5 ปัจจัยทำไมประเทศไทยล้มเหลวในการนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำทรมานมาลงโทษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือนี่ย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention Against Torture and Other Degrading Treatment or Punishment –CAT)มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศยังไม่มีความผิดฐานการกระทำ ทรมาน[1]โดยตรง  มีเพียงความพยายามในการร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาดังกล่าวตลอดระยะเจ็ดปีกว่าที่ผ่านมาทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมแต่ยังคงไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ....ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกำลังจะผลักดันเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเร็วๆนี้

เหตุที่ต้องอนุวัติการกฎหมายเป็นร่างพระราชบัญญัติเฉพาะนั้นเนื่องจากการทรมานและการบังคับสูญหายนั้นเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการกระทำทรมานนั้นต้องเป็นกระทำใดๆต่อโดยเจตนาให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูล คำรับสารภาพ ข่มขู่หรือการะกระทำใดๆบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ และแม้ว่าการทรมานจะเป็นส่วนหนึ่งของความผิดทำร้ายร่างกายซึ่งมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่การทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯเรียกร้องโทษที่สูงกว่า เพราะนอกจากการทรมานจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายแล้วยังคุ้มครองความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากหากเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย กระทำความผิดเสียเองแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจดำรงความน่าเชื่อถือต่อไปได้ การจะนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาลงโทษนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องมีกลไกที่ต่างออกไปเพื่อเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 ที่ผ่านมามีสถิติการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระหว่างปี 2550 – 2556 จำนวน 134 กรณี[2] สถิติจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีการร้องเรียนการซ้อมทรมานระหว่างปี 2550 -2554 จำนวน 297 กรณี [3] ปี 2557 จำนวน 58 กรณี[4] อย่างไรก็ตามจากตัวเลขสถิติในการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้นนั้นกลับมีเพียงไม่กี่คดีที่มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยการให้ความช่วยเหลือของภาคประชาสังคม และไม่มีคดีใดเลยซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาและสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ผู้เขียนซึ่งติดตามประเด็นการอนุวัติการกฎหมายตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯเห็นว่ามีปัจจัยอย่างน้อย 5 ประการซึ่งอาจส่งผลให้ไม่อาจนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษและก่อให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (impunity) ในปัจจุบันดังต่อไปนี้

1.ความไม่มั่นใจของผู้ร้องเรียนว่าเมื่อร้องเรียนจะได้รับความเป็นธรรม จะปลอดภัยจากการร้องเรียน

แม้สิทธิในชีวิตและร่างกายและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแต่สิทธิดังกล่าวกลับไม่ได้มาด้วยการเพิกเฉย หากประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง ซึ่งในประเด็นปัญหาของการทรมานพบว่าแม้จะมีการร้องเรียนว่าเกิดการทรมานขึ้น แต่ผู้ถูกกระทำกลับไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีซึ่งปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธินั้นต้องใช้ต้นทุนทางสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งแรงกดดันจากผู้กระทำความผิดที่มักมีพฤติการณ์ในการกลับมาข่มขู่ ซึ่งรวมไปถึงพฤติการณ์การข่มขู่ครอบครัวของผู้เสียหาย ทั้งระยะเวลาและทรัพย์สินที่ต้องใช้เป็นต้นทุนในการเรียกร้องความยุติธรรม และหากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนหรือถูกทำให้ไม่ชัดเจนก็อาจมีปัญหาในการฟ้องคดีกลับ ดังเช่น คดีของนายซูดีรือมัน มาและ ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนในปี 2547 ซึ่งมีทนายความสมชาย นีละไพจิตรเป็นทนายความก่อนหายตัวไป คดีดังกล่าวมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น แต่เมื่อมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอจะฟ้องคดี ได้มีการฟ้องคดีข้อหาแจ้งความเท็จและศาลอาญามีคำพิพากษาที่ 2161/2552 ลงโทษจำคุกนาย 2 ปี ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์  หรือในกรณีของนายทวีศักดิ์ งิ้วลาย[5]ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ให้รับสารภาพในคดีฆ่าชิงทรัพย์แต่เมื่อไม่ยอมรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีข้อหามียาเสพติดในครอบครองซึ่งศาลพิพากษาสั่งปรับ 10,000 บาท เมื่อนายทวีศักดิ์ไม่มีเงินจึงกักขัง 50 วันแทนค่าปรับ หลังพ้นโทษออกมานายทวีศักดิ์ได้บวชเป็นพระ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอขมาในภายหลัง นายทวีศักดิ์จึงได้เริ่มทำการร้องเรียน อย่างไรก็ตามเมื่อสึกจากความเป็นพระนายทวีศักดิ์ก็ได้ออกจากพื้นที่ไปประกอบอาชีพในจังหวัดอื่นเนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย ปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของปปท. หรือแม้กระทั่งคดีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา[6]ซึ่งถูกควบคุมตัวและร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเมื่อปี 2551 จำนวน 5 ราย แต่มีผู้ประสงค์จะดำเนินคดีทางแพ่งเพียงสองราย ซึ่งศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้ค่าเสียหายเนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบ 250,000 บาทและค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ปัญหาความไม่มั่นใจของผู้เสียหายว่าจะได้รับความเป็นธรรม หรือกังวลว่าเมื่อมีการร้องเรียนแล้วอาจจะก่อผลกระทบที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ดำเนินการใดๆ  ปัญหาในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่ได้เกิดจากความไม่เข้มแข็งของตัวผู้เสียหายเอง แต่โดยกลไกของกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหายมากพอและไม่อาจสร้างความมั่นใจต่อผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสังคมและชุมชนรอบข้างในการสนับสนุนจึงสามารถที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองได้ ทั้งที่ความจริงแล้วกระบวนการยุติธรรมนั้นควรเอื้ออำนวยให้แก่ทุกคน

