Skip to main content
sharethis
 
11 เม.ย. 2558 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า คดีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ฟ้องนางสาวรสนา โตสิตระกูล คดีหมายเลขดำที่ อ. 2979/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 899/258 ซึ่งศาลพิพากษาว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและยกฟ้อง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 นั้น มีความสำคัญมากเพราะ
 
1. เป็นครั้งแรกที่ศาลอธิบายความอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์
 
2. คำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีตามกฎหมายนี้ ซึ่งขณะนี้มีค้างอยู่ในศาลหลายสิบคดี
 
3. ถ้าหากคำพิพากษาไม่รัดกุม ก็จะเป็นการเปิดประตูให้มีการฟ้องคดีตามกฎหมายนี้เพิ่มขึ้นอีกนับพันๆคดีในอนาคต
 
4. ทำให้ผู้ที่ถูกฟ้อง รายที่นำเข้าข้อมูลโดยสุจริต มีความสบายใจ ว่าในอนาคตจะไม่ถูกกลั่นแกล้งฟ้องศาลได้ง่ายๆ และผู้ที่ถูกฟ้องไปแล้วก่อนหน้า ก็จะมีแนวทางต่อสู้คดีที่ชัดเจน
 
5. ทำให้ผู้ที่คิดจะฟ้องคดีบุคคลอื่นๆตามกฎหมายนี้ ต้องฉุกคิดและระวังมากขึ้น
 
6. คดีใดที่ศาลยกฟ้อง ผู้ที่ถูกฟ้องอาจจะมีเหตุฟ้องกลับก็ได้ ในข้อหา "ฟ้องเท็จ" 
 
7. กรณีที่ศาลยกฟ้อง ถ้าหากผู้ที่ยื่นฟ้องเป็นนิติบุคคล เช่น ปตท อาจจะมีเหตุฟ้องกลับก็ได้ ในข้อหา "ฟ้องเท็จ" และอาจจะเป็นการฟ้องต่อกรรมการที่ร่วมลงมติให้ฟ้อง เป็นรายบุคคล ก็ได้
 
นายธีระชัย ระบุด้วยว่า จากคดีดังกล่าว  มีผู้อ่านท่านหนึ่งแสดงความเห็น "ผมมองว่าเป็นการเปิดช่องให้คนที่นำข้อมูลบิดเบือนสามารถนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้มากขึ้น ..."
 
ผมเองไม่ใช่นักกฎหมายและไม่ประสงค์จะวิจารณ์คำพิพากษา แต่มีความเห็นว่าข้อกังวลของผู้อ่านรายนี้ น่าจะไม่เป็นจริง
 
กฎหมายทั่วไปนั้น มีกติกาเรื่องการหมิ่นประมาทอยู่ครบถ้วนแล้ว
 
ดังนั้น หากบุคคลใดนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ถูกต้อง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาแสดง
 
ผู้เสียหายสามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้เต็มที่อยู่แล้ว ทั้งกรณีเผยแพร่ทางคอมพิวเตอร์ หรือทางแผ่นกระดาษ หรือทางสื่ออื่นใดทั้งสิ้น
 
ผมคิดว่าการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับเรื่องคอมพิวเตอร์ จึงไม่น่าจะมีเจตนาเพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายแทนการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท
 
แต่น่าจะเพื่อการกำกับดูแลการดัดแปลงข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์เป็นหลัก
 
นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังระบุุถึงข้อมูลเพิ่มเติมว่า "คดีนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือไม่
 
(ศาล) เห็นว่า การที่จะทราบได้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แท้จริงหรือเป็นเท็จนั้น
 
กรณีจะต้องมีการเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวกับแหล่งที่มาของข้อมูล
 
ซึ่งหากมีการถ่ายทอดข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไป จึงจะถือได้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
 
คดีนี้ทางนำสืบ โจทก์จึงต้องพิสูจน์ว่าจำเลยให้ "ข้อเท็จจริง" ที่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามลำดับ
 
อย่างไรก็ดี เมื่อได้ความตามเอกสารประกอบการถามค้าน อย่างเช่น ..... (เอกสารต่างๆ)
 
ดังนั้น ข้อความดังกล่าวย่อมเกิดจากความเชื่อที่จำเลยแสดงออกตามที่เห็น รู้ หรือคิด
 
อันถือเป็นการแสดง "ความเห็น" อันมีลักษณะแตกต่างไปจากการแสดง "ข้อเท็จจริง"
 
ที่สมควรจะต้องรายงานเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ตามจริง
 
ดังนั้น เมื่อจำเลยมีความเห็นและเชื่อเช่นนั้น การที่จำเลยถ่ายทอดเป็นข้อความดังกล่าว จำเลยย่อมถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามแหล่งที่มาของข้อมูลซึ่งก็คือตัวจำเลยเอง
 
ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้
 
คดีของโจทก์ในฟ้องส่วนนี้ จึงไม่มีมูล"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net