Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.ยุสนี ซาบี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอัลรานิรี (Universitas Islam Negeri Al-Raniry) อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย แสดงปาฐกถาเรื่อง “การศึกษาและสันติภาพ : บทเรียนจากอาเจะห์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการนานาชาติ TriPEACE via ASEAN Muslim Societies (ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน) เรื่อง Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่มีองค์ปาฐกพิเศษจาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง คือ อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ยุสนี กล่าวถึงต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง แนวทางที่จะไปสู่ข้อยุติ และบทบาทของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต่อกระบวนการสร้างและรักษาสันติภาพในอาเจะห์มีเนื้อหาน่าสนใจที่จะเป็นบทเรียนการสร้างสันติภาพได้ดังนี้

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในอาเจะห์

ศาสตราจารย์ ดร.ยุสนี กล่าวว่า ในอาเจะห์มีความขัดแย้งทางสังคม 3 ครั้งระหว่างคนในจังหวัดอาเจะห์กับรัฐบาล ครั้งแรกในปี 1946 เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่นำโดยอุลามาอฺหรือผู้รู้ศาสนาอิสลามที่มีต่อชนชั้นนำที่ต้องการคงไว้ซึ่งรูปแบบอำนาจลักษณะการปกครองแบบอาณานิคม

ต่อมาในช่วง 1953-1959 เกิดเหตุการณ์ Aceh Rebellion ขึ้นเนื่องจากในช่วงนั้นประชาชนรับรู้ได้ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น จึงส่งผลต่อความขัดแย้ง แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

ต่อมาปี 1976-2005 เป็นช่วงเวลาความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจซึ่งต่างจากความขัดแย้งที่ผ่านมาที่เน้นไปที่การเริ่มต้นจากอุลามาอฺ(ผู้รู้)เท่านั้น แต่ครั้งนี้มาจากประชาชนทั่วไป

อาเจะห์ในปัจจุบันมีจังหวัดภายใต้เขต 34 จังหวัด และมีประชากรกว่า 5 ล้านคนจากประชากรกว่า 200 ล้านคนของประเทศอินโดนีเซีย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์นับตั้งแต่คนผิวดำไปจนถึงคนที่มีตาสีฟ้า มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ

ในอดีตนั้นไม่มีระบบการศึกษาที่ดีนัก หากต้องการจะเรียนก็ต้องข้ามเกาะไปหาที่เรียน เช่น ในเกาะชวา ส่วนในด้านประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่น่าฉงนไม่น้อย ประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือของเหตุผลในเหตุการณ์ปัจจุบัน หลายครั้งเราก็เอาอารมณ์เข้ามาสู่การมองเหตุการณ์

ปัจจัยสู่ความขัดแย้ง

ปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งในอาเจะห์มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม ความยากจน และการขาดการศึกษา ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ขณะเดียวกันในพื้นที่เองก็มีความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ทำให้คนอยากจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ที่สำคัญความแตกต่างของกลุ่มคนในพื้นที่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งและมีแนวทางการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดที่ต่างกัน

ประการสุดท้าย คือ นโยบายของรัฐที่พยายามจัดการกับความขัดแย้งแบบไม่จริงจัง ซึ่งเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นว่า การไม่แก้ไขอย่างจริงจังก็ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น

การก้าวข้ามความขัดแย้ง

สำหรับคำถามที่ว่าอาเจะห์ก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างไรนั้น ชาวอาเจะห์ได้ต่อสู้กับความขัดแย้ง กระทั่งไปสู่กระบวนการแบ่งสรรอำนาจระหว่างผู้นำฝ่ายต่างๆ ให้มีเขตปกครองพิเศษ และสร้างระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลต่อแนวคิดและทัศนคติ ตลอดจนสร้างนักวิชาการ นักคิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ในสมัยซูการ์โน(เป็นประธานาธิบดี) ก็ใช้การสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อปรับแนวคิดของคนให้เข้าสู่กระบวนการคิดที่นอกเหนือจากความรุนแรง ขณะเดียวกันในอาเจะห์ภายใต้การปกครองแบบออโตโนมีก็ยังคงมีการเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ ซึ่งได้รับการแบ่งสรรจากงบประมาณที่มาจากทรัพยากรในพื้นที่เองมากขึ้น

