Skip to main content
sharethis


ภาพเหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค.57 หน้าหอศิลปฯ


19 พ.ค.58 ที่ศาลแขวงปทุมวัน มีนัดพร้อมคดี นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุม จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.

“ผมเห็นว่าเป็นประชาชน มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 หมวด 4 ว่าด้วยหน้าที่ปวงชนชาวไทยได้ให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 69 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีใดๆ ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโโยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้”อภิชาตกล่าว

ทั้งนี้ขณะถูกจับกุมอภิชาตเป็นนักศึกษาโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร (บอ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาด้านกฎหมาย เหตุเกิดเนื่องจากในวันที่ 23 พ.ค.2557 หลังการรัฐประหาร 1 วัน มีการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารที่หน้าหอศิลปฯ และอภิชาตเป็นหนึ่งในสี่คนที่ถูกจับกุมเนื่องจากชูป้ายข้อความต้านรัฐประหาร เขาถูกควบคุมตัวที่กองปราบจนครบ 7 วันตามอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112, 215, 216 และมาตรา 14 อนุ 3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ่วงด้วย ผู้ใกล้ชิดอภิชาตซึ่งเป็นพยานขณะตำรวจสอบปากคำอภิชาตระบุว่า ข้อหาตามมาตรา 112 นั้นสืบเนื่องมาจากมีผู้นำส่งหลักฐานที่อ้างว่าเป็นข้อความในเฟซบุ๊กของอภิชาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร จากนั้นเขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ให้ประกันตัวเป็นเวลา 24 วันก่อนศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผลัดที่ 3 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  

ในเฟซบุ๊กของอภิชาตโพสต์ข้อความสรุปความคืบหน้าคดีของเขาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2558 ระบุว่า ปัจจุบันจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในชั้นตำรวจ อัยการสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียวคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุม

“หลังจากผมถูกแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อ 11 เดือนก่อน

1.ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก
2.ขัดคำสั่งคสช.7/57
3. ป.อาญา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
4.ป.อาญา 216 ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
5.ป.อาญา ม.112
และ 6. ความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ 

โทษรวมกันกว่า 30 ปี (โทษจากการต่อต้านเผด็จการ หุหุ)

ภายหลังต่อมาผมได้สู้คดีโดยยื่นคำให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อสู้ในหลายประเด็นโดยเฉพาะในแง่ของหลักการกฎหมาย กติการะหว่างประเทศ และเห็นว่าคำสั่งฉบับดังกล่าวไม่มีผลในทางกฎหมายในขณะนั้ัน

รวมถึงต่อสู้ว่าการควบคุมตัวกระผมไม่ชอบ และไม่มีเหตุจำเป็น จนศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผม โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และยกคำร้องฝากขังด้วย

ต่อมาอัยการศาลแขวงฯ ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผมใน 4 ข้อหา และ ข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ฉบับที่7/57 ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้อนุญาตสั่งฟ้อง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกเดือน และยื่นหนังสือให้การเป็นลายลักษณ์อักษรถึง อัยการสูงสุด ให้มีคำสั่งไม่ฟ้อง

รวมระยะเวลา 11 เดือน วันนี้ (24/4/58) อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผมในข้อหาเดียวคือ ขัดคำสั่ง คสช ฉบับที่7/57

อันที่จริงมีผู้ถูกจับพร้อมผมสองคน ที่ศาลได้ตัดสินหลังจากแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 57 เพียง 2 วัน จำเลยทั้งสองให้การยอมรับสารภาพ ศาลตัดสินลงโทษ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 3เดือน ปรับ 3000 บาท คดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

ผมได้เลือกที่จะต่อสู้คดีถึงที่สุด ไม่ยอมรับสารภาพใดๆ และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย และพร้อมจะต่อสู้ทั้งในด้านวิชาการและหลักกฎหมายตามหลักนิติธรรม ที่หวังว่าจะพอมีอยู่บ้าง แม้ระยะเวลาการต่อสู้ต่อจากนี้จะยาวนานและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และหากผลการพิพากษาคดีออกมาว่าจำเลยผิดจริง ผมคงได้รับโทษหนักด้วยเหตุที่ไม่ยอมรับสารภาพก็ตาม

แต่การต่อสู้ในทางกฎหมายและหลักวิชาการจะเป็นเครื่องยืนยันและดำรงไว้ซึ่งหลักการว่า "การรัฐประหาร" นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐและนิติธรรมทั้งปวง ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาหรือใช้อำนาจตามคำสั่งของคณะรัฐประหารมาพิจารณาได้

การดำเนินคดีของผมทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล เป็นไปตามกลไกของกระบวนการยุติธรรมที่ผมยินดีจะเข้าร่วม (เว้นแต่การจับกุมและการปฏิบัติต่อผมไม่เป็นไปตามหลักการยุติธรรมและกฎหมายด้วย คือ ผมไม่สิทธิพบญาติ พบทนายความ แจ้งสถานที่ถูกควบคุมตัว และใช้กิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม แต่ผมได้ให้อภัยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดและไม่มุ่งที่โกรธเคืองแต่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรทำกับประชาชนไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใดแบบนั้นอีก

เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากแต่กระบวนการยุติธรรมได้ใช้มาตรฐานที่เป็นหลักนิติรัฐ นิติธรรมฟังความทุกฝ่ายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจทั้งปวงและเคารพในสิทธิของประชาชน ตามหลักการปกครองประชาธิปไตยสากลนั้น ก็ย่อมยอมรับผลการพิจารณาทั้งปวงไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรแต่ยืนยันได้ว่า ไม่ยอมรับคำสั่งใดๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร หรือคณะใดๆ ที่ใช้กำลังเพื่อยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชน และละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง

อีกประการ อย่างที่กล่าวว่ากระผมได้ประกาศอย่างเด่นชัดว่า จะเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมนี้อย่างบริสุทธิ์ใจและเต็มใจ พร้อมจะสู้คดีโดยใช้ทนายความ พยานหลักฐาน หลักการทางกฎหมาย สู้คดีอย่างเต็มที่

องค์กรในกระบวนการยุติธรรม ก็ควรพิสูจน์ให้กระผมและคนในสังคมได้เห็นด้วยว่า ได้ใช้มาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยต่อผลการพิจารณาคดีของกระผมและบุคคลอื่น อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมสืบต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นคดีการปิดสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้ง การทำลายทรัพย์สินของทางราชการ การบุกยึดสนามบิน การสลายการชุมชนุมจนมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มการเมืองใดหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม

ตอนผมเป็นนักศึกษากฎหมาย ท่านอาจารย์ของผมซึ่งเป็นรองประธานศาลฏีกา ได้บอกกับผมว่า "ผู้พิพากษาที่ปราศจากอคติ ย่อมจะได้รับความชื่นชมและไม่มีวันตาย เพราะคนรุ่นหลังอ่านคำพิพากษาครั้งใด ท่านก็จะกลับฟื้นมีชีวิตมาให้ผู้อ่านได้ชื่นชม ผิดกับ ผู้พิพากษามีอคติ อยู่ก็เหมือนตาย ไปแล้ว"

ผมคิดว่าผู้พิพากษาจะรักษาเกียรติของท่านและองค์กรได้ทั้งในอนาคตและเมื่อท่านจากไปแล้ว

ขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้ผมเสมอมา ผมพร้อมแล้วที่จะสู้คดีด้วยความสามารถ ความเชื่อมั่น และความหวัง บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ผมเชื่อมั่นตลอดมา และยอมรับกับสิ่งที่กระทำอย่างเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net