2.ปัญหาความทับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสอบสวน

เนื่องจากตามหลักกฎหมายแล้วเมื่อคดีเกิดในท้องที่ใดก็จำเป็นต้องดำเนินคดีในท้องที่นั้น และเมื่อความผิดการทรมานเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การดำเนินคดีนั้นต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เดียวกันแล้วย่อมมีปัญหาในเรื่องความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินคดี ซึ่งหลายครั้งพบว่าเมื่อผู้เสียหายอยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่กลับไม่รับเรื่องการมาร้องเรียนของญาติซึ่งการทำร้ายร่างกายนั้นเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดินบุคคลใดๆสามารถกล่าวโทษก็ได้ หรือบางกรณีผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเอง เจ้าหน้าที่ก็อาจบ่ายเบี่ยงไม่รับแจ้งความเช่นกัน

นอกจากนี้คดีทรมานยังถูกส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพราะถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ทำให้คดียิ่งมีความล่าช้า และผลการไต่สวนที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพบว่าคดีไม่มีมูล[7]
 

3.ปัญหาการพิสูจน์พยานหลักฐานและอการควบคุมตัวในสถานที่ลับ

เนื่องจากการกระทำทรมานมักกระทำในสถานที่ปิดลับโดยเฉพาะการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ อาทิเช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพระพุทธศักราช 2457  ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวันหรือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพ.ศ.2519 ซึ่งให้ควบคุมตัวผู้ถูกจับได้ไม่เกินสามวันเป็นต้น ซึ่งการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวหรือการควบคุมตัวในชั้นสอบสวน ณ สถานีตำรวจก่อนมีการฝากขัง ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการใช้อำนาจไม่ชอบ เกิดการซ้อมทรมานรวมไปถึงการอุ้มหายได้ เนื่องจากขาดกระบวนการตรวจสอบและกระทำในสถานที่ลับไม่มีบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ระหว่างระยะเวลาดังกล่าว เมื่อเกิดการซ้อมทรมานการค้นหาพยานหลักฐานก็ยิ่งเป็นไปโดยลำบาก

ในด้านรูปแบบการทรมานซึ่งมีทั้งวิธีการที่ปรากฏร่องรอยของบาดแผลเช่นการทุบตี เตะ ต่อย กระทืบ ช็อตไฟฟ้า ซึ่งหากควบคุมตัวเป็นระยะเวลานานร่องรอยบาดแผลมักสูญหายไปตามระยะเวลา ตัวอย่างเช่นหากถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและมีการทรมานเกิดขึ้นในสองถึงสามวันแรก เมื่อครบระยะเวลาเจ็ดวันร่องรอยบาดแผลส่วนใหญ่มักจะหายไปแล้ว หรือหากผู้เสียหายถูกควบคุมตัวต่อตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 หรือถูกดำเนินคดีและฝากขัง การนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาตรวจสอบและพบแพทย์ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการทรมานซึ่งไม่ทำให้เกิดบาดแผลแต่สร้างความกลัวและอายให้ผู้ถูกทรมานได้เช่นเดียวกัน เช่น การทำ water boarding การใช้พลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ การใช้เข็มทิ่มแทงบริเวณอวัยวะเพศ การให้อยู่ในอากาศที่หนาวจัด การทุบด้วยของแข็งซึ่งพันด้วยผ้า การบังคับให้เปลือย เป็นต้น วิธีการดังกล่าวทำให้การพิสูจน์พยานหลักฐานเป็นไปโดยยากลำบากมากยิ่งขึ้น
 

4.คดีอาญาจำเป็นต้องทราบผู้กระทำความผิด

เนื่องจากการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นในคดีอาญาจำเป็นต้องทราบบุคคลผู้กระทำความผิด แต่ปัญหาที่ผ่านมานอกจากผู้ถูกทรมานจะถูกควบคุมตัวในสถานที่ลับซึ่งบุคคลธรรมดาไม่อาจเข้าถึงได้แล้ว ในระหว่างการสอบสวนมักปิดตาหรือใช้ถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะ ซึ่งนอกจากจะให้ผลทางจิตวิทยาแล้วยังทำให้ผู้ถูกทรมานไม่อาจทราบได้ว่ามีใครร่วมกระทำการดังกล่าวบ้าง การต่อสู้คดีทรมานจึงต้องมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ทำการตรวจสอบเสียก่อน

อย่างไรก็ตามความพยายามที่ผ่านมาขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอาทิเช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องสิทธิโดยการฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานซึ่งทำการควบคุมตัวผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ คดีส่วนใหญ่ซึ่งฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลปกครองจึงเป็นความรับผิดทางแพ่งซึ่งท้ายที่สุดการจ่ายค่าสินไหมต่อผู้เสียหายก็นำมาจากภาษีของประชาชนไม่ได้เป็นการชดใช้จากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดโดยตรง

5.กรณีผู้กระทำความผิดมีเพียงเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องฟ้องคดีต่อศาลทหารซึ่งผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีเองได้

หากผู้เสียหายได้ผ่านอุปสรรคที่กล่าวมาสี่ประการข้างต้นแล้ว แต่ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย ผู้เสียหายก็ไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมโดยฟ้องคดีต่อศาลได้เอง เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารซึ่งผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลทหารคืออัยการศาลทหารและผู้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเท่านั้น[8]

ตัวอย่างคดีซึ่งมีความคืบหน้า และมีพยานหลักฐานชัดเจนถึงการซ้อมทรมานคือคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 และมีการซ้อมทรมาน จนถึงแก่ความตาย ในคดีไต่สวนการตายโดยศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งว่า นายยะผา กาเซ็ง เสียชีวิตเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทำให้ต่อมาในคดีอาญาภรรยาอิหม่ามได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนราธิวาสโดยมีจำเลยที่ 1-5 เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานความผิดต่อชีวิตและร่างกาย ความผิดต่อเสรีภาพและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อย่างไรก็ตามในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลจังหวัดนราธิวาสได้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพลเรือน[9]   ทำให้เหลือเพียงจำเลยที่1-5 ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร  การฟ้องคดีอาญาจึงจำเป็นต้องฟ้องคดีต่อศาลทหารเท่านั้นซึ่งภรรยาผู้ตายไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาผู้กระทำความผิดต่อศาลทหารได้ และปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินใดๆทางอาญากับผู้กระทำความผิด

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าโดยสภาพกลไกกฎหมายในปัจจุบันไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้เลย แม้ปัญหาบางประการอาจแก้ได้โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายพ.ศ.... อาทิเช่น การควบคุมตัวในสถานที่ลับ การระบุตัวพนักงานสอบสวน การย้ายสถานที่คุมขัง การไต่สวนโดยศาลกรณีมีการร้องเรียนว่ามีการทรมาน อย่างไรก็ตามการทรมานก็อาจดำรงอยู่ในสังคม หากประชาชนยังคิดว่าสามารถกระทำการทรมานได้หากเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือหากอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น ผู้เขียนเห็นว่าปัญหานี้จะแก้ด้วยทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายและสังคม รวมถึงการสร้างระบบการตรวจสอบการควบคุมตัวที่โปร่งใสและใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์การกระทำความผิดมากกว่าให้น้ำหนักที่คำรับสารภาพ

หากสังคมยังเพิกเฉยต่อการทรมานและปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลต่อไป นอกจากจะเป็นการทำลายสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว ทำลายหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด(presumption of innocence) ยังเป็นการทำลายระบบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายความน่าเชื่อถือและไว้วางใจเสียแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจปกป้องผู้บริสุทธิ์ได้อีก



[1] “การทรมาน” ตามข้อบทที่ 1 อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ หมายถึง การกระทำใดกระตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้น สำหรับการกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือเป็นการข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุใดใด บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นกระทำโดยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานของรัฐหรือของบุคคลอื่นซึ่งกระทำหน้าที่ในตำแห่งทางการ ทั้งนี้ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจาก หรือเป็นผลอันปกติจาก หรืออันสืบเนื่องมากจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

[2] http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/shadow-report-on-catthai-summary_coalitionreport.pdf

[3] http://th.macmuslim.com/?p=660

[4]https://www.facebook.com/macmuslimfoundation/photos/a.307818569270378.86042.148883741830529/834141353304761/?type=1&theater

[6] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1418897173

[7] ตัวอย่างคดี http://www.prachatai.com/journal/2011/06/35360

[8]พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. 2498 มาตรา 49 ศาลทหารในเวลาปกติให้อัยการทหารหรือผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ ในอํานาจศาลทหารมีอํานาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา แต่ถ้าผู้เสียหายมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอํานาจศาล ทหารแล้ว ต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์

ศาลทหารในเวลาไม่ปกติหรือศาลอาญาศึก หรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทน ศาลอาญาศึกตามความในมาตรา 40 และมาตรา 43 ให้อัยการทหารเท่านั้นมีอํานาจเป็นโจทก์ ผู้เสียหายจะเป็นบุคคลที่อยู่ในอํานาจศาลทหารหรือไม่ก็ตาม ต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์

[9] http://www.deepsouthwatch.org/node/935

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท