Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 

เป็นเวลาครึ่งสัปดาห์แล้วหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมกลางเมืองหลวงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 ราย นับเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงและเป็นเรื่องสะเทือนจิตใจอย่างยิ่ง แน่นอนในบรรยากาศเช่นนี้บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ความกลัว ความหวาดระแวงจากการก่อวินาศกรรมและการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ จนหลายครั้งพวกท่านก็หลงลืมว่าตัวของท่านเอง ความคิดของท่านเองหรือของเพื่อนร่วมสังคมของท่านก็น่ากลัวไม่แตกต่างไปจากการก่อการร้ายเลย...

ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลายท่านที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้ย่อมจะต้องเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) และคงจะต้องเคยเห็นหรือได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ตัวข้าพเจ้าเองก็เช่นกัน ในระยะเวลาที่ผ่านมาข้าพเจ้าสังเกตสื่อสังคมออนไลน์และการแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การใส่ร้ายป้ายสีความผิดให้แก่คู่ตรงข้ามทางการเมือง เรื่อยมาจนกระทั่งการสร้างทฤษฎีสมคบคิดที่ไร้ซึ่งหลักฐานที่มากพอจะทำให้เชื่อถือได้ (น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเหตุใดการเสนอทฤษฎีสมคบคิดนี้กลับมีผู้เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างมาก) อย่างไรก็ตามสิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นอันดับหนึ่งนั้นคือความบิดเบี้ยวทางสำนึกของกลุ่มคนในการแสดงออก

กรณีแรกคือจากกรณีที่สุภาพสตรีที่เป็นคนดัง ไม่ได้มีการแสดงทางสื่อสังคมออนไลน์ไปในทางแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อเหตุการณ์วินาศกรรมที่เกิดขึ้น จนตามมาด้วยการที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้าไปเขียนประณามและโจมตีว่าเจ้าหล่อนมิใช่คนรักชาติ? เป็นคนเลว? และไร้สามัญสำนึก?


กรณีถัดมานั้นคือจากกรณีที่วันนี้มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งเข้าไปถ่ายทำรายการบริเวณจุดเกิดเหตุโดยแต่งกายเลียนแบบผู้ต้องสงสัยในคดีก่อวินาศกรรม ส่งให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หรือในอีกกรณีที่มีการนำเอาภาพของผู้ต้องหามาตัดต่อหรือถ่ายภาพเทียบเคียงกับตัวเองพร้อมเขียนข้อความประกอบทำนอง “ผมไม่ใช่คนร้ายนะ” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ต่างกัน (หากจะมีกรณียกเว้นก็คงจะเป็นกรณีที่เจ้าของรูปนั้นมีรูปลักษณ์หน้าตาที่ดีระดับหนึ่งผลสะท้อนก็คงจะออกมาในทำนองชื่นชม) ประเด็นสำคัญก็คือไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตามมักตามมาด้วยการแสดงความเห็นในทำนองข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ไปจนกระทั่งขอให้บุคคลดังกล่าวประสบกับเหตุการณ์ความสูญเสียบ้าง...

เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย จะกล่าวให้ถูกและเห็นภาพชัดเจนแล้ว การแช่งชักหักขานั่นคือธรรมชาติของสังคมนี้ วัฒนกรรมการ Pray for …. นั้นต่างหากที่เป็นสิ่งแปลกปลอม พฤติกรรมเช่นว่านี้หาเจอตามท้องถนนได้ง่ายเสียยิ่งกว่านางรำไทยที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมประจำชาติเสียอีก แน่นอนพฤติกรรมและภาคปฏิบัติการทางอุดมการเหล่านี้เกิดจากอุดมการณ์และการประกอบสร้างทางสังคมอย่างแน่นอน ปมปัญหาจึงขยายจากเรื่องที่มาของปฏิบัติการทางอุดมการนี้ไปสู่เรื่องปัญหาของภาคปฏิบัติการทางอุดมการดังกล่าวซึ่งกระทำต่อสังคม


ภาคปฏิบัติการทางอุดมการณ์ที่ข้าพเจ้าเอ่ยถึงนั้นมักทำงานอยู่บนวาทกรรม 3 ชุด คือ “ความเหมาะสม” “กาลเทศะ” และ “สามัญสำนึก” กล่าวได้ว่าวาทกรรมทั้งสามชุดนี้ทำงานสอดคล้องและสนับสนุนกันอยู่ รวมทั้งขัดแย้งกันด้วยเช่นกันในบางกรณี  แต่ในกรณีนี้ทั้งสามทำงานสอดคล้องกัน แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาถึงความหมายแล้ววาทกรรมทั้งสามกินความหมายกว้างขวางมากและแทบจะไม่มีขอบเขตตายตัวในการหยิบใช้ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามันมีขอบเขตของมันอยู่ (ข้าพเจ้ากล่าวว่า“แทบจะไม่มีขอบเขต”มิใช่ว่า”ไม่มีขอบเขต”)

ภายใต้ความไม่มีขอบเขตนั้นขอบเขตของความเหมาะสมคืออะไรก็ตามที่ไม่ขัดต่ออุดมการณ์แห่งอุดมการณ์ซึ่งผู้ปฏิบัติการยึดถือ นั่นก็คือเมื่ออุดมการณ์บอกต่อพวกเขาว่านี่คือเวลาแห่งความเศร้าโศก และนี่คือเวลาที่เขาจะต้องเศร้าโศกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (แม้ว่าปัจเจกบุคคลนั้นจะมิได้เกี่ยวข้องอะไรต่อความสูญเสียเลยในทางตรง) อุดมการณ์จะเรียกร้องต่อไปให้พวกเขากลายเป็นองค์ประธานที่จะเรียกร้องต่อเพื่อนร่วมสังคมให้เศร้าโศกร่วมกัน ในแง่นี้เมื่อมีผู้ไม่เศร้าโศกหรือไม่แสดงออกถึงความหดหู่พวกเขาจะเลือกใช้วิธีการอะไรก็ได้ในการขจัดออก หรือทำลายคนกลุ่มนั้น เช่นการขู่จะทำร้ายหรือแช่งชักหักกระดูกให้เหตุวินาศกรรมไปเกิดกับคนอีกกลุ่ม แม้ว่าเหตุวินาศกรรมนั้นจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าโศกและไม่น่าเกิดกับใคร

ในแง่นี้กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ “การก่อวินาศกรรมคือเรื่องเลวร้ายนำไปสู่ความเศร้าโศก แต่หากมีคนไม่เศร้าโศกพวกเขาก็สมควรได้รับระเบิดไป” นี่จึงเป็นที่มาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในตอนต้นว่า “ความคิดของท่านเองหรือของเพื่อนร่วมสังคมของท่านก็น่ากลัวไม่แตกต่างไปจากการก่อการร้ายเลย” อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึงก็คือชื่อของบทความชิ้นนี้เป็นความจริงในระดับหนึ่งที่ว่า “เมื่อการก่อการร้ายเกิดขึ้น เสียงแห่งเสรีก็เงียบลง” แน่นอนว่าเป็นความจริงระดับนึงเพราะเสียงแห่งเสรีไม่ได้เงียบไปเสียทั้งหมดแต่ก็ยังต้องเงียบลงเพราะ “ความเหมาะสม” และเงียบลงในนามของ “ความมั่นคงแห่งรัฐ”

อันที่จริงผลเสียอีกประการหนึ่งก็คือท่านต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของการก่อวินาศกรรมหรือการก่อการร้ายนั้นก็เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความโศกเศร้าให้ปกคลุมทั่วทั้งสังคม เพื่อให้เกิดความระส่ำระสายจากภายใน หากยังจำกันได้ในกรณีก่อนหน้านี้ที่กลุ่มก่อการร้าย ISIS ได้ทำการสังหารตัวประกันชาวญี่ปุ่นเองหวังสร้างความหวาดกลัว หากทว่าชาวญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ตอบโต้ด้วยความเคียดแค้นหากแต่พวกเขาตอบโต้กลุ่ม ISIS ด้วยอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าการข่มขู่ของกลุ่ม ISIS นั้นไม่ได้ต่างจากอะไรจากการเรียกร้องความสนใจของพวกเด็กเกเรและมันไม่สามารถกระทบกระเทือนชาวญี่ปุ่นได้
 


ตัวอย่างภาพล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่ข้าพเจ้าเขียนมาทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะต้องการเย้ยหยันหรือไม่เคารพต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว (แน่นอนว่าข้าพเจ้าตระหนักดีถึงแนวโน้มของผลตอบรับที่จะได้รับกลับมาตั้งแต่จรดนิ้วมือเริ่มชื่อบทความแล้ว) ข้าพเจ้ามีความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และขออาศัยช่องทางนี้ในการประกาศประณามการกระทำดังกล่าว หากทว่าข้าพเจ้าไม่อาจจะละเลยปรากฏการณ์ทางสังคมที่อันตรายเช่นนี้ไปได้ ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้สังคมไทยบ่มเพาะความเกลียดชังและความรุนแรงทางความคิดให้ฝังรากลึกไปมากกว่านี้ จึงต้องถอดชนวนเสียก่อนที่มันจะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงในทางกายภาพ.

ขอแสดงความอาลัย

 

 

อ้างอิง

ลิ้งค์ข่าวกรณีรายการหนึ่งแต่งกายคล้ายผู้ต้องสงสัย http://www.dek-d.com/board/view/3544535/

ลิ้งค์แถลงขอโทษจากเนชั่นทีวี (เป็นเจ้าของรายการดังกล่าว) https://www.facebook.com/NationChannelTV

ลิ้งค์ข่าวชาวญี่ปุ่นตอบโต้ ISIS ด้วยการล้อเลียน https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=7&cad=rja&uact=8&ved=0CDIQFjAGahUKEwjm6szmqbnHAhXHno4KHfH0C-E&url=http%3A%2F%2F

ภาพประกอบเหตุการณ์ล้อเลียน ISIS มาจาก http://hilight.kapook.com/view/114802

ความเห็นบางประการที่ยกตัวอย่างนั้นมาจากผู้แสดงความคิดเห็นในเพจสังคมออนไลน์แถวหน้าซึ่งใช้ชื่อเพจ Drama-addict
 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ปัจจุบัน จักรพล ผลละออ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net