Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกจากสมาชิกส่วนหนึ่งของประชาคม ม.มหาสารคาม วอนทุกฝ่ายสร้างการถกเถียงบนความแตกต่าง เพื่อความงอกงามทางปัญญาบนพื้นฐานของความอดทน อดกลั้น เรียกร้องผู้บริหารมหา'ลัยคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ไม่ให้เป็น“พื้นที่เสี่ยง” ที่จะมีการใช้ความรุนแรง

0000

จดหมายเปิดผนึก

“อยู่ร่วมกันอย่างไรภายใต้ทัศนะที่แตกต่าง กับการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและร่างกาย”


เรียน ประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สืบเนื่องจากกรณีอาจารย์ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การรับน้องและการประชุมเชียร์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2558 และขณะนี้เรื่องราวดังกล่าวได้พัฒนากลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งได้แสดงการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ถ้อยคำเหยียดหยามทางเพศ การข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศ อันเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง ต่อเจ้าของทัศนะ

ไม่เพียงเท่านั้น การแสดงทัศนะของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อกรณีนี้ ดังปรากฏในสื่อต่างๆ ที่ผ่านมา ยังสร้างความกังวลใจต่อท่าทีและการทำความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าวในกระบวนการตรวจสอบที่คาดว่าจะมีขึ้นว่า จะเป็นไปเพื่อมุ่งหวังต่อการแก้ไขและจัดการต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงที่ได้เกิดขึ้นหรือที่อาจเกิดได้ต่อไปในอนาคตหรือไม่  หรือจะเป็นเพียงการดำเนินการเพื่อแสดงความรับผิดชอบอันเกิดจากการกดดันจากสังคมภายนอก รวมถึงหน่วยงานในระดับที่สูงกว่าเท่านั้น

ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคม พวกเราเชื่อว่า เป็นเรื่องปกติวิสัยที่มนุษย์จะมีความเห็นอันแตกต่างจากความเชื่อ จารีตและธรรมเนียมปฏิบัติสิ่งที่พวกเราเป็นห่วงคือ การแสดงความคิดเห็นต่างกลับถูกตอบโต้โดยการคุกคาม

ในฐานะสถานศึกษา สาธารณชนย่อมคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ส่งเสริมการใช้เหตุผลในการถกเถียงและทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เพื่อความงอกงามทางปัญญาบนพื้นฐานของความอดทน อดกลั้น สาธารณชนย่อมไม่คาดหวังให้มหาวิทยาลัยเป็น “พื้นที่เสี่ยง” ที่มีการใช้ความรุนแรงในการจัดการความแตกต่าง

พวกเราจึงมีความเห็นว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งส่วนตัว แต่เป็นเหตุการณ์ที่เรียกร้องให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องทบทวนว่า พวกเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรหากเกิดการปะทะกันทางความคิดระหว่างทัศนะที่แตกต่างพวกเราจะใช้ชีวิตอยู่มหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ พวกเราควรจะแสวงหาแนวทางจัดการต่อปัญหาเช่นนี้ร่วมกันอย่างไร และพวกเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในฐานะ “ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

ดังนั้นพวกเราในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพทางวิชาการ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างพึงเคารพอาจตอบโต้ความเห็นต่างนั้นด้วยเหตุผลและแง่มุมทางวิชาการมิ ใช่การข่มขู่ คุกคามไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีบทบาทในการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุและผลซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาปัญญาและงานทางวิชาการ รวมถึงต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนในการความปลอดภัยของบุคลากรที่ถูกคุกคามจากการแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางวิชาการดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังและความเชื่อมั่นในการงานทางวิชาการ

ส่วนหนึ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

28 สิงหาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net