ฟังความรู้สึกชาวบ้านหลัง 'ทหาร-ป่าไม้' โค่นยางกว่า 2,000 ต้น

เตรียมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับชาวบ้านธรรมดานั้นไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา แต่จะสร้างความขัดแย้งและนำไปสู่การเผชิญหน้า ร้องยุติการคุกคาม ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน
 
 
 
 
16 พ.ค. 2558 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสานรายงานว่าเมื่อประมาณ 13.00 น. ผู้ได้รับผลกระทบในนามเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ภายหลังลงตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการตัดฟันของเจ้าหน้าที่ทหาร ได้มาร่วมประชุมเพื่อเตรียมเอกสาร หลักฐาน ของแต่ละพื้นที่ เตรียมเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับชาวบ้านธรรมดานั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา แต่จะสร้างความขัดแย้งและนำไปสู่การเผชิญหน้า จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคาม ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวานนี้ (15 พ.ค. 58) นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารจากค่ายกฤษณ์ สีวะรา บุกเข้าทำลายตัดฟัน โค่นต้นยางพาราชาวบ้าน ซึ่งเป็นสวนยางของนางจันทรา บังหอม อายุ 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง หมู่ 19 ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร จำนวนกว่า 18 ไร่ ได้สร้างความทุกข์แสนเจ็บปวดต่อชีวิตอันปกติสุขของชาวบ้านขึ้นมาอีกครั้งนั้น
 
ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า บ้านของยายจันทรา บังหอม อยู่ห่างจากสวนยางประมาณ 6 -7 กิโลเมตร ในขณะนั้นยังไม่ทันรู้ว่าทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ นำกำลังเข้ามาตัดสวนยาง หลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ออกไปหมดแล้ว ได้ร่วมกันลงตรวจสอบความเสียหาย พบว่าต้นยางถูกตัดทิ้งไปกว่า 2,000 ต้น ส่วนถ้วยน้ำยางที่กระจายเกลื่อนบนพื้น และที่ผูกติดคาอยู่บนนั้น ได้ช่วยกันเก็บไปขายนำมามอบให้กับยายจันทรา (ผู้เดือดร้อน) ได้เงินเป็นจำนวน 5,400 บาท ซึ่งในขณะนี้ยายบังทอง ยังไม่สามารถกล่าวอะไรได้ นอกจากเสียใจ และไม่คิดว่าจะถูกกระทำอีกถึงขนาดนี้
 
ชาวบ้านบอกอีกว่า นับแต่ช่วงเช้าเมื่อวานนี้ (15 พ.ค. 2558) ได้ร่วมกันเพื่อพยายามชี้แจงกับหัวหน้า อช. กรณีสวนแปลงนี้อยู่ในระหว่างชะลอการดำเนินใดๆ ที่จะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อความปกติสุขของประชาชน และตามคำสั่ง คสช. 66/57 แต่นายสนอง ไม่รับฟังแต่อย่างใด พร้อมยังให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในบริเวณที่กำลังตัดฟันสวนยาง โดยทหารได้ตั้งจุดสกัดไว้ถึงสองชั้น ปรากฏว่าชาวบ้านสามารถเล็ดลอดเข้าทางด้านหลังไปได้จำนวน 4 คน และตนเป็นหนึ่งในจำนวนสี่คน ที่สามารถลอบเข้าไปได้ จากนั้นรีบตรงเข้าไปเจรจากับหัวหน้า อช.ถึงกลไกการทำงานที่ผ่านมา ทั้งขอร้องให้หยุดตัดต้นยางก่อน แต่นายสนอง ไม่รับฟังแต่อย่างใด ทั้งยังให้ทหารมาจับตนออกไปห่างๆ
 
“ความรู้สึกที่ทหารทำลายสวนยางต่อหน้าต่อตา เป็นที่สะเทือนใจมาก ยางต้นไหนล้ม ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ต่างพากันส่งเสียงโห่ร้อง หัวเราะ เห็นแล้วรู้สึกเสียใจ เสียดายกับสิ่งที่สร้างมาหลายปี แต่ต้องมาพังทลายไปในเพียงวันเดียว ด้วยการกระทำที่โหดเหี้ยม ไร้ความปรานี ตนเห็นแล้วยังรู้สึกเจ็บปวดขนาดนี้ แล้วเจ้าของสวนยาง จะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใด กรณีแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ออกคำสั่งเพื่อขับไล่คนจน ไม่ได้แก้ปัญหาคนจน ปัญหาที่หนักที่สุด คือ ไม่ใช่แค่การทวงคืนผืนป่าโดยการตัดทำลายสวนยาง หรือไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เท่านั้น แต่มันเป็นช่วงชีวิตที่ลำเค็ญของชาวบ้านที่สุด เป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีหัวใจของชาวบ้านคนจนๆที่ไร้ทางสู้ ทั้งยังไม่ให้โอกาสชาวบ้านได้ชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น“
 
ด้านนายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านคนไร้สิทธิสกลนคร กล่าวว่า วันนี้ 16 พ.ค. 2558 ประมาณ 13.00 น. ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในนามเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร จาก 5 อำเภอ ในจังหวัดสกลนคร ได้มาร่วมกันจัดประชุม ซึ่งนอกจากเป็นการให้ขวัญกำลังใจกันแล้ว การประชุมครั้งนี้เพื่อร่วมสรุปหาแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าพื้นที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้เพื่อเป็นป้องกันการถูกทำลายที่จะเกิดขึ้นอีก เพราะเท่าที่ทราบ เจ้าหน้าที่มีเป้าหมายตัดฟันต้นยางชาวบ้าน รวม 3 แปลง แต่ยังไม่แน่ใจว่าแปลงใดจะเป็นเป้าหมายต่อไป ฉะนั้นจึงจำต้องจัดกำลังเพื่อเฝ้าระวังกันต่อไป และขอประณามเจ้าหน้าที่ว่า กระทำเกินกว่าเหตุ ฝืนมติข้อตกลงของคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ
 
สวาท กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาข้อพิพาทกระทั่งเกิดเป็นปมสู่ความขัดแย้ง ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านนับเรื่อยมานั้น สาเหตุเกิดจากการประกาศพื้นที่ป่าไม้เป็นอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสมเด็จ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 252,898 ไร่ หรือประมาณ 404 ตารางกิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ได้รับความเดือดร้อน จนต้องมีการเรียกร้องให้ตั้งคณะทำงานพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดิน และให้ชะลอดำเนินคดีต่อชาวบ้านไว้ก่อนจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิถือครองที่ดิน
 
สวาท บอกว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมจัดตั้งเป็นเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ในวันที่ 5 มกราคม 2553 จากนั้นได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ สกลนคร ให้ชะลอการจับกุม และตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อ 22 มกราคม 2553 ผู้ว่าฯสกลนคร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ แก้ไขปัญหา โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวบ้านจากทุกอำเภอใน จ.สกลนคร รวมทั้งตัวแทนจากคณะทำงานระดับอำเภอในจังหวัดอื่นที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกอีกว่า จากนั้นมีการประชุมของคณะทำงานระดับอำเภอ และจังหวัดติดต่อกันเรื่อยมาเพื่อพิจารณาแก้ปัญหา โดยมีข้อตกลงเป็นแนวทางแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1. ให้ชะลอการจับกุม ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน 2. ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้ 3. ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถือครองในพื้นที่ทับซ้อน นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งหลังรัฐประหาร คสช. มีคำสั่งที่ 64/57 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยทาง พีมูฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง โดยทุกครั้งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในภาคปฏิบัติเจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินตามมติข้อตกลง ใช้มาตรการทางกฎหมาย ข่มขู่ คุกคาม จับกุมดำเนินคดีต่อชาวบ้านจำนวนมาก รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด ที่ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ ฝืนมติข้อตกลง บุกรุกทำลายต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูกไว้
 
“ส่วนกรณีแปลงของนางจันทรานี้ เริ่มปลูกยางพารา ปี 2548 ก่อนหน้านี้ปลูกมันสำปะหลัง และไม้ผลไม้ยืนต้น กระทั่งปี พ.ศ. 2551 มีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ไม่พบผู้กระทำความผิด ต่อมาเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร มีการชุมนุม ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของสมาชิกเครือข่ายฯ กรณีอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จำนวน 600 ราย โดยผลการประชุมมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการคุกคามชาวบ้าน และผ่อนผันทำประโยชน์ต่อไป โดยแปลงที่ปลูกยางพารามาก่อนวันที่ 15 กันยายน 2551 สามารถทำประโยชน์ต่อไปได้” สวาท กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท