Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

การเสนอให้ขึ้นภาษี ถ้าเป็นในอเมริกาย่อมเป็นเรื่องใหญ่และย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบฉบับอเมริกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าภาษีที่จะจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นภาษีประเภทไหน มีความสำคัญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่อย่างไร ภาษีบางประเภทอาจไม่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่มากนัก เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินที่มีลักษณะการซื้อขายเก็งกำไร เป็นต้นนั้น อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือมีผู้แสดงความเห็นคัดค้านน้อยกว่าการขึ้นภาษีประเภทอื่น   เนื่องจากความสมเหตุสมผลของการจัดเก็บภาษีในอันที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจน แต่ถึงกระนั้นแม้คนส่วนใหญ่จะยอมรับความสมเหตุสมผลของการขึ้นภาษีกับคนรวยดังกล่าวก็ตาม แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมทุนเสรีอเมริกัน อย่างเช่น ทีปาร์ตี้ และบางกลุ่มในพรรครีพับลิกัน ก็ยังออกโรงคัดค้าน เพียงแต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อประชามติ

ในอเมริกามีภาษีอยู่หลายประเภท แต่หากดูจากลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปกครองส่วนกลางแล้ว การจัดเก็บภาษีในอเมริกาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีท้องถิ่น (local tax) กับภาษีส่วนกลาง (federal tax) แน่นอนว่าทั้งไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลท้องถิ่นใดก็ตามพลเมืองทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลกลางเท่ากัน ซึ่งก็คือภาษีเงินได้ (income tax)  ส่วนภาษีท้องถิ่น บางรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ระดับรัฐ (state) หรือเมือง (city) อาจมีการเก็บภาษีไม่เหมือนกัน ขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นนั้น เช่น รัฐบาลของรัฐเนวาดาเก็บภาษีจากการขายสินค้า (state sales tax) ในอัตรา 6.85% ขณะที่รัฐบาลโอเรกอนไม่มีการเก็บภาษีประเภทนี้ เป็นต้น นอกจากนี้อเมริกาใช้ระบบที่เรียกว่า “ความยุติธรรมทางภาษี” เพื่อบรรเทาเบาบางความได้เปรียบทางสังคมของคนมีรายได้สูง ด้วยการเก็บภาษีมรดก  ภาษีซื้อขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร (ตามระยะเวลาการถือครองสั้นยาว) ในอัตราที่สูง โดยอัตราการจัดเก็บขึ้นกับจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์ที่มีการทำธุรกรรม

ปกติแล้วไม่ว่านักการเมืองอเมริกันหรือประเทศใดก็ตามมักไม่ค่อยกล้าเสี่ยงออกนโยบายหรือแผนขึ้นภาษีกับประชาชน โดยเฉพาะภาษีที่กระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลภาษีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำจนถึงราคาปานกลาง (พิจารณาว่าควรเก็บหรือไม่และอัตราเท่าใดจากฐานค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ)  เพราะกลัวผลกระทบทางการเมือง คือ กลัวว่าจะสูญเสียคะแนนความนิยมจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง หากเป็นไปได้บรรดานักการเมืองที่มาจากประชาชนจะเลือกหนทางอื่นเพื่อหารายได้เข้ารัฐมากกว่าการเลือกแนวทางการขึ้นภาษี ยกเว้นประเทศที่มีผู้นำเผด็จการ หรือประเทศมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในขั้นวิกฤต ขั้นข้าวยากหมากแพง ไม่มีทางเลือก แต่ทางเลือกในการขึ้นภาษีที่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะนำประเทศสู่หายนะทางด้านเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ ในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ กลับต้องใช้วิธีลดภาษีลงด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะเมื่อประชาชนเดือดร้อนปัญหาต่างๆ ย่อมตามมามากมาย

โดยรวมแล้วนโยบายด้านภาษีของพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ต่างกันตรงที่พรรครีพับลิกันต้องการย้อนไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบเดิม อ้างว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน รีพับลิกันมองว่าสวัสดิการของรัฐคือตัวบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสร้างนิสัยขี้เกียจ  พรรคนี้จึงไม่ต้องการให้มีการเก็บภาษีหลายประเภทเกินไป ใครทำงานมากสมควรได้ค่าตอบแทนมาก รีพับลิกันยังได้เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ 2 ประเภทลงอีกด้วย ขณะที่พรรคเดโมแครตมองว่าหากไม่มีเครื่องมือด้านภาษี จะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกมากขึ้น เดโมแครตต้องการให้รัฐมีสวัสดิการในระดับที่เหมาะสม  และมองว่าคนที่มีรายได้น้อยสมควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาไม่อัตคัตเกินไป
ส่วนการจัดเก็บภาษีของประเทศรัฐสวัสดิการที่คิดจากฐานรายได้ส่วนบุคคลของพลเมืองในประเทศนั้นเป็นคนละส่วนกับการขึ้นอัตราเก็บภาษีของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหารายได้ของรัฐที่ไม่เข้าเป้า รัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียหรือแม้แต่แคนาดา จัดเก็บภาษีสวัสดิการ (social tax) ในอัตราที่สูงเพื่อสวัสดิการของพลเมืองซึ่งเป็นการคุ้มครองประชาชนในด้านการศึกษา และสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ภาษีของรัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดจากรัฐบาลขาดเงินรายได้แต่อย่างใด

สำหรับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การขึ้นภาษีที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จึงเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ในอเมริกาสาเหตุส่วนหนึ่งแห่งชัยชนะของบารัก โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต  ก็คือนโยบายการขึ้นภาษีเอากับผู้มีรายได้สูงหรือกลุ่มอีลิทชน (elite) ไม่ว่าโอบามาจะทำสำเร็จหรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่พอใจนโยบายที่ว่านี้   หากทุรนโยบายของรัฐบาลบางประเทศที่เป็นเผด็จการกลับกระทำในทางตรงกันข้าม คือ ไม่กล้าดำเนินการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อการเก็งกำไร เช่น ที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า เป็นต้น

การหาทางออกจากปัญหาเศรษฐกิจ มิใช่กระทำโดยขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีการอื่นๆ อีก ได้แก่  การอาศัยวิธีการทางด้านการเงิน เช่น การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นแรงจูงใจในการกระต้นเศรษฐกิจ เป็นต้น   การอาศัยวิธีการทางด้านการคลัง เช่น การใช้นโยบายปรับลดอัตราภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจการซื้อการขายให้มีมากขึ้น ทำให้เงินทุนมีการหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในวงจรเศรษฐกิจ เป็นต้น  การอาศัยมาตรการอุดหนุนของรัฐนอกเหนือไปจากวิธีการทางด้านการเงินการคลัง เช่น การค้ำประกันหรือรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้วงจรเศรษฐกิจหรือเงินทุนถูกขับเคลื่อนไหลเวียนดียิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการปฏิบัติเชิงนโยบายของตัวองค์กรบริหารสำคัญคือรัฐบาล ที่จะต้องควบคุมและทางปรับลดค่าใช้จ่ายลงภาครัฐลง รายจ่ายไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องจ่าย เช่น รายจ่ายยุทโธปกรณ์ด้านทหาร ซึ่งรายจ่ายประเภทนี้แทบทุกประเทศพอเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจต้องมีการพิจารณาปรับลดก่อนรายจ่ายประเภทอื่นๆ แม้กระทั่งรัฐบาลอเมริกันเองก็มีการปรับลดรายจ่ายด้านกลาโหมลง ช่วงที่บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งใหม่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ รัฐบาลโอบามาเสนอแผนระยะยาวในการปรับลดงบกลาโหม จากปี 2010 ที่งบกลาโหมอยู่ที่ 722.1 พันล้านเหรียญ หรือ 4.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็นลดลงเหลือ 698.2 พันล้านเหรียญ หรือ 3.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2015 

นอกจากนี้สิ่งที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ มาตรการด้านการคลังด้วยการขึ้นภาษีหากขึ้นซี้ซั้ว ดีไม่ดีก็ขัดกับหลักการเปิดเสรีเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะภาษีจากสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าซึ่งนับวันกำแพงภาษีจะถูกทลายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น การแนวทางการแสวงหารายได้จากการขึ้นภาษีทั่วไปคือภาษีที่เก็บจากประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไป ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 ประเภทแล้วจึงหดสั้นลงทุกที รัฐบาลที่ดีจึงต้องวางแผนหาทางหารายได้เข้ารัฐทางอื่น เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน มิใช่ มุ่งไปที่การเก็บภาษีอันเป็นแนวทางวิบัติในโลกสมัยใหม่

หากเป็นในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ผลกระทบของการขึ้นภาษีที่จะต้องสำเหนียกอย่างยิ่งก็คือ มันอาจนำไปสู่ความย่อยยับทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ การล้มเป็นลูกโซ่ของระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ อาจเป็นเช่นเดียวกับเมื่อคราวที่เคยเกิดกับประเทศไทยสมัยต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เป็นได้ หากรัฐไม่สามารถควบกุมกลไกเศรษฐกิจมหภาคได้

การขึ้นภาษีของรัฐในยามเศรษฐกิจวิกฤต ย่อมนำไปสู่ความตึงหรือความหนืดทางด้านเศรษฐกิจ  เช่น หากมีการขึ้นอัตราภาษีเอากับเจ้าของที่อยู่อาศัยก็จะทำให้เจ้าของหรือผู้ซื้อที่พักอาศัยที่มีความลำบากจากเงื่อนไขของรายได้ที่น้อย (จากพิษเศรษฐกิจ) อยู่แล้ว ต้องลำบากขึ้นไปอีก จนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยนั้นในที่สุด ส่งผลให้หนี้เสียในระบบเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดก็กระทบกับสถาบันการเงินในประเทศ และระบบเศรษฐกิจของทั้งหมด

จะสังเกตเห็นว่า เมื่อคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 และลากยาวมาจนถึงปี 2012  เมือง หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาถึงขั้นล้มละลาย  (bankruptcy) เมืองหรือแม้แต่รัฐบาลกลางอเมริกันเองหันมาใช้นโยบายลดภาษีหรือเว้นภาษีให้สำหรับการลงทุนในเมืองที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ  เช่น เมือง Vallejo ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ล้มละลายจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับผู้ที่ไปลงทุนในเมืองนี้ในขณะนั้น

การแสดงออกด้วยทีท่าว่าจะขึ้นภาษีเอากับประชาชนคือสิ่งที่แสดงออกอย่างหนึ่งว่าฐานะการคลังของประเทศนั้นกำลังมีปัญหา (อาจถึงขั้นรุนแรง) อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในอาการย่ำแย่ ทางออกด้านนโยบายการคลัง มิใช่การขึ้นภาษีเอากับประชาชน หากควรลดภาษีให้กับประชาชนเสียด้วยซ้ำ

ประเทศส่วนใหญ่ที่ปกครองโดยระบบประชาธิปไตยเลือกแนวทางการขึ้นภาษีกับประชาชนทั่วไปเป็นทางเลือกท้ายสุดทว่ามักจบลงด้วยเรื่องเศร้า แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยเหล่านี้มักไม่เลือกแนวทางการขึ้นภาษี เพราะการขึ้นภาษีกับประชาชนทั่วไปนั้นแสดงว่ารัฐไร้กึ๋นในการบริหารเศรษฐกิจ หรือไม่ก็เศรษฐกิจประเทศนั้นใกล้ถึงกาลวิบัติเต็มที.

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net