สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ค. 2558

บอร์ดค่าจ้างสลายฝันผู้ใช้แรงงาน ยังไม่ขึ้นค่าแรงหวั่นกระทบธุรกิจ
 
14 พ.ค.58 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง)ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เสนอให้มีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานให้เป็น 360 บาทต่อวันเมื่อวันแรงงาน ประจำปี 2558 ที่ผ่าน โดยผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยว่ อยู่ในภาวะทรงตัว หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
 
ขณะที่กรรมการฝ่ายนายจ้างเห็นว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานเองจะต้องพัฒนาฝีมือให้สูงตามค่าจ้างที่ปรับขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อธุรกิจ
 
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกรรมการฝ่ายลูกจ้างไม่ได้คัดค้านและเห็นว่า หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นอาจจะทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาและแย่งงานคนไทย แต่ขอให้รัฐคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไปเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้
 
(RYT9, 14/05/2558)
 
มธ.ออกนอกระบบ เข้มระบบคัดเลือกอาจารย์ “สมคิด” เตรียมนัด ขรก.มธ.แจงสิทธิ์
 
(14 พ.ค.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระ 2 และ 3 ไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ในวันที่ 18 พฤษภาคม ตนจะนัดประชุมข้าราชการใน มธ. ซึ่งมีประมาณ 600 คน เพื่อชี้แจงถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อ มธ. เปลี่ยนสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เนื่องจากข้าราชการกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ว่าจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หรือจะเป็นข้าราชการต่อไป ซึ่งในส่วนของตนเองนั้นตาม พ.ร.บ. ใหม่ที่จะมีขึ้นบัญญัติไว้อยู่แล้วว่า อธิการบดี มธ. จะต้องลาออกจากราชการมาเป็นเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือน ส่วนนักศึกษาและบุคลากรส่วนอื่นๆ นั้นจะมีการทำความเข้าใจในลำดับถัดไป
       
ทั้งนี้ หลังจาก มธ. เปลี่ยนสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการร่างระเบียบการดำเนินงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยใหม่ทั้งหมด รวมถึงตั้งกรรมการสภา มธ. ชุดใหม่ด้วย เชื่อว่าเมื่อออกนอกระบบไปแล้วจะทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวมากยิ่ง ขึ้น โดยยืนยันว่า มธ. ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนเช่นเดิม แต่เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ มธ. ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยปัจจุบัน มธ. ก็ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างมาก ไม่ใช่พิจารณาแค่คุณสมบัติเบื้องต้นที่จะต้องจบปริญญาโท - เอก มีผลการเรียนในระดับเกียรตินิยมแล้ว จะต้องดูคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรมความเป็นครู  ที่จะต้องมีความประพฤติที่เหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแกลูกศิษย์
       
“ต่อไปแม้ว่าผู้มาสมัครเป็นอาจารย์จะสอบผ่านการข้อเขียนของคณะ ก็ไม่ได้หมายว่าจะได้เป็นอาจารย์ทันที เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองของสภา มธ. ก่อน หากมีเรื่องร้องถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ต้องได้รับการตรวจสอบ  ซึ่งหากเป็นจริงตามที่ถูกร้องเรียน ก็คงไม่ผ่านการพิจารณา และยืนยันว่า ที่ผ่านมา มธ. ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการรับเพศที่ 3 เข้ามาเป็นอาจารย์แต่ต้องคัดเลือกผู้ที่มีความประพฤติเหมาะสมที่สุด เพราะคนที่เป็นอาจารย์จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกศิษย์”ศ.ดร.สมคิด กล่าว 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14/05/2558)
 
สพฐ. จัดสรรงบปี 58 จ้างครูธุรการ ภารโรง ครูดูแล นร. กินนอน และ จนท. ห้องปฏิบัติ ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาพื้นที่ประถม - มัธยม ระยะเวลา 6 เดือน 
       
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณปี 2558 โครงการคืนครูให้นักเรียน เพื่อเป็นค่าตอบแทนจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ นักการภารโรง ครูดูแลนักเรียนประจำพักนอน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2 ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนเมษายน - กันยายน) ดังนี้ 1. ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ 14,363 อัตรา อัตราละ 15,000 บาทต่อเดือน แยกเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 12,606 อัตรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 1,757 อัตรา รวมค่าจ้าง 6 เดือน 1,292,670,000 บาท บวกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีก 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 64,633,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,357,303,500 บาท 
       
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า 2. นักการภารโรง 8,676 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นสังกัด สพป. 8,178 อัตรา และสพม. 498 อัตรา รวมค่าจ้าง 6 เดือน 468,504,000 บาท บวกเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 23,425,200 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 491,929,200 บาท 3. ครูดูแลนักเรียนประจำพักนอน 164 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นสังกัด สพป. 56 อัตรา และสพม. 108 อัตรา รวมค่าจ้าง 6 เดือน 8,856,000 บาท บวกเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 442,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,298800 บาท และ 4. เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ 194 อัตรา อัตราละ 15,000 บาทต่อเดือน รวมค่าจ้าง 6 เดือน 17,460,000 บาท บวกเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 873,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,333,000 บาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14/05/2558)
 
วอนรัฐช่วยนำศพลูก แรงงานไทยในอิสราเอลกลับบ้านเกิด
 
วันที่ 15 พฤษภาคม 58 เวลา 10.30 น. บ้านเลขที่ 18 หมู่ 11 บ้านทุ่งโพธิ์ ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี หลังรับทราบว่าเป็นบ้านของ นายสุรศักดิ์ โคดเมือง อายุ 38 ปี แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถขนส่งแรงงานถูกรถบรรทุกชน ที่เมืองแอชโดด ประเทศอิสราเอล ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ 40 กม. มีคนงานไทยเสียชีวิตคา 3 คน บาดเจ็บ 7 คน เมื่อเช้าวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
ที่บ้านหลังดังกล่าว ในบริเวณบ้านพบญาติพี่น้อง ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงต่างทยอยเดินทางมาสอบถามข่าวคราวพร้อมให้กำลังใจ และช่วยกันเตรียมจัดงานเพื่อรอรับศพ นายสุรศักดิ์ โดยนางเหวย โคดเมือง อายุ 61 ปี (แม่) นางพัชรินทร์ คุนันทาอายุ 32 ปี (ภรรยา) ด.ญ.ภัคนันท์ หรือ น้องฝ้าย โคดเมือง ลูกสาววัย 5 ขวบ ที่กำลังนั่งอยู่ใต้ถุนบ้านด้วยสีหน้าเศร้าโศก
 
สอบถามนางพัชรินทร์ ภรรยา กล่าวว่า ในวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 22.00 น. ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก นายสุรสิทธิ์ น้องชายของนายสุรศักดิ์ ที่เดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลด้วยกันว่า นายสุรศักดิ์เกิดอุบัติเหตุรถชนขณะกำลังเดินทางไปทำงาน ในไร่ของนายจ้าง พร้อมคนงานไทยอีกหลายคน ต่อมาในวันที่ 14 พ.ค. 58 เวลาประมาณ บ่าย 2 โมง ได้รับแจ้งอีกครั้งหนึ่งว่า นายสุรศักดิ์ เสียชีวิตแล้ว
 
ก่อนที่นายสุรศักดิ์ เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลนั้น ได้แต่งงานกินอยู่กันมา 8 ปี และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน อายุ 5 ขวบ ชื่อ ด.ญ.ภัคนันท์ หรือ น้องฝ้าย โคดเมือง จากนั้นได้ปรึกษาหารือกันก่อนเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเป็นครั้งแรก เพื่อต้องการยกฐานะของครอบครัวให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ช่วงเดินทางไปทำงานในระยะแรกๆ นายสุรศักดิ์ได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 4 หมื่นบาท แต่ระยะหลัง ได้รับค่าจ้างน้อยลงเนื่องจากถูกนายจ้างหักค่าใช้จ่าย ขณะนี้ทางครอบครัวยังคิดอะไรไม่ออก รวมถึงกรณีหลังรับแจ้งว่า จะต้องเสียเงินค่านำศพกลับมาประเทศไทย ราคาสูงถึง 1 แสนกว่าบาท ภรรยาของนายสุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า
 
ด้านนางเหวย กล่าวว่า ตนเองหมดหนทางไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากที่ไหนมากถึงขนาดนั้น หัวอกคนเป็นแม่อย่างไรก็อยากเผาศพลูกตัวเอง อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ช่วยเหลือนำศพลูกชายกลับมาประเทศไทย เพื่อจะได้นำเอาไปทำฌาปนกิจตามประเพณี และขอให้ตนได้ส่งลูกชาย สู่สุคติเป็นครั้งสุดท้าย 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับนายสุรศักดิ์ ที่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวน 5 คน ของครอบครัว เดิมที่เป็นลูกจ้างรายวันของการไฟฟ้า อ.สร้างคอม ในตำแหน่งพนักงานเดินสายไฟแรงสูงอยู่ 2 ปี จึงลาออกมาสมัครไปทำงาน ในตำแหน่งการเกษตร ที่ประเทศอิสราเอล โดยผ่านกรมจัดหางาน โดยเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนบาทต่อหัว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 พร้อมกับ นายสุรสิทธิ์ น้องชาย
 
นอกจากนี้ทาง นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ เป็นตัวกลางช่วยประสานขอความช่วยเหลือแก่คนงานไทย ทั้งที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทุกคน กับทางสถานเอกอัครราชทูตไทย และเจ้าหน้าที่ทูตแรงงานไทยที่กรุงเทลอาวีฟ รวมทั้งเรื่องของการช่วยเหลือนำส่ง ศพนายสุรศักดิ์กลับมาประเทศไทย จนถึงบ้านที่ อ.สร้างคอม และสิทธิประโยชน์การประกันสังคม ตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ในกรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต โดยจะสามารถรู้ผลการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ประมาณอีก 2 สัปดาห์
 
อย่างไรก็ตาม ทางส่วนของประเทศไทยนั้นได้เตรียมให้การช่วยเหลือครอบครัว นายสุรศักดิ์ ผู้เสียชีวิต เป็นผู้มีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน ช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 4 หมื่นบาท และเงินค่าประกันชีวิตและสิทธิประโยชน์อื่นๆ   นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ก็จะได้รับการดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกรอบกำหนด ตามสถานภาพที่หนัก-เบาไม่เท่ากัน รวมถึงการร้องขอเดินทางกลับประเทศไทยอีกด้วย
 
(ไทยรัฐ, 15/05/2558)
 
เอกชนไทยแห่สร้างโรงงานให้เอสเอ็มอีญี่ปุ่นเช่า
 
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทคอน อินดัสทรี คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าพร้อมใช้เพื่อให้เช่า เปิดเผยว่า ไทคอนฯ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมโยโกฮามา (ไอเดก) ประเทศญี่ปุ่น เปิดโครงการเช่าโรงงานขนาดเล็ก โยโกฮามา แฟกตอรี่ โซน ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย (สุวรรณภูมิ) บนพื้นที่ 107 ไร่ เพื่อรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประเทศญี่ปุ่น ที่ขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก
 
โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 67,400 ตร.ม. เป็นโรงงานสำเร็จรูปพร้อมใช้งานขนาด 550-4,200 ตร.ม. วงเงินลงทุนรวม 300 ล้านบาท โดยระยะแรกมีโรงงานสำเร็จรูปพร้อมให้บริการแล้ว 39,700 ตร.ม. เบื้องต้นได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 10 ยูนิต มีผู้ประกอบการเข้าลงทุนบางส่วนแล้ว 5 ราย และเข้าจองเพิ่มเติมอีก 2 ราย ส่วนระยะที่สอง มีแผนลงทุนก่อสร้างอีก 10 โรงงาน ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงการแล้วเสร็จภายในปี 59
 
ด้าน น.ส.กฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการสายงานปฏิบัติการ 2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนโครงการให้เช่าโรงงานขนาดเล็ก มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทั้งการจัดสรรพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเดิม และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเปิดใหม่ โดยเฉพาะนิคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรองรับความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ช่วยลดต้นทุนการลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานและการขนส่งสินค้าได้
 
ขณะนี้ มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง หันมาให้ความสนใจสร้างโรงงานขนาดเล็กและแวร์เฮาส์ สามารถตอบโจทย์เอสเอ็มอีได้ดีมาก ซึ่งมีขนาดหลากหลายตั้งแต่ 500-5,000 ตร.ม. ซึ่งในส่วนของภาครัฐ ก็มีนโยบายส่งเสริมให้นิคมใหม่ๆ กันพื้นที่เอาไว้เพื่อสร้างโรงงานขนาดเล็กด้วย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 15/05/2558)
 
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดยอดขอตั้ง-ขยายโรงงานใหม่ เดือนม.ค.-เม.ย.58 เพิ่ม 27% วงเงินลงทุนกว่า 1.64 แสนล้านบาท
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ในช่วงม.ค. – เม.ย.58 กรมฯ ได้อนุมัติตั้งโรงงานใหม่ และขยายโรงงานจำนวน  1,587 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุน 164,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% โดยอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นอุตฯ ที่ใช้เงินลงทุนสูงสุดประมาณ 33,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 761% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีโรงงานอุขนาดใหญ่ขอลงทุนหลายแห่ง จากปีก่อนที่ชะลอการลงทุน เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ดี รวมทั้งอุตฯ อาหาร ,อุตฯ ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ขยายตัวดีเช่นกัน “อุตฯ อาหารยังคงมียอดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้ำตาล ที่ได้อานิสงค์จากการปรับแก้ระยะห่างที่ตั้งโรงงาน ทำให้มีการขยายโรงงานเพิ่มขึ้นถึง 172 โรงงาน ใช้เงินทุนกว่า 23,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% และยังมีอุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ ที่ขยายโรงงานเพิ่มขึ้น 132 โรงงาน ใช้เงินทุนกว่า 13,400 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มปีนี้เชื่อว่า การขยายตัวของการตั้งโรงงาน และขยายโนรงงานดีขึ้นอย่างแน่นอน
 
(เดลินิวส์, 17/05/2558)
 
'ผู้ผลิตรถยนต์'ทยอยปลดคนงาน หลังยอดสั่งซื้อทรงตัว
 
นายสมเกียรติ ชูพรรคเจริญ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทผลิตรถยนต์ 3 รายได้ทยอยลดจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ประมาณ 600 คน โดยเฉพาะพนักงานจากบริษัทจัดหางานที่มีระยะเวลาสัญญาเหลือ เมื่อหมดสัญญาแล้วจะไม่ได้รับการต่อสัญญา เพราะบริษัทได้รับผลกระทบจากยอดการผลิตรถยนต์ที่อยู่ในระดับทรงตัวอย่างต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว รวมทั้งการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น จึงต้องปรับลดจำนวนพนักงาน 
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 18/05/2558)
 
สุขภาวะ ก.แรงงานแย่ ปั้น “นักสร้างสุข” ช่วย ขรก.แก้เครียดงาน-ชีวิตส่วนตัว
 
นายอาทิตย์ อิสโม กรรมการโครงการกระทรวงแรงงานน่าอยู่ มุ่งสู่องค์กรสุขภาวะ กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการกระทรวงแรงงานน่าอยู่ มุ่งสู่องค์กรสุขภาวะ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตพร้อมยกระดับความสุขข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงาน ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยกลยุทธ์สำคัญของโครงการฯ จะค้นหาและคัดเลือกผู้มีจิตอาสาจากทุกหน่วยงานมาพัฒนาเป็น “นักสร้างสุของค์กร” ซึ่งจะเป็นโซ่ข้อกลางขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ มุ่งแก้ภาวะความเครียดจากงานและชีวิตส่วนตัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ ความไม่พอใจในระบบงาน/ค่าตอบแทน/ความเป็นธรรมในองค์กร รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน
       
“โครงการนี้ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้งทำให้มีสุขภาพกาย-จิตที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและสร้างให้บุคคลากรกระทรวงแรงงานเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนได้ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ รมว.แรงงาน ต้องการให้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพราะเป็นประโยชน์ต่อชาวกระทรวงแรงงาน ให้ทำงานได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้มารับบริการ” นายอาทิตย์กล่าว
       
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงาน ก.พ.ซึ่งได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อพัฒนากรอบแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน พบว่า ข้าราชการพลเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81 มีหนี้สิน เป็นหนี้จากการผ่อนรถ ร้อยละ 46.2 และผ่อนบ้านร้อยละ 43.9 ด้านรายได้พบว่ามีรายรับเพียงพอต่อรายจ่ายร้อยละ 37 ขณะที่รายจ่ายมากกว่ารายรับมีจำนวน ร้อยละ 35.5 ความถี่ในการออกกำลัง พบร้อยละ 10.2 ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 ออกกำลังกายนานๆ ครั้ง และผลสำรวจคุณภาพชีวิตข้าราชการกระทรวงแรงงาน โดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาวะภาครัฐ เป็นเกณฑ์วัดมาตรฐาน พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน สัดส่วนที่เป็นหนี้สินมีมากกว่าข้าราชการที่ไม่มีหนี้สิน ภาพรวมจากการวัดความสุข อยู่ในระดับปานกลาง เป็นองค์กรที่ต้องรีบปรับปรุงและเสริมสุขภาวะ เพื่อสร้างความสุขให้แก่บุคลากร
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19/05/2558)
 
ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง สาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ
 
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง สาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
 
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดสาขาอาชีพ ตำแหน่ง หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องดำเนินการโดยได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ดังนี้
 
(1) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
(2) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร
(3) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม
2. กำหนดให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะงานและกลุ่มเป้าหมายในการบังคับใช้ในแต่ละสาขาอาชีพ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงงานประกาศกำหนด
 
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2558--
 
(มติคณะรัฐมนตรี, 19/05/2558)
 
คนไทยเลิกทำเกษตร 4.3 แสนคน พบหนีไปทำงานโรงงานมากสุด
 
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจการมีงานทำของคนไทยเดือนเม.ย.58 พบว่า จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมทำงาน 38.28 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีงานทำ 37.53 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.61 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 26.92 ล้านคน หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรลดลง 430,000 คน แต่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 630,000 คน โดยเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตมากที่สุด 400,000 คน รองลงมา คือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 100,000 คน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์
 
ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุด เป็น สาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัย 80,000 คน รองลงมา คือ สาขาก่อสร้าง 60,000 คน สาขาการขายส่ง ขายปลีก การซ่อมรถยนต์ และจักรยานยนต์ 30,000 คน สาขากิจกรรมบริการ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างการ การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง 10,000 คน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
 
ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานมีทั้งหมด 324,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.9% ซึ่งในจำนวนผู้ว่างงานเหล่านี้ เป็นผู้ว่างงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 139,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษา มัธยมปลาย และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถม ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าคนที่จบระดับอุดมศึกษาจะลดลง 11,000 คน แต่จำนวนการว่างงานก็ยังถือว่า ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นปัญหาที่รัฐต้องเร่งหาทางแก้ไข
 
ทั้งนี้เมื่อแยกออกเป็นเพศ พบว่า ผู้ชายมีอัตราการว่างงานมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อยที่ 0.9% ส่วนผู้หญิงว่างงาน 0.8% และหากมองถึงจำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนก็มีถึง 151,000 คน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมี 173,000 คน เพิ่มขึ้น 1,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 82,000 คน ภาคการผลิต 72,000 คน และภาคการเกษตร 19,000 คน ขณะที่กลุ่มอายุที่ว่างงานมากที่สุด เป็นกลุ่มวัยเยาวชนที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นวัยผู้ใหญ่
 
(มติชน, 19/05/2558)
 
ไทยติดอันดับ 57 ของโลกลงทุนพัฒนามนุษย์ 
 
(20 พ.ค.) น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการด้านนโยบายการศึกษาต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ ปี 2015 ซึ่งจัดโดยเวทีเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ว่า จากการจัดอันดับ 124 ประเทศทั่วโลก พบว่า ฟินแลนด์ ได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ตามด้วย นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา และญี่ปุ่น ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 57 ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชีย พบว่า สิงคโปร์ อยู่อันดับที่ 24 เกาหลีใต้ อันดับที่ 30 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 46 มาเลเซีย อันดับที่ 52 เวียดนาม อันดับที่ 59 และจีน อันดับที่ 64 อย่างไรก็ตามการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุน และการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ 
 
น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวต่อไปว่า การจัดอันดับจะประเมินจากการเรียนรู้ และการจ้างงาน มี 46 ตัวชี้วัด เช่น คุณภาพการศึกษา การอ่านออกเขียนได้ จำนวนการเข้าเรียน ระดับการศึกษาสูงสุดของประชากร การเรียนรู้ต่อเนื่องระหว่างทำงาน โอกาสและการเรียนรู้ในที่ทำงาน ทักษะการทำงาน อัตราการจ้างงาน และการมีสุขภาพดีในวัยสูงอายุ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทย จากการประเมินสมรรถนะทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุพบว่า ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ไทยอยู่อันดับที่ 68 ช่วงอายุ 15-24 ปี อยู่อันดับที่ 41 ช่วงอายุ 25-54 ปี อยู่อันดับที่ 57 ช่วงอายุ 55-64 ปี อยู่อันดับที่ 71 และอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่อันดับที่ 73 
 
“การจัดอันดับครั้งนี้พบว่า หลายประเทศรวมถึงไทย ผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนมาก ขณะที่ตำแหน่งว่างงานมีน้อย ทำให้เกิดปัญหาว่างงาน และบางคนต้องทำงานต่ำกว่าวุฒิ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีนักศึกษาไทยที่เลือกเรียนสายสังคมศาสตร์ ธุรกิจ และกฎหมายสูงที่สุด 1,337,272 คน คิดเป็น 53% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ขณะที่สายวิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้างมีเพียง 247,883 คน หรือ 9% สายวิทยาศาสตร์ 8% และการบริการ 1.8%” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าวและว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเศรษฐกิจที่รวดเร็วกำลังเป็นช่องว่างระหว่างการศึกษา และตลาดแรงงาน จึงต้องทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกวิชาการ และตลาดแรงงานจางลง เพราะการเรียนรู้ และนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลาจากการทำงาน ดังนั้นภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกับนักการศึกษา และรัฐบาล เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถตามทันความต้องการของตลาดแรงงาน.
 
(เดลินิวส์, 20/05/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท