Skip to main content
sharethis

ปิยะบุตร ชี้ ร่างฯ ฉบับ สปช. อุดช่องโหว่ที่รัฐบาลมองข้าม ควรค่าแก่การใช้งาน เน้นให้ กสทช. เป็นอิสระ และมีคนเก่งทำงาน แนะถ้าจะใช้ฉบับรัฐบาล กลับไปใช้ของเก่าดีกว่า

12 มิ.ย. 2558 ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้ยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ให้สัมภาษณ์ประชาไท เล่าถึงความเป็นมาในการยกร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าว โดยระบุว่า ร่างฉบับ สปช. ได้ปรับแก้จากร่างฉบับรัฐบาลเพิ่มเติม

"รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลในฐานะ Policy maker [ผู้จัดทำนโยบาย] กับ กสทช. ในฐานะ Regulator [ผู้ควบคุม ตรวจตรา] และเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา เช่นเรื่องของเงินทุน ที่มีวิธีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงิน ปรับเปลี่ยนให้ไปเข้ากับกองทุนดิจิทัลฯ ทีนี้ ของ อนุกรรมาธิการฯ สปช. ชุดนี้ เขาพิจารณาเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ในประเด็นอื่นๆ เพราะจริงๆ ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังมีอีกหลายประการตามรายงาน ได้แก่
•     หลักการกำกับดูแลด้วยผู้เชี่ยวชาญ
•     หลักความเป็นอิสระของหน่วยงานดูแล
•     หลักการกำกับดูแลการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม
•     หลักวินัยการเงินการคลัง
•     หลักการประเมินผลปฏิบัติงาน
•     กลไกแก้ไขเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค
·      บทบัญญัติที่มีการเพิ่มเติมใน ร่างฯ ฉบับรัฐบาลล่าสุด [วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558] เพื่อประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่ง (ดูรายงานที่ท้ายข่าว)

รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม. หอการค้าไทย ยังได้กล่าวถึงจุดเด่นในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับ สปช. ว่าคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มเติมรายละเอียดด้านต่างๆ ที่จะเติมเต็มร่างของรัฐบาล และยังย้ำเตือนถึงความสำคัญของผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเป็น กสทช.

“มีประเด็นอื่นๆ ที่ สปช. เพิ่มเข้าไป เช่น การติดตามประเมินผล, การแข่งขัน, เรื่องผู้เชี่ยวชาญ ผมว่าจุดเด่นของฉบับ สปช. คือการกลับมาเน้นที่คุณสมบัติ เพราะเรามี กสทช. เพราะเราคิดว่า เราอยากให้มีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริงๆ มาดูแล ถ้าไม่มีคนที่เชี่ยวชาญมาดูแล ก็ไม่รู้จะมี กสทช. ไว้ทำไม”

ปิยะบุตรขยายความเกี่ยวกับประเด็นการคัดสรรบุคลากรที่มีคุณสมบัติสมเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นปัญหาของร่างฉบับรัฐบาล และแนะให้คงแนวทางสรรหาแบบเดิมไว้

“กฎหมายของรัฐบาลที่เสนอใหม่ ที่ควบรวมคุณสมบัติให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และการใช้ตุลาการศาล ป.ป.ช. สตง. มาเป็นกรรมการสรรหา ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วไม่ควรเป็นกรรมการสรรหา อนุกรรมาธิการฯ จึงเสนอว่ากลับไปใช้แบบปัจจุบัน แล้วยังมีประเด็นที่ควรไฮไลท์คือเรื่องคุณสมบัติส่วนตัว เช่น เป็นพันโทขึ้นไป, เป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไป คือแบบนี้ ไม่ได้บ่งบอกความเชี่ยวชาญของ กสทช. โดยตรง จึงไม่ควรกำหนดไว้ ควรตัดออกแล้วเขียนใหม่ให้ตามคุณสมบัติ เช่น มีประสบการณ์ด้านกิจการโทรทัศน์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสาขาเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง”

ในเรื่องของกระบวนการและเงื่อนไขเวลา ปิยะบุตรระบุว่า เขาเป็นเพียงผู้ยกร่างและที่ปรึกษาเท่านั้น จึงเพียงแต่ทราบคร่าวๆ ว่าปัจจุบัน ร่างฯ กำลังอยู่ในกระบวนการใด และส่วนตัวเห็นว่า สปช. ควรจะต้องกระฉับกระเฉงกับเรื่องนี้เพราะว่าเวลาได้ล่วงเลยมาพักใหญ่แล้ว

“ตอนนี้ร่างฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณา เพื่อเห็นชอบหลักการและกำลังเข้าสู่ที่ประชุมของกรรมาธิการ ถ้าเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่ที่ประชุม สปช. ถ้าผ่าน สปช. แล้ว ก็คงเสนอเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา”

“พยายามเร่งมามากเหมือนกัน[กระบวนการพิจารณาภายใต้ สปช.] แต่ค่อนข้างจะช้าเมื่อเปรียบเทียบกับฉบับรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณามาหลายชั้นแล้ว ผมเชื่อว่า สปช. เองก็ต้องเร่งรีบแล้ว เพราะ สปช. ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าระยะเวลา ผมเองไม่ใช่ตัว สปช. เอง ก็คงจะไม่รู้เวลาที่แน่ชัด”

ส่วนกรณีร่างฉบับรัฐบาลเปิดช่องให้ไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ แต่เปิดให้ใช้วิธีคัดเลือกได้ ปิยะบุตรอธิบายว่าไม่เหมาะสมและควรจะเป็นไปตามกลไกตลาดในกรณีที่คลื่นไม่เพียงพอให้ใช้งานได้ทุกคน

“จำเป็นต้องประมูลคลื่น ถ้าทรัพยากรไม่พอให้ทุกคนใช้ มันไม่มีอะไรซับซ้อน ที่เราประมูลเพราะเราแย่งกันใช้ เราจะขายแก่คนที่ให้มูลค่าคลื่นสูงสุด ใช้กลไกตลาด ที่รัฐบาลเห็นว่าคลื่นมันอาจจะไม่จำเป็นต้องประมูล มันก็ดีอยู่ จะเป็นคลื่นที่ทุกคนใช้ได้ แต่ในร่างของรัฐบาล การประมูลที่ไม่คำนึงถึงราคา มันจะทำให้วันหลังจะเกิดการประมูลแบบแปลกๆ เพราะไม่ได้วัดจากราคา ประเด็นหลักก็คือ ประมูลคลื่นที่ต้องแย่งกันใช้ แต่ถ้าคลื่นที่ใช้ร่วมกันได้ ก็ไม่ต้องประมูล ไม่ต้องไปพูดเพิ่มให้สร้างความเข้าใจผิด”

ผู้ยกร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับ สปช. ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังให้ความเห็นว่าหากร่างฯ ฉบับรัฐบาลถูกนำไปใช้จริง จะเป็นบ่อเกิดของปัญหาในอนาคต ทั้งยังเสนอว่า ควรใช้ฉบับ สปช. ที่ปรับแก้จากของรัฐบาล ถ้าจะใช้ร่างฯ ฉบับรัฐบาลจริงๆ ควรกลับไปใช้ พ.ร.บ. ฉบับเดิม [พ.ร.บ. กสทช. พ.ศ. 2553] ดีกว่า

“ต้องเป็นร่าง สปช. ที่พัฒนามาจากตัวของรัฐบาล เราเอาตัวของรัฐบาลมาตั้งแล้วก็เพิ่มเติมประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้รับการดูแลใส่เข้าไปจะต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่อยากเปรียบเทียบว่า ถ้าต้องแก้แล้วเป็นร่างของรัฐบาล ผมว่ากลับไปใช้ปี 2553 ดีกว่า เพราะร่างปี 2558 ล่าสุด ยังไม่เป็นประโยชน์ชัดเจนเท่าไหร่ ไม่แก้ไขเพิ่มเติมดีกว่า”

“เขา[รัฐบาล]พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องบทบาท Policy maker กับ Regulator โดยมีกลไกไปควบคุมตัว กสทช. มากขึ้น มันจะทำให้อิสระของ กสทช. น้อยลง แล้วก็เรื่องเงินกองทุน กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ) ของ กสทช. ที่จะไปอยู่กับกองทุนดิจิทัลฯมาก ซึ่งจะทำให้ภารกิจทางด้านนี้[ของ กทปส.]หายไป”

นอกจากนี้ ปิยะบุตรยังได้ขอให้ประชาชนติดตามเรื่องราว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบ ควรเข้าใจหลักการที่ควรจะเป็น ประชาชนจะได้ไม่เข้าใจเป็นอย่างอื่น และรัฐบาลเองก็จะได้รับกระแสตอบรับจากหลักการที่เข้าใจผิดด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net