Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม รำลึก 99 ปี ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่โถงทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และมีนักศึกษาประชาชนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ในงานนี้ นอกจากจะมีการอภิปรายและเปิดตัวหนังสือ ยังมีการเปิดนิทรรศการ “คนชื่อป๋วย” ที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของป๋วย อึ๊งภากรณ์

ป๋วย อึ้งภากรณ์เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2458(ปฏิทินเก่า) ที่ตลาดน้อย พระนคร ในครอบครัวชาวจีนสยาม ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก แผนกภาษาฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุได้ 18 ปี แล้วได้เป็นมาสเตอร์หรือครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

ต่อมา พ.ศ.2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นนักศึกษารุ่นแรก สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต และเมื่อ พ.ศ.2480 ก็ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลังที่มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปและญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ทำให้ป๋วยต้องยุติการศึกษา เขาตัดสินใจทำงานเพื่อชาติโดยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ เขากับเสรีไทยสายอังกฤษ 36 คนสมัครเข้ากองทัพอังกฤษ ป๋วยจึงได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "นายเข้ม เย็นยิ่ง"

พ.ศ.2486 นายเข้มได้ถูกส่งตัวมาที่บริติชอินเดีย เพื่อฝึกการรบในสนามและการจารกรรม จากนั้น ก็ได้รับคำสั่งให้ลอบเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประสานงานกับกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นใต้ดินในประเทศ เดือนมีนาคม พ.ศ.2487 นายเข้มและเสรีไทยอีก 2 คน ก็ลักลอบโดดร่มลงมาที่จังหวัดชัยนาท แต่ถูกชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ไทยจับกุม ส่งเข้ามายังพระนคร แต่กลับได้รับการติดต่อจากฝ่ายขบวนการใต้ดินในประเทศและได้มีโอกาสเข้าพบกับ “รูธ”(ปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าขบวนการ ช่วยทำให้ติดต่อประสานงานกันได้

หลังสงครามยุติ ป๋วยได้กลับไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกโดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก" และกลับมารับราชการในกระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ.2492 ต่อมา ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้งให้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2503 แล้วรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และยังเป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ นับว่าป๋วยเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่ได้รับการขยายบทบาทอย่างมากในสมัยจอมพลสฤษดิ์

พ.ศ.2507 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังคงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป และได้รับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วจะกลายเป็นคนสำคัญในการสร้างนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทต่อมา จากนั้น ใน พ.ศ.2510 เขาได้เข้าร่วมในการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกของภาคเอกชน

ตั้งแต่ พ.ศ.2511 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันนำมาสู่การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2512 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคสหประชาไทย ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงมากที่สุด จอมพลถนอมจึงตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อมาในระบบรัฐสภา

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2514 ป๋วย อึ้งภากรณ์ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และได้ลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่เขาอยู่ต่างประเทศ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ที่คุ้นเคยกับการใช้อำนาจสมบูรณ์และไม่มีความอดทนในระบอบรัฐสภา ก็ก่อการรัฐประหารล้มเลิกประชาธิปไตย ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐสภา และกลับมาปกครองประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ ไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว และไม่มีคณะรัฐมนตรี แต่ได้ตั้งสภาคณะปฏิวัติบริหารประเทศไทยพลาง ทำให้ประเทศไทยกลับคีนมาสู่ยุคมืดอีกครั้ง

ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ.2515 วารสารเศรษฐศาสตร์สารฉบับชาวบ้าน ได้ตีพิมพ์เอกสารฉบับหนึ่ง ใช้ชื่อว่า “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ซึ่งก็คือจดหมายที่เขียนโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร แสดงการคัดค้านระบอบเผด็จการทหารนั่นเอง จดหมายฉบับนี้ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดสู่หนังสือพิมพ์ทั่วไป จึงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

จดหมายฉบับนี้ นายเข้มได้เสนอว่า ระบอบรัฐธรรมนูญที่ปกครองกันโดยกฎหมาย ย่อมดีกว่าที่จะให้การปกครองเป็นไปตามอำเภอใจของคนเพียงไม่กี่คน และถ้ามีการเลือกตั้ง ก็จะเกิดประชาธรรม คือ ธรรมะที่มาจากประชาชน ดังนั้น การรัฐประหารแล้วล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มเลิกการเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เหตุผลที่อ้างว่า ต้องยึดอำนาจเพราะสถานการณ์รอบบ้านไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ก็ไม่สมด้วยเหตุผล ภัยจากภายนอก ปัญหาสังคม และ ปัญหาเศรษฐกิจ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องก่อรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าการรัฐประหารจะเป็นไปโดยราบรื่น และได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพราะฝ่ายคณะรัฐประหารใช้อำนาจปืนควบคุมไว้ ไม่สามารถจะอธิบายได้ว่าเป็นความต้องการของประชาชน
ดังนั้น การที่จะดำเนินการให้ประเทศก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไป จอมพลถนอมควรที่จะเร่งร่างรัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งระบุว่า "ได้โปรดเร่งรัดให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้หรืออย่างช้าก็อย่างให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว"

ขณะที่ข้อเรียกร้องตามจดหมายฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนและขานรับอย่างดีจากพลังนักศึกษาและพลังประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่เมื่อพิจารณาจากสื่อมวลชนร่วมสมัยหลายฉบับ กระแสจะเป็นไปในทางตรงข้าม บ้างก็โจมตีว่านายป๋วยอยากดัง ฉวยโอกาสสร้างภาพเป็นนักประชาธิปไตย เพราะข้าราชการระดับนายป๋วย ถ้าอยากเสนอความเห็นต่อจอมพลถนอม ก็สามารถติดต่อโดยตรงได้ ไม่ต้องแสร้งทำเป็นเขียนจดหมายผ่านหนังสือพิมพ์ บ้างก็อธิบายว่า นายป๋วยควรให้โอกาสคณะปฏิวัติทำงานแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่ควรเอา”เท้าราน้ำ” บางก็ว่านายป๋วยไม่ควรเห็นดีงามกับรัฐสภา ที่ปล่อยให้พวก  ส.ส.ปากโว มาว่าคนโน้นคนนี้ ระบอบปฏิวัติที่เป็นอยู่ก็ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี และมีบ้างที่เรียกร้องว่า คณะปฏิวัติควรจะจัดการปลดตำแหน่งนายป๋วยเสีย ไม่ควรทิ้งไว้เป็น “หอกข้างแคร่”

จนถึงวันนี้เมื่อเวลาผ่านไป 43 ปี การดำเนินการของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนจดหมายคัดค้านคณะรัฐประหารได้รับการยอมรับว่าเป็นวีรกรรม สิ่งที่นายเข้ม เย็นยิ่ง เสนอถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และจดหมายฉบับนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่นำมาสู่การปฏิวัติใหญ่ของนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในทางตรงข้าม การรัฐประหาร พ.ศ.2514 ได้รับการประเมินว่า เป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญของจอมพลถนอม และทำให้นายทำนุ เกียรติก้อง หรือ จอมพลถนอม มีชื่อเสียงอันตกต่ำอับแสงมาจนถึงขณะนี้

อยากจะตั้งคำถามว่า อีก 43 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะประเมินการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2557 และบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ว่าอย่างไร ถ้ารู้ตัวกันว่าทำความผิดพลาด ก็ควรที่จะเร่งแก้ความผิดพลาดเสีย ดีกว่าจะถลำลึกและชื่อเสียงเหม็นไปในอนาคตข้างหน้า

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 507 วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net