สร้างคนมีความรู้ที่พูดได้มากกว่าคนถืออาวุธ

เมื่อมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น ก็สามารถผลิตนักคิดหรือผู้รู้ได้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในช่วงเวลาของการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ก็มีบทบาทและมีส่วนร่วม เช่นไปเป็นผู้แทนในต่างประเทศไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา เจนีวา โตเกียวหรือสิงคโปร์ในการพูดถึงความไม่ยุติธรรมที่อาเจะห์ต้องเผชิญ อาจกล่าวได้ว่าเราสามารถพูดได้มากกว่าคนที่จับอาวุธอยู่ในป่า

บทบาทมหาวิทยาลัยในพื้นที่ขัดแย้ง

บทบาทของมหาวิทยาลัยในทุกพื้นที่ความขัดแย้งนั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เราสามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้บนฐานความรู้ โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้กำลัง การเข้ามาช่วยเหลือขององค์กรต่างประเทศ เช่น จากยุโรป ก็เพราะความสามารถในการพูดคุยกับองค์กรเหล่านั้นให้เห็นถึงความสำคัญของอาเจะห์ที่เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

ขณะเดียวกัน อำนาจควรมีการแบ่งปันต่อกันได้ เช่น ชาวอาเจะห์สามารถเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลอินโดนีเซียได้ ให้โอกาสแก่ชาวอาเจะห์ให้สามารถมีที่ยืนได้มากกว่าเพียงแค่ในอาเจะห์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ต้องมองในมุมที่กว้าง และต้องมีความสามารถในการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับต่างประเทศ เมื่อเข้าใจแล้วจึงจะเกิดความช่วยเหลือตามมา ดังนั้นการมีการศึกษาที่ดี และมหาวิทยาลัยที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น

ศ.ดร.ยุสนี ซาบี

สันติภาพต้องรักษาไม่ให้พังทลาย

เมื่อได้รับสันติภาพมาแล้วจะต้องทำอย่างไร? แน่นอนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้สันติภาพนั้นพังทลายลง ซึ่งประสบการณ์จากอาเจะห์ที่ผ่านมาพบว่า หลังจากความขัดแย้งสิ้นสุดลงก็มีความขัดแย้งอื่นตามมาถึง 3 ครั้ง หลังจากนี้หวังว่าจะไม่มีความขัดแย้งเหล่านี้อีกแล้ว

ในการรักษาสันติภาพสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการศึกษา ในมหาวิทยาลัยสามารถสร้างนักคิดและอาจารย์มากมายที่มีหน้าที่สอน ไม่ใช่เป็นผู้ปกครอง เช่น ในช่วงยุคล่าอาณานิคม มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรักษาการให้บริการต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาขอความช่วยเหลือหรือทำงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องแสดงบทบาทนั้น

ขณะเดียวกันระบบราชการของประเทศเองก็ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องบริการให้แก่ทุกคน การใช้กฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกคน ไม่มีความต่างกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสถานะทางสังคมอย่างไร เรากำลังพยายามที่จะทำกระบวนการนี้

ต้องทำควบคู่กับการพัฒนา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเน้นเรื่องการสร้างงานให้ประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดี ชาวอาเจะห์ที่เคยจับอาวุธเมื่อออกจากป่ามาแล้วจะให้อาชีพอะไรแก่พวกเขา และประเด็นเรื่องการเมืองก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าทุกอย่างคือการเมืองแต่การเมืองก็ไม่ใช่ทุกสิ่ง เพราะการเมืองจำเป็นต้องนำไปสู่ความสันติ แต่หลายครั้งที่นักการเมืองกลับนำไปสู่ทางตรงข้าม

ดังนั้น นักการเมืองจำเป็นต้องเป็นคนที่ดี ที่สร้างสรรค์ให้ประชาชนมีความร่วมมือกัน ไม่ใช่แตกแยกกัน ในกระบวนการรักษาสันติภาพนี้ การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานก็จำเป็นต้องมีคู่ขนานไปด้วย

ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง

ผู้นำ อิหม่าม ในองค์กรใดก็ตาม จำเป็นต้องเป็นแบบอย่าง มิฉะนั้น ผู้ตามก็ไม่จำเป็นต้องตาม ผู้นำต้องตั้งคำถามต่อตนเองว่าเราเป็นแบบอย่างได้หรือไม่? และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพยายามในการให้ทุกๆ ส่วนของกระบวนการนี้ สอดแทรกและอยู่บนแนวทางอิสลาม สามารถนำเอาชะรีอะห์มาประยุกต์ใช้ในส่วนประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน และไม่ขัดต่อกฎหมายชาติที่มีอยู่แล้ว

จากเอกราชสู่ความเป็นหนึ่งเดียว

การศึกษาระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคน ก่อนหน้านี้อาจมีความคิดว่าจำเป็นต้องปลดปล่อยอาเจะห์และต้องเป็นเอกราช ต้องมีประธานาธิบดีของตนเอง ฯลฯ แต่ในปัจจุบัน ทำไมไม่ปรับความคิดไปว่าชาวอาเจะห์จะไปมีส่วนต่อการปกครองของทั้งประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าได้ เมื่อไปอยู่จุดนั้นก็จะสามารถควบคุมนโยบายของทั้งประเทศได้ ไม่ใช่เพียงแค่อาเจะห์อย่างเดียวใช่หรือไม่?

เราสามารถเปลี่ยนเหตุผลของการนำไปสู่ความขัดแย้งให้ไปสู่สันติภาพแทนที่ได้หรือไม่ แทนที่จะให้เกิดบรรยากาศของความกลัวเกิดขึ้น แต่เราลองปรับเปลี่ยนให้นำสู่การสื่อสารพูดคุยต่อกันให้มากขึ้น ซึ่งเราสามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดสันติภาพได้ ถ้าเราต้องการที่จะทำ

คำถามที่สำคัญคือ ในเวลานี้คือเวลาที่จำเป็นต้องแยกตัวเป็นอิสระหรือไม่ คำตอบอาจจะไม่ใช่ เวลานี้คือเวลาที่เราต้องแสดงความเป็นหนึ่งเดียว ลองพิจารณากรณีของติมอร์ตะวันออก ตอนนี้เป็นอย่างไร และมองดูสหภาพยุโรปที่รวมกัน แล้วเป็นอย่างไร

เราจะสนับสนุนแนวทางนี้ได้ก็ต่อเมื่อใช้การศึกษามาเป็นเครื่องมือ ชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ของกรณีต่างๆ เพื่อให้เห็นแนวทางที่จะประยุกต์ต่องานสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้ง แต่งานนี้จำเป็นต้องทำร่วมกันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐ ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจต่อนานาชาติให้มามีส่วนในการช่วยสนับสนุนสันติภาพต่อไป

อาเจะห์ต้องไปไกลกว่าพื้นที่ตนเอง และกำหนดอนาคตเองได้

ขนาดของแต่ละพื้นที่ปกครองก็เป็นสิ่งที่อาจต้องนึกถึง อาเจะห์เป็นพื้นที่เล็กๆ จังหวัดเล็กๆ สิ่งที่คนอาเจะห์ต้องคิดคือภาพที่ชาวอาเจะห์มีบทบาทในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในที่อื่นๆมากกว่า ไม่ว่าจะในประเทศอินโดนีเซียเองหรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดอิสลามที่เน้นการให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ในฐานคิดนี้จึงจำเป็นที่เราจะต้องรักษาสิ่งที่ดีและป้องกันความชั่วร้ายต่างๆ

อนาคตของอาเจะห์ หากมองจากทุกวันนี้ มีคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและซึนามิที่เกิดขึ้น ยังไม่เพียงพออีกหรือ? ในเวลานี้ชาวอาเจะห์ต่างหาหนทางที่จะทำให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่ออาเจะห์เอง กำหนดแนวทางในการตัดสินใจด้วยตนเอง

ในอนาคตอาเจะห์กำลังเน้นในการพัฒนาการบริหารปกครองพื้นที่ รวมไปถึงกฎหมายและแนวทางการจัดการพื้นที่ให้เกิดผลที่ดีต่อพื้นที่ทั้งหมดได้ และเพื่อให้ไปสู่ความยุติธรรมและความเท่าเทียมให้แก่คนในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา โครงสร้างสาธารณูปโภค รักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านสาธารณสุข เหล่านี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำ จงเป็นแบบอย่าง ถ้าไม่เป็นแบบอย่างแล้วก็จงเอาผู้นำนั้นลงมา แต่แน่นอนว่าต้องทำด้วยแนวทางสันติวิธี”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net