จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

   
แปลความนี้แปลจาก “สงครามและผู้ที่ดูไม่น่าเป็นวีรบุรุษ :ชินด์เลอร์แห่งเมืองนานกิง” หรือ War and an unlikely hero: Schindler of Nanjing  เขียนโดยคลิฟฟอร์ด คูนันแห่งเว็บไซต์เดอะอินดิเพนเดนต์
     
เกิดความโกลาหลขึ้นบนท้องถนนในเมืองนานกิง (Nanjing) เดือนธันวาคมปี 1937 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีกำแพงที่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงที่โอบล้อมเมืองหลวงของจีนในขณะนั้น สิ่งนี้ทำให้เกิดการสังหารหมู่จนกลายเป็นชื่อที่รู้จักกันว่า "การข่มขืนเมืองนานกิง" (Rape of Nanking) ตามชื่อเก่าของเมือง
    
ชาวเมืองหลายพันหลายหมื่นคนถูกสังหารโดยกองทัพญี่ปุ่น แต่สำหรับใครหลายคน มีบุรุษผู้หนึ่งมาช่วยชีวิตเขาไว้ได้ทัน คนๆ นั้นคือสมาชิกพรรคนาซีผู้ซึ่งให้ชาวจีนได้พักพิงในสวนของบ้านที่สร้างจากอิฐสีเทาอันหรูหราใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยนานกิง ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนได้มากว่าสองแสนห้าหมื่นคน
    
จอห์น ราเบ้ได้นำกลุ่มมิชชันนารี นักธุรกิจและนักวิชาการชาวตะวันตกในการคลุมตรากาชาดที่เขียนไว้บนผ้าปูเตียงไว้รอบ ๆ พื้นที่ 2 หรือ 3 ตารางกิโลเมตร คนกว่าสองแสนห้าหมื่นคนที่สามารถเข้าไปข้างในเขตปลอดภัยสามารถรอดมาได้ แต่สามแสนคนที่ข้างนอกเขตปลอดภัยของนานาชาติกลายเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่แห่งเมืองนานกิง
    
พร้อมปลอกแขนรูปสวัสดิกะ ราเบ้ดูไม่น่าจะเป็นวีรบุรุษ แต่ความกล้าหาญและปราศจากเห็นแก่ตัวจากการที่เขาสร้างเขตปลอดภัยสำหรับชาวเมือง เขาจึงกลายเป็น "พระโพธิสัตว์ในร่างมนุษย์แห่งเมืองนานกิง" เรื่องราวของเขากำลังจะกลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดในไม่ช้า (ภาพยนต์มีชื่อ City of War: The Story of John Rabe สร้างในปี 2009 -ผู้แปล) และมหาวิทยาลัยนานกิงได้เปลี่ยนบ้านของราเบ้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ จากความช่วยเหลือของบริษัทเก่าของเขาคือซีเมนส์ มันมีกำหนดการณ์จะเปิดในเดือนหน้า
   
กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีภาคพื้นดินในวันที่ 10 ธันวาคมและเมืองก็ถูกยึดได้ใน 3 วันหลังจากนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำชำเราเมืองนานกิงที่กินเวลากว่า 6 อาทิตย์ ทางจีนบอกว่าชาวจีนกว่า 3 แสนคนต้องเสียชีวิต ถึงแม้ทางญี่ปุ่นจะยืนยันว่าจำนวนต่ำกว่านั้น พยานกล่าวว่าเชลยชาวจีนถูกทรมาน เผาและฝังทั้งเป็น ตัดคอ ถูกดาบปลายปืนเสียบและถูกกราดยิงหมู่ ผู้หญิงและเด็กสาวชาวจีนกว่า 8  หมื่นคนถูกข่มขืน และมากกว่านั้นถูกสังหารกับถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกาม เหตุการณ์เช่นนี้ได้สร้างรอยแผลทางใจรอยใหญ่ไว้กับจีนและยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงโตเกียวจนถึงทุกวันนี้
    
การบรรยายของเรเบ้ต่อการสังหารหมู่ครั้งนี้ในไดอารี่กว่า 1,200 หน้านั้นดูน่าสะเทือนใจและเต็มไปด้วยรายละเอียด และถึงแม้จะหายไปเป็นเวลาหลายปี มันกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งนัก

"หากผมไม่เห็นมันด้วยสายตาของตัวเอง ผมก็จะไม่เชื่อเป็นอันขาด" พวกเขา (ทหารญี่ปุ่น) พังหน้าต่างและประตูเข้ามายึดฉวยเอาสิ่งที่ตนอยากได้ ผมเห็นด้วยสายตาตัวเองว่าพวกเขาปล้นสะดมร้านกาแฟของคุณคิซสลิง คนทำขนมปังซึ่งเป็นคนเยอรมันเช่นเรา" เขาได้เขียนไว้

ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรของเยอรมันและราเบ้มักจะใช้ประโยชน์จากการโบกผ้ารัดแขนรูปสวัสดิกะเมื่อเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นที่พยายามเข้ามาวุ่นวายกับการช่วยเหลือของเขา สหรัฐฯ ก็ยังไม่เข้าร่วมสงคราม ถึงแม้ความตึงเครียดจะทวีมากขึ้นและราเบ้ได้บรรยายว่ามันเป็นงานที่เสี่ยงภัยอย่างไรและชาวต่างชาติก็หวุดหวิดจะโดนฆ่าหลายครั้งต่อหลายครั้งอย่างไร ในครั้งหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นบางกลุ่มบุกเข้ามาในเขตต่างชาติเพื่อมาข่มขืนผู้หญิง

"พวกเราแค่ชาวต่างชาติหยิบมือเดียวไม่สามารถอยู่ได้ในทุกที่ในเวลาเดียวกันในการปกป้องความหายนะเช่นนั้น ไม่มีใครทรงอำนาจในการต่อกรกับอสูรกายเหล่านั้นที่ติดอาวุธไว้ที่ฟันและจะยิงใครก็ตามที่พยายามปกป้องตัวเอง" ราเบ้เขียนไว้

มีทหารจีนท่ามกลางผู้อพยพและญี่ปุ่นบุกเข้ามาเพื่อจับกุมคนเหล่านั้น และญี่ปุ่นพยายามบุกเข้ามาเพื่อจับกุมพวกเขา

"ประมาณว่ามีทหารจีนที่ไร้อาวุธประมาณ 1,000 คนที่เราให้ที่พักพิงในกระทรวงยุติธรรม ราวๆ  400 ถึง 500 คนถูกไล่ให้ออกไปพร้อมมือที่ถูกมัด เราคิดว่าพวกเขาคงถูกยิงเพราะหลังจากนั้นได้ยินเสียงปืนกลดังหลายชุดติดต่อกัน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราแข็งทื่อด้วยความกลัว"  ราเบ้ได้เขียนไว้

ฟู่บินจากสาขาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนานกิงได้แสดงให้เห็นถึงสวนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งคนจีน 650 คนอาศัยอยู่แออัดกันในฐานะผู้อพยพในเมืองของตัวเอง ซึ่งราเบ้ได้มอบข้าวและถั่วเหลืองให้

"ห้าครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านและมากกว่านั้นอาศัยอยู่ข้างนอก" เขาบอก

ฟู่เป็น 1 ใน 3 นักประวัติศาสตร์ ที่ไปเยอรมันเมื่อปีนี้เพื่อพบกับหลานของราเบ้และคนอื่นๆ ที่รู้จักเขาเพื่อมาเอาของที่ระลึกและแฟ้มต่างๆ มายังพิพิธภัณฑ์
    
สิ่งของบางชิ้นที่ถือครองโดยหลานๆของเขาซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองไฮเดลเบิร์กและกรุงเบอร์ลินนั้นน่าตื่นตาตื่นใจมาก มันคือสร้อยคอที่ทำจากหยกอันสวยงามและตุ๊กตาจีน ภาพที่เก่าเป็นสีน้ำตาลหม่นของปราการของชุมชนเยอรมันและครอบครัวของเขาเป็นประจักษ์พยานอันน่าซึ้งใจในการมาใช้ชีวิตในต่างแดนเมื่อทศวรรษที่ 30 แต่ลูกหลานของเขาได้ถนอมเก็บความทรงใจต่อสิ่งที่ปู่ได้ทำไว้เกือบทั้งหมด
     
ในลักษณะเดียวกับออสการ์ ชินด์เลอร์ นักธุรกิจที่ช่วยชีวิตชาวยิวไว้ได้ 1,200 คน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าราเบ้นั้นเป็นบุคคลที่ดูท้าทายกว่าในหลาย ๆ ด้าน เขาเข้าร่วมกับพรรคนาซีในช่วงต้น ๆ ได้เป็นหัวหน้าของสาขาระดับท้องถิ่นและดูเหมือนไม่สงสัยในศรัทธาต่ออุดมการณ์นาซีของตนเลย
     
ถัง ตวนหลวน ผู้อำนวยการสถาบันหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยนานกิงเชื่อว่าราเบ้นั้นแท้ที่จริงไม่สนใจการเมืองและเข้าร่วมกับพรรคเพียงเพื่อจะได้รับการสนับสนุนในการตั้งโรงเรียนสอนภาษาเยอรมันที่เขาสร้างขึ้นในนานกิ่ง สำหรับหล่อน ความเป็นมนุษย์อันประเสริฐของราเบ้นั้นทำให้หล่อนซาบซึ้งใจที่สุด

"เขานั้นเป็นเพียงนักธุรกิจ ไม่ใช่พระหรือคนขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งที่เขาทำที่นี่คือการปกป้องพลเมืองของประเทศอื่นโดยไม่สนใจความปลอดภัยของตัวเองซึ่งได้พ้นไปจากหน้าที่ของตน เขาเป็นคนดีที่เข้าใจศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ "ถังกล่าวไว้

ราเบ้เป็นลูกชายของกัปตันเรือ เขาเกิดในเมืองฮัมบรูก ปี 1882 และเดินทางมาถึงเมืองจีนในปี 1908 เข้าทำงานให้กับบริษัทซีเมนส์สองปีต่อมา เขาทำงานในกรุงปักกิ่งจนถึงเดือนธันวาคม ปี 1931 เมื่อบริษัทได้ย้ายเขาไปยังสำนักงานในเมืองนานกิง
   
ในฐานะเป็นตัวแทนอาวุโสประจำประเทศจีนของบริษัท เขาได้ขายโทรศัพท์ กังหันน้ำและเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับรัฐบาล
    
ภาพถ่ายหลายใบได้แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของราเบ้ หลุมป้องกันภัยทางอากาศที่เขาสร้างในสวนของตัวเองในเดือนสิงหาคม ปี1937 ถูกคลุมด้วยธงรูปสวัสดิกะเพื่อให้เบี่ยงเบนความสนใจของผู้โจมตี
     
ในปี 1937 เป็นที่ชัดเจนว่า กองทัพญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนเข้ามา และชุมชนต่างชาติและประชากรชาวจีนจำนวนมากของเมืองนานกิงรวมไปถึงรัฐบาลได้หลบหนีออกจากเมืองตั้งแต่พฤศจิกายน
    
ราเบ้ได้ส่งครอบครัวของตนกลับเยอรมันแต่เขายังคงอยู่เบื้องหลังพร้อมด้วยชาวต่างชาติจำนวนหลายสิบคนในการสร้างเขตปลอดภัย ไม่ช้าหลังจากกองทัพญี่ปุ่นมาถึง ราเบ้ได้รับเลือกให้เป็นประธานของคณะกรรมการที่มีสมาชิก 15  คนของเขตปลอดภัยนานาชาติ

"ในครั้งแรก เขาลังเลใจและกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัวตัวเอง แต่แล้วเขาก็เข้ารับตำแหน่ง และแบกรับความรับผิดชอบไว้และไม่หันหลังกลับ" ถังกล่าว

ฮวง หุยอิงได้เขียนชีวประวัติของราเบ้และสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก

"ราเบ้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือผู้มาไถ่ในร่างของมนุษย์โดยผู้รอดชีวิต สิ่งนี้นับได้ว่าเป็นการยกย่องในระดับสูงตามวัฒนธรรมของจีน" หล่อนว่าไว้

แม้แต่ในเวลานั้นชื่อเสียงของเขาถึงระดับที่ว่าผู้หญิงจากมหาวิทยาลัยสตรีจินหลิงจำนวน 3,000 คนได้คุกเข่าตามข้างถนนด้วยความกตัญญูเมื่อราเบ้ถูกบังคับให้ออกไปจากเมืองในตอนต้นปี 1938
   
หลังจากกลับไปนครเบอร์ลิน ราเบ้ได้ไปเดินสายบรรยายเกี่ยวกับการสังหารหมู่และพยายามติดต่อฮิตเลอร์เพื่อให้เข้าไปแทรกแซง เขาถูกจับกุมและถูกสอบสวนโดยเกสตาโปเป็นเวลา 3 วัน แต่ด้วยเส้นสายของบริษัทซีเมนส์เขาได้รับการปล่อยตัวและถูกสั่งให้หุบปาก เขาเดินทางไปอัฟกานิสถานและกลับมากรุงเบอร์ลินเพื่อทำงานให้กับซีเมนส์ ภายหลังสงคราม เขาถูก”ถอนความเป็นนาซี" จากฝ่ายสัมพันธมิตรและสามารถยังชีพด้วยห่ออาหารและเงินที่ส่งมาจากชาวจีนที่รู้สึกกตัญญูต่อวีรกรรมของเขา ราเบ้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี 1950
   
ในตอนหนึ่งของไดอารี่ของเขาที่ถูกบันทึกในช่วงคริสต์มาส ปี 1937 สรุปแรงจูงใจของเขาได้อย่างดี เขาเพิ่งได้รับจดหมายอวยพรคริสต์มาสทั้งภาษาเยอรมันและภาษาจีนจากผู้อพยพเพื่อขอบคุณในสิ่งที่เขาได้ทำลงไป

 "ของขวัญวันคริสต์มาสที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้รับคือการช่วยเหลือชีวิตของคนมากกว่า 600 คน"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท