น.ศ.-ภาคประชาสังคม ‘ตรัง-ปาตานี’ ชี้ปัญหาประชาธิปไตยไทย ชาตินิยมยังครอบงำการศึกษา

รายงานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย#ความรักก็เช่นกัน” น.ศ.-ภาคประชาสังคมตรัง-ปาตานี เห็นพ้องประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ วิพากษ์การศึกษาไทยถูกอุดมการณ์ชาตินิยมครอบงำ มหาวิทยาลัยปิดกั้นนักศึกษาไม่ให้เรียนรู้ปัญหาสังคม-ชุมชน

วันที่ 26 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้อง L2121 อาคารเรียนรวม 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง)  เครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง (คสช.ตรัง) ร่วมกับปาตานีฟอรั่ม และกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง ร่วมกันจัดงานสานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย#ความรักก็เช่นกัน” โดยมีการจัดเสวนาหัวข้อย่อยหลายหัวข้อ เช่น ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้หราา, ความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย และบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดยมีนักศึกษาและประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังราว 100 คน

เวทีเริ่มด้วยการขับขานบทเพลงโดย ‘ตู่ ลมเถื่อน’ ศิลปินจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ต่อด้วยการแนะนำความเป็นมาขององค์กรผู้ร่วมจัด

นายศิลป์เรืองศักดิ์ สุขใส ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง แนะนำที่มาว่า เครือข่ายก่อเกิดมาตั้งแต่ปี 2551 โดยนักกิจกรรมในแวดวงภาคประชาสังคมในจังหวัดตรัง ซึ่งเห็นการลิดรอนสิทธิในด้านต่างๆ  ทั้งสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านทรัพยากร แผนพัฒนาของรัฐกับชุมชน มีการดำเนินการจัดกิจกรรมนักศึกษาออกค่ายอาสาตามชนบท ต่อมาก็วิวัฒนาการและเชื่อมร้อยกับนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ และวิวัฒนาการกลายเป็นกลุ่มแตกต่อประชาธิปไตยประชาชน ขยายแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยพยายามดึงคนเล็กคนน้อยมาเรียนรู้ร่วมกัน

นางสาวนูรีมะห์ บือราเฮง ผู้ประสานงานปาตานีฟอรั่ม เล่าว่า ปาตานีฟอรั่มกำเนิดขึ้นจากการร่วมมือของนักกิจกรรมทางสังคมรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการตื่นรู้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะ เปิดให้แสดงทัศนะคติของตัวเองบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย มีเป้าประสงค์ที่ส่งเสริมการสื่อสารเองจากพื้นที่ปาตานี (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) สู่พื้นที่อื่นในประเทศไทย มีการพยายามเชื่อมร้อยสร้างความเข้าใจปัญหาร่วมกันของปาตานี  กับปัญหาสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายธิติวัฒน์ เงินสองศรี ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เกิดจากการที่เขาสนใจปัญหาสังคมและแนวคิดประชาธิปไตย อยากเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยโดยเดินทางไปศึกษาปัญหาตามชนบทในจังหวัดตรัง พบว่ามีปัญหาเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน จึงมีแนวคิดอยากตั้งกลุ่มนักศึกษาใน ม.อ.ตรัง จึงชวนเพื่อนๆ น้องๆ มาร่วมศึกษาเรียนรู้ปัญหาร่วมกันผ่านการออกค่ายอาสาโดยโบกรถ กินข้าว ทำนา เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ต่อมาจึงมีการรวมตัวอย่างจริงจัง 6-7 คน ตั้งเป็นกลุ่ม ซึ่งมีความหมายว่า ‘ปัญญาชนเพื่อประชาชน’ ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมาได้ประมาณครึ่งปี และมีการจัดออกค่ายอาสาอิสระอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น จึงเริ่มต้นเวทีสานเสวนา หัวข้อ ‘ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้เหรอ?’ ดำเนินการอภิปรายโดย นางสาวพรพิมล รัตนกุล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพนักข่าวภาคพลเมืองภาคใต้

รัฐประชา  พุฒนวล ตัวแทนจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ให้นิยามของประชาธิปไตยในทัศนะของตัวเองว่า ถ้าแปลกันตรงตัวประชาธิปไตยก็คือประชาชน บวกกับอธิปไตย นั่นหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน อันประกอบไปด้วยหลักการเสรีภาพ เสเมอภาค และภราดรภาพ แล้วโยงภาพมายังความรักและครอบครัวว่าในครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็หมายถึงเผด็จการ เช่น ปิตุธิปไตยอันหมายถึงพ่อเป็นใหญ่ หรือมาตุธิปไตยอันหมายถึงแม่เป็นใหญ่ ยกกรณีหากลูกทำจานข้าวแตกพ่อแม่ตีลูก แต่ถ้าพ่อแม่ทำจานข้าวแตกกลับไม่เป็นไร

นายปรัชญา โต๊ะอีแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม เห็นว่า ความรักกับประชาธิปไตยมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างคน 2 คน ต้องมีลักษณะของการแบ่งปันกัน การยอมรับความเข้าใจของกันและกัน ถ้าใครอีกคนหนึ่งไม่ยอมรับข้อเสนอของคนอีกคนหนึ่งก็จะไม่ก่อเกิดการผูกพัน หรือมองเห็นคุณค่าของกันและกัน

นายซัยด์ วาเตะ  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง สะท้อนว่า ประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ผู้คนที่อยู่ร่วมในสังคมต้องเข้าใจกัน ถ้าไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นสังคมนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้การแสดงความเห็นของใครที่จะให้คนอื่นในสังคมยอมรับได้นั้นต้องมีขอบเขตทางศีลธรรม วัฒนธรรมไม่เกินขอบเขตการเคารพสิทธิความเชื่อของผู้อื่นด้วย มุสลิมเชื่อว่าหากใครแสดงความเห็นของตัวเองจนเกินเลยก็ต้องตักเตือนกัน เสนอสิ่งที่ดีต่อกัน ไม่ใช่การประจานกัน

นายซูการไน รอแม ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาตูปะ ม.อ. ปัตตานี มองว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องความเท่าเทียม และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร ซึ่งมันเกี่ยวโดยตรงกับความรักซึ่งคู่รักต้องมีความเท่าเทียมกัน ถ้าแค่คาดหวังผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เอาแต่ใจตัวเอง เป็นเผด็จการหรือเปล่า ความรักที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  เคารพความต่าง  โดยร่วมกันออกแบบครอบครัว หรือเรายอมให้ใครคนๆ เดียวออกแบบครอบครัวแบบเผด็จการ

นายอนวัช จันทร์หงษ์  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาสภาแตออ  ม.อ. ปัตตานี แสดงทัศนะว่า ความรักกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน ความรักคือการให้ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การให้ ประชาธิปไตยซับซ้อนกว่าความรัก ประชาธิปไตยไม่โรแมนติคเหมือนความรัก ประชาธิปไตยยืนอยู่บนฐานของหลักการคนเท่ากัน อาศัยประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนจังหวัดตรัง อีกทางหนึ่งคืออาศัยประชาธิปไตยทางตรง เช่น ขบวนการชาวบ้านค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา คัดค้านเขื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เป็นต้น ซึ่งเรียกร้องสิทธิชุมชนของตัวเองสู้รบกับวาทกรรมต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งชาวบ้านคนเล็กคนน้อยถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละอยู่ตลอด รวมถึงการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่มีสิทธิสู้ตามสิทธิที่มี แต่ไม่ควรเลยกรอบของกฎหมายไปสู่ความรุนแรง

พรพิมล ผู้ดำเนินการเสวนาแสดงความเห็นว่า ความรักเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติคือสัตว์ใหญ่รังแกสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาน้อย ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คนร่วมกันสร้างขึ้นในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็มีขัดแย้งกันอยู่ในตัว พร้อมๆ กับตั้งคำถามต่อผู้ร่วมเสวนาว่า สามารถใช้บรรทัดฐานความรักกับประชาธิปไตยได้หรือไม่ ?

รัฐประชา มองความรักแบบสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการแสดงออกเพื่อประสงค์ดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการสืบพันธุ์ของมนุษย์ แล้วต่อมาก็ก่อเกิดเป็นความผูกพัน และความรัก การสืบพันธุ์ของมนุษย์สืบพันธุ์โดยลำพังไม่ได้ต้องมีคู่ เมื่อจำเป็นต้องมีคู่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่คน 2 คนก็เริ่มมีการเมือง ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน การออกแบบข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจออกแบบ ซึ่งผู้มีอำนาจออกแบบย่อมออกแบบเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการออกแบบการอยู่ร่วมกันของคน 2 คนเป็นประชาธิปไตยก็จะรักกันยืนยาว หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดก็เป็นเผด็จการ เป็นแค่การฝืนจำอยู่  ผู้หญิงก็เป็นแค่วัตถุทางเพศ ไม่มีความเท่าเทียมผู้ชาย

ปรัชญา มองว่า ความรักคือความผูกพัน ซึ่งเริ่มจากการผูกพันทางใจ ไม่ใช่ผูกพันทางความคิด ผูกพันทางร่างกาย เรารักสิ่งแวดล้อมได้ เรารักทะเล รักสัตว์ รักเพื่อนมนุษย์ รักเพื่อน รักสังคมด้วยการผูกพันทางใจ  มนุษย์ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้ และโหยหาใครอีกคนมาเติมเต็มกลบฝังความโดดเดี่ยวด้วยความผูกพัน รู้สึก คนต้องมีสังคม ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันมีกรอบกฎกำหนด ศีลธรรมกำหนด ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือลัทธิอศาสนา ก็เชื่อว่าต้องมีศีลธรรมมากำหนด

“ธรรมชาติของมนุษย์สนใจเพศตรงข้าม มีภาพอุดมคติในเพศตรงข้ามที่สามารถดึงดูดเสน่ห์ ดึงดูดให้มีความผูกพันทางใจ นำไปสู่การผูกพันทางความคิด การอยู่ร่วมกันต้องให้คุณค่า ประชาธิปไตยคือการกำหนดสิ่งต่างๆ เท่ากันด้วยการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่ากัน”  ปรัชญากล่าว

ด้านซัยด์  ให้นิยามประชาธิปไตยเชื่อมกับความรักว่าคือการให้ เมื่อรู้จักการการก็รู้จักการรัก ขณะที่ประชาธิปไตยคือสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ต้องเคารพกัน ยอมรับความเห็นของคนอื่น ไม่ว่าความคิดเชื่อของเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือความเชื่อของต่างศาสนิก จะไม่มีความขัดแย้งกันหากรู้จักการให้  กรณีเดียวกับการออกนโยบายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ ขัดแย้งกับศีลธรรมความเชื่อของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ยอมรับความแตกต่างของท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกแยก

ส่วนในมุมทัศนะที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่นั้น  ซัยด์อธิบายว่า พระเจ้าสร้างให้ผู้ชายคุณลักษณะทางร่างกายแข็งแกร่งมีความอดทนกว่าจึงเหมาะกับการเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่พระเจ้าสร้างให้ผู้หญิงอ่อนโยนมีบทบาทหลักในการทะนุถนอมเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นประชากรของสังคม

ปรัชญา ขยายความประเด็นที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่ว่า อิสลามไม่ได้มีปัญหาเรื่องสิทธิผู้หญิง แต่องค์ประกอบทางร่างกายที่พระเจ้าสร้างเป็นตัวกำหนดทางกายภาพที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามจึงวางบทบาทชายกับหญิงที่แตกต่างกัน ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในแนวคิดอิสลาม คือ พื้นทางทางความเชื่อต้องถูกหลอมให้เหมือนกันก่อน โดยอิสลามพยายามสลายกรอบความเชื่อให้เป็นความเชื่อเดียวกันก่อนใช้ชีวิตคู่กัน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหากใครอยากใช้ชีวิตคู่กับมุสลิมต้องรับศาสนาอิสลามก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อปรับความเชื่อให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

“สำหรับการให้อิสรภาพ เสรีภาพ ในการปรึกษาหารือร่วมของทั้งชายและหญิง ซึ่งนำมาซึ่งมีผู้หญิงมุสลิมหลายต่อหลายคนทำงานนอกบ้าน มีการออกแบบร่วมกันว่าอาจให้ฝ่ายชายช่วยงานบ้านบ้าง”  ปรัชญากล่าว

ซูการไน  อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างความรักกับประชาธิปไตยในทัศนะของเขาว่า ความรักคือความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่แค่การให้อย่างเดียว ประชาธิปไตยก็เช่นกันไม่ใช่แค่การที่ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เหนือกว่าให้ลงมาอย่างเดียว บังคับให้คนข้างล่างต้องรับอย่างเดียวโดยไม่มีความจริงใจ ทั้งที่ควรมีความจริงใจด้วย

ขณะที่อนวัช มองว่า ทั้งนิยามของประชาธิปไตย และความรักสามารถให้คำจำกัดความได้หลายนิยาม แล้วแต่ใครเป็นผู้กำหนด จาที่ตนศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย การก่อเกิดเริ่มจากแรกมีผู้เป็นใหญ่คือชนชั้นนำ ต่อมามีพัฒนาการให้ขุนนางเข้ามาต่อรองอำนาจ ต่อมาก็ประชาชนเข้ามาต่อรองอำนาจ เมื่อมีการต่อรองอำนาจย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา มีการต่อสู้ อย่างเมื่อก่อนลักษณะในสังคมไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์มีอำนาจ ครั้นเมื่อมีการปฏิวัติเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งไม่มีการนองเลือด แต่ขณะเดียวกันก็มีขบวนการโตกลับของเครือข่ายชนชั้นนำ และค่อยวิวัฒนาการมาสู่การลุกขึ้นต่อรองอำนาจโดยชนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“สังคมภาคใต้ เป็นชนชั้นกลางนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันสังคมเหนือ อีสาน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณเป็นคนดี แต่ทักษิณคือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วในการเข้าถึงทรัพยากรของชนชั้นกลางใหม่ หากประเทศไทยมีตัวเลือกนักการเมืองที่ดีกว่านี้คนเสื้อแดงก็คงจะไม่เลือกทักษิณ ประชาธิปไตยมันไม่ได้โรแมนติคแบบเอื้ออาทร” อนวัชกล่าว

จากนั้น ผู้ดำเนินการเสวนาตั้งคำถามและประเด็นแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย รวมถึงบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อผู้ร่วมเสวนา

อนวัช เห็นว่า วิชาประวัติศาสตร์ไทยในระบบการศึกษาไทย ยัดเยียดเอกลักษณ์ชาติผ่านภาพรัฐชาติ โดยตนมองเป็น 2 ส่วนคือ รัฐเหมือนร่างกาย ชาติหมายถึงจิตวิญญาณ เอกลักษณ์ชาติไทยไม่ได้เป็นจริงโดยตัวเอง แต่ถูกนิยามขึ้นมา และตั้งคำถามว่าใครเป็นคนนิยามขึ้นมา มีลักษณะการช่วงชิงการนิยามโดยโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย ฝังไปในความคิดนักศึกษามีอิทธิพลส่งผลต่อระบบคิดนักศึกษาในการมองคนในชาติว่าใครคือคนไทย ซึ่งหากคำนิยามว่าชาติถูกนิยามมาในหลักสูตรการศึกษาแบบนั้นหากเราไม่เชื่อก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คนชาติไทย

“นอกจากเอกลักษณ์ชาติแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ทางพื้นที่ชุมชนความทรงจำ นั่นคือท้องถิ่น ซึ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ประวัติศาสตร์ชุมชนไม่ได้ถูกพูดถึงและให้ค่า จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ปาตานีขัดแย้งกับความเป็นชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกสร้างขึ้นมาจากหลักการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่วันชาติดั้งเดิม คือ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิวัติการปกครองของคณะราษฎรจากระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ก็ถูกยกเลิกในรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการลบเลือนความทรงจำประชาธิปไตยจึงไม่แปลกที่เด็กไทย นักศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มันเป็นการถูกทำให้ลืม” อนวัชกล่าว

ซัยด์ ย้ำว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งหลักสูตรถูกกำหนดโดยรัฐอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือ เลือกที่จะซ่อนเนื้อหาความเป็นจริงบางอย่าง พยายามรักษาความจริงนั้นไว้โดยไม่ใส่ในหลักสูตร หลักสูตรถูกกำหนดโดยปิดกั้นคำตอบของเรา ถ้าเราตอบออกจากกรอบที่เขาวางไว้ก็จะผิด สอนแบบไม่ให้นักศึกษาแสดงความเห็นของตัวเอง

“หน้าที่ของนักศึกษาต้องกล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง กล้าแสดงออก ทุกวันนี้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยขึ้นมาโดยการจัดขององค์กรเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชนสานเสวนาบ้างเล็กน้อยให้ประชาชนและนักศึกษาได้พูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมันน่าจะมีเวทีมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อสะท้อนและรับฟังความคิดเห็นหลากหลาย เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนบ้าง สังคมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เพียงก็แค่ชื่อ แต่จริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ซูการไน  มองว่า การออกแบบหลักสูตรโดยรัฐเลือกที่จะใส่ชุดความคิดไหนให้นักศึกษา และซ่อนอำพรางอีกชุดความคิดที่ไม่ต้องการให้นักศึกษารู้ ซูการไนยกตัวอย่างกรณีความเป็นประชาธิปไตยใน ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยมีการพยายามสกัดการรณรงค์คัดค้านออกนอกระบบของนักศึกษา โดยอธิบายกับนักศึกษาว่า นักศึกษายังเป็นเด็กจะขอเข้าร่วมกำหนดแนวทางว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรืออยู่ในระบบไม่ได้ และหากเกิดผิดพลาดนักศึกษาจะรับผิดชอบไหวหรือไม่

ซูการไน  ยังมองว่า กิจกรรมใน ม.อ.มีการจำกัดนักศึกษาไม่ให้ออกไปเรียนรู้กับกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยด้วยการกำหนดชั่วโมงกิจกรรม ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ปัญหาสังคม ปัญหาชุมชนภายนอก ซูการไน  เห็นว่า การกำหนดชั่วโมงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นโซ่ตรวนล่ามนักศึกษาเอาไว้ การกำหนดบังคับให้ทำกิจกรรมเฉพาะแค่ในมหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ทำกิจกรรมในชุมชน เรียนรู้ปัญหาของพื้นที่ปาตานี ทั้งที่นักศึกษาเป็นคนพื้นที่ปาตานีเองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ให้พวกเขาเรียนรู้ปัญหาบ้านของพวกเขาเองได้อย่างไร

“ผมก็ยังมองเห็นเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างนะในมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์บางคนไม่ได้บังคับให้ผมต้องใส่นักศึกษาเข้าเรียน ผมไม่ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนอาจารย์ไม่ได้มีปัญหา ผมมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดนักศึกษาแต่อยู่ที่ความรู้”  ซูการไนกล่าว

ปรัชญา เชื่อมโยงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอธิบายผ่านข้อสะกิดของสังคมผ่านทอล์คโชว์ของโน้ต อุดม แต้พานิช เขายกตัวอย่างเช่น การให้ร้องเพลงลูกเสือ การผูกเงื่อนเชือกต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง รวมไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องท่องจำสูตรคูณ ทั้งที่รู้ว่าในที่สุดแล้วก็ใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ ปรัชญารู้สึกว่าระบบการศึกษาไร้สาระพอสมควร เขายกตัวอย่างการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของคนไทยตั้งแต่ชั้นประถมปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย แต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทว่าปรัชญากลับชี้ไปที่ข้อดีอย่างหนึ่งของการศึกษาไทย คือ ทำให้เขาตั้งคำถาม

ปรัชญา ชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นกลยุทธ์ควบคุมคนในชาติ ให้เป็นไปในทิศทางที่รัฐฝังใส่หัวตั้งแต่เด็ก ปัญหาที่เขาค่อนข้างข้องใจคือ ประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยไม่ว่าระดับชั้นไหนๆ ทั้งที่มีประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ขณะที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นทับถมมาหลายสิบปี มีคนตายไป 5-6 พันคน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีที่มาจากอะไร

ปรัชญา เห็นค่อนข้างชัดว่าผลของระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉายภาพผ่านการขาดวุฒิภาวะของคนในสังคมไทย ขาดวุฒิภาวะทางการเมือง ขาดการยอมรับความเห็นต่าง

“โลกนี้มีแค่ผิดกับถูกเท่านั้นเหรอ ทำไมคนไทยมองว่าคนที่ไม่ใช่เสื้อเหลืองก็ต้องเป็นเสื้อแดง ถ้าไม่เอารัฐประหารมึงมีปัญหา มองปัญหาขาวดำ ไม่มีสีเทาเลยเหรอ การไม่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทย ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่จึงไม่เห็นโครงสร้างปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย”   ปรัชญากล่าว

รัฐประชา  ชี้ถึงปัญหาหลักสูตรการศึกษาที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นสูง มหาวิทยาลัยจึงเป็นแค่คอกขังนักศึกษาไม่ให้ออกไปแสวงหาความจริงในสังคม เขายกตัวอย่างหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนแค่การชนช้างยุทธหัตถี บอกว่าทำสงครามห้ำหั่นกับพม่า ทว่างานศึกษาของสุจิตต์ วงศ์เทศ ระบุว่า พม่าไม่เคยรบกับไทย แต่ชนชั้นสูงพม่ารบกับชนชั้นสูงไทยต่างหาก

รัฐประชา  กล่าวว่า ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนระบบโซตัสอยู่ การต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามระบบอาวุโสโดยไร้เหตุผลสิ้นเชิงเป็นการสืบทอดแนวคิดอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

รัฐประชา กล่าวว่า การปฏิบัติตามคำสั่ง ยึดมั่นในประเพณี ระบบว้าก ระบบเชียร์ ระบบโซตัส เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งรุ่นพี่ไม่เห็นว่ารุ่นน้องเป็นคนเท่ากัน ใช้ความเป็นรุ่นพี่กดขี่ข่มเหงรุ่นน้อง สั่งการโดยไม่มีเหตุผล เหยียดความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยมีผลประโยชน์กับระบบโซตัสที่ถูกสะกดให้เคารพรุ่นพี่ แล้วมันง่ายที่จะสะกดให้เคารพอาจารย์อีกทอดหนึ่ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท