สิงคโปร์ยุบสภาก่อนครบวาระ - เตรียมเลือกตั้ง 11 กันยานี้

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.46 ล้านคนในสิงคโปร์เตรียมไปเลือกตั้ง 11 ก.ย. นี้ หลังประธานาธิบดีลงนามยุบสภา ด้านนายกรัฐมนตรี "ลี เซียนหลง" ขอเสียงสนับสนุนเป็นรัฐบาลอีกสมัย และวางทิศทางสิงคโปร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า ขณะที่พรรคฝ่ายค้านคาดหมายว่าจะใช้วิธีส่งผู้สมัคร ส.ส. ไม่ซ้ำเขตเดียวกัน เพื่อเลี่ยงตัดคะแนนกันเอง

หน้าแรกของเว็บไซต์แผนกเลือกตั้งสิงคโปร์ ทั้งนี้สิงคโปร์จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 11 กันยายนนี้ โดยประกาศยุบสภาเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) เป็นการยุบสภาก่อนหมดวาระ 1 ปี (ที่มา: Elections Department Singapore)

 

สิงคโปร์ประกาศยุบสภาก่อนหมดวาระ เตรียมเลือกตั้ง 11 ก.ย. นี้

26 ส.ค. 2558 - ชาวสิงคโปร์เตรียมเลือกตั้งในวันที่ 11 ก.ย. นี้ หลังประธานาธิบดีโทนี ตัน เค็งเอี่ยม ลงนามยุบสภาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนหลง ทั้งนี้ทำให้รัฐสภาชุดที่ 12 ของสิงคโปร์สิ้นสุดลง นับเป็นตัดสินใจยุบสภาก่อนกำหนด 1 ปี ของพรรครัฐบาล

ขณะที่ในสุนทรพจน์ประจำปีของ ลี เซียนหลง เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ตอนหนึ่งเขากล่าวเป็นนัยว่าจะมีการเลือกตั้งว่า "เร็วๆ นี้เขาจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง เพื่อถามต่อท่านเพื่อขอฉันทะ ในการนำสิงคโปร์ไปสู่การสร้างชาติในระยะหลังจากนี้" (อ่านสุนทรพจน์ของลี เซียนหลง)

โดยในเฟซบุ๊คของ ลี เซียนหลง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เขาได้แจ้งข่าวการยุบสภาและวันเลือกตั้ง โดยตอนหนึ่งเขากล่าวว่า ต้องการขอฉันทะจากประชาชนเพื่อนำพาสิงคโปร์ต่อไป ในยุคหลังจากครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี "คุณจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ปกครองสิงคโปร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า มากกว่านั้นคุณจะได้เป็นผู้เลือกทีมงานเพื่อทำงานร่วมกับคุณในอีก 15-20 ปีข้างหน้า และวางทิศทางของสิงคโปร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า"

ลี เซียนหลง กล่าวต่อไปว่า "สิ่งที่เราประสบความสำเร็จร่วมกันในสิงคโปร์นั้นเป็นสิ่งพิเศษ ที่นี่หลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพ และผู้คนจำนวนมากมาจากครอบครัวสมถะแต่ก็สามารถประสบความสำเร็จ เราจะต้องพบกับอุปสรรคข้างหน้าแน่นอน แต่ไม่ว่าโลกจะโยนสิ่งใดมาที่เรา ในฐานะประชาชนหนึ่งเดียวกัน เราจะชนะ"

"หากท่านภูมิใจในสิ่งที่เราบรรลุความสำเร็จร่วมกัน และสนับสนุนในสิ่งที่เราต้องการทำเพื่ออนาคต โปรดสนับสนุนผมและทีมของผม เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับท่าน เพื่อทำสิ่งนั้นเพื่อท่าน และเพื่อสิงคโปร์ มาร่วมกัน พวกเราสามารถทำให้สิงคโปร์มีความพิเศษสำหรับในอีกหลายปีข้างหน้า" ลี เซียนหลง ซึ่งกำลังจะหาเสียงเป็นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 หาเสียงท้ายสเตตัส

ทั้งนี้จากข้อมูลในสเตรทไทม์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงที่นั่ง ส.ส. 89 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 2 ที่นั่ง โดยแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 29 เขตเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็นทั้งเขตเดี่ยว และเขตกลุ่ม

ขณะที่วันรับสมัคร ส.ส. กำหนดให้เป็นอังคารวันที่ 1 ก.ย. โดยการปราศรัยหาเสียงทำได้จนถึงวันที่ 9 ก.ย. ส่วนวันที่ 10 ก.ย. กำหนดให้เป็นวันคูลลิ่งออฟ เดย์ (Cooling-off day) ซึ่งสิงคโปร์เริ่มใช้มาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 โดยห้ามผู้สมัคร ส.ส. หาเสียง เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้มีเวลาทบทวนนโยบายที่พรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมานำเสนอ และวันที่ 11 ก.ย. กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง คูหาลงคะแนนจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 20.00 น.

โดยการเลือกตั้ง 11 ก.ย. นี้ จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.46 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2.35 ล้านคน

 

ฝ่ายค้านเลี่ยงส่ง ส.ส. ชนกัน หวั่นตัดคะแนนกันเอง - แต่มีบางเขตอาจเกิด 'สามเส้า'

ทั้งนี้พรรครัฐบาลคือ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) คาดหมายว่าจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขต คือ 89 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค คาดว่าจะส่งผู้สมัครแบบการเลือกตั้งปี 2554 คือแบ่งกันส่ง ส.ส. ไม่ซ้ำเขตกัน เพื่อไม่ให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง

อย่างไรก็ตาม มีบางเขตเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านหลายพรรคจะส่งผู้สมัครชนกัน เช่น เขตแมคเฟอร์สัน (MacPherson SMC) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบเดี่ยว ทั้งพรรคแรงงาน (Workers’ Party - WP) และ พรรคสามัคคีแห่งชาติ (National Solidarity Party - NSP) ต่างหมายมั่นปั้นมือว่าจะครองที่นั่งในเขตนี้ และเขตโปตงปาซี (Potong Pasir SMC) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบเดี่ยว ก็ดูเหมือนจะเป็นการสู้ศึกเลือกตั้ง 3 เส้า โดยผู้สมัครอิสระ นายตัน หลำสง (Tan Lam Siong) อดีตเลขาธิการพรรคสามัคคีแห่งชาติ (NSP) ต้องการลงสมัครในเขตนี้ เพื่อแข่งกับผู้สมัครจากพรรครัฐบาล (PAP) และพรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore People's Party)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลการเลือกตั้งปี 2554 พรรครัฐบาลคือพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมด 81 ที่นั่ง ที่เหลือ 6 ที่นั่ง เป็นของพรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers’ Party - WP) โดยคะแนนรวมของพรรคกิจประชาชน (PAP) อยู่ที่ร้อยละ 60.14 ลดลงจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2549 คะแนนรวมอยู่ที่ร้อยละ 66.60

โดยการเลือกตั้งดังกล่าว พรรคแรงงานสิงคโปร์ ชนะการเลือกตั้งในเขตเหากัง (Hougang) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบเดี่ยว และเขตอัลจูนีด (Aljunied) ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มมี ส.ส. ได้ 5 คน โดยที่เขตอัลจูนีด มีสองรัฐมนตรีในพรรครัฐบาลที่ต้องสอบตก คือ นายจอร์จ เหยียว (George Yeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นางหลิม หวี หัว (Lim Hwee Hua) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีอาวุโสอย่างนายไซนุล อะบิดีน ราชีส (Zainul Abidin Rasheed) นางซินเธีย พัว (Cynthia Phua) ซึ่งเคยเป็นประธานสภา นอกจากนี้ยังมีผู้นำสหภาพแรงงานอย่างนายอ๋อง เย กุง (Ong Ye Kung) โดยผู้สมัครจากพรรคกิจประชาชน (PAP) ในเขตอัลจูนีดทั้ง 5 คนดังกล่าว ต้องสอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ในการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นกลายเป็น 6 ที่นั่ง จากเดิมในการเลือกตั้งปี 2549 มี ส.ส. ฝ่ายค้าน 2 ที่นั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท