ทหารเข้าคุยชาวบ้าน ห้ามต้านหากปิดประตูเขื่อนปากมูลก่อนกำหนด

เจ้าหน้าที่ทหาร จ.อุบลฯ เข้าคุยชาวบ้านทำความเข้าใจ ขออย่าต้านหากปิดประตูเขื่อนก่อนกำหนด ห่วงน้ำไม่พอใช้ฤดูแล้ง ด้านชาวบ้านชี้ หากมีการปิดก่อนกำหนด ไร้การตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พรุ่งนี้บุกศาลากลาง

27 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.มงกุฏ แก้วพรม รองหัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมฝ่ายปกครองอำเภอโขงเจียม เข้าพบปะพูดคุยกับชาวบ้านวังสะแบงเหนือ หมู่ 3 ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม และบ้านหัวเหว่ หมู่ 4 ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อสอบถามความเห็น และชี้แจงกรณีจังหวัดเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมี ม.ล.ปนัดดา ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานปิดประตูระบายน้ำเขื่อน ปากมูลทั้ง 8 บาน ก่อนถึงกำหนดในวันที่ 16 พ.ย. เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากภัยแรงปีนี้จะมาเร็วและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา หากเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจะเป็นการปล่อยน้ำไหลออกจากแม่น้ำมูลลงสู่ แม่น้ำโขงวันละกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สูญเสียน้ำที่จะใช้อุปโภค บริโภค ใช้เลี้ยงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ รวมทั้งใช้ทำเกษตรกรรม

จึงต้องการขอร้องไม่ให้ชาวบ้านออกมาร่วมเคลื่อนไหว เนื่องจากเป็นการผิดกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะที่ยังไม่ได้มีการขออนุญาต และต้องการความเห็นของชาวบ้านต้องการให้เปิด หรือปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

ทั้งนี้พบว่า ชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยมีทั้งที่ต้องการให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ โดยชาวบ้านให้เหตุผลขณะนี้น้ำเขื่อนปากมูลมีระดับต่ำมาก จนส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใต้ดินใช้ผลิตประปาหมู่บ้าน เกรงว่าถึงหน้าแล้งจะไม่มีน้ำใช้ ส่วนชาวบ้านที่ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำ เห็นว่าต้องการให้น้ำมีการถ่ายเทของเสียออกจากลุ่มน้ำเพื่อปรับความ สมดุลให้ธรรมชาติ

โดยหลังการเข้าพูดคุยของเจ้าหน้าที่ทหาร จะมีการนำความเห็นของชาวบ้านเสนอให้คณะทำงาน เปิดปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลระดับจังหวัดรับทราบความเห็นของชาวบ้านต่อไป

ด้านกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคือ เปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ถึงวันที่ 16 พ.ย. เพื่อคืนธรรมชาติให้แก่ลุ่มน้ำ และต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอกว่า 6,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพทำประมง หลังสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อ 26 ปีก่อน รายละ 3 แสนบาท เพราะที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

กฤษกร กล่าวต่อว่า หากการประชุมของคณะกรรมการวันนี้มีมติสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูล หรือไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเยียวยาให้แก่ชาวบ้าน จะนำมวลชนออกมากดดันที่หน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 28 ต.ค.แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เขื่อนปากมูลได้เปิดประตูระบายน้ำให้ปลาขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2558 และมีกำหนดปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 16 พ.ย. 2558 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แต่เนื่องจากลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีประสบปัญหาภัยแล้ง คณะทำงานพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีความเห็นเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลปิดประตู ระบายน้ำทั้ง 8 บานของเขื่อนปากมูลก่อนกำหนด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในวันที่ 31 ต.ค.

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล สายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 1 ใน 32 คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก จะลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ หากมีการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลก่อนกำหนดด้วย

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์ASTV

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท