ความจริงที่หายไปจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทางสังคม (EIA และ SIA) ของเขื่อนดอนสะโฮง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
แม้ว่าได้มีกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนดอนสะโฮง ตั้งแต่ช่วงปี 2555 หากแต่ไม่ได้มีการเผยแพร่รายงานสู่สาธารณชนถึงแม้ว่า จะมีความพยายามจากองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการนานาชาติเรียกร้องให้ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเผยแพร่รายงานทั้งสองฉบับนี้ก็ตาม จนกระทั่งรายงานทั้งสองฉบับเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นภาษาอังกฤษ เต็มไปด้วยภาษาทางเทคนิค วิชาการที่ประชาชนผู้ได้รับกระทบจากเขื่อนโดยตรงยากที่จะเข้าใจ ไม่มีรายงานภาษาลาวที่เป็นภาษาถิ่นที่ตั้งของโครงการ รวมทั้งฉบับภาษาไทย กัมพูชาและเวียดนามอันเป็นประเทศที่แบ่งปันใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาแม่น้ำโขงร่วมกัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง  
 
บทความฉบับนี้มีที่มาจากการวิเคราะห์รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนดอนสะโฮงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเก็บข้อมูลจากการจัดทำเวทีสนทนากลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึกและการศึกษาชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณโครงการเขื่อนดอนสะโฮงของผู้เขียนเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโท รวมทั้งเพื่อการทำวิจัย โครงการ M-POWER Fellows และมหาวิทยาลัยซังคงเฮ ประเทศเกาหลีใต้ ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555-2557
 
 
ผลการศึกษาพบว่ารายงานอีไอเอและเอสไอเอ และระเบียบวิธีวิจัยของของรายงานทั้งสองฉบับนั้นปกปิดและละเลยที่จะรายงานข้อเท็จจริงบางประการ ยิ่งไปกว่านั้น รายงานฉบับนี้มีข้อมูลบางประเด็นคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
1. การให้ข้อมูลผลกระทบทางบวกที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงและละเลยที่จะให้ข้อมูลผลกระทบทางลบอย่างครบถ้วน
 
จากการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมเวทีมีส่วนร่วมของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมเขื่อนดอนสะโฮง พบว่าในการจัดเวทีนั้น เจ้าของโครงการให้ข้อมูลแต่ผลกระทบด้านบวกจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่เกินกว่าความเป็นจริง เช่น ชาวบ้านจะมีน้ำใช้จากเขื่อนและสามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง หากแต่ข้อเท็จจริงคือ เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ไม่ใช่เขื่อนชลประทานที่มีการขุดคูคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร และพลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนดอนสะโฮงจะถูกส่งออกเพื่อขายให้ประเทศไทยและกัมพูชา  ในขณะที่พื้นที่ชนบทที่ห่างไกลของประเทศลาวชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง
 
ยิ่งไปกว่านั้น จากการสนทนากลุ่มย่อยกับชาวบ้านชุมชนหางสะโฮง ซึ่งเป็นชุมชนที่จะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงโดยตรงจำนวน 6 ครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนทั้งหกนี้เป็นส่วนหนึ่งของครัวเรือน 14 หลังที่จะต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่พบว่าชาวบ้านได้รับข้อมูลจากเจ้าของโครงการซึ่งสัญญาว่าจะจัดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ เช่น สร้างบ้านใหม่ จัดสรรที่ดินใหม่ ส่งเสริมอาชีพการเกษตรและการจัดหาตลาด อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกังวลที่จะวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเขื่อนดอนสะโฮงอย่างเสรี และตอนหนึ่งของการสนทนาได้แสดงความวิตกกังวลความเชื่อมั่น และแสดงความไม่มั่นใจว่า รัฐหรือเจ้าของโครงการจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ แต่ชาวบ้านไม่กล้าซักถามหรือเรียกร้องใดๆ เพราะจากประสบการณ์ในอดีตของชาวบ้าน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เห็นด้วยหรือขัดขืนนโยบายของรัฐ มักจะถูกนำไปอบรมหรือกรณีที่เลวร้ายคือ การอุ้มหาย
 
2. รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรายงานผลกระทบทางสังคม ล้วนไม่ได้ศึกษาผลกระทบจากการสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย การสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ก่อสร้างจากโรงไฟฟ้า การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเขื่อน เช่น ถนน สะพาน ในอีไอเออ้างว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีเพียงน้อยนิดจากการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง จะก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมแก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อนสร้างเขื่อนที่จะต้องย้ายที่อยู่อาศัยเพียง 14 ครัวเรือน  คือดอนสะโฮงและดอนสะดํา แต่ทั้งอีไอเอและเอสไอเอไม่ได้ศึกษาหรือรายงานถึงโครงการก่อสร้างและขยายถนนที่ โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โครงการก่อสร้างท่อลำเลียงต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแนวสายส่งไฟฟ้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทยแล้ว มีความวิตกกังวลว่าแนวสายส่งไฟฟ้าอาจจะผ่านอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยหรือไม่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่พรมแดนประเทศไทย ลาวและกัมพูชา 
 
จากการลงพื้นที่ของผู้เขียนพบว่ามีโรงเรียนดอนสะดำที่จะต้องย้ายโรงเรียนเพื่อก่อสร้างเป็นสถานีส่งไฟฟ้าย่อยจากเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งทั้งรายงานทั้งสองฉบับไม่ได้กล่าวถึงไว้และไม่ได้ระบุการชดเชยหรือการบรรเทาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
 
3. ผู้ดำเนินโครงการได้ทำการขุดเอาโขดหินและแก่งออกจากฮูสะดำและฮูช้างเผือก ซึ่งเป็นทางน้ำไหลสำหรับปลาอพยพที่อยู่ถัดจากฮูสะโฮง ทำให้ฮูน้ำทั้งสองมีความลึกเพิ่มขึ้นอีก 0.5 เมตร นอกจากนั้น นอกจากนี้ยังมีแผนการขุดลอกในฮูหรือทางน้ำอีกประมาณ 18 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การอพยพของปลาเพื่อทดแทนเขื่อนดอนสะโฮงที่ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ 
 
ในพื้นที่ทางน้ำไหลโดยธรรมชาติจะเป็นอีกระบบนิเวศอีกประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบต่างๆ มากมายและทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ต้นไม้หลากหลายชนิดตามริมตลิ่งรวมทั้งหินและรากไม้ จะทำหน้าที่ป้องกันการชะล้างพังทลายของตลิ่งและลดความเร็วของกระแสน้ำ ทำให้น้ำไหลช้าๆ และในหน้าแล้งนั้น การไหลช้าๆ ของน้ำจะทำให้ลำคลองมีความชุ่มชื้นและมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี ไม่มีปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนและไม่ขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง อีกทั้งโขด แก่งหินน้อยใหญ่ในลำน้ำยังเป็นแหล่งอาศัย หลบภัยและสืบพันธุ์ของพืชน้ำและสัตว์น้ำหลายชนิด
 
การขุดลอกฮูจึงก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในรายงานอีไอเอและเอสไอเอไม่ได้ศึกษาและวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นกัน
 
4. การละเมิดสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเมืองโขง แขวงจำปาสักมีภูมิปัญญาชาวบ้านในการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงหลี่ ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงประจำที่ดักจับปลาบริเวณที่เป็นคอนหรือน้ำตกไหลแรง ซึ่งหลี่แต่ละลวง (แหล่งวางหลี่) จะมีระบบกรรมสิทธิ์ชุมชนในการจัดการที่ชุมชนเคารพ ยอมรับว่าจะละเมิดไม่ได้ เป็นกฎชุมชนที่เป็นพื้นฐานให้คนในเมืองโขงอยู่อย่างสันติสุข เช่น ลวงหรือแหล่งพื้นที่วางหลี่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของซึ่งบรรพบุรุษได้จับจองสามารถส่งมอบ สืบทอดกรรมสิทธิ์ให้คนในครอบครัว ผู้อื่นจะมาละเมิดไม่ได้ หลี่ลวงหนึ่งๆ จะมีเจ้าของหลายรายร่วมลงทุนและลงแรง มีการแบ่งปันรายได้จากการขายปลาอย่างเป็นธรรม 
 
ในปี 2554  ชุมชนริมน้ำโขง 9 หมู่บ้านมีการใช้เครื่องมือประมงหลี่ 246 ลวง ซึ่งสร้างอาชีพหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่เป็นจำนวนมากจากการผลิตปลายน้ำ เช่น การขายปลา การขนส่ง การแปรรูป ฯลฯ 
 
ปัจจุบันเจ้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยการสนับสนุนของกรมประมงแห่งชาติลาวได้ประกาศห้ามชาวประมงเมืองโขงใช้เครื่องมือหลี่โดยอ้างกฎหมายประมงแห่งชาติลาวปี 2552 ที่ระบุว่าหลี่เป็นเครื่องมือประมงที่กีดขวางทางอพยพและทำลายล้างสัตว์น้ำ แต่จากการศึกษาของผู้เขียน พบว่าชาวประมงโต้แย้งว่าหลี่ไม่ใช่เครื่องมือประมงทำลายล้างเพราะปลามีโอกาสรอดผ่านหลี่ไปได้ถึงประมาณ 60% ชาวประมงสะท้อนว่า เหตุผลที่แท้จริงที่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องมือประมงหลี่เนื่องจากเจ้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงต้องการให้แน่ใจว่า หลังจากสร้างเขื่อนปิดกั้นฮูสะโฮงซึ่งเป็นเส้นทางปลาอพยพที่ใหญ่ที่สุดในสีพันดอนแล้ว ปลายังคงอพยพผ่านเส้นทางอพยพอื่นๆ เพื่อลดแรงต่อต้านจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้ชาวประมงจะไม่เห็นด้วยแต่ไม่สามารถคัดค้านต่อต้านได้ เนื่องจากหวาดกลัวการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นชาวประมงเมืองโขงจึงต้องเสียสละเพื่อการพัฒนาประเทศ 
 
5. การกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดไว้ในรัศมีรอบบริเวณที่ตั้งของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงประมาณรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น 
 
ในรายงานผลกระทบทางทางสังคม ปี พ.ศ.2556 ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลเก่าจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจัดทำเมื่อปี 2550 และกำหนดการศึกษาผู้ได้รับผลกระทบทางสังคมจากโครงการการเพียง 551 ครัวเรือน จากนั้นเลือกศึกษา 117 ครัวเรือน จาก 6 หมู่บ้านได้แก่ บ้านท่าค้อ บ้านเวินคาม บ้านหัวสะดำ บ้างหางสะดำ บ้านหัวสะโฮงและบ้างหางสะโฮง  โดยอ้างว่าครัวเรือนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งต้องอพยพย้ายที่อยู่และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเขื่อนดอนสะโฮง  
 
แต่การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงเป็นการปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งส่งผลกระทบสืบเนื่องทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง เนื่องจากประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 60 ล้านคน บริโภคปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ ชีวิตผูกสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงรวมถึงแม่น้ำสาขาด้วย ทะเลสาบเขมรถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตปลาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ผลผลิตในแต่ละปีมีปริมาณสูงถึงหนึ่งแสนตัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวกัมพูชากว่า 950,000คน รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว มีการบริโภคปลาจำนวน 85% ของประชากร การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาความอดอยากและขาดแคลนน้ำทั่วทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศท้ายเขื่อน
 
6. มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศลาวมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำสูง แต่ความจริงแล้วภาวการณ์ประมงในแขวงจำปาสัก มีการใช้เครื่องมือประมงที่ทันสมัย การขยายตัวของจำนวนประชากร การขยายตัวของเส้นทางคมนาคมทำให้การขนส่งสินค้าข้ามประเทศมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นและการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การประมงของแม่น้ำโขงตอนที่ไหลผ่านแขวงจำปาสักอยู่ในภาวะเกินศักยภาพขีดการรองรับของสิ่งแวดล้อมหรือการจับปลามากเกินไป (over fishing) มาประมาณ 10 ปีแล้ว ปัจจุบัน ชาวประมงแขวงจำปาสักไม่เคยจับปลาบางชนิดได้เป็นเวลานาน ปลาที่จับมีปริมาณและขนาดที่เล็กลงทุกๆ ปี
 
การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะยิ่งเร่งทำให้เกิดโศกนาฎกรรมหรือการล่มสลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง เนื่องจากเขื่อนดอนสะโฮงจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาที่ใหญ่ที่สุด
 
 

ข้อเสนอแนะ

 
ปัจจุบัน รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นล้วนแต่ผูกขาดโดยบริษัทที่ปรึกษาและว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ควรจัดตั้งกองทุนสำหรับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการจัดทำขึ้นมาเพื่อพิจารณาคู่ขนานไปกับบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมที่เจ้าของโครงการการเขื่อนดอนสะโฮงจัดทำขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสในการเปรียบเทียบและตรวจสอบรายงานและป้องกันการสมยอมระหว่างบริษัทที่ปรึกษาอีไอเอกับเจ้าของโครงการ และเพื่อความโปร่งใสและป้องกันกรณีรายงานการศึกษาผลกระทบที่จัดทำตามที่เจ้าของโครงการว่าจ้างนั้นจะถูกเขียนขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการ 
 
โดยรัฐบาลลาวและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงควรกำหนดให้เจ้าของโครงการนำเงินมาเข้ากองทุนก่อน เช่น 3% หรือ 5% ของมูลค่าโครงการไม่ว่าโครงการจะผ่านการพิจาณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ กลุ่มผลประโยชน์ หรือนักวิชาการอิสระสามารถเข้าถึงเงินกองทุนนี้เพื่อนำมาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมคู่ขนานกับรายงานที่เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำได้ อีกทั้งคณะกรรมการผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและประเทศ เนื่องจากเขื่อนแม่น้ำโขงที่ก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนควรประกอบคณะกรรมจากทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการอีไอเอจากกรมทรัพยากรน้ำประเทศลาวเพียงประเทศลาวประเทศเดียวอาจไม่เพียงพอในการพิจารณาครอบคลุมผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดได้ 
 
หากไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอหรือเอสไอเอ ยังคงมีช่องว่างให้เกิดการสมยอมระหว่างบริษัทที่ปรึกษากับเจ้าของโครงการดังเช่นทุกวันนี้แล้ว อีไอเอและเอสไอเอจึงเป็นแค่ตรายางประทับให้แต่ละโครงการเดินหน้าไปได้ ไม่ได้สะท้อนผลการศึกษาที่แท้จริง
 
      
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท