Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.2558) ราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2558”  โดยระเบียบดังกล่าวมีความน่าสนใจ ในแง่ของปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคม เนื่องจากเป็นการแสดงบทบาท “อย่างเป็นทางการ” ของรัฐในที่เล่นบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุน” ภาคประชาสังคมและ NGOs อย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่ออ่านจากระเบียบดังกล่าวแล้วผมมีข้อสังเกต ดังนี้

1. อาจเป็นเจตนาดีของรัฐที่ “ให้ความสําคัญในการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการดําเนินการ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงสมควรส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ในการร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กร ภาคประชาสังคมของภาครัฐให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” ก็ได้ (โปรดดูอรัมภบทของระเบียบ) แต่อย่างไรก็ดีผมขอตั้งข้อสังเกตขีดเส้นใต้สามร้อยเส้นไว้ว่า ระเบียบ ฯ ฉบับนี้คงมีเจตนามา “จัดแถว” บรรดาองค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ทั้งหลายให้อยู่ในโอวาท ขับเคลื่อนงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ... ที่สำคัญคือต้อง“สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล” ด้วยนะฮะ!

2. ระเบียบ ฯ ฉบับนี้กำหนดให้มี “ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ” โดยมีนายก ฯ หรือรองนายก ฯ ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธาน มี รมต.สำนักนายก ฯ เป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และผู้อํานวยการสํานักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สมควรขีดเส้นใต้สามร้อยเส้น “ผู้จัดการ ส.ส.ส.” ในฐานะกรรมการโดยตำแหน่ง ไว้ ณ ที่นี้ก่อน เพราะในระเบียบข้อท้าย ๆ จะว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนเงินงบประมาณและบุคลกร ) นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคม คือ (1) ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปี ในด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ด้านการส่งเสริมสิทธิชุมชนหรือสิทธิพลเมือง ด้านการส่งเสริมความเป็นธรรมหรือลดความเหลื่อมล้ําทางสังคม และด้านกลุ่มประชากรหรือผู้ด้อยโอกาส จํานวนด้านละสองคน (2) ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปี ในด้านกฎหมาย จํานวนหนึ่งคน

( ผมทราบว่าในภาคส่วนของ NGOs เอง ก็มีองค์กรของเขาเองที่ชื่อว่า “คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)” เพื่อทำภารกิจเป็น เป็นกลไกกลางในการประสานงานและเชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ ที่ทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งในเมืองและชนบท )

3. คณะกรรมการชุดนี้ มีอํานาจหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ํา พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคมและมีอํานาจหน้าที่โดยเฉพาะ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมดําเนินกิจกรรมหรือโครงการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมถึงกิจการเพื่อสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด, จัดทําแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนําไปปฏิบัติ , กําหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุน โครงการและกิจกรรมตามอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เป็นต้น

จากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเห็นว่าคณะกรรมการ ฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนด “แนวนโยบาย” ในการสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม และ NGOs ในการขับเคลื่อนงาน นี่แหละครับ ! ที่ผมเห็นว่าเป็นบทบาทที่มีนัยสำคัญซึ่งจะเปลี่ยนแปลงบทบาทประชาสังคม หรือ NGOs ให้เป็น “ประชาสังคมภาครัฐ” และ “NGOs ภาครัฐ”

4. ในระเบียบ ฯ ข้อ 11 กำหดว่า “เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการทําความตกลงกับ หน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินการอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการของคณะกรรมการ เพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนบุคลากร สถานที่ งบประมาณ เงินบริจาค และเงินรายได้อื่น ตามที่กฎหมายกําหนด” นี่ก็เป็นข้อยืนยันอีกข้อหนึ่งครับว่า คณะกรรมการ ฯ ชุดนี้ จะมาทำหน้าที่เป็น “สปอนเซอร์” จัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนบทบาทภาคประชาสังคม และ NGOs อย่างเป็นทางการ (ซึ่งหลายท่านอาจเห็นว่า “ก็ดีไง! ภาคประชาสังคมจะได้มีทุนในการขับเคลื่อนงาน” / แต่อย่ากระนั้นเลยครับ! เมื่อท่านทั้งหลายรับการสนับสนุนจาก คกก.ชุดนี้เพื่อขับเคลื่อนงาน ท่านอย่าลืมว่าการขับเคลื่อนงานนั้นจะต้องกระทำบนอาณัติ ที่ว่า “ สนับสนุนการดําเนินงานขององค์กร ภาคประชาสังคมของภาครัฐให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ” ดังนั้น หากภาคประชาสังคม หรือ NGOs ใด ที่ขับเคลื่อนงานในลักษณะ “นอกแถว” (ต่อต้านนโยบายของรัฐ) ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ท่านก็อย่าได้หวังที่จะได้รับการส่งเสริมจาก คกก. ชุดนี้ เลยครับ )

ผมไม่อยากจะคิดเลยครับว่า หากรัฐใช้กลไกของรัฐเข้ามาครอบงำ ภาคประชาสังคม และ NGOs ในฐานะ “ขบวนการ (เคลื่อนไหว) ทางสังคม” แล้วละก็... ปรัชญาหรือธรรมชาติขององค์กรเหล่านี้จะถูกบิดเบือนไปอย่างไร ?

 

ปล. หรือว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไป !

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net