Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




นายกรัฐมนตรีชั่วคราวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า “จำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ” เนื่องจากต้องการหยุด “สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศ” และปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม “เพื่อให้เกิดความชอบธรรม” ทั่วทุกฝ่าย (ดู : 22 พ.ค.2557, ประชาไท, ผบ.ทบ.ตั้ง 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' ประกาศยึดอำนาจ!)

การประกาศเช่นนี้หมายความว่า คสช. และชนชั้นนำของไทยตระหนักดีว่าอำนาจรัฐนั้นมิได้มีเพื่อสร้างและรักษา ‘ระเบียบ’ เพียงประการเดียวแต่ยังมีไว้เพื่อสร้างและค้ำจุน ‘ความเป็นธรรม’ หรือความยุติธรรมควบคู่กันไปด้วย หากผู้มีอำนาจต้องการรักษาอำนาจรัฐของตนเองสืบต่อไปก็จะต้องทำให้พลเมืองได้รับความเป็นธรรมหรืออย่างน้อยรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมโดยเสมอหน้ากันภายใต้ระเบียบและอำนาจของรัฐผ่านรูปธรรมคือกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ตราขึ้นและประกาศใช้

ภายหลังการยึดอำนาจรัฐของ คสช. กลุ่ม กปปส. ได้ยุติกิจกรรมปิดถนน ตั้งด่าน เดินขบวน ยึดสถานที่ราชการ ฯลฯ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลง หากเหตุการณ์นี้คือ “สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศ” ที่ คสช. กล่าวถึงก็สามารถนับว่า คสช. ได้ฟื้นฟูระเบียบกลับสู่ประเทศไทยสำเร็จ อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจปรากฏการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการอยู่ในอำนาจของ คสช. หลายเหตุการณ์ เช่น การอ่านหนังสือ ชูสามนิ้ว กินแซนวิช โปรยใบปลิว ฯลฯ และการทักท้วงรัฐบาล คสช. อย่างจริงจังของนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เช่น การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การละเมิดกระบวนการที่ชอบ (due process) ในกระบวนการยุติธรรม การประกาศใช้กฎอัยการศึก และการประกาศใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. เหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นต้น

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสะท้อนว่าพลเมืองของประเทศไทยจำนวนหนึ่งเห็นว่าตนเองหรือเพื่อนร่วมชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม

ไม่เพียงแต่คนไทยด้วยกันเองเท่านั้น ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ในไทยจากประเทศมหาอำนาจและมิตรประเทศอย่าง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น คู่ค้ารายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป องค์กรระหว่างประเทศ ที่เรียกร้อง ตักเตือน เสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจำนวนมากสะท้อนว่าโลกก็เห็นประเทศไทยขาดความเป็นธรรม เช่น สหรัฐฯ ตัดงบประมาณความช่วยเหลือด้านกลาโหมทันทีหลังเกิดการรัฐประหาร  อังกฤษ ญี่ปุ่นและองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเมืองโดยเร็ว สหภาพยุโรปมีแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการรัฐประหารและต่อการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการทำข่าวในประเทศไทย ฮิวแมนไรต์วอตช์-องค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศออกแถลงการเรียกร้องให้ไทยยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามอำเภอใจและหยุดนำผู้ต้องหาไปคุมขังในสถานที่ลับ ฟรีด้อมเฮาส์ซึ่งเป็นองค์กรรายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเตอร์เน็ทจัดประเทศไทยอยู่ในระดับไม่เสรี เป็นต้น

ทั้งหมดนี้แสดงว่ากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอาจจะสร้างระเบียบขึ้นมาได้แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายดังกล่าวจะเท่ากับความเป็นธรรม

ถ้าเช่นนั้นอะไรคือรูปธรรมและเงื่อนไขของกฎหมายที่เป็นธรรม แม้ว่า ‘ความเป็นธรรม’ จะเป็นนามธรรมที่ถกเถียงกันได้มาก แต่ปราชญ์ของโลกก็ได้วางเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นธรรมไว้อย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางเรื่องความเป็นธรรมของเพลโต (ผ่านบทสนทนาของโสเครตีส) แนวทางของเจเรมี่ เบนแธม (Jeremy Bentham, 1748-1832) และแนวทางของจอห์น รอลว์ส (John Rawls, 1921-2002)

ในบทสนทนาโดยโสเครตีสที่เพลโตเขียนขึ้น โสเครตีสเห็นว่าความเป็นธรรมนั้นควรพิจารณาในระดับรัฐ รัฐในอุดมคติคือรัฐที่มี “พลเมืองที่ดีที่สุด” ใช้ปัญญาบริหารกิจการของรัฐ มีผู้กล้าปกป้องรัฐ และมีผู้ผลิตผลิตสิ่งของจำเป็นให้แก่รัฐ ความเป็นธรรมในรัฐเกิดขึ้นเมื่อพลเมืองต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนตามความถนัดดังที่กล่าวมา

ความเป็นธรรมตามแนวทางของเพลโตนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดตัว “พลเมืองที่ดีที่สุด” นั่นคือ อะไรคือมาตรวัด ‘ความดี’ สังคมจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็น ‘คนดี’ และที่สำคัญคือ สิ่งที่ ‘คนดี’ แสวงหาและจัดแจงไว้ให้จะสามารถนำความสุขมาให้ประชาชนในสังคมอย่างทั่วถึงได้จริงหรือ นอกจากนี้แนวทางนี้ยังมีปัญหาในเรื่องความเชื่อว่าคนไม่เท่ากันซึ่งส่งเสริมการปกครองในระบอบเผด็จการและการปฏิบัติต่อคนในสังคมแบบมีลำดับขั้น ดังนั้นในทางปฏิบัติจอมเผด็จการมักนิยมอธิบายความเป็นธรรมตามแนวทางนี้ควบคู่ไปกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเซ็นเซอร์

เมื่อความเป็นธรรมที่เรียกร้องให้ ‘คนดี’ เป็นผู้เขียนกฎหมายมีปัญหาในทางปฏิบัติ เบนแธมจึงเสนอความเป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรมที่นำไปปฏิบัติได้ โดยเขาเสนอว่ากฎหมายที่เป็นธรรมนั้นควรเป็นกฎหมายที่มุ่ง “ประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองส่วนใหญ่” เขาเห็นว่าคุณค่าที่รัฐควรแสวงหานั้นเป็นสิ่งที่พลเมืองจะต้องเป็นผู้กำหนดด้วยตนเอง รัฐที่เป็นธรรมควรจะสะท้อนทางเลือกของพลเมืองทั้งเชิงสุนทรียะ เศรษฐกิจและจริยธรรม และวิธีการที่ดีที่สุดที่จะได้กฎหมายที่สะท้อนความต้องการของพลเมืองก็คือการเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายที่เป็นธรรมตามแนวทางนี้มีเงื่อนไขคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพความเท่าเทียมกันของพลเมือง

แม้ว่าข้อเสนอเรื่องความเป็นธรรมของเบนแธมจะก้าวหน้า มีรูปธรรมปฏิบัติได้จริงมากกว่าของเพลโตแต่ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุณค่าที่สังคมยึดถือนั้นสมควรกำหนดตัดสินด้วยประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เท่านั้นหรือ เพราะมีความเป็นไปได้ที่หลักประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองส่วนใหญ่นี้อาจจะบรรลุได้ด้วยการละเมิดสิทธิของคนจำนวนน้อย

ด้วยเหตุนี้จอห์น รอลว์สผู้เขียนหนังสือชื่อ “ทฤษฎีความยุติธรรม” จึงเสนอหลักการพื้นฐานของความเป็นธรรม 2 ประการ ประกอบด้วย หนึ่ง บุคคลจะต้องได้รับเสรีภาพพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และสอง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่หากจะมีขึ้นนั้นสามารถยอมรับได้ในกรณีที่ 1) ประโยชน์สูงสุดตกเป็นของผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุดในสังคม และ สอง ตำแหน่งของอำนาจและความมั่งคั่งเปิดกว้างแก่ผู้ที่สามารถทุกคน

สังคมที่เป็นธรรมในทัศนะของรอลว์สคือสังคมที่ผู้ที่ด้อยโอกาสที่สุดในสังคมนั้นๆ ต้องสามารถมีชีวิตที่ดีตามที่ตนเองปรารถนาได้ สังคมเช่นนี้จะบรรลุได้ก็ด้วยกฎหมายที่สามารถประกันได้ว่าพลเมืองทุกคนสามารถแสวงหาเป้าหมายของตนเองและไม่มีพลเมืองกลุ่มใดตกเป็นเหยื่อของพลเมืองกลุ่มอื่น ซึ่งรอลว์สก็ได้ให้แนวทางในการเขียนกฎหมายดังกล่าวไว้ว่าจะต้องเป็นการตรากฎหมายที่ผู้ร่างนั้นจะต้องไม่คำนึงถึงฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ หรือคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงของผู้ร่างหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

กล่าวโดยสั้น ความยุติธรรมแบบเพลโตกลัว ‘คนดี’ ไม่ได้ปกครอง ความยุติธรรมแบบเบนแธมกลัว ‘คนดี’ ยีดรัฐหาผลประโยชน์ใส่ตนเอง และความยุติธรรมแบบรอลว์สกลัวทั้ง ‘คนดี’ และ ‘ผู้แทนประชาชน’ กดขี่ขูดรีดผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาบ่งบอกว่าทั้งรัฐบาล ‘คนดี’ หรือรัฐบาล ‘ประชานิยม’ ต่างกดขี่รังแกผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างร่วมสมัยเช่น สมัยรัฐบาลทักษิณดูกรณีตำรวจสลายการชุมนุมของสมัชชาคนจน ชาวนาลำพูน ชาวบ้านผู้ชุมนุมต่อต้านเหมืองโปแตซ โรงโม่หิน ท่อก๊าซ เขื่อน ฯลฯ สมัยรัฐบาลประยุทธ์ดูกรณีทหารไล่รื้อชุมชนเพิ่มทรัพย์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี รื้อชุมชนเก้าบาตรออกจากพื้นที่โนนดินแดน การสลายการชุมนุมของชาวบ้านค้านเหมืองแร่และทองคำจังหวัดเลย เป็นต้น

อาจจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มาของไทยนั้นมุ่งเป้าหมายสุดโต่งระหว่างการคัดสรร ‘คนดี’ ในหมู่ชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ กับการมอบอำนาจให้กับ ‘ตัวแทนประชาชน’ ส่งผลให้การเมืองไทยและพลเมืองของไทยตกอยู่ในสถานะที่ต้องเลือกระหว่างการปกครองในระบอบ “สมานฉันท์ใต้ธรรมราชา” กับ “ประชานิยมเลือกตั้งที่กินได้” เท่านั้น ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้วทั้งสองด้านนี้ต่างมีปัญหาในตัวเองและเงื่อนปมปัญหานั้นสะสมจนระเบิดออกเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงกว้างขวางต่อเนื่อง

การที่ คสช. จะปฏิรูปการเมืองไทยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ย่อมแสดงว่า คสช. เองก็ทราบดีว่ารัฐธรรมนูญนั้นสัมพันธ์โดยตรงต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและวิกฤตทางการเมือง เช่นนี้แล้วการร่างรัฐธรรมนูญด้วยจุดยืนและกระบวนทัศน์แบบเดิมย่อมได้ผลผลิตเป็นรัฐธรรมนูญที่มีแก่นกลางเหมือนที่ผ่านมาในหน้าตาใหม่ซึ่งก็อาจช่วยปกปิดชะลอปัญหาจากฐานรากไว้ระยะเวลาหนึ่งจนกว่าโครงสร้างใหม่อันเปราะบางนั้นไม่สามารถรองรับปัญหาที่แท้จริงได้และพังทลายลงมาอีกรอบ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทางเลือกใหม่และทางออกของปัญหาการเมืองไทยที่ยั่งยืนกว่าคือการยึดฐานความเป็นธรรมชนิดใหม่หรืออย่างน้อยควรจะเพิ่มเติมฐานความเป็นธรรมอื่นเข้าไปในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ลดการจำกัดเสรีภาพทางการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญที่ขยายพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขวางครอบคลุมคนทุกหมู่เหล่า

การที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถูกร่างขึ้นในช่วงเวลาที่มีจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางกลุ่มอย่างเข้มข้น (ซึ่งส่งผลโดยอัตโนมัติให้บุคคลบางกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าอย่างล้นเหลือ) เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามกำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าหรือกีดกันคนอีกกลุ่มหนึ่ง รัฐธรรมนูญตามแนวทางนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นต้นทางแห่งความอยุติธรรมและเป็นความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง

หากจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นธรรม ความเป็นธรรมประเภทเดียวที่พอจะกลืนเข้าไปได้คือ “ความเป็นธรรมของผู้ถือปืน” (Justice is the interest of the stronger)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net