Skip to main content
sharethis

หลายองค์กรร่วมแถลงการณ์กรณียิงปะทะบ้านที่โต๊ะชูด ทุ่งยางแดง ให้กรรมการค้นหาความจริงทำงานอย่างรอบด้านและเป็นธรรม นำคนผิดมาลงโทษให้ได้ไม่ใช่แค่เยียวยาอย่างเดียว เผยมุ่งค้นหาทำไมถึงตาย 4 ศพและการใช้อาวุธ พร้อมเปิดชื่อทีมสอบข้อเท็จจริงเหตุทุ่งยางแดง แต่งตั้งโดยผู้ว่าปัตตานี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายองค์กรประกอบด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นายฮัมดี ขาวสะอาด มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นางสาวสุวรา แก้วนุ้ย และนางสาวตัสนีม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ร่วมออกแถลงการณ์กรณีเหตุรุนแรงที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่มีผู้เสียชีวิต 4 คน และถูกควบคุมตัวอีก 22 คน โดยขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นไม่ใช่แค่เพื่อการเยียวยาผู้เสียหาย แต่ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเรียกร้องต่อการดำเนินการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย


1. มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและได้รับข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง

2. ควรมีเป้าหมายในการตรวจสอบมิใช่เพียงการเยียวยาผู้เสียหายเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญกับการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมาย

3. ถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดผู้รับผิดชอบหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย

4. ควรทบทวนนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นและแนวทางการในการปฏิบัติด้วยอาวุธ

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุด้วยว่า “...เหตุการณ์นี้จะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหากมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ให้สังคมได้รับรู้ จึงขอเรียกร้องอย่างจริงจังในการดำเนินงานและติดตามผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง”


เปิดชื่อทีมสอบข้อเท็จจริงเหตุทุ่งยางแดง

ด้านนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ยิงปะทะพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี คำสั่งจังหวัดปัตตานีที่ 3639/2558 สั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2558 โดยมีรายชื่อประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ จำนวน 15 คน ดังนี้

1.รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ) เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย 2.รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ได้รับมอบหมาย 3.รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีที่ได้รับมอบหมาย 4.ปลัดจังหวัดปัตตานี 5.ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 6.อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีหรือผู้แทน
7.ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดปัตตานี 8.ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 9.นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 10.นายมูฮำหมัดอาลาวี บือแน 11.ประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.ทุ่งยางแดง 12.นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน 13.ประธานชมรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ทุ่งยางแดง 14.ป้องกันจังหวัดปัตตานี เลขานุการ และ 15.ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ได้แก่ 1.ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวเหตุการณ์ดังกล่าว 2.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วภายใน 7 วัน นับแต่รับทราบคำสั่ง 3.เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรายงานผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทราบ 4.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้สั่งการและมอบหมาย

คำสั่งนี้ระบุว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 52/1(2) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม


มุ่งค้นหาทำไมถึงตาย 4 ศพและการใช้อาวุธ

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ หนึ่งในกรรมการชุดนี้ในนามตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้ประชุมนัดแรกวันที่ 29 มีนาคม 2558 ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี ที่ประชุมได้กำหนดระยะเวลาค้นหาความจริงภายใน 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป โดยจะรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ที่อยู่เหตุการณ์และชาวบ้านที่อยู่รอบบริเวณที่เกิดเหตุ

“เป้าหมายของการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อค้นหาความจริงว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร ทำไมถึงมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ จุดที่ใช้อาวุธเกิดจากสาเหตุอะไร” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีความสำคัญมาก เพราะหากรัฐจัดการไม่ดีก็จะส่งผลให้การพูดคุยสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีความลำบากมากขึ้นไปด้วย

“จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่รัฐควรเน้นการเจรจาการพูดคุย อดทนให้ถึงที่สุดก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกรณีปิดล้อมตรวจค้นมาแล้วซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ใช้เวลาพูดคุยหรือเจรจาถึง 6 ชั่วโมง สุดท้ายก็จบลงด้วยดี แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงใช้อาวุธด้วย ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่คณะกรรมการต้องค้นหาความจริงมาให้ได้”

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงว่าทุกคนคือคนไทย ต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ต้องมีการพูดคุยกัน มีการเจรจากัน ใช้ความอดทนถึงที่สุด หากอีกฝ่ายใช้อาวุธก่อนเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อาวุธได้ ซึ่งทุกครั้งเจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการอย่างนี้ แต่ครั้งนี้รู้สึกว่ามีความผิดปกติ มีการใช้อาวุธเร็วและไม่รู้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นต้องค้นหาความจริงภายใน 7 วัน

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนยืนยันมาตลอดว่าการทำงานองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี สันติวิธีเป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทางสังคม ต้องความอดทนและอดกลั้น ต้องเข้าใจว่าคนที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้มีความกดดัน ดังนั้นเราต้องเอาสิ่งเหล่านั้นออกมา ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ต้องมีความอดทนสูงมากและต้องให้โอกาสประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม


แถลงการณ์ ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี
ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบมิใช่ แค่เยียวยาผู้เสียหาย ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

(เผยแพร่วันที่ 29 มีนาคม 2558)


เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.00 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง จนท. ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ แต่ในวันรุ่งขึ้นกลับปรากฏข้อเท็จจริงจากชาวบ้านและครอบครัวผู้สุญเสียที่แตกต่างจากข่าวที่ปรากฏ

ต่อมาทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์ยิงในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยปราศจากการแทรกแซง และเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายใต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงขอเรียกร้องต่อการดำเนินการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและได้รับข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง

2.ควรมีเป้าหมายในการตรวจสอบมิใช่เพียงการเยียวยาผู้เสียหายเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญกับการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมาย

3.ถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดผู้รับผิดชอบหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย

4.ควรทบทวนนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นและแนวทางการในการปฏิบัติด้วยอาวุธ

คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เหตุการณ์นี้จะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหากมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ให้สังคมได้รับรู้  จึงขอเรียกร้องอย่างจริงจังในการดำเนินงานและติดตามผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ลงนามโดย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กลุ่มด้วยใจ
องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา
อับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ฮัมดี ขาวสะอา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
สุวรา แก้วนุ้ย
ตัสนีม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net