Skip to main content
sharethis

ทางการซาอุดิอาระเบียได้ลงโทษประหารชีวิตแม่บ้านจากอินโดนีเซียไปอย่างน้อย 2 ราย โดยไม่แจ้งครอบครัวและทูตอินโดนีเซียก่อนการประหาร ทั้งที่เคยให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้มาเมื่อปี 2011 มาแล้ว

 

 

เมื่อเดือนเมษายน 2015 ที่ผ่านมาทางการซาอุดิอาระเบียได้ลงโทษประหารชีวิตแม่บ้านจากอินโดนีเซียไปอย่างน้อย 2 ราย คือ สิตี ไซ...

Posted by Workazine on 25 เมษายน 2015

 

เมื่อเดือนเมษายน 2015 ที่ผ่านมาทางการซาอุดิอาระเบียได้ลงโทษประหารชีวิตแม่บ้านจากอินโดนีเซียไปอย่างน้อย 2 ราย คือ สิตี ไซนับ บินติ ดูรี รูปา (Siti Zainab Binti Duhri Rupa) และ คาร์นี บินติ เมดี ทาร์ซิม (Karni binti Medi Tarsim)

สิตี ไซนับ แม่บ้านชาวอินโดนีเซียวัย 47 ปี เธอถูกจับกุมนานกว่า 15 ปีในข้อหาใช้มีแทงนายจ้างจนเสียชีวิต ซึ่งองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ระบุว่าเธอมีอาการทางจิตและอาจป้องกันตัวจากการถูกทารุณ ส่วนองค์กรดูแลผู้อพยพนานาชาติ (Migrant CARE) ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการที่ไซนับได้ป้องกันตัวจากนายจ้างที่ทำร้ายเธอ ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดว่าก่อนหน้านั้นเธอได้ส่งจดหมายร้องเรียนว่าถูกครอบครัวนายจ้างทารุณเธอ อีกทั้งตลอดกระบวนการสอบสวนของตำรวจและไม่มีตัวแทนจากกงสุลอินโดนีเซียอยู่ด้วย

โดยการประหารเธอเมื่อวันที่ 14 เม.ย. นั้นทางการซาอุดีอาระเบียไม่ได้แจ้งให้ครอบครัวของเธอและแจ้งทูตอินโดนีเซียทราบล่วงหน้าก่อน แม้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซียจะเคยร้องขอชีวิตเธอไว้ รวมทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียก็เคยได้ขอร้องรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของซาอุดิอาราเบียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าพบครอบครัวของเหยื่อและขอยกโทษให้แก่ไซนับ พร้อมเสนอจ่ายเงินให้ญาติเหยื่อจำนวน 154,410 ดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่ท้ายสุดทางการซาอุดิอาระเบียได้ออกมาระบุว่าการประหารไซนับครั้งนี้ได้เลื่อนมานานกว่า 15 ปี จนลูกคนสุดท้องของเหยื่อโตพอที่จะตัดสินใจว่าจะยกโทษหรือให้ดำเนินการประหารชีวิตผู้ต้องหา

จากนั้นในวันที่ 17 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าคาร์นี บินติ แม่บ้านชาวอินโดนีเซียวัย 37 ปี ก็ถูกประหารชีวิตเป็นรายที่ 2 โดยเธอต้องโทษจากคดีฆ่าลูกนายจ้างวัย 4 ขวบ เมื่อปี 2012 ซึ่งทางการซาอุดีอาระเบียก็ไม่ได้แจ้งต่อครอบครัวของผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่กงสุลอินโดนีเซียประจำซาอุดิอาระเบียด้วยเช่นกัน

 

โทษประหารในซาอุดิอาระเบีย


ซาอุดิอาระเบียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการประหารชีวิตโดยใช้วิธีการตัดหัว (ที่มาภาพ: rt.com)

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาประณามโทษประหารของซาอุดิอาระเบีย ที่ดำเนินการใช้โทษประหารเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจในปีนี้ โดยจนถึงกลางเดือนเมษายน 2015 ทางการซาอุดิอาระเบียได้ประหารนักโทษอย่างน้อยไปแล้ว 60 ราย ขณะที่ทั้งปีที่แล้ว (ค.ศ. 2514) ซาอุดิอาระเบียได้ประหารนักโทษไป 90 ราย

ข้อมูลจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่าซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี 2011 ประหารชีวิตนักโทษไปมากกว่า 82 คน ปี 2012 มากกว่า 79 คน และในปี 2013 มากกว่า 79 คน

อนึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียมีการปกครองเป็นระบบราชาธิปไตย โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซาอุดิอาระเบียไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติและไม่มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยึดถือเอาธรรมนูญแห่งอิสลามที่มีพื้นฐานมาจากคัมภีร์อัล-กรุอ่านเป็นธรรมนูญสูงสุด

ในด้านกฎหมายและการลงโทษนั้นใช้หลักกฎหมายอิสลาม (Shariyah) เป็นหลัก ลงโทษตัดสินประหารชีวิตในกรณี ฆ่าคนตาย ค้ายาเสพติด ลงโทษตัดข้อมือในกรณีลักขโมย และลงโทษจำคุก เฆี่ยนตี ในกรณีดื่มสุรา เล่นการพนัน และการผิดกฎจราจร

 

วิบากกรรมแม่บ้านอินโดนีเซียในซาอุดิอาระเบีย

การประหารชีวิตแม่บ้านชาวอินโดนีเซียทั้งสองคนได้สร้างความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบียขึ้นมาอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีวิโดโดเคยออกมาประกาศแผนการที่จะทยอยลดการส่งแรงงานหญิงชาวอินโดนีเซียออกไปเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นการปกป้อง “ผู้หญิง” ชาวอินโดนีเซีย

ประมาณการกันว่ามีแรงงานอินโดนีเซียอยู่ในซาอุดิอาระเบียประมาณ 1.5 ล้านคนในปี 2011 และจากข้อมูลในปี 2012 พบว่ามีแรงงานชาวอินโดนีเซียถูกขังอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วซาอุดิอาระเบียประมาณ 1,700 คน และมีนักโทษชาวอินโดนีเซียที่รอการประหารไม่ต่ำกว่า 25 คนในขณะนั้น

เหตุการณ์ประหารนักโทษชาวอินโดนีเซียโดยไม่แจ้งให้กับครอบครัวและทางการอินโดนีเซียนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเมื่อปี 2011 รูยาติ บินตี ซูปาบี (Ruyati Binti Sapubi) แม่บ้านวัย 54 ปี ถูกทางการซาอุดิอาระเบียตัดสินประหารชีวิต หลังเธอรับสารภาพว่าเป็นคนฆ่านายจ้างจากเหตุที่นายจ้างข่มขืนเธอ ซึ่งในครั้งนั้นเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงจาการ์ตาได้ออกมาขอโทษรัฐบาลอินโดนีเซีย เนื่องจากไม่มีการแจ้งกับทูตอินโดนีเซียก่อนการประหาร และให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก.

 

อ่านเพิ่มเติม:

ชีวิตลำเค็ญ ‘คนทำงานแม่บ้าน’ จาก ‘อินโดนีเซีย’ (ตอนแรก)
http://prachatai.org/journal/2015/02/58014

 

ประกอบการเขียน:

http://www.economist.com/blogs/banyan/2011/07/migrant-workers-saudi-arabia

https://www.amnesty.org/en/articles/news/2015/04/saudi-arabia-executes-indonesian-woman-with-suspected-mental-illness/

http://www.ibtimes.co.uk/indonesian-woman-beheaded-saudi-arabia-murder-4-year-old-girl-1497123

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net