Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ เสนอยกระดับเบี้ยยังชีพ เป็นระบบบำนาญแห่งชาติ โดยออกพระราชบัญญัติมารองรับ กำหนดบำนาญขั้นต่ำอ้างอิงเส้นความยากจนที่ 2,400 บาท ต่อเดือน ชี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมา 10 ปีแล้ว แต่รัฐและสังคมยังไม่ตื่นตัวต่อผู้สูงวัย

แถลงข่าว "สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีข้อเสนอยกระดับเบี้ยยังชีพ ให้เป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติภายใต้ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ โดยจะมีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาหลังจัดการเลือกตั้ง 

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถ.นวมินทร์ กทม. เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ กลุ่มสวัสดิการชุมชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมกันแถลงข่าว "สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ" โดยมีข้อเสนอยกระดับเบี้ยยังชีพ ให้เป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติภายใต้พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ โดยจัดให้มีการล่าลายมือชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยจะเสนอต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาทันที เพื่อให้เกิดระบบสวัสดิการที่มั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ

นางศุทธินี กิจธรรมกุล เครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ข้อเสนอให้มี พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เพื่อให้เกิดหลักประกันที่จะรับรองได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา เรื่องสวัสดิการก็ยังคงอยู่

มณเฑียร สอดเนื่อง กลุ่มสวัสดิการชุมชนกล่าวว่า สถานะของระบบบำนาญแห่งชาติต้องถูกบัญญัติด้วยกฎหมายชั้นพระราชบัญญัติ เพื่อให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทำผ่านรัฐสภา ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงโดยมติของใครต่อใครง่ายๆ และทุกวันนี้สังคมไทยยัดดูแลผู้สูงอายุน้อยไป ยังไม่ให้ความสำคัญกับคนที่สร้างบ้านแปงเมือง ทุกวันนี้ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ซึ่งหลายคนไม่พอ นอกจากนี้สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่เรื่องเงินเท่านั้น สวัสดิการยังต้องเกิดขึ้นอีกหลายด้าน

"ระบบบำนาญแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้เกิดความมั่นคง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม อย่างมีคุณภาพชีวิตพอสมควร และไปเติมเต็มกับระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุอื่นๆ รวมทั้งระบบการออมแห่งชาติ  ระบบสวัสดิการชุมชนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นความมั่นคงของผู้สูงอายุอีกระดับ" มณเฑียรกล่าว

นางชุลีพร ด้วงฉิม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ มีใจความว่า "ในสภาวะที่อัตราการเกิดลดลง และจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีผลทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่รัฐและสังคมยังไม่ตื่นตัวต่อความเป็นสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการที่ยังไม่มีนโยบายหลักประกันทางรายได้หรือบำนาญเมื่อสูงวัยสำหรับทุกคน"

"ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่ควรเป็นสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนเมื่อสูงวัย (รัฐสวัสดิการ) เพื่อให้เป็นรายได้รายเดือนโดยคำนึงถึงการดำรงชีพอยู่ได้ของผู้สูงอายุ"

"ระบบบำนาญแห่งชาติประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 "บำนาญพื้นฐาน" ซึ่งเป็นการยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคน โดยรัฐต้องอุดหนุนผ่านระบบภาษี และส่วนที่ 2 คือ "บำนาญที่มาจากการออม" โดยรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนออมตามกำลัง และรัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการออมให้กับประชาชน โดยเฉพาะการร่วมจ่ายเงินสมทบของรัฐในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)"

ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีนอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย ทางเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ เห็นว่ารัฐควรมอบของขวัญให้กับประชาชนไทยด้วยการปรับเบี้ยยังชีพ ให้เป็นบำนาญพื้นฐาน เพื่อเป็น “หลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ” โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือนในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน ซึ่งในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 2,400 บาทต่อเดือน

2. ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน ในการเป็นกลไกที่มีบทบาทจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน

ส่วนข้อเสนอด้านการเงินการคลังเพื่อใช้ในการจัดบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ รัฐต้องมีการจัดเก็บภาษีที่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ยกเลิกการลดหย่อนภาษีภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งรัฐต้องทำให้เป็นจริงให้ได้

อีกทั้งรัฐต้องเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร่วมออมได้แบบใกล้บ้านใกล้ใจ โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหน่วยรับออมเงินในระดับพื้นที่

"ระบบบำนาญแห่งชาติ จึงเป็นการทำงานบนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เป็นหลักประกันทางรายได้จากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net