Skip to main content
sharethis

เกาหลีใต้แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีบรรษัทที่มีชื่อเสียงทั่วโลกแต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนอยู่มาก สาเหตุจากความยืดหยุ่นมากเกินไปในการจ้างงานรวมถึงการที่สหภาพและรัฐไม่สามารถเป็นตัวกลางที่ดีได้ในข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบรายได้ต่ำและขาดความมั่นคงในชีวิตจำนวนมาก


23 เม.ย. 2558 ยุนคยองลี ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กในเมืองบิงแฮมตันเขียนบทความลงในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัม ถึงประเด็นที่ประเทศเกาหลีใต้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของประเทศที่มีความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจมากที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีการส่งออกแบรนด์เนมชั้นนำอย่างซัมซุงหรือฮุนไดก็ตาม

ในบทความดังกล่าวระบุว่าหลังจากเกิดวิกฤติทางการเงินในเอเชีย เกาหลีใต้ก็หันมาใช้นโยบายแบบเสรีนิยมใหม่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ในเกาหลีที่เรียกว่า "แชโบล" เติบโตเป็นบรรษัทระดับโลกเพื่อแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นแรงงานก็ถูกแบ่งแยกทำให้ห่างชั้นมากขึ้นและชนชั้นกลางก็เริ่มลดจำนวนลง

ยุนคยองลีระบุว่า นโยบายการลดกฎเกณฑ์ตลาดแรงงานนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้กลุ่มคนทำงาน 2 กลุ่มหลอมรวมกลายเป็นกลุ่มชนชั้นล่างกลุ่มใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ทำอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ต่ำ พวกเขาล้วนมีความไม่มั่นคงในการงาน มีการคุ้มครองทางสังคมต่ำ ขาดโอกาสก้าวหน้าทางการงานหรือสถานะทางสังคม มีกลุ่มคนที่เป็นผู้ทำอาชีพอิสระอยู่สูงราวร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ร้อยละ 16

ยุนคยองลีระบุในบทความอีกว่าในกลุ่มผู้ทำอาชีพอิสระส่วนใหญ่จะทำร้ายขายของชำเล็กๆ หรือร้านอาหาร แต่ครึ่งหนึ่งของธุรกิจเล็กๆ เปิดใหม่เหล่านี้จะล้มละลายภายใน 3 ปี กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในกลุ่มคนทำงานอิสระในเกาหลีใต้ร้อยละ 20 มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีหนี้ครัวเรือนอยู่โดยเฉลี่ยราว 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างนี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างสุดของเกาหลีใต้ที่แทบไม่สามารถยกระดับสถานะทางสังคมตัวเองได้

ในแง่ของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ยุนคยองลีระบุว่าเกาหลีใต้มีแรงงานนอกระบบอยู่ครึ่งหนึ่งของของแรงงานทั้งหมดซึ่งมากกว่าประเทศสมาชิก OECD ประเทศอื่นๆ คนที่เป็นแรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในช่วงอายุประมาณ 30 ปี หรือมากกว่านั้น มักจะเป็นการรับจ้างในธุรกิจเล็กๆ ที่มีคนงานน้อยกว่า 5 คน หรือเป็นคนทำงานในภาคบริการ ภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต พวกเขามีสัญญาจ้างแบบชั่วคราวและได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับแรงงานค่าจ้างรายชั่วโมงทั่วไป ทั้งนี้ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงระบบการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานและโครงการประกันสังคม จึงทำให้คนกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างสุดในเกาหลีใต้

ยุนคยองลีชี้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นล่างที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานมาจาก 3 สาเหตุ สาเหตุแรกคือการเติบโตของพวกแชโบลทำให้มีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน ทำให้รัฐเข้าควบคุมได้น้อยลง กลุ่มทุนมีอำนาจมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจในการควบคุมนักการเมือง พนักงานอัยการ และสื่อกระแสหลัก เพื่อสร้างวาระให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการแรงงานและมีการคุ้มครองทางสังคมน้อยลง กลุ่มทุนใหญ่ยังใช้แรงงานภาคประจำน้อยลงจาก 1 ล้านคนในปี 2541 เหลือ 8 แสนคนในปี 2553 แล้วหันไปใช้การจ้างเหมาช่วงและการจัดจ้างภายนอกที่เรียกว่า "เอาท์ซอร์ส" (outsource) แทนเพื่อลดต้นทุนและบีบให้กลุ่มแรงงานนอกระบบต้องแข่งขันกันเอง

สาเหตุที่สองมาจากสหภาพแรงงานในเกาหลีใต้ ยุนคยองลีระบุว่าสหภาพในเกาหลีใต้ล้มเหลวในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อแรงงานในวงกว้างได้ มีผู้เข้าร่วมสหภาพแรงงานโดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้นเอง และส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานชายในบรรษัทใหญ่ แรงงานในระบบมีร้อยละ 14 ที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานเทียบกับแรงงานนอกระบบซึ่งเข้าร่วมร้อยละ 1.7 นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องราวของแรงงานหญิงน้อยกว่าที่ควร ยุนคยองลีวิจารณ์สหภาพแรงงานแห่งชาติเกาหลีใต้ว่ายังคงทำตัวเป็นองค์กรวงแคบๆ ที่ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์สมาชิกของตนได้โดยไม่สามารถแทรกแซงหรือร่วมกระบวนการกำหนดนโยบายแรงงานได้

ยุนคยองลีชี้ว่า สาเหตุที่สามมาจากสถาบันทางการเมืองเกาหลีใต้ที่ไม่มีพรรคซึ่งเน้นเรื่องแรงงาน พรรคการเมืองในเกาหลีใต้มีการแตกหักง่าย มักจะมีการแยกหรือยุบรวมพรรคซ้ำๆ มักจะแบ่งแยกพรรคจากความสัมพันธ์กับภูมิภาคมากกว่าเรื่องความแตกต่างด้านนโยบาย เกาหลีใต้เพิ่งจะมีพรรค 'ฝ่ายซ้าย' คือพรรคประชาธิปไตยแรงงานเมื่อปี 2543 โดยก่อนหน้านี้มักจะถูกบีบไม่ให้เกิดมาโดยตลอด อีกทั้งยังมักจะหลีกเลี่ยงการโต้วาทีช่วงก่อนเลือกตั้งในประเด็นแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมโดยเพิ่งจะมีการโต้วาทีเรื่องนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2553 นี้เอง

ยุนคยองลีระบุว่า สถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยควรมีการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อจัดการผลกระทบที่ทำให้ชนชั้นแรงงานที่ถูกแบ่งแยกและขาดความมั่นคงในชีวิต แต่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในเกาหลีใต้กลับไม่สามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ให้แก่ชนชั้นแรงงานหรือทำตัวเป็นตัวกลางการเจรจาต่อรองที่น่าเชื่อถือได้เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนงานกับกลุ่มทุนใหญ่


เรียบเรียงจาก

The birth of the insecure class in South Korea, East Asia Forum, 15-04-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/04/15/the-birth-of-the-insecure-class-in-south-korea/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net