Skip to main content
sharethis

กาตาร์ถูกวางให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี พ.ศ. 2565 ทำให้มีการอาศัยแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเรื่องสภาพย่ำแย่ของแรงงาน ทำให้กาตาร์เรียกสื่อต่างชาติ 'ทัวร์ทำข่าว' ตามวันเวลาที่จัดไว้ให้ แต่เมื่อนักข่าวบีบีซีพยายามทำข่าวแรงงานในช่วงเวลาก่อนกำหนดเขากลับถูกล้อมจับไปขัง


19 พ.ค. 2558 มาร์ค โลเบล ผู้สื่อข่าวบีบีซีถูกทางการกาตาร์จับกุมตัวหลังจากที่เขาพยายามถ่ายทำสภาพความเป็นอยู่ที่ยากแค้นของแรงงานอพยพในประเทศกาตาร์ที่กำลังเตรียมจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2565

โลเบลเป็นผู้สื่อข่าวบีบีซีสายธุรกิจประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง เขาได้รับเชิญจากสำนักนายกรัฐมนตรีกาตาร์ให้เป็นหนึ่งในทีมนักข่าวหลายประเทศไปดูสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติ แต่โลเบลระบุว่าในขณะที่เขากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนข่าวอยู่นั้นเขาก็ถูกจับเข้าคุกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ซึ่งการจับกุมเป็นไป "อย่างกับในภาพยนตร์" โดยในตอนนั้นทีมนักข่าวกำลังเดินทางไปถ่ายทำเรื่องของแรงงานอพยพชาวเนปาล ขณะนั้นเองก็มีรถยนต์สีขาว 8 คันขับเข้ามาจอดล้อมพวกเขาไว้อย่างรวดเร็ว

"มีเจ้าหน้าที่สิบกว่าคนค้นตัวพวกเขาบนถนน ตะโกนใส่พวกเราเวลาที่เราพยายามจะพูด พวกเขายึดอุปกรณ์และฮาร์ดไดร์ฟของพวกเราไป แล้วก็พาพวกเราขึ้นรถไปที่ศูนย์บัญชาการ" โลเบลระบุในบันทึกที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวบีบีซี

โลเบลเล่าต่อว่า ที่สถานีตำรวจเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสอบสวนพวกเขาเป็นรายบุคคลแยกตัวกันโดยการสอบสวนมีลักษณะไม่เป็นมิตร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังเอาแฟ้มเก็บภาพที่พวกเขาลอบติดตามถ่ายนักข่าวมาให้ดูซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกสะกดรอยตามโดยเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่เข้าประเทศแล้ว มีรูปของทีมงานพวกเขาทั้งในร้านกาแฟ ในรถประจำทาง แม้กระทั่งรูปนอนอยู่ข้างสระน้ำทำให้พวกเขารู้สึกตื่นตะลึงเพราะไม่คาดว่าจะถูกสะกดรอย


"ที่นี่ไม่ใช่ดิสนีย์แลนด์"

โลเบลเล่าต่อว่าพวกเขาถูกนำตัวไปขังไว้คืนหนึ่งและในวันถัดจากนั้นแทนที่พวกเขาจะได้เข้าร่วมทัวร์ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลกาตาร์เป้นวันแรกพวกเขากลับถูกนำตัวมาสืบสวนต่อ ในระหว่างนั้นเองมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งฉุนขาดตวาดใส่พวกเขาว่า "ที่นี่ไม่ใช่ดิสนี่ย์แลนด์! พวกคุณไม่สามารถส่องกล้องพวกคุณไปได้ทุกที่"

เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ แก่พวกเขา แต่ก็อ้างว่าการจับกุมตัวพวกเขาเป็นเรื่องของความมั่นคงในชาติ ซึ่งต่อมาในวันที่ 18 พ.ค. รัฐบาลกาตาร์ออกแถลงการณ์ระบุว่า พวกเขาต้องการให้นักข่าวเข้าชมสภาพของแรงงานในหมู่บ้านแรงงานแห่งใหม่โดยอนุญาตให้สัมภาษณ์ใครก็ได้และเดินไปตามหมู่บ้านแรงงานได้อย่างอิสระ แต่ทีมข่าวของบีบีซีกลับดำเนินการไปเยือนและสัมภาษณ์ก่อนวันจัดทัวร์จริงทำให้มีการ "บุกรุกพื้นที่ส่วนตัว" ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในกาตาร์จึงมีการจับกุมตัวนักข่าวไว้

ทางสำนักข่าวบีบีซีโต้ตอบกลับว่า ถ้าหากกาตาร์ไม่มีสิ่งใดต้องปิดเป็นความลับการกระทำของทีมข่าวบีบีซีก็เป็นไปเพื่อให้ได้งานข่าวที่ดี แต่เจ้าหน้าที่รัฐของกาตาร์กลับอ้างข้อกล่าวหาที่ให้ความชอบธรรมในการจับตัวนักข่าวฟังดูขัดแย้งกันเอง และทีมข่าวของพวกเขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหานั้น

โลเบลเล่าอีกว่าพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าจะขังพวกเขาต่ออีก 4 วันเพื่อเป็นการสั่งสอน แต่หลังจากถูกขังในคืนที่ 2 พวกเขาก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเพื่อเข้าร่วมทัวร์นักข่าวได้ อย่างไรก็ตามพวกเขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้คืนอุปกรณ์ที่ยึดไปให้กับพวกเขาแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้พวกเขาเดินทางออกจากประเทศได้แล้ว

โลเบลตั้งคำถามว่าเหตุใดกาตาร์ถึงเชืญชวนนักข่าวต่างประเทศเข้าไปทำจ่าวแต่ก็มีการจับกุมกักขังพวกเขา หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการประสานงานกันที่ไม่ดีของฝ่ายรัฐ หรืออาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายหัวสมัยใหม่ ไม่ว่าจะด้วยคำอธิบายแบบใดก็ตามในตอนนี้ประเทศกาตาร์ก็ถูกเปิดโปงเรื่องวิธีการปฏิบัติต่อนักข่าวแบบขัดแย้งกันในตัวเองแล้ว

นอกจากทีมข่าวบีบีซีแล้ว ในบันทึกยังระบุอีกว่ามีนักข่าวโทรทัศน์ของเยอรมนีถูกทางการกาตาร์จับกุมตัวและถูกสั่งทำลายอุปกรณ์ทำข่าวเมื่อไม่นานมานี้


ความพยายามประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านแรงงานในกาตาร์

ก่อนหน้านี้ประเทศกาตาร์เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องที่ถูกมองว่าพวกเขาปฏิบัติไม่ดีต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ มีบางส่วนเสียชีวิต มีการกล่าวหาว่าทางการยึดหนังสือเดินทางของแรงงานช้ามชาติเพื่อไม่ให้พวกเขากลับประเทศตัวเองอีกทั้งระบบในกาตาร์ยังบีบให้แรงงานต้องทำงานเดิมเป็นเวลา 5 ปี โดยไม่สามารถเปลี่ยนงานได้

มุสตาฟา กาดรี นักวิจัยเรื่องสิทธิผู้อพยพจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวต่อบีบีซีว่าการจับกุมนักข่าวและนักกิจกรรมอาจจะเป็นความพยายามข่มขู่ผู้ที่ต้องการจะเปิดโปงเรื่องการกดขี่แรงงานในกาตาร์

การจัดทัวร์สภาพชีวิตของแรงงานในกาตาร์มีคณะกรรมการจัดฟุตบอลโลกของกาตาร์มีส่วนร่วมด้วยเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ 'ฟีฟ่า' โดยหลังจากโลเบลออกจากคุกแล้วเขาถูกพาไปดูสภาพชีวิตของแรงงานซึ่งมีทั้งหมู่บ้านคนงานที่ดูน่าอยู่ มียิม มีสระว่ายน้ำ และมีเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิการ แต่การนำทัวร์ในกาตาร์นี้ดำเนินการโดยบริษัทจัดประชาสัมพันธ์ชั้นนำของอังกฤษชื่อ 'พอร์ตแลนด์ คอมมิวนิเคชั่น'

ในอีกมุมหนึ่ง อับดุลลาห์ อัลคูไลฟี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกาตาร์กล่าวต่อนักข่าวบีบีซีหลังพวกเขาถูกปล่อยตัวว่า การที่นักสิทธิมนุษยชนและสื่อพยายามบอกว่ามีการ "บังคับใช้แรงงาน" ในกาตาร์และแรงงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่นั้นถือเป็นเรื่องที่พูดเกินจริง โดยทางการกาตาร์กำลังพยายามพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานข้ามชาติอยู่ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่าทางการกาตาร์ประกาศใช้แผนการคุ้มครองค่าจ้างซึ่งทำให้มีบริษัทอย่างน้อย 450 บริษัทถูกแบนและมีการจ่ายค่าเสียหายกรณีที่ปฏิบัติไม่ดีต่อแรงงาน

แต่โลเบลก็ยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงในกาตาร์คงยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ จากการที่มีเจ้าหน้าที่ทางการคอบสอดส่องอยู่ทุกที่ การที่กาตาร์ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีเสรีภาพสื่อ ทำให้บรรษัทใหญ่ๆ ไม่มีแรงผลักดันมากพอที่จะพัฒนาคุณภาพแรงงานนับล้านคนที่ยากจน

โลเบลเล่าว่าก่อนที่เขาจะถูกจับเขาได้พบกับแรงงานช่างกลอายุ 18 ปี ชาวเนปาล ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงงานอพยพชาวเนปาล 400,000 คนในกาตาร์ เขาบอกว่าต้องการทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเขาด้านการเงินเพราะพ่อเขาเสียชีวิตไปแล้วทำให้ประสบความยากลำบาก เขาบอกว่าเขาจ่ายค่านายหน้าจัดหางานในเนปาล 600 ดอลลาร์ซึ่งให้สัญญาว่าเขาจะได้รับค่าจ้าง 300 ดอลลาร์ต่อเดือนในกาตาร์ แต่เมื่อไปทำงานจริงๆ เขากลับได้รับค่าจ้างเพียง 165 ดอลลาร์ต่อเดือนและไม่ได้รับสำเนาข้อตกลงการจ้างที่เขาเคยเซนต์ไว้ อีกทั้งข้อตกลงยังเป็นภาาาอังกฤษที่เขาอ่านไม่เข้าใจอีกด้วย

แม้ว่าจะมีการพยายามปรับภาพลักษณ์ด้านแรงงานโดยทางการ แต่โลเบลก็ระบุว่ามีโอกาสที่สื่อจะนำเสนอข่าวโดยเน้นเรื่องประเด็นแรงงานข้ามชาติในกาตาร์มากขึ้นกว่าเดิม


เรียบเรียงจาก

Arrested for reporting on Qatar's World Cup labourers, BBC, 18-05-2015

BBC journalist arrested for filming Qatar World Cup 2022 workers, The Telegraph, 18-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net