สัมภาษณ์พิเศษ แกนนำขบวนการผู้เห็นต่างจากชายแดนใต้: กระบวนการสันติภาพ ควรเป็นวาระแห่งชาติ

‘อาบูฮาฟิซ’ หนึ่งในแกนนำขบวนการฯ เน้นให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนสานต่อ เผยว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การตั้งรัฐอิสลาม แต่ตอนนี้อยากได้โอกาสเข้าไปฟังเสียงและความต้องการประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร และยังเห็นด้วยกับวิธีของขบวนการหรือไม่
 
31 ก.ค. 58 คามาลุดิน ฮานาพี หรือที่รู้จักกันในนาม อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม แกนนำคนหนึ่ง ที่ได้ร่วมโต๊ะเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลไทย ในนาม มารา ปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ณ ประเทศมาเลเซีย ถึงกระบวนการสันติภาพภายใต้รัฐบาลทหาร และจุดยืนต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา 
  
ที่ผ่านมาการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการก่อความไม่สงบมีมาเรื่อยๆ ในทางลับ นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐไทยไม่เคยมีความจริงใจต่อการเจรจาและมองการเจรจาเป็นเพียงโอกาสในการชี้ตัวแกนนำของขบวนการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาแบบเปิดเผยครั้งแรกก็เกิดขึ้นในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชิ้นวัตร ในปี 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่การพูดคุยก็ดำเนินไปได้ไม่กี่ครั้ง และจบลงหลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เจอการประท้วงขับไล่ ตามมาด้วยการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57 ภายใต้รัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การพูดคุยสันติภาพมีขึ้นอีกครั้ง กับองค์กรร่มของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกว่า มัจลิส ซูรอ ปาตานี เรียกสั้นๆ ว่า มารา ปาตานี ซึ่งประกอบด้วย บีอาร์เอ็น พูโล Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP) และ Barisan Islam Pembehbasan Patani (BIPP)
 
ภายใต้รัฐบาลทหาร การพบปะระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และกลุ่มมารา มีมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกช่วงต้นเดือน มิ.ย. ซึ่ง อาบูฮาฟิซเผยว่า ทั้งสองครั้ง ยังไม่ถือเป็นการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ในครั้งแรก เป็นเพียงการพบปะเพื่อแนะนำตัวตัวแทนของสองฝ่าย และแนะนำองค์กร มารา ปาตานี ต่อมาในการพบกันครั้งที่สอง ฝ่ายขบวนการเผยความต้องการ คือ หนึ่ง ให้รัฐไทยยอมรับองค์กร มารา ปาตานี, สอง ให้รัฐไทยรับรองความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการเจรจา และ สามคือ ผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะต้องให้สภาผู้แทนหรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้รับรองวาระนี้ ส่วนฝ่ายไทยก็ขอให้ฝ่ายขบวนการหยุดการปฏิบัติการในช่วงรอมฎอน แต่เนื่องจากการร้องขอนี้เกิดขึ้นกระชั้นชิดกับช่วงรอมฎอน ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน จึงไม่มีการรับปากเรื่องนี้ 
 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม
 
อาบูฮาฟิซ อธิบายถึงความสำคัญของการทำให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติว่า เนื่องจากฝ่ายขบวนการเห็นว่า กระบวนการสันติภาพที่ได้รับการรับรองจากรัฐสภา จำทำให้ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะขึ้นมาบริหารก็ต้องสานต่อกระบวนการนี้ “ถ้าหากเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลใดที่เข้ามา ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากไม่เป็นวาระแห่งชาติ พอเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว กระบวนการที่เคยดำเนินการมาก็จบตาม ต้องมาเริ่มใหม่กันหมด” อาบูฮาฟิซ กล่าว
 
อาบูฮาฟิซ กล่าวถึงกลุ่ม มาร่า ปาตานี ว่า ตั้งขึ้นมาตามความต้องการของทางการไทยที่อยากให้การเจรจาสันติภาพและการพูดคุยเป็นที่ยอมรับโดยทั่วทุกกลุ่ม และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพ เป็นไปอย่างมีเอกภาพ 
 
อย่างไรก็ตาม อาบูฮาฟิซ เชื่อว่าการเจรจาสันติภาพ จะบรรลุผลบนครรลองประชาธิปไตย “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เห็นกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าประเทศไทยไป ความไร้เสถียรภาพของประชาธิปไตยไทยนั้นฉุดรั้งกระบวนการเจรจาด้วยเช่นกัน ภายใต้ประชาธิปไตยเท่านั้น ที่การพูดคุยสันติภาพจะผลิดอกออกผลอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการยอมรับจากทุกฝ่าย”
 
เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จลุล่วง คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เนื่องจากความล้มเหลวของโต๊ะเจรจาในครั้งที่ผ่านๆ มา เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายขาดความเชื่อใจ และเริ่มการเจรจาด้วยการตั้งข้อรียกร้องที่รอมชอมกันไม่ได้ ทำให้การเจรจาเข้าสู่ทางตัน อาบูฮาฟิซ เสนอว่า ทั้งสองฝ่ายควรมาคุยแบบมือเปล่า ยังไม่ต้องยื่นข้อเรียกร้องใด ให้สร้างความเชื่อใจเสียก่อน ถกกันถึงแก่นของปัญหา แล้วจึงสร้างโรดแมพร่วมกัน แล้วค่อยตามมาด้วยการเสนอข้อเรียกร้องต่อกันภายหลัง
 
แม้จะเป็นการคุยกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ แต่ทหารคือตัวจริงเสมอมา 
 
เมื่อถามถึงท่าทีของพลเอกประยุทธ์ต่อประเด็นปัญหาสามจังหวัด อาบูฮาฟิซ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ฝ่ายขบวนการก็ได้จับตาดูท่าทีของประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่าจะแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนอย่างไร อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ประยุทธ์มักส่งสัญญาณที่มีความสับสนและขัดแย้งกัน 
 
“ตอนแรกประยุทธ์บอกว่า เขาต้องการสานต่อกระบวนการสันติภาพ และกองทัพมีพันธสัญญาต้องสานต่อกระบวนการสันติภาพ แน่นอน นี่คือสัญญาณเชิงบวก แต่ในขณะเดียวกัน ก็บอกว่า จะไม่ได้การพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการบริหารจัดการ นี่เป็นสัญญาณทางลบ แล้วเราจะมาพูดคุยกันทำไม หากประยุทธ์ได้ปิดประตูของการพูดคุยประเด็นหลักนี้ไปแล้ว” อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ตอนแรกประยุทธ์บอกว่า อยากให้กลุ่มขบวนการต่างๆ มารวมกันเพื่อยื่นข้อเสนอเดียว แต่พอฝ่ายขบวนการรวมกันเป็นมารา กลับพูดในเชิงไม่ยอมรับมารา ต่อมาประยุทธ์ยังเสนอให้เรียกการพูดคุยนี้ว่า การพูดคุยสันติสุข ไม่ใช่สันติภาพอีกด้วย “ผมก็ไม่รู้ว่า จริงๆ เขาคิดว่าอย่างไร . . . นั่นคือสิ่งที่เขาพูดกับผู้ชม ผู้คนของเขา” ทางกลุ่มจึงสรุปกันว่า จะยึดการสื่อสารบนโต๊ะเจรจาเป็นหลัก 
 
อาบูฮาฟิซเล่าว่า ได้มีการถกเถียงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในฐานะตัวแทนในการเจรจาสันติภาพว่า หากเราเข้าใจธรรมชาติของการเมืองไทย “เราต้องเข้าใจโครงสร้างและธรรมชาติของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร หากได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว นั่นก็ถือเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมแล้ว” นอกจากนี้จะเข้าใจว่ากองทัพมีอำนาจและอิทธิพลในการตัดสินใจทางการเมืองเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนเสมอมา การที่ทหารขึ้นมามีอำนาจ ก็เท่ากับการได้คุยกับคนที่มีอำนาจจริงๆ และทั้งยังได้สานต่อกระบวนการพูดคุยที่ได้เริ่มไว้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ให้หยุดชะงัก 
 
อาบูฮาฟิซ ชี้ ยุทธศาสตร์ของขบวนการอาจเปลี่ยนแปลง ประชาชนปาตานีจะเป็นผู้กำหนด 
 
อาบูฮาฟิซ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐไทยได้กระทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนในปาตานี คือการที่ทางการไทยไม่รับฟังเสียงจากคนในพื้นที่ มีหลายครั้งที่ข้อเรียกร้องถูกส่งผ่านตัวแทนไปแล้วเงียบหาย ตัวอย่างเช่น กรณีของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นผู้นำทางความคิดของชาวปาตานีใน ที่เคยยื่นข้อเสนอเจ็ดประการเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของชาวมลายูให้ทางการไทยในอดีต ก็ถูกมองว่าเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่ข้อเสนอนั้นไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนเลย 
 
“ท่านหะยีสุหลงไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ท่านเพียงต้องการสิทธิในภาษา กิจกรรมทางศาสนาอิสลาม และความต้องการต่างๆ ตามบริบทของท้องถิ่น” บทเรียนจากกรณีการถูกบังคับสูญหายของหะยีสุหลงหลังยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อต่อทางการไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการสรุปว่า เมื่อกระบวนการสันติวิธีไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ซ้ำยังถูกกดปราบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงถูกนำมาใช้ แต่ต่อไปนี้ตนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรให้ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าอนาคตของปาตานีจะเป็นอย่างไร 
 
“มันถึงเวลาให้ประชาชนได้ตัดสินใจ แน่นอน พวกเขาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะปัญหา และความรุนแรงมากมาย สรุปคือเราต้องเปลี่ยน แต่ประชาชนต่างหากจะเป็นผู้บอกว่า การเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่พวกเขาต้องการ รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ และให้เสรีภาพกับประชาชน อะไรคือสิ่งที่ดีและไม่ดีสำหรับพวกเขา เพื่อให้เขาเลือก และตัดสินใจอนาคตของพวกเขา” อาบูฮาฟิซกล่าว 
 
นอกจากนี้ อาบูฮาฟิซยังกล่าวว่า อยากได้ยินเสียงประชาชนวิพากษ์ฝ่ายขบวนการเช่นกัน “ในอดีต ตอนที่กลุ่มของพวกเราถูกตั้งขึ้น ประมาณ 50-60 ปีก่อน ผู้ก่อตั้งของเราเห็นว่า เมื่อเราเรียกร้องอะไรไปแบบสันติแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง และกลับถูกกระทำโดยการคุกคามมากมาย บางรายถูกฆ่าตาย พวกเขาจึงสรุปว่า เพื่อที่จะได้สิทธิของเรา เราต้องต่อสู้โดยใช้อาวุธ เราจึงทำแบบนั้นมาโดยตลอด แต่ตอนนี้สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เราจึงอยากได้ยินว่าประชาชนของเราคิดอย่างไรกับยุทธศาสตร์ของเรา ว่า มันยังคงเหมาะสมหรือไม่ ที่จะพูดถึง การปลดแอกเอกราช หรือแม้กระทั่งการดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ” อาบูฮาฟิซกล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่นั้นสำคัญมาก เพราะพวกเขาเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในความขัดแย้งครั้งนี้ 
 
“ไม่ว่าการตัดสินใจของประชาชนจะเป็นอย่างไร เราจะรับเอามา เราจะทำตามความเห็นของพวกเขา เพราะเราเป็นตัวแทนของพวกเขา” 
 
ขบวนการไม่มีนโบายโจมตีพลเรือน 
 
เมื่อถามถึงการกระทำความรุนแรงต่อพลเรือน ตัวแทนจากปีกการเมืองของกลุ่มก่อความไม่สงบ กล่าวว่า ทางขบวนการไม่มีนโยบายโจมตีพลเรือน แต่ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นนั้น อาจสืบเนื่องมาจากความแค้นส่วนตัว เช่น การกระทำต่อครูหรือพระสงฆ์ ก็เพราะมีการกระทำต่ออุสตาซ หรือโต๊ะครู เป็นต้น หากมีนักรบอาร์เคเคคนไหนออกนอกแถว กระทำนอกคำสั่งก็จะถูกลงโทษ อาบูฮาฟิซยอมรับว่า เหตุการณ์โจมตีต่อพลเรือนมีส่วนที่เกิดขึ้นโดยนักรบอาร์เคเค และเกิดโดยผู้อื่น เพราะในพื้นที่สามจังหวัดนั้นสามารถหาอาวุธมาถือครองได้ไม่ยาก 
 
เมื่อถูกถามถึงโครงสร้างของขบวนการ ซึ่ง ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษเคยเขียนในหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน” ว่า เป็นโครงสร้างแบบไร้แกน นั้นเป็นจริงหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ไม่จริง เพราะถ้าขบวนการไม่มีแกนเลย คงไม่สามารถดำรงกิจกรรมมาหลายสิบปีแบบนี้ได้ เมื่อถูกถามว่า ทำไมขบวนการจึงไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง เขากล่าวว่า อันนี้เขาตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นปีกทหารของขบวนการ แต่เขาเป็นฝ่ายการเมือง
 
ต่อคำถามเรื่องการใช้กฎหมายอิสลาม แกนนำของกลุ่ม มารา ปาตานี กล่าวว่า เป้าหมายของขบวนการคือได้เอกราช เป็นรัฐอิสระ ซึ่งเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็ควรจะต้องนำกฎหมายอิสลามมาใช้แม้ว่าอาจจะไม่สามารถนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็จะพยายามบังคับใช้ให้ได้มากที้่สุด เพราะเป้าหมายของทุกขบวนการนั้นคือการสร้างรัฐอิสลาม อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายอิสลามจะต้องอยู่บนฐานของการยอมรับ และเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเขาบอกว่า รัฐปาตานีในอดีต ซึ่งมีคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาอยู่อาศัยก็มีกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน โดยให้ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม เลือกใช้กฎเกณฑ์ตามศาสนาของตนเองแทนฎหมายอิสลาม 
 
“เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติของกฎหมายอิสลาม มีคนเข้าใจผิดจำนวนมาก กลัวไปว่า เขาจะถูกตัดมือหรืออเปล่า หรือจะถูกกีดกันทางเชื้อชาติ ผมตอบเลยว่า ไม่แน่นอน ธรรมชาติของกฎหมายอิสลามนั้นคือ การป้องกัน มากกว่าการลงโทษ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจังไม่ควรกังวลไป” 
 
อาบูฮาฟิซยังกล่าวถึงกลุ่ม PerMas ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานกับภาคประชาสังคมโดยสันติวิธีในพื้นที่สามจังหวัดว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการแต่อย่างใด แต่ PerMas เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชน เข้าใจความอึดอัดใจของประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทำงานโดยใช้สันติวิธีตามวิถีประชาธิปไตย
 
อาบูฮาฟิซ ส่งท้ายว่า กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่ “โจรใต้” อย่างที่สื่อเรียกขานกัน และไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ขบวนการแค่ต้องการ “สิ่งที่เคยเป็นของเรากลับคืนมา พวกเราเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” 
 
การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และอธิปไตยของชาวมุสลิมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่มีการผนวกอาณาจักรปาตานีเข้ากับสยามตั้งแต่ปี 2445 การผนวกดินแดง หรือที่ฝ่ายขบวนการเรียกว่า การยึดเป็นอาณานิคม ตามมาด้วยนโยบายกลืนชาติและอัตลักษณ์ของชาวมลายู และการปราบและอุ้มหายผู้นำชาวมลายูที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม 
  
อนึ่ง ความรุนแรงระลอกล่าสุดปะทุขึ้นในปี 2547 ตามมาด้วยการปราบปรามความรุนแรงด้วยความรุนแรงของรัฐไทย ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทหารโดยรัฐเป็นจำนวนมาก จากสถิติของ Deep South Watch พบว่า 11 ปีที่ผ่านมานี้มีเหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่า 14,700 เหตุ และมีคนตายไปกว่า 6,300 คน หรืออาจกล่าวได้ว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดึ้น 3.6 เหตุการณ์ต่อวันเลยทีเดียว อย่างไก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือแถลงข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดภาวะกำกวม ไม่ชัดเจนเรื่อยมา 
 
 
คุณสามารถเลื่อนวิดิโอนี้เพื่อไปรับชมคำถามที่ต้องการ ตามจุดเวลาที่เขียนไว้ด้านหลัง (การสัมภาษณ์นี้ใช้ภาษาอังกฤษ)
 
1 คุณมองความรุนแรงใน 11 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?  (0.29)

2 คุณคิดอย่างไรกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐไทย ต่อประชาชนในสามจังหวัด (1.30)

3 ภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้ขบวนการหยุดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ฝ่ายขบวนการได้ทำตามข้อเรียกร้องนี้หรือไม่ (4.30)

4 ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษ ได้เขียนถึงโครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบไว้ในหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน) ว่า มีลักษณะแบบ “เครือข่ายไร้แกน” คุณเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้หรือไม่ (7.30)

5 ทำไมขบวนการถึงไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบเมื่อก่อเหตุความรุนแรง (11.25)

6 อะไรคือข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของรัฐไทยต่อประชาชนในปาตานี (12.10)

7 ขบวนการมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการหาแนวร่วมและการสนับสนุนจากประชาชน? (16.00)

8 คุณยังยืนยันในข้อเรียกร้อง ขอเอกราชหรือไม่ (18.41)

9 ขบวนการได้ฟังเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหน (20.00)    

10 กลุ่มนักศึกษาเปอร์มัสถูกกล่าวหาว่า เป็นปีกหนึ่งของขบวนการ ข้อกล่าวหานี้เป็นจริงหรือไม่ (21.37)

11 อะไรคือ มารา ปาตานี (24.20)

12 ข้อเรียกร้องของมารา ปาตานี คืออะไร มันเหมือนแตกต่างจากข้อเสนอหาข้อทีเคยเสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไหม (25.50)

13 ขบวนการมองรัฐบาลประยุทธ์ เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐไทยในการเจรจาหรือ ในเมื่อประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร (32.29)

14 มีการพูดคุยระหว่างมารา ปาตานี กับตัวแทนรัฐไทยเกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว คุยอะไรกันไปบ้าง (34.54)

15 ถ้าปาตานีได้สิทธิในการปกครองตนเอง กฎหมายอิสลามจะถูกนำมาใช้หรือไม่ (40.40)

16 นอกจากชาวมลายูแล้ว ยังมีชาวจีน และชาวไทย อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทางขบวนการมีจุดยืนอย่างไรต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นี้ (43.33)

17 พลเอกประยุทธ์มีทีท่าอนุรักษ์นิยม และชาตินิยมอย่างสูง ต่อนโยบายระดับประเทศ แต่สำหรับประเด็นสามจังหวัดแล้ว คุณคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นอย่างไร (44.12)

18 คุณรู้สึกอย่างไรกับการเมืองส่วนกลาง ปัญหาการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพหรือไม่ (48.25)

19 คุณคิดอย่างไรกับการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในประเด็นสามจังหวัด  (50.18)

มูฮำหมัด ดือราแม จาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ช่วยเหลือในการรายงานข่าวชิ้นนี้และบันทึกภาพ

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา ช่วยเหลือในการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท