

ตามคำวินิจฉัยดังกล่าวมา เป็นมุมมองที่ไม่ได้เป็นเรื่องพิสดารที่ใครจะโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง แต่ระบบที่ดำเนินอยู่ปัจจุบันกลับเพิกเฉยต่อมุมมองเช่นนี้ ในทางตรงกันข้ามผู้รู้ทางกฎหมายและผู้มีส่วนสร้างระบบกฎหมายกลับพยายามทำให้วงจรและการได้มาซึ่งอำนาจที่มิได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้อีก คงไม่ต้องวางใจอีกว่ามันจะไม่เกิดขึ้นดังเช่นข้อเสนอของ คสช.ที่เสนอแนะให้ กรธ.หาแนวทางป้องกัน เพราะนั่นไม่มีความหมายใดๆ หากระบบนิติรัฐยังอ่อนแอและล้มเหลว

กล่าวโดยสรุป เมื่อทหารมีความคิดหรือกองทัพ คิดว่าตนเป็นคณะบุคคลหรือองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ปกป้องประเทศ  เมื่อเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น  กลัวการแตกแยกของคนในชาติ  กลัวมีปัญหาความมั่นคงของประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์ กลัวการทุจริตคอร์รัปชั่น  ทหารและกองทัพก็จะเข้ามาเป็นคนแก้ไขปัญหาแทรกแซงการปกครองได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีประชาชนคนชั้นสูงที่มีความคิดไปทางอำนาจนิยมยินยอมและเรียกร้องให้ทหารหรือกองทัพเข้ามา อันเสมือนเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ มีการปกครองแบบทหาร

ดังนั้นการจะทำให้ปัญหานี้หมดไปได้  ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันการล้มล้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติและรัฐประหารแต่อย่างใด หากแต่รัฐไทย ประชาชนคนไทย ต้องร่วมกันสร้างระบบนิติรัฐเสียใหม่ อย่าให้ทหารมายึดอำนาจอีก และต้องเอาผิดกับคนยึดอำนาจได้ เพราะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง และต้องถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาที่ประชาชนทุกคนต้องถูกบังคับ ต้องให้กลไกรัฐ กลไกทางปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยพัฒนาและเดินไปอย่างต้องเรียนรู้ร่วมกัน ทหารหรือกองทัพก็ต้องหยุดการแทรกแซงการเมืองจึงจะทำให้ประเทศไทยปลอดจากการทำปฏิวัติหรือรัฐประหาร  ไม่เพียงแค่นั้นต้องเปลี่ยนความคิดของประชาชน และสร้างความเป็นทหารอาชีพจริงๆแล้ว  ก็เชื่อว่าจะไม่ทำรัฐประหาร  ประกอบกับ การสร้างหลักการสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ การสร้างระบบที่มีการเคารพกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง สร้างกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย   และเคร่งครัดในหลักนิติรัฐให้เข้มแข็งด้วย .

                                
                                

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงออกถึงหน้าที่พลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าในทุกด้าน ไม่ต้องหยุดชะงักลงอย่างที่เป็นอยู่.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net