ขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีผลย้อนถึง ธ.ค.57 ด้านค่าแรงเอกชนไม่ขึ้นอ้างเศรษฐกิจทรงตัว

21 พ.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. จำนวน 5 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่2) พ.ศ.2558(ดูรายละเอียด), พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558(ดูรายละเอียด),  พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่3) พ.ศ.2558(ดูรายละเอียด), พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ(ฉบับที่3 )พ.ศ.2558 (ดูรายละเอียด)และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่10) พ.ศ.2558 (ดูรายละเอียด) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับสนองพระบรมราชโองการในฐานะนายกรัฐมนตรี

มติชนออนไลน์สรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ด้วกล่าววาเป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภท ตั้งแต่ระดับ 1– 7 ในอัตรา 4% ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับ เพิ่มขึ้นอีก ไม่เกิน10 %โดยให้มีผลทันทีหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2557

ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนครั้งนี้ จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2558 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการรวม 1.9 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการปรับโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2557 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มรายได้เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเป็นขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการทั่วประเทศ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ ยังได้มีการใส่หมายเหตุด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ให้เหมาะสม เป็นธรรม และได้มาตรฐาน โดยคํานึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าตอบแทนในภาคเอกชน ฐานะการคลังของประเทศ ความแตกต่างระหว่างรายได้ของข้าราชการระดับต่าง ๆ ในประเภทเดียวกันและต่างประเภทกัน และปัจจัยอื่นที่จําเป็น สมควรปรับบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชเหล่านั้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

ตัวอย่างอัตราเงินเดือนข้าราชการที่ปรับใหม่

คณะกรรมการค่าจ้าง อ้างเศรษฐกิจทรงตัว ยังไม่มีมติปรับขึ้นค่าแรงลูกจ้างเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนของค่าแรงภาคเอกชนนั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา Voice TV รายงานด้วยว่า นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเป็น ประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หลังมีข้อเรียกร้องจากวันแรงงาน ประจำปี 2558 ที่ขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยว่าอยู่ในภาวะทรงตัว หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ  ด้านกรรมการฝ่ายนายจ้างเห็นว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานเองจะต้องพัฒนาฝีมือให้สูงตามค่าจ้างที่ปรับขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อธุรกิจ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ยังไม่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ส่วนกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้คัดค้าน และเห็นว่าหากปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นอาจจะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาและแย่งงานคนไทย แต่ขอให้รัฐคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ โดยกนระทรวงแรงงาน จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการถึงทิศทางค่าจ้างของประเทศไทย ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ และให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะนำข้อมูลกลับไปจัดทำค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ เสนอกลับมา เพื่อพิจารณาภายในเดือนมิถุนายน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท