สรุปร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนอีสาน

ภาคประชาชนอีสาน ร่วมจัดเวทีข้อเสนอ ระดมความคิดเห็น จัดทำยกร่างแผนแม่บทป่าไม้ภาคประชาชน หมอนิรันดร์ แจงจุดประสงค์การจัดทำร่างแผนภาคประชาชน เตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาขณะที่ปราโมทย์ เผย ปัญหาที่เรื้อรัง เป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆในยุค คจก.ด้านนักวิชาการ ชี้ รากเหง้าอีสาน สูญสลายไปกับการพัฒนา โดยรัฐขาดความเข้าใจนิเวศของคนอีสาน

เมื่อวันที่ 19– 20 มี.ค.2558 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจริญธานี  จังหวัดขอนแก่นตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน กว่า 100 คน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ร่วมจัดเวทีสัมมนา “ยกร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชนเพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน

 

ผลสรุปเวทีระดมความเห็นยกร่างแผนจัดการป่าไม้-ที่ดินโดยชุมชน

รัฐควรกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้ท้องถิ่นมีสิทธิส่วนร่วมในการ โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมสนับสนุนแผนการจัดการทรัพยากรตามสิทธิชุมชน อีกทั้งให้ผู้มีอำนาจสั่งการยกเลิกคำสั่ง 64/2557สืบเนื่องมาจากหน่วยงานภาครัฐได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ควรยุติการยึดคืนผืนป่า การจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลอาสินจากประชาชนผู้ยากไร้รวมทั้งให้มีการชดเชย เยียวยา กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว

เวทีแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ให้ภาครัฐมีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐที่ประกาศทับซ้อนชุมชนและพื้นที่ทำกิน จัดทำแนวเขตและจำแนกที่ดิน (zoning)ให้ชัดเจน จัดสรรที่ดินและรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจนและส่งเสริม สนับสนุนการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจประชาชนในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน ป่าครอบครัว หรือการใช้แนวคิดในระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรโดยชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

 

หมอนิรันดร์ แจง ถึงจุดประสงค์การจัดทำร่างแผนภาคประชาชน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่ากล่าวถึงการจัดการที่ดินถือเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างรัฐบาลกับคนจนและนายทุนที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันกลับมีการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฯ และคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 มากระหน่ำซ้ำไล่รื้อคนจนออกจากพื้นที่โดยไม่ได้ดูบริบทของคำสั่ง ฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ภายหลังจากมีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนถึงผลกระทบส่งมามากกว่า 40 เรื่อง จากทั่วประเทศ จึงเป็นความประสงค์หลักของการจัดเวทีเชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ร่วมกันร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน เสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป็นการต่อไป

 

ปราโมทย์เผย ถือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ยุค คจก.

ขณะที่ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ร่วมอภิปรายถึง สถานการณ์ความเคลื่อนไหวแผนแม่บทฯ และกรอบความคิดในการยกร่างแผนแม่บทฯว่า จากการประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ฯ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ แต่จากสถานการณ์การทวงคืนผืนป่า กลับพุ่งเป้าตรงมายังชาวบ้านก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้มากมาย  เช่น ในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร ชัยภูมิ  ถูกเจ้าหน้าที่ติดป้ายไล่รื้อออกจากพื้นที่ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษรวมทั้งพื้นที่พิพาทอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาหลายยุครัฐบาล

ขณะเดียวกัน แผนดังกล่าวได้รุกคืบและขยายวงไปอย่างกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วประเทศ โดนสถานการณ์ไม่ต่างกับเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้าน ผลักดันล้มโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535

ในความไม่แตกต่างในโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช.นั้น คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ฉะนั้นปัญหาความไม่เป็นธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจบานปลายออกไปได้ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐควรหานโยบายอื่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ทวงคืนจากชาวบ้าน นอกจากนี้ภาครัฐควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตามสิทธิชุมชนของพวกเขาเองด้วย

ดังนั้น จึงเสนอให้การดำเนินนโยบายตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าฯ ควรให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยและต้องไม่มีการปราบปราม รัฐควรหยุดการอพยพ ยุติไล่รื้อคนออกจากที่ทำมาหากิน หรือใช้วิธีการเดิมๆ แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

นักวิชาการชี้เหตุรากเหง้าอีสาน ต้องสลายไปกับการพัฒนา

นอกจากนี้ อาจารย์สันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีนำเสนอ “นิเวศวัฒนธรรมของชุมชนอีสาน และพัฒนาการชุมชนในเขตป่า”กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความผูกพันมาแต่อดีต และความผูกพันระหว่างคนกับคน เช่น ประเพณี ฮีต12 คอง14 ปรากฏว่าความผูกพันดังกล่าว เริ่มล่าถอยและทยอยสูญสลายมากว่า 50 ปี อาจเป็นไปได้ว่าเพราะมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดการกำหนดกฎเกณฑ์ แยกคนออกจากป่า ออกจากธรรมชาติและออกจารีตประเพณีที่สืบทอดมาจากรากเหง้า ดั้งเดิมเช่น นำกฎหมายป่าไม้เข้ามาจัดการ และการประกาศเขตป่าต่างๆ โดยขาดการจำแนกพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาครัฐไม่ได้มองบริบทนิเวศของคนอีสานอย่างเข้าใจ และอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ระบบนิเวศและสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเปลี่ยนทำให้คนอีสานเริ่มสูญสลายถูกอพยพออกจากพื้นที่

ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอันอุดม ที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน, จากผลกระทบเกิดจากการพัฒนาประเทศเพื่อความทันสมัยในด้านการผลิตที่พุ่งเป้าไปสู่กระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมการพัฒนาสมัยใหม่ที่ใช้ไม่ถูกกับศักยภาพพื้นที่ทำให้ความเป็นชุมชนอีสาน ที่หลากหลายวัฒนธรรม และมากค่าด้วยทรัพยากร พื้นที่ที่สมบูรณ์ในระบบนิเวศน์จึงกลายเป็นเหมืองแร่ กลายเป็นสวนยางพารา ไร่อ้อย ไร่มัน ป่ายูคาลิปตัส ฯลฯหรือวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมบนพื้นที่ลุ่มน้ำแหล่งหากินจากป่าบุ่งป่าทามที่เปรียบเป็นโรงครัวใหญ่ของชุมชน ถูกกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจกลายมาเป็นเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ตามมาด้วยนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ชุมชนประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ หนี้สิน ขาดความมั่นคงทางอาหาร ความอบอุ่นของครอบครัวเริ่มสลาย และสูญไปในที่สุด

จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าการจัดการที่ไม่ถูกกับสภาพนิเวศและวิถีวัฒนธรรม โดยรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจจัดการทรัพยากรโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรมชุมชนปัญหาจึงเกิดขึ้นและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทั้งที่ลุ่ม โคก ดอนผลกระทบและปัญหาเหล่านั้นชาวบ้านมักเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท