“ความเป็นไท”ในอเมริกา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“อเมริกาคือประเทศของฉัน ปารีสคือบ้านของฉัน” Gertrude Stein  นักเขียนหญิงอเมริกันเคยกล่าวไว้ทำนองนี้

Stein เกิดที่ West Allegheny เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย  เธอไปโตที่เมือง Oakland  รัฐแคลิฟอร์เนีย  ก่อนย้ายไปอยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศสในปี 1903  และอาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตที่ Neuilly-sur-Seine ฝรั่งเศส ในปี 1946

ผมยกคำพูดของ Stein ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนหนึ่งจาก “การโยกย้ายถิ่นฐาน” ของผู้คนในโลก ทั้งที่การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนบนโลกใบนี้ เราอาจมองเห็นภาพกรรมกรชาวจีนเดินทางมาสร้างทางรถไฟข้ามทวีปอเมริกา ในช่วงกลางของคริสตวรรษที่ 18 เช่น  ทางรถไฟสาย Central Pacific Railroad เป็นต้น ก่อเกิดเป็นฐานชุมชนชาวจีนในอเมริกาขึ้น  โดยที่วัตถุประสงค์ของการย้ายถิ่นในช่วงแรกๆ ของชาวจีนดังกล่าวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ หรือเพื่อการทำมาหากิน ดังการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนกระจายไปทั่วโลกนั่นเอง

ในช่วงต้นคริสตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การเคลื่อนย้ายของคนเชื้อสายต่างด้าวสู่อเมริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายสาเหตุ นอกจากเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ฝ่ายสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) กับฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายแรกนำโดยสหภาพโซเวียต ฝ่ายหลังนำโดยสหรัฐอเมริกา ผลพวงของสงครามเย็นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งด้านลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้อพยพทยอยเดินทางมายังอเมริกาจำนวนมาก เช่น ในช่วงครามเวียดนาม ก็มีผู้อพยพชาวเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เป็นเวียดนามใต้อพยพมาตั้งรกรากในอเมริกาจำนวนมากจน เกิดเป็นชุมชนเวียดนามขนาดใหญ่ในหลายๆ รัฐ หรือตัวอย่างอย่างชุมชนลาว ชุมชนเขมรก็เช่นกันที่การอพยพย้ายถิ่นฐานมาอเมริกาด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองเป็นหลัก

แต่เมื่อพิจารณากรณีของชุมชนไทยในอเมริกา เหตุผลการเกิดเป็นชุมชนไทยนั้นไม่ได้บ่งว่า เหตุผลทางการเมืองเป็นเหตุผลที่โดดเด่นมากเท่าชนชาติอินโดจีนอื่นๆ ดังที่เอ่ยมา อย่างนั้นคนไทยและชุมชนไทยในอเมริกามีเหตุผลในการย้ายถิ่นฐานอย่างไร?

โดยเหตุที่ไม่เคยมีการศึกษาหรือวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ว่าชาติพันธุ์คนไทยในอเมริกามีที่มาที่ไปอย่างไร จึงไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนว่าคนไทยคนแรกหรือกลุ่มแรกที่ลงหลักปักฐานในอเมริกาเป็นใครและมีเหตุผลอย่างไรในการลงหลักปักฐานดังกล่าว  แต่เท่าที่พออนุมานจากภาพสะท้อนของวัฒนธรรมคนไทยในอเมริกาในอดีตและปัจจุบัน เหตุผลในการลงหลักปักฐานของคนไทยในอเมริกานั้นพอสรุปได้ว่า เหตุสำคัญหรือเหตุผลใหญ่คือ เหตุผลด้านเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลอย่างอื่น

ยิ่งในช่วงสงครามเย็น ซึ่งอยู่ในยุคเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน การเดินทางมายังอเมริกาของคนไทยในขณะนั้น กลับไม่มีเหตุผลทางการเมืองมารองรับเอาเลยด้วยซ้ำ หากเป็นเหตุผลอย่างอื่น เช่น การศึกษาแบบไม่ค่อยซีเรียสเสียมากกว่า ยิ่งถ้ากล่าวว่าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อผจญภัย เรียนรู้ชีวิตในอเมริกายิ่งเป็นไปไม่ได้เอาเลย เพื่อนคนไทยคนหนึ่งที่อยู่อเมริกามาราวๆ 50 ปี ซึ่งตอนนี้อายุมากแล้วเล่าให้ฟังว่า เขาเองก็ไม่ทราบสาเหตุของความต้องการที่แท้จริงของการมาอเมริกาเหมือนกัน ทราบแต่เพียงว่า “นึกสนุก”อยากนั่งเครื่องบินของจีไอเดินทางไปกับผู้อพยพชาวลาว (ในช่วงสงครามระหว่างลาวขาวกับลาวแดง) จนในที่สุดก็มีครอบครัว มีลูก แล้วชีวิตในอเมริกาก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

ในช่วงแรกๆ ของการตั้งถิ่นฐานของคนไทยในอเมริกา เหตุผล “เพื่อการศึกษา” ก็ไม่มีหรือแทบไม่มีเอาด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ พวกมุ่งหวังต่อการศึกษาในต่างประเทศส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงของไทยนั้น ต่างมุ่งไปยังสถานศึกษาในยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส  เป็นต้น การศึกษาในอเมริกาแทบไม่มีใครในบรรดาชนชั้นนำของเมืองไทยให้ความสนใจ ถึงขนาดในช่วงสงครามเย็นช่วงหนึ่งรัฐบาลอเมริกันต้องให้ทุนกับนักศึกษาไทย “เดือนตุลาเอียงซ้าย” ผู้เคยเข้าป่าร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลังจากนั้นก็มีนักศึกษาไทย สมัยอุดมการณ์เดินทางมาศึกษาในอเมริกา เช่น ที่คอร์แนล เป็นต้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยว่าเคยมีนักศึกษาไทยมาเรียนอยู่ที่นี่ พอเรียนจบพวกเขาก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตที่เมืองไทย  หากจะเหลือบ้าง ถึงแม้จบการศึกษาจากประเทศอื่น แต่ก็แทบไร้พลังต่อการแสดงออกทางความคิดในฐานะของผู้ที่ดำรงถิ่นฐานในอเมริกาต่อคนไทยด้วยกันเองบนดินแดนแห่งเสรีภาพ เสมือนความพยายามเอาก้อนหินไปถมทะเล อย่างเช่น กรณีของ ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation จากออสเตรเลีย ธงชัย ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน  อเมริกา แต่ธงชัยเองก็ไม่เป็นพลังหรือแรงบันดาลใจให้กับคนไทยผู้อาศัยในอเมริกามากนัก เขาอิสระทว่าโดดเดี่ยวในทางมิตรสหายผู้รับรสความคิด (วิชาการ) ที่เป็นคนไทยด้วยกัน หากไปสอบถามดูก็จะพบว่าคนไทยในอเมริกาแทบไม่รู้จักธงชัยเอาเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้คงเพราะสังคมไทยอเมริกามิใช่สังคมอุดมปัญญาตามความเข้าใจหรือจินตนาการของคนไทยในเมืองไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นสูงที่ปากว่าตาขยิบ จบการศึกษาจากสถาบันในอเมริกา ใช้สินค้าอเมริกัน แต่ปากตะโกนโหยหาความเป็นไทยเสียเต็มประดา

ไม่นับรวมเหล่านักวิชาการที่ได้รับผลกระทบจากความเห็นแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  คือ เห็นแย้งกับคณะนายทหารผู้ทำการรัฐประหารและจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือไม่ว่าจะโดยเหตุผลส่วนตัวใดก็ตาม พวกเขาที่ย้ายมาอยู่อาศัยและทำงาน เช่น สอนหนังสือ ในอเมริกาจากประสบการณ์และความสามารถของพวกเขาเอง แต่นักวิชาการเหล่าก็แทบไร้พลังบันดาลใจต่อชุมชนไทยในอเมริกา แม้ว่าพวกเขาจะผลิตบทความลงบนสื่อไทยมากมายเพียงใดก็ตาม แรงกระเพื่อมกลับไม่ปรากฏต่อชุมชนไทยที่นี่มากนัก อย่างน้อยสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นจริง คือ การสัมมนาของชุมชนไทยยินดีที่ลงทุนจะเชิญนักกิจกรรมทางการเมืองหรือนิมนต์พระสงฆ์ที่โด่งดังจากเมืองไทยมาเป็นวิทยากรมากกว่าที่จะเชิญนักวิชาการไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริกาอยู่แล้วนี้

นอกนั้นหากจะนึกถึงภาพหรือกล่าวถึงคนไทยในอเมริกา เราก็คงนึกถึง “เมียจีไอ” เป็นหลัก เพราะในความเป็นจริงแล้วเมียจีไอ คือองค์ประกอบสำคัญต่อการขับเคลื่อนหรือเคลื่อนไหวของชุมชนไทยในอเมริกา โดยมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่สงครามเวียดนามแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมรากหญ้า (พื้นบ้าน)และต่อวัดไทยส่วนมากในอเมริกา  และจนถึงทุกวันนี้เมียจีไอไทยที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกาได้ผลิตทายาทรุ่นสอง รุ่นสามเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าลูกหลานของพวกเธอเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังปฏิสัมพันธ์กับเมืองไทย หากพวกเขาส่วนใหญ่ถูกบ่มเพาะด้วยวัฒนธรรมอเมริกันตามลักษณะสิ่งแวดล้อมที่เกิด

สาเหตุที่สำคัญมากอีกสาเหตุหนึ่งในการย้ายถิ่นฐานของคนไทยเพื่อลงหลักปักฐานในอเมริกา คือ สาเหตุด้านเศรษฐกิจ  นั่นคือ การมุ่งหน้ามาอเมริกาเพื่อแสวงรายได้เป็นยูเอสดอลลาร์ โดยไม่จำกัดว่าการทำงานเพื่อเงินดังกล่าวถูกหรือผิดกฎหมาย  และก็ให้เผอิญว่าแรงงานไทยในอเมริกาในช่วงราวๆ สามถึงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือที่คนไทยเรียกกันเองว่า “โรบินฮู้ด” กลุ่มแรงงานโรบินฮู้ดน่าจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของคนไทยในอเมริกามากที่สุด รวมทั้งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากเช่นกันในแง่ของการส่งเงินกลับประเทศ เพียงแต่ไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังถึงตัวเลขจำนวนเงินส่งกลับประเทศดังกล่าว

อาจเป็นตามสิ่งที่ Kiran Desai นักเขียนอินเดีย ผู้เขียนเรื่อง The Inheritance of Loss ซึ่งได้รับรางวัล Booker Prize นำเสนอว่า แท้จริงแล้วแรงงานระดับรากหญ้าส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองว่าอเมริกาคือบ้านของพวกเขาแต่อย่างใด หากแต่มองว่าอเมริกาเป็นสถานที่ทำมาหากินเพื่อยูเอสดอลลาร์เท่านั้น การขลุกอยู่กับการทำงานวันละหลายชั่วโมงทำให้แรงงานเหล่านี้เลิกจากอาการพะวงถึงบ้านเกิดหรือมาตุภูมิของพวกเขา ต่างจากปัญญาชนเชื้อสายต่างด้าวที่ทำงานในอเมริกาที่ดูเหมือนจะมีเหตุผลเป็นตัวของตัวเองในแง่ทางเลือกการทำงานและในแง่อุดมคติที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยแบบอเมริกันแม้ว่าปัญญาชนเหล่านี้แทบไม่มีอะไรที่สื่อได้ว่าพวกเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับแรงงานไทยในอเมริกา

ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า แท้จริงแล้วแรงงานไทยในอเมริกาเป็นอย่างไร การก้มหน้าก้มตาทำงานจนแทบไม่มีเวลาผักผ่อนส่วนตัว หรือหากมีพวกเขาก็ใช้มันไปในแง่การตอบสนองต่อการพะวงคิดถึงวัฒนธรรมไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสถานที่สำคัญได้แก่ วัดไทย ตลาดไทยและร้านอาหารไทย เป็นแหล่งแก้อาการพะวงถึงบ้านเกิด ก่อนจะกลับไปทำงานตามปกติ แรงงานไทยจำนวนไม่มากที่มีโอกาสได้ “อิน”กับวัฒนธรรมอเมริกัน 

“ฉันคืออเมริกัน อเมริกาไม่ใช่ประเทศของฉัน เมืองไทยคือบ้านของฉัน...”
   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท