Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่ง คณะรัฐศาสตร์ มธ. และสำนักพิมพ์ openworlds ได้จัดกิจกรรม เสวนา "อ่านมาร์กซ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย" ซึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือ "มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา" (Marx: A very short introduction) ของ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ แปลโดย เกษียร เตชะพีระ (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่เว็บไซต์ http://openworlds.in.th/books/marx-vsi/ ) โดยมี พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา ซึ่งประชาไทได้ถอดคำอภิปรายมานำเสนอดังนี้

พิชิต : ต้องขอบคุณ อาจารย์เกษียร ที่ได้ทบทวนหนังสือแนะนำมาร์กซยุคต้นๆ สมัยผมนึกขึ้นมาได้ว่า หนังสือแนะนำมาร์กซเล่มแรกที่ผมอ่านเมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 2517 คือหนังสือ ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิสม์ แปลโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ ของ Emile Buens ซึ่งมีอิทธิพลกับผมมากในเวลานั้น หนังสือเล่มบางๆ มาพิมพ์ทีหลังเพราะว่า ตอน 6 ตุลา 19 ถูกแบน พอมาพิมพ์ใหม่ก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อ เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลกับผมมาก และผมก็ยังจำข้อความที่อยู่ในเล่มนั้นได้อย่างชัดเจน ข้อความส่วนต่างๆ การวิเคราะห์ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ การร่ายถึงวิวัฒนาการของสังคม ความรู้ลัทธิมาร์กซของผมก็มาจากทั้งสองทาง คือหาอ่านเองส่วนใหญ่ แล้วก็ได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์บ้าง จนกระทั่งปี 2530 กว่าก็มีวิวาทะกัน

ปีเตอร์ ซิงเกอร์ กับการเชื่อมโยงมาร์กซกับ เฮเกล

หนังสือเล่มนี้ของ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ผมเห็นมานานมาก และก็อ่านมานานมากแล้วจนลืม เมื่อมีการแปลผมก็เอามานั่งอ่าน ฉบับแปล หน้าที่นี้มันใช่เหรอ (หัวเราะ) ต้องกลับไปอ่านฉบับภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่งถึงได้นึกออก ต้องชมว่าปีเตอร์ ซิงเกอร์ เป็นหนังสือที่แนะนำความรู้เบื้องต้นของ คาร์ล มาร์กซ เล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง คือไม่ได้มีลักษณะ dogmatic ที่เคร่งคัมภีร์ ทำกับเนื้อหาเหมือนเป็นศาสนา มีการแง่มุมที่พยายามให้ความเข้าใจ มีการตั้งคำถามเป็นจุดๆ ในบางประเด็นที่ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ไม่เห็นด้วยก็อธิบายออกมา ผมก็ไม่เห็นด้วยกับ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ หลายจุดเหมือนกัน ซึ่งเดี๋ยวจะพูดถึงต่อไป

จุดแข็งของหนังสือเล่มนี้คือ การโยงเฮเกล กับมาร์กซ เข้าด้วยกันได้อย่างแนบแน่น ซึ่งหนังสือแนะนำมาร์กซ ที่ทำแบบนี้ได้หายากมาก คือหลายเล่มขึ้นมาก็แนะนำมาร์กซไปเลย โดยที่ไม่ได้ไปสืบค้นรากเหง้าความคิดของมาร์กซว่าจริงๆ แล้วมาจากเฮเกล แม้กระทั่งตอนที่มาร์กซแก่แล้ว ที่เขียนงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองออกมาเป็นหนังสือ ทุน สามพันกว่าหน้า ความจริงแล้วโครงสร้างของหนังสือทุนทั้งหมด ลอกแบบมาจากโครงสร้างปรัชญาของเฮเกล เช่นเดียวกัน แต่ของเฮเกลเรามีสิ่งที่เรียกว่าจิตสมบูรณ์ จิตหนึ่งที่เป็นจิตของคนทั้งโลก ซึ่งดูแล้วลึกลับ แต่ความจริงก็คือว่า จิตของโลกก็คือพวกเราทุกคน เป็นจิตรวมของเราทุกคน จิตของเราแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของจิตในนั้น แล้วความแปลกแยกของจิตในนั้นก็สะท้อนออกมาเป็นความแปลกแยกของพวกเรา ที่ออกมาในรูปแบบของความไม่รู้ ขาดการรู้สึกนึกหรือจิตสำนึกในเนื้อแท้ของตัวเอง

ในเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องของทุน ทั้ง 3 เล่มของมาร์กซ ตัวที่เรียกว่าจิต (spirit) ของเฮเกล ถูกแทนด้วยทุน ฉะนั้นตัว subject ของเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซก็คือ ทุน capital ที่เริ่มต้นจากเล่มหนึ่งเป็นทุนที่เป็น นามธรรม จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมามีการผลิต มีแรงงาน มีการขูดรีดแรงงาน มูลค่าส่วนเกิน มีระบบเศรษฐกิจมีการ หมุนเวียน มีการแลกเปลี่ยน  มีการแปรรูปจากจากมูลค่าส่วนเกินไปเป็นรายได้ ที่ไม่ใช่ค่าจ้าง เช่นกำไร ดอกเบี้ย ค่าเช่า ทั้งหมดนี้มาจากมูลค่าส่วนเกิน และพัฒนาออกเป็นทุนที่มีการเติบโต มีการสะสมแล้วโตขึ้นมาเอง ฉะนั้นโครงสร้างของหนังสือทุนของมาร์กซ(แก่) ก็ยังเป็นเฮเกลเลียนอยู่โดยสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าโครงสร้างมันจะชัดเจนมากในเล่มที่ 1 เพราะเป็นที่มาร์กซเขียน และพิมพ์เอง เล่มที่ 2 มาร์กซเขียนไว้เกือบเสร็จแล้ว แต่ตายซะก่อน ก็ต้องให้เพื่อนมา edit นิดหน่อย เล่ม 3 จะมีปัญหามากเพราะ มาร์กซเขียนไม่เสร็จ หลายบทมีแค่เค้าโครง หลายบทก็มีเพียงแค่ชื่อ เองเงิลส์ (Friedrich Engels) เองก็ใช้เวลานานมาในการ edit ออกมา ฉะนั้นเล่ม 3 โครงสร้างลักษณะ ความเป็นเฮเกลเลียนจึงอ่อนไป

แต่โดยทั่วไปแล้วข้อดีของหนังสือเล่มนี้ จะทำให้เข้าใจพื้นฐานทางด้านปรัชญา รากฐานที่มาทางความคิดของมาร์กซได้ค่อนข้างดี แล้วความเข้าใจนี้จะช่วยในการไปอ่านตัวมาร์กซจริง ถ้าหลายคนจะอ่าน ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็หาอ่านงานของมาร์กซได้ง่ายมากเลย บนอินเทอร์เน็ตนี่คุณไปดาวน์โหลดได้ฟรีหมดเลย ทุกเล่ม เป็นร้อยเป็นพันเล่ม คือไม่ต้องซื้อเลย แต่ว่าเล่มนี้มันยังไม่มีบนอินเทอร์เน็ต (หัวเราะ)

การที่ใครสักสักคนจะไปนั่งอ่านงานเบื้องต้นของมาร์กซเองโดยตรง มันก็เป็นอะไรที่น่าสยดสยองเหมือนกัน มันไม่ใช่ง่าย แค่ภาษาและสไตล์ในการเขียนที่ค่อนข้างจะยียวน กวนอะไรต่อมิอะไร มันไม่ใช่ง่าย แล้วมาร์กซเวลาเขียน เบื้องต้นเลยคือ เขาเป็นนักปรัชญา ถึงแม้ตอนหลังจะมาเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องการเมือง อะไรก็ตาม แต่เบื้องหลังเขาก็ยังเป็นนักปรัชญา ฉะนั้นเวลาเขาเขียนอะไรเขาจะซ่อนแง่มุมทางปรัชญาเอาไว้เยอะแยะ ฉะนั้นการอ่านงานของเขาก็ไม่ใช่ง่าย คนรุ่นหลังถ้าใครยังสนใจที่จะอ่านมาร์กซก็ต้องอ่านคำแนะนำพวกนี้ก่อนเพื่อให้ได้พื้นฐาน

อิทธิพลของเฮเกล ในงานของคาร์ล มาร์กซ

ทีนี้สิ่งที่ผมคิดว่า ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ชี้ออกมาได้ชัดเจนมาก และเข้าใจว่าเป็นเล่มเดียวเท่าที่ผมอ่านมาหลายเล่ม มีเขาคนเดียวที่ชี้ออกมาได้ชัดเจนมากในเรื่องนี้ก็คือว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ มันเป็นเฮเกลเลียน ในแง่ที่ว่ามาร์กซใช้อภิปรัชญาของเฮเกล มาเป็นโครงร่างทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และเฮเกลมันก็มีจิตสัมบูรณ์ ที่ไม่เข้าใจถึงเนื้อแท้ของตัวเอง ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร แล้วก็มองออกไป เกิดการแตกแยกออกไปเป็นโลกทางภาวะวิสัย แล้วก็มองโลกอย่างพินิจ พิเคราะห์ ผ่านความขัดแย้งขั้นตอนต่างๆ โดยคู่ความขัดแย้งนี้ตัวภาวะวิสัย กับตัวจิต ก็มีกระบวนการวิวัฒนาการเป็นขั้นตอนในที่เป็นวิภาษวิธี ขัดแย้ง-เอกภาพ จนกระทั่งถึงตอนจบก็จะรู้ทันทีว่าที่เราเห็นอยู่นั้นคือตัวเราเอง มันคือเงาของเราที่อยู่ในกระจก ไม่ใข่สิ่งแปลกประหลาด ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกตัวเรา มันคือเราเอง มันคือเงาของกระจก ถึงตรงนั้นก็จบ

ในเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ เขาก็เอาจิตนี้ออกไป แต่เอามนุษย์มาแทน ซึ่งก็คือคนงาน แล้วคนงานก็มีเนื้อใน มีการใช้แรงงานทำการผลิต productive labor หรือ productive activity by labor ตรงนี้เป็นอภิปรัชญาอย่างไร อภิปรัชญาแบบนี้ตกทอดมาจากวิภาษวิธียุคกรีก ตัวอย่างที่ผมอ่านเจอในหนังสือเกือบทุกเล่มเช่น ลูกสนเมื่อหยิบขึ้นมาเนื้อแท้มันคือต้นสนที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เป็นศักยภาพที่อยู่ในลูกสนนั้น ต้องอาศัยกาลเวลา และสภาพแวดล้อมพอดี ลูกสนนี้จึงจะงอกโตเป็นต้นสนขนาดใหญ่ ฉะนั้นเมื่อหยิบลูกสนขึ้นมาหนึ่งลูก เราเห็นต้นสนที่พัฒนาเต็มที่แล้วอยู่ในนั้น ถ้าหากในกระบวนการที่ผ่านไปมีปัจจัยใดๆ ก็ตามที่มาขัดขวางไม่ให้ลูกสนมันงอกและโตได้เต็มที่ อันนั้นเรียกแปลกแยก หมายความลูกสนที่เกิดมานี้เสียเปล่าแทนที่จะได้ตกดินแล้วงอกเป็นต้นสน บรรลุความเป็นตัวของเขาเอง นี่คืออภิปรัชญาแบบหนึ่ง คือมองว่าเป้าหมายสุดท้ายอยู่ในตัวจุดเริ่มต้น ทีนี้วิภาษวิธีแบบนี้ตั้งแต่ยุคกรีกลงมา มาร์กซก็เอามาใช้คือ มนุษย์ แล้วมนุษย์ที่ว่าก็มีแรงงาน และแรงงานนี้ก็เพื่อทำการผลิต

ทีนี้ถ้าหากว่าคนคนนั้นไม่สามารถใช้แรงงานได้อย่างเสรีเพื่อทำการผลิตได้ เขาก็เกิดการแปลกแยก เช่นแทนที่เขาจะใช้แรงงานทำการผลิตอย่างเสรีเพื่อบรรลุความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้ผลิตเพื่อตัวเขาเองอย่างสมบูรณ์ กลับถูกบังคับให้ผลิตเพื่อคนอื่น ถูกบังคับให้ทำการผลิตให้กับนายทุน ถูกบังคับให้ทำการผลิตเพื่อค่าจ้างไปวันๆ การใช้แรงงานอย่างหลังคือ ความแปลกแยก ทั้งที่แรงงานมันคือเนื้อแท้ของเขา เพื่อที่จะทำให้เขาเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่กลับเป็นว่าระบบทุนนิยม ระบบตลาดขัดขวางให้เขาไม่สามารถบรรลุเนื้อแท้ได้

ฉะนั้นหนังสือทุน เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซในแง่นี้ ทั้งโครงสร้างสุดท้ายมันจะโยงไปสู่การเมืองเพราะระบบทุนนิยม ซึ่งขัดขวางไม่ให้มนุษย์ผู้มีแรงงานไปบรรลุความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยตัวเองได้ หนทางก็คือ การยุติความแปลกแยกนั้น และความแปลกแยกนั้นคือ ระบบทุนนิยม คือต้องทำลาย หรือความพ้นระบบทุนนิยม จากจุดนี้ก็จะเข้าสู่งานเขียนทางด้านการเมืองของมาร์กซ

มาร์กซ กับงานเขียนทางการเมือง

ในหนังสือทุนของมาร์กซ ไม่มีการเมืองอยู่เลย หนังสือทุนของมาร์กซเป็นการให้ระบบทุนนิยมในจิตนาการโดยเศรษฐกิจของอังกฤษปี 1850 เป็นตัวอย่าง แต่จริงๆในนั้นมาร์กซพยายามจะสร้างคอนเซป ซ้อนคอนเซป เพื่อก่อรูปเป็นระบบทุนนิยมในจินตภาพ ฉะนั้นจึงเป็นระบบที่บริสุทธิ์มาก ยังไม่มีแม้แต่รัฐบาลกลางที่แทรกแซงระบบเศรษฐกิจ อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ไม่มีแม้แต่ธนาคารกลางที่ควบคุมอุปทานเงิน หรือแทรกแซงระบบการเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย นโยบายอย่างที่เรารู้ เงินเฟ้อก็ยังไม่มี มีแต่แข่งระหว่างนายทุนต่างๆ เพื่อไปบรรลุกำไร แล้วสร้างกำไรถาวร ภายใต้ระบบที่เป็นจิตภาพนี้มีความขัดแย้งในตัวเองอยู่บ้าง ความขัดแย้งในตัวเองนี้สร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือเชิงวิกฤตให้กับระบบทุนนิยม ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ ก็ต่อยอดมาจากปรัชญา หรืออภิปรัชญาของเฮเกล โดยเอามนุษย์ที่มีแรงงานเพื่อทำการผลิตเข้าไปแทนสิ่งที่เรียกว่า จิต

หลังจากนั้นในหนังสือทุน มาร์กซก็ไม่ได้พูดอะไรมาก บอกแต่เพียงว่าระบบทุนนิยมมันมีปัญหามีวิกฤตเชิงโครงสร้าง ซึ่งตอนหลังก็ถูกนักเศรษฐศาสตร์ฟากกระแสหลักบอกว่าผิดหมด แต่ว่าก็ไปเถียงกันได้ว่าผิดถูกกันอย่างไร แต่มาร์กซไม่ได้ไว้ในหนังสือทุนว่า ที่สุดแล้วคุณจะพ้นระบบทุนนิยมอย่างไร อันนั้นต้องมาสู่งานเขียนทางการเมืองของมาร์กซ ซึ่งผมอาจจะรู้สึกว่า ชิ้นนี้(ปีเตอร์ ซิงเกอร์) จะอ่อนไปนิดนึง มีพูดถึงอยู่บ้างในตอนท้าย ที่พูดถึงเรื่องหลักนโยบายโกธา ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนของมาร์กซอยู่ แต่ยังขาดไปเยอะ ฉะนั้นในแง่นี้ถ้าใครอยากจะศึกษามาร์กซ หรือจะไปอ่านงานของมาร์กซตัวจริง ก็เริ่มต้นจากเล่มนี้ก็เป็นเล่มที่ดี ให้ approach  ที่เป็นวิชาการ แล้วก็ไม่เอนเอียง มีการตั้งคำถามหลายจุดที่น่าสนใจ ส่วนเราจะเห็นด้วยกับมาร์กซหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะมาเสนอว่ามนุษยมีเนื้อแท้อยู่ข้างในคือเป็น ผู้แรงงานทำงานผลิต นี่คือลักษณะพิเศษของความเป็นมนุษย์ หลายคนอาจจะบอกว่ามันเป็นอภิปรัชญา ในสำนักอื่นก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่หรอก เนื้อแท้ของลักษณะของปัจเจกชน หรือของมนุษย์คือการแสวงหาความสุข เลี่ยงความทุกข์ เลี่ยงความเจ็บปวด ถ้าเศรษฐศาสตร์ภาคกระแสหลักก็ต้องบอกว่า มนุษย์มีลักษณะประจำตัวคือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนนึกถึงตัวเองไว้ก่อนทำอะไรก็แล้วแต่ต้องชั่งน้ำหนัก ส่วนได้ ส่วนสีย ไม่ใช่เรื่องของแรงงานที่เอาไปทำการผลิตเพราะ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า แรงงานทำการผลิตคือ ความทุกข์ เนื้อแท้ของคนเราคือ ไม่ชอบทำงาน หรือต้องทำงานให้น้อยที่สุด ซึ่งก็เถียงกันได้

Freedom ของมาร์กซ ต่างจาก Freedom ของเสรีนิยม

เมื่อเข้าใจว่างานของมาร์กซมีรากเหง้ามาจากปรัชญาของเฮเกล เราก็จะเข้าใจคอนเซปหลายๆ อันของมาร์กซว่า เขาใช้ในลักษณะที่มีความหมายเฉพาะมาก ไม่ใช่ในลักษณะทั่วไปอย่างที่เราเข้าใจ เช่น คำหนึ่งที่เข้าใจกันผิดมาก freedom หรือ liberty เสรีภาพของมาร์กซที่เขาพูดถึงในงานเขียนทางการเมืองช่วงท้ายๆ freedom ไม่ใช่ freedom ในความหมายของพวกเสรีนิยม แต่เป็น freedom หรือเสรีภาพในความหมายของเฮเกลเลียน คือการที่คุณไปบรรลุจิตสำนึก ที่เข้าใจถึงความเป็นตัวของตัวเอง บรรลุถึงเนื้อแท้ของตัวเองได้ นั่นแหละคุณมี freedom ฉะนั้น freedom ในแบบของมาร์กซคือ การที่คุณได้ใช้แรงงานในการผลิต ด้วยจิตสำนึกของตัวเอง ไม่ใช่ภายใต้ระบบทุนที่บังคับให้คุณต้องทำนั่นทำนี่ เพื่อค่าจ้างไปวันๆ ถ้าคุณบรรลุตรงนั้นได้ คุณมี freedom ซึ่งมันเป็น freedom ที่นำไปสู่แนวความคิดที่ตรงกันข้ามกับเสรีนิยมเลย

อย่างในปรัชญาของเฮเกล รัฐ ถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของมนุษย์ จากประชาชนเมื่อฉายภาพออกไปก็ป็นรัฐ ฉะนั้นเมื่อคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ สนับสนุนรัฐ ถือว่าคุณมี freedom แล้ว อะไรก็ตามที่มันใหญ่แล้วตัวคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ถือว่าคุณมี freedom แล้ว

ฉะนั้นความคิดของเฮเกล ก็เลยมีคนลากยาวมาว่า คุณอาจจะถูกบังคับให้มีเสรีภาพก็ได้ โดยที่รัฐเข้ามาบังคับ เพราะว่ารัฐ คือเหตุผล หรือหลักเหตุผลที่ถูกต้องที่ดำรงอยู่ในทางภาวะวิสัย ถ้าคุณทำอะไรที่ผิดพลาดนอกเหนือไปจากรัฐ คุณกำลังแยกออกจากรัฐ ฉะนั้นรัฐก็อาจจะใช่มาตราการหลายอย่างบังคับคุณ จับคุณติดคุก ลงโทษ ความหมายก็คือ คุณถูกบังคับให้มีเสรีภาพ คือทำให้กลับเรามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ฉะนั้น freedom ของมาร์กซมันจึงคือ การไปบรรลุสภาพพิเศษบางอย่าง ไม่ใช่เสรีภาพแบบเสรีนิยม

เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ กับประโยชน์เชิงรูปธรรมในปัจจุบัน

ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ ถ้าว่าไปแล้วหนังสือทุน ณ ปัจจุบันนี้ คนก็อ่านน้อยลงไปเรื่อยๆ ในเมืองไทยก็มีคุณสุภา ที่เคยเล่าว่าท่านอ่านทั้ง 3 เล่ม ใช้เวลา 9 ปี (แฮะๆ) ผมอ่าน 3 เล่มใช้เวลา 3 เดือน ตอนอยู่ที่อังกฤษ คือตอนนั้นเป็นนักเรียนทุนที่จนมาก เพราะในอังกฤษที่เคมบริดจ์ คนไทยที่ไปเรียนก็ลูกท่านหลานเธอทั้งนั้น พอปิดเทอมเขาก็ขึ้นเครืองบินเทียวกัน ผมไม่มีตังค์ก็เลยนั่งอ่านมาร์กซ แล้ววิทยานิพนธ์ปริญญาเอกผมก็เป็นเรื่องนี้พอดี คือยังไงมันก็ต้องอ่าน

ถ้าพูดถึงว่า ประโยชน์ที่จะเข้าใจถึงการทำงานของระบบทุนนิยมในเชิงรูปธรรมแล้วผมบอกตรงนี้เลยว่า มีประโยชน์น้อยมาก เพราะว่า แก่นกลางของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซคือ มูลค่าแรงงาน สินค้าจะมีมูลค่ามาหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงาน สินค้าที่ใช้แรงงานเยอะมีมูลค่าเยอะ สินค้าที่แรงน้อยมีมูลค่าน้อย ซึ่งตรงนี้ก็อย่างเมือ 20 ปีก่อนที่มีการเถียงกัน ถึงข้อบกพร่องทฤษฎีแบบนี้ คือเมื่อคุณใช้แนวคิดทฤษฎีมูลค่าแรงงานเพื่อ พิสูจน์ว่ามีขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในระดับโรงงาน แต่ว่าเมื่อคุณก่อรูประบบเศรษฐกิจขึ้นมามีโครงสร้างตลาดขึ้นมา เป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์แล้ว ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นมันไม่เหมือนเศรษฐกิจจริง มันมีปัญหาเยอะแยะ ลักษณะอย่างหนึ่งซึ่งมันเอาไปเทียบกับระบบเศรษฐกิจจริงแล้วต่างกันเลยเช่น ระบบเศรษฐกิจของมาร์กซสุดท้ายอัตรากำไรมันจะไม่เท่ากัน ในอุตสาหกรรมที่ต่างสาขากัน

มาร์กซพยายามอธิบายในเล่มที่ 3 ว่า มันอธิบายได้ในโลกความเป็นจริง อุตสาหกรรมต่างกันแต่มีกำไรที่เท่ากัน เพราะแข่งขันอันนี้มาร์กซก็ยอมรับแล้วก็พยายามคิดค้นสูตรวิธีการอธิบายว่ามีการเคลื่อนย้ายของทุน และมีการดูดซับมูลค่าส่วนเกินข้ามสาขา อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะ ผลิตมูลค่าส่วนเกินเยอะ อัตรากำไรน่าจะสูงกว่า แต่กลับต่ำเพราะว่า มีการไหลออกของมูลค่าส่วนเกิน ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย ผลิตมูลค่าส่วนเกินน้อย ชดเชยกันทำให้ทุกอุตสาหกรรมได้อัตรากำไรที่เท่ากันตามระบบทุนนิยมที่เป็นจริง แต่คำอธิบายแบบนี้มันไม่ค่อยจะ convince สักเท่าไหร่ ผมเองอ่านแล้วก็ยังค่อนข้างมีปัญหา

นอกจากนั้นกฎการพัฒนาของทุนนิยมหลายอย่างในหนังสือทุนก็ไม่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกองทัพสำรองของผู้ว่างงาน การว่างงานที่เกิดจากการใช้เครื่องจักรทดแทน แนวโน้มอัตรากำไรเฉลี่ยลดลงในช่วงระยะยาว อันนี้ก็ไม่จริง การผลิตซ้ำในปลายเล่มที่ 2 ที่ให้แบบจำลองทางเศรษฐกิจมา มีการผลิตซ้ำแบบคงที่ การผลิตซ้ำแบบขยาย ก็ยังไม่สามารถอธิบายอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกรบวนการดำเนินงานของทุนการเงิน และทุนพาณิชย์ พวกค้าปลีก และค้าส่ง และปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งก็คือว่า ระบบทุนนิยมที่มาร์กซใช้เป็นต้นแบบในการดึงเอาจินตภาพ นามธรรมออกมามันเป็นเศรษฐกิจของอังกฤษยุคปี 1850 ท้ายๆ ช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมาในยุคศตวรรษที่ 21 มันยากมาก เช่นผมเคยไปที่ประเทศญี่ปุ่น ไปดูโรงงานประกอบรถยนต์ที่ญี่ปุ่น เข้าไปในโรงงานทั้งโรงงานเป็นหุ่นยนต์ จ้างวิศวกรแค่ไม่กี่คน นอกนั้นเป็นหุ่นยนต์ ผมก็ดูแล้วสงสัยว่า ทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินของมาร์กซจะอธิบายอย่างไร คือคนที่ทำได้ก็คงเก่ง ผมคงเก่งไม่พอ

ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซในความเป็นจริงประโยชน์ในเชิงปฏิบัติถือว่า น้อยมากในแง่ของความเป็นจริง แม้กระทั่งในแง่ของการวิเคราะห์ วิกฤตการณ์ของทุนนิยมที่ปรากฏอยู่ในหนังสือทุน กับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของศตวรรษ 20  กับ 21 ลักษณะก็แตกต่างกันมาก วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมในศตวรรษที่ 18-19 มันเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ในศตวรรษ 20 และ 21 กับเป็นอีกแบบหนึ่ง มันถึงต้องมีเศรษฐศาสตร์เคนส์เซี่ยน (Keynesian Economics) คนถึงไม่ได้กลับไปใช้มาร์กซ แต่ใช้เคนส์เซี่ยนแทนเพราะว่า ลักษณะของวิกฤตเศรษฐกิจมันต่างกัน แม้กระทั้งพวกนีโอมากซิสต์(Neo- Marxism) พยายามอธิบายทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1950 ก็แทบจะไม่ได้ใช้แนวคิดของมาร์กซในหนังสือทุนเลย แต่กลับใช้กรอบทฤษฎีของเคนส์เซียน เอามาใส่แล้วเอาเนื้อหาเชิงคล้ายมาร์กซใส่เข้าไป ส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจที่นีโอมากซิสต์วิเคราะห์ไว้ ส่วนเกินที่ว่าก็เป็น ส่วนเกินในความหมายของเคนส์เซียน ไม่ใช่ส่วนเกินในความหมายในหนังสือทุนของมาร์กซ ฉะนั้นในแง่ความเข้าใจเชิงโครงสร้าง ปัญหาภายในของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ก็อาจจะค่อนข้างยากที่จะใช้มาร์กซ

ถ้ามาร์กซยังอยู่ เขาจะมองโซเวียต และจีน อย่างไร

อีกอันหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ คือ เขาบอกว่า มาร์กซถ้ามาเห็นสหภาพโซเวียต หรือจีน ในปัจจุบันมาร์กซก็คงไม่เห็นด้วย แล้วก็มีแนวโนมว่ามาร์กซอาจจะถูกส่งไปค่ายแรงงาน ด้วยความที่แกเป็นปัญญาชนชอบพูด ชอบวิจารณ์ ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยเลย แสดงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ในหมู่มาร์กซิสม์ เลนินิสต์ ทรอตสกี้ เถียงกันมากว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของสังคมนิยม ในโลกของความเป็นจริง สภาพโซเวียต หรือจีนก็แล้วแต่ ซึ่งมันสยดสยองมาก มาร์กซมีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่เถียงกันมาก ส่วนใหญ่เลยคนที่สมานทานมาร์กซ จะแก้ตัวให้ โดยการบอกว่ามาร์กซเป็นมนุษย์นิยม ถ้ามาร์กซเห็นมาร์กซจะต้องปฏิเสธสังคมนิยมแบบนั้นมันไม่ใช่แบบที่มาร์กซต้องการ มาร์กซเป็นคนที่รักเพื่อนมนุษย์ ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะถ้าหากไปนั่งอ่านไม่ว่าจะเป็น ชีวประวัติของมาร์กซเอง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมาร์กซ และที่สำคัญที่สุดคืองานเขียนทางการเมืองของมาร์กซ เราจะพบว่ามันมีความต่อเนื่องทางความคิด ไม่ได้พูดถึงตัวบุคคลว่าชอบไม่ชอบ แต่ความต่อเนื่องทางความคิดและความต่อเนื่องทางตรรกะ จากความคิดของมาร์กซมาสู่การสร้างสหภาพโซเวียต หรือจีน โดยตัวมันเอง ผมไม่ได้บอกว่ามาร์กซรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นตายกันเป็นร้อยล้าน แต่ผมบอกว่าความคิดและตรรกะของมาร์กซมันเชื่อมต่อถึงกัน 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของมาร์กซหลายคนจะพูดถึงน้อยมาก แต่ถ้าเราไปดูจะพบว่า สไตล์ทางการเมืองของมาร์กซแทบจะไม่ต่างจากทรอตสกี้ หรือเลนินิสต์ในปัจจุบันเลย คือมีลักษณะของการแบ่งเขาแบ่งเรามากๆ ในองค์กรกรรมกรสากลที่ 1 มาร์กซเข้าไปสู้กับแนวคิดหลายๆ อย่าง สู้จนกระทั่งองค์กรแตก ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นกับสไตล์ทางการเมืองของมาร์กซ ทะเลาะกันแล้วก็แบ่งพรรค แตกแล้วก็แตกอีก เพราะโดยความเป็นจริงแนวคิดของมาร์กซมันไม่ได้เป็นแค่ปรัชญา มันกลายเป็นศาสนา อย่างที่บอกคนที่เชื่อนี่เรียกได้ว่าบวชเลย พอเชื่อเข้าไปแล้วกลายเป็นว่าคนอื่นผิดหมดเลย แม้กระทั่งเป็นเพื่อนกันมาอ่านมาร์กซมาด้วยกัน แต่ถ้าอ่านแล้วเกิดเข้าใจไม่ตรงกันขึ้นมา ก็จะกลายเป็นว่ามึงผิด แต่กูถูก อยู่รวมพรรคกันไม่ได้

ทั้งหมดนี้มันเป็นสไตล์ทางการเมืองของลัทธิ ซึ่งมันเริ่มมาจากยุคของมาร์กซ สไตล์ของมาร์กซในการดำเนินงานทางการเมือง และในทางส่วนตัวของมาร์กซ เขาก็เป็นคนที่ไม่ฟังใครเลย ใครมีความเห็นต่างนี่ถูกด่าแหลกเลย ด่าเสียๆ หายๆ ด่ายับเยิน

แล้วถ้าพูดถึงโครงสร้างทางการเมือง ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ก็พูดทำนองว่า มาร์กซให้รายละเอียดเกี่ยวกับสังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ไว้น้อยมาก พูดถึงหลักนโยบายโกธาอยู่นิดหน่อย แต่ความจริงแล้ว งานที่มาร์กซพูดถึงสังคมนิยม และสังคมคอมมิวนิสต์ไว้อยู่บ้างก็คือ คอมมิวนิสต์แมนิเฟสโต ช่วงครึ่งหลัง พูดถึงเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ และก็มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส ที่พูดคอมมูนปารีสปี 1871 แล้วก็หลักนโยบายโกธา ถ้าอ่านงานทั้ง 3 ชิ้นนี้ก็จะพบว่าแนวความคิดทางการเมืองของมาร์กซมีความต่อเนื่อง ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ยุค 1848 ที่เขียนคอมมิวนิสต์ แมนิเฟสโต แล้ว เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ อันนี้เป็นธีมอันหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน การขจัดสิ่งที่เรียกว่าสิทธินายทุน ซึ่งก็คือการห้ามชนชั้นนายทุนทำการผลิต ห้าชนชั้นในทุนทำธุรกิจ ห้ามไม่ให้มีระบบตลาด ฉะนั้นถ้าไปอ่านดูจะพบว่า องค์ประกอบหลายอย่างของสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังมันมาจากงานของมาร์กซหลายชิ้น ฉะนั้นตัวมาร์กซเองอาจจะไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความคิดของมาร์กซเองน่ะใช่

ฉะนั้นแล้ว เราจะอ่านมาร์กซกันไปทำไม

ทีนี้ผมจะตอบคำถามสั้นๆ 3 ข้อ ที่อาจารย์ประจักษ์ถาม ส่วนเรื่องเศรษฐกิจการเมืองไทยถ้ามีเวลาก็จะเอาไปไว้รอบสอง คำถามแรกก็คือ อ่านมาร์กซทำไม? ก็นั่นน่ะสิอ่านทำไม แต่เดี๋ยวขายไม่ออก (หัวเราะ) คือ ก็อย่างที่ผมบอกว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซก็ไม่ค่อยเป็นประโยชน์มาก มันล้าสมัยไป 150 ปีเป็นอย่างน้อย แล้วยังจะอ่านกันอยู่ทำไม ปรัชญาเฮเกลก็สุดแสนพิลึกพิลั่น อ่านแล้วมันไม่ประเทือง มันง่วง แต่ว่าผมก็ตอบได้อย่างหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะอ่านมาร์กซ คืออ่านเพื่อให้ได้แรงบรรดาลใจ แล้วงานของมาร์กซที่อ่านสนุก อ่านแล้วรู้สึกว่ามันกระตุ้นความรู้สึกคืองานเขียนทางการเมืองของมาร์กซ

คำถามที่สอง ลัทธิมาร์กซเป็นปรัชญา หรือสังคมศาสตร์ ผมอยากจะบอกว่าเป็นศาสนา สำหรับคนที่สมาทานบวชแล้วมันก็คือ ศาสนานั้นเอง เนื้อหาหลายอ่านมันก็ใช่ เช่นลักษณะของ historicism(วิภาษวิธีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์) ที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์มันมีจุดมุ่งหมายอยู่ ก็เป็นเฮเกลเลียนอีกเหมือนกัน คือตัวประวัติศาสตร์เองมันก็มีเนื้อแท้ของมันอยู่ เอาจุดหมายปลายทางมาเป็นเนื้อแท้ เหมือนลูกสนมีปลายทางคือเติบโตเป็นต้นสน ประวัติศาสตร์เองก็เหมือนกัน อาจจะก้าวไปเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ สังคมพระศรีอารย์ อะไรก็แล้วแต่ ฉะนั้นแนวคิดอย่างนี้ก็ไม่ต่างจาก historicism ของศาสนาคริตส์ ถ้าเราอ่านในไบเบิลเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คือ การแสดงออกของพระเจ้า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net