นักวิชาการฝ่ายซ้ายสิงคโปร์ชวนจับตาเลือกตั้งชี้วัดความเปลี่ยนแปลง

ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ในวันศุกร์นี้ นักวิชาการชาวสิงคโปร์ผู้เคยร่วมกับพรรคสังคมนิยมวิเคราะห์ว่าคนหนุ่มสาวในสิงคโปร์กำลังต้องการความเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มากพอจะทำให้พรรค PAP พ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ชวนให้จับตามองว่าคะแนนเสียงของพรรคที่คงอำนาจในสิงคโปร์มานานจะสั่นคลอนหรือไม่

7 ก.ย. 2558 ปอสูไข อดีตผู้ช่วยเลขาธิการพรรคสังคมนิยมสิงคโปร์เขียนบทความลงในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ระบุว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งในวันศุกร์นี้ (11 ก.ย.) จะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม แต่คนหนุ่มสาวชาวสิงคโปร์ในยุคนี้ก็เริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลและต้องการให้เกิดความโปร่งใส พวกเขาปรารถนาให้เกิดการเมืองแบบใหม่ในประเทศสิงคโปร์

ปอสูไข ยกตัวอย่างกรณีที่มีผู้สนใจหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของหลิมชินเสียงต่อประวัติศาสตร์สิงคโปร์เป็นจำนวนมากจนทำให้มีฉบับตีพิมพ์ใหม่ออกมาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา หลิมชินเสียงเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายและเป็นผู้นำสหภาพแรงงานในสิงคโปร์ที่มีบทบาทช่วงคริสตทศวรรษที่ 1950-1960 ซึ่งปอสูไขเปิดเผยว่าการได้รับรู้เรื่องราวของหลิมชินเสียงจะเป็นประโยชน์ต่อคนหนุ่มสาวมาก

หลิมชินเสียงเคยถูกจับเข้าคุกโดยไม่มีข้อหา 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยของรัฐบาลหลิมหยิวฮกช่วงปี พ.ศ. 2499-2502 และครั้งที่สองในสมัยที่มีปฏิบัติการปราบปรามฝ่ายซ้ายโดยลีกวนยูในช่วงปี พ.ศ. 2506-2512

ปอสูไขเปิดเผยว่างานเปิดตัวหนังสือได้รับความสนใจทั้งจากคนรุ่นก่อนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการฝ่ายซ้ายในยุคนั้นและคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน โดยคนรุ่นก่อนจะให้ความสนใจงานเปิดตัวหนังสือฉบับภาษาจีน ขณะที่คนรุ่นหนุ่มสาวจะให้ความสนใจหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ และเมื่อเขาได้พูดคุยกับคนหนุ่มสาวแล้วก็พบว่าคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

"คนหนุ่มสาวในยุคนี้มีการศึกษาดีขึ้นมาก พวกเขาไม่อยากถูกสั่งว่าต้องทำอะไร พวกเขาต้องการมีส่วนร่วม พวกเขาต้องการความโปร่งใส พวกเขาต้องการข้อเท็จจริง ซึ่งพรรคกิจประชาชน (PAP) ที่เป็นรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2502 ไม่เคยมีความโปร่งใสให้กับพวกเขาเลย" ปอสุไขระบุในบทความ

ปอสูไขระบุอีกว่าจากสภาพเศรษฐกิจในสิงคโปร์ปัจจุบันแล้วคนหนุ่มสาวในสิงคโปร์กำลังกลัวว่าจะตกงานในช่วงอายุ 40 ปี และจะไม่มีเงินมากพอเมื่อใช้ชีวิตหลังช่วงเกษียณอายุ พวกเขาไม่พอใจที่กองทุนกลางสำรองเลี้ยงชีพ (Central Privident Fund หรือ CPF) จะจ่ายเงินหลังเกษียณให้กับพวกเขาแค่เล็กน้อย ไม่ใช่ได้เป็นก้อนๆ ตามที่เข้าใจ อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ยังมีอำนาจในการควบคุมปริมาณการเบิกถอนของพวกเขาด้วย

บทความของปอสูไขระบุต่อไปว่าการที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุคของหลิมชินเสียงยิ่งทำให้พวกเขาเชื่อถือในรัฐบาลสิงคโปร์น้อยลง เช่นกรณีที่รัฐบาลหลิมหยิวฮกเคยให้ร้ายป้ายสีว่าหลิมชินเสียงเคยสั่งให้ผู้ประท้วงทุบตีตำรวจในการชุมนุมมาก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าคำปราศรัยของหลิมชินเสียงบอกว่าตำรวจเป็น "เพื่อน" และขอร้องไม่ให้ผู้ประท้วงระบายความโกรธแค้นใส่ตำรวจ การให้ร้ายป้ายสีดังกล่าวทำให้หลิมชินเสียงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดจลาจลจนทำให้เขาถูกสั่งจำคุก

ในเหตุการณ์ดังกล่าวถึงแม้ว่าลีกวนยูจะอยู่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2499 ด้วย แต่เมื่อพรรค PAP ได้เป็นรัฐบาลก็ไม่มีการแก้ไขข้อกล่าวหาให้กับหลิมชินเสียงแต่อย่างใด ปอสูไขระบุว่าทั้งลีกวนยูและหลิมหยิวฮกต่างก็ต้องการกำจัดหลิมชินเสียงเพราะมองว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่จริงใจ มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำ และมีผู้คนจำนวนมากติดตามเขา

ปอสูไขระบุว่าถึงแม้พรรค PAP ยังคงมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลต่อไปอยู่สูงมาก แต่ผู้คนก็เริ่มกังขาต่อรัฐบาล PAP มากขึ้นและต้องการความโปร่งใสมากขึ้น ปอสูไขชี้อีกว่าพรรค PAP อาศัยช่องโหว่ในการเลือกตั้งโดยมีการส่งผู้แทนมากถึง 89 คน เทียบกับพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดอย่างพรรคแรงงานที่ส่งผู้แทนเข้าชิงชัย 28 คน ในส่วนที่เหลือพรรค PAP จะต้องสู้กับพรรคการเมืองอิสระ ทำให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้กลายเป็นการแสดงออกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการสนับสนุนหรือต่อต้านพรรค PAP สิ่งที่ควรจะจับตามองจริงๆ จึงไม่ใช่จำนวน ส.ส. ที่ชนะที่นั่งในสภา แต่คือจำนวนคะแนนเสียงที่พวกเขาได้รับเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน

 

เรียบเรียงจาก

Change is on its way in Singapore, Poh Soo Kai, New Mandala, 07-09-2015
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2015/09/07/change-is-on-its-way-in-singapore/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Lim_Chin_Siong

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท