Skip to main content
sharethis

ซิป้าแถลงผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยปี 2557 โต 9.4% ภาครัฐใช้จ่ายชะลอตัว แต่ SaaS เติบโตโดดเด่น คาดการณ์สิ้นปี 2558 และ 2559 โตประมาณ 11.1% และ 12.8% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล 

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558  สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2557 และคาดการณ์ปี 2558 และ 2559

พลเอกโสภณ เวคะวากยานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นกิจกรรมที่ SIPA จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรม  โดยในปีนี้ SIPA ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดให้มีการสำรวจติดต่อกันเป็นปีที่สี่  โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาคณะทำงานได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดียิ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ทำให้ได้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและนโยบายต่อไปได้

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงการสำรวจมูลค่าตลาดในปี 2557 ว่ามีการปรับปรุงที่สำคัญ 2 ส่วนคือ

(1) ฐานข้อมูลประชากรที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่กิจกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification หรือ TSIC) จากเดิม TSIC2001 เป็น TSIC2009 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจละเอียดมากขึ้นทั้งด้านขายส่ง ขายปลีก และบริการ ทำให้สามารถระบุบริษัทในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ปรับผลการสำรวจปี 2556 ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วยแล้ว เพื่อให้สามารถสะท้อนกับผลการสำรวจในปีนี้ได้ (2) ปรับปรุงการสำรวจการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) ในสาขาธุรกิจที่เน้นการใช้ IT เข้มข้น เช่น การเงิน การประกันภัย  ขนส่งและโลจิสติกส์ การสื่อสาร และการท่องเที่ยว

ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวม 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ปรับฐานประชากรแล้ว ร้อยละ 9.4  โดยจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 15,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 4.5 และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 39,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 11.4 

โดยภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด  นอกจากนี้ ยังพบการเติบโตอย่างมากของซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านเว็บ (SaaS) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.4 ในปี 2557 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้งานคลาวด์ (Cloud computing) เพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้นพบว่า ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.0 โดยมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศเท่ากับ 6,165 ล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนมากยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ เนื่องจากการขยายตัวของ Internet of Things (IoT) และ Wearable devices  แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

ด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 4,572 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 6.1) โดยจำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 939 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 7.4) และการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 3,633 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 5.8) แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดโดยรวม  แต่มีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของผู้ผลิตไทยที่ส่งออกคือ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการโรงแรมและรีสอร์ท ซอฟต์แวร์ด้านระบบบริหารจัดการการค้าปลีก และซอฟต์แวร์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังเห็นโอกาสของตลาดในต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด ASEAN  แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจชะลอตัวลงมาก เนื่องจากความเข้มงวดในการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับงาน ตลอดจน การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ  ทำให้การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ต่างๆ ต้องล่าช้าออกไปจนทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันออกไปทำตลาดอื่นแทน

คาดว่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2558 จะมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศประมาณ 61,096 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 11.1 จำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 15,973 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 6.3) และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 45,113 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 13.0) และในปี 2559 คาดว่า ตลาดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2558 คือร้อยละ 12.8 โดยซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตร้อยละ 7.4 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปี 2558 จะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 11.0 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,841 ล้านบาท และในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องประมาณร้อยละ 13.9  หากมีการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบกับ มีแรงหนุนสำคัญคือ การขยายตัวของ Internet of Things (IoT) และ Wearable devices

โดยสรุป การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตต่อเนื่องไปได้ แม้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตต่ำ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ต้องสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากการผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพสูงที่ตอบโจทย์เฉพาะสาขาธุรกิจ และภาครัฐต